ญี่ปุ่น ออกนโยบาย “ทำงาน 4 วัน” แก้วิกฤตคนมีลูกน้อย ทางรอดระบบเศรษฐกิจ

รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศเตรียมนำระบบทำงาน 4 วัน มาใช้ในระบบราชการของญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นอัตราการเกิดใหม่ของเด็ก นำร่องเดือนเมษายน ปี 2568

ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายยืดหยุ่นเวลาทำงาน สำหรับกลุ่มชาย-หญิง ที่มีลูกเรียนในชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1-3 สามารถแลกเงินเดือนบางส่วน กับการเลิกงานก่อนเวลา เพื่อไปดูแลลูกได้

“เรากำลังทบทวนรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีใครต้องละทิ้งอาชีพ เพราะการคลอดลูก หรือการดูแลเด็ก และขณะนี้เราต้องยกระดับเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ของประชาชนในช่วงเวลาที่ท้าทายที่สุดของประเทศ” ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว กล่าวในช่วงแถลงนโยบายในวานนี้ (18 ธ.ค. 67)

อย่างไรก็ดี อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นลดลงอย่างรวดเร็วในหลายปี โดยปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่เพียง 727,277 คน และลดลงต่ำสุดในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา เหลือ 1.2

ซึ่งอัตราการเจริญพันธุ์เพียงพอที่จะพยุงเสถียรภาพประชากรและเศรษฐกิจได้ ต้องอยู่ที่ระดับ 2.1

การทำงานหนัก-ค่าครองชีพสูง กดดันหนุ่มสาวญี่ปุ่น

นักสังคมวิทยารายหลายมองว่า อัตราการเกิดลดลงของญี่ปุ่น มีหลายปัจจัย อาทิ

  • วัฒนธรรมการทำงานไม่ยืดหยุ่น
  • ค่าครองชีพสูงขึ้น
  • ชั่วโมงการทำงานที่หนักหน่วง และเป็นปัญหากัดกินสังคมญี่ปุ่นมานาน บางรายมีปัญหาสุขภาพ หรือกระทั่งเสียชีวิตจากการทำงาน

ทั้งนี้ นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ เริ่มเกิดมากขึ้นในประเทศฝั่งตะวันตก บางบริษัทได้เปิดให้ทำงานในเวลาที่สั้นลง เพื่อดึงดูดคนเก่ง ที่อยากได้สมดุลชีวิตแบบ work-life balance

การศึกษาบางส่วน พบว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และความเป็นอยู่ของพนักงาน

ทว่าสำหรับญี่ปุ่นที่ยึดคติการทำงานถวายหัว เพื่อแสดงความภักดีต่อองค์กร มองว่า นโยบายทำงาน 4 วัน/สัปดาห์ “สุดโต่ง” เกินไป

อัตราเกิดต่ำ 50 ปี ขนาดเศรษฐกิจโดนแซงต่อเนื่อง

ที่ผ่านมา “ญี่ปุ่น” เผชิญกับอัตราการเกิดใหม่ที่ลดลงต่อเนื่อง 50 ปี และส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

โดยข้อมูลจาก IMF เมื่อปี 2566 พบว่า ญี่ปุ่น ตกมาอยู่อันดับ 4 ประเทศขนาดเศรษฐกิจใหญ่สุดในโลก (เดิมอันดับ 3) ซึ่งถูกเยอรมนีแซงขึ้นไป หลังตามหลังญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 2513 แม้ปีก่อนเศรษฐกิจเยอรมนีจะไม่เติบโตเลยก็ตาม!

ขณะที่ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2553 ญี่ปุ่น ก็ถูกจีนแซงขึ้นไปเป็นอันดับ 2 แทนเช่นกัน “ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดเศรษฐกิจที่น่าสนใจ และสะท้อนว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นถดถอยอย่างต่อเนื่อง“

คงต้องจับตาดูว่านโยบายใหม่นี้ของญี่ปุ่น จะช่วยเพิ่มความหวังทางรอดเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นได้หรือไม่ หรือจะเป็นเพียงนโยบายที่ใช้ไม่ได้ผลเหมือนที่ผ่านมา