ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ปี 2024 ให้เป็นองค์กรที่ยั่งยืนที่สุดในกลุ่มโทรคมนาคมของโลก ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 จากการประเมินบริษัทต่างๆ ทั่วโลกตามหลักเกณฑ์ Corporate Sustainability Assessment (CSA) ของ S&P Global ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยความสำเร็จอีกครั้งในปีนี้ ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คะแนนรวมสูงถึง 95 จาก 100 ซึ่งเป็นคะแนนสูงสุดของโลกในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม พร้อมเดินหน้าประกาศแผนงานสำคัญ ปี 2568 ขับเคลื่อนกลยุทธ์สร้างองค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนต่อเนื่อง
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “การที่ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการจัดอันดับดัชนีความยั่งยืน DJSI 2024 ให้เป็นบริษัทโทรคมนาคม-เทคโนโลยีที่ยั่งยืนที่สุดในโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 7 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ที่สะท้อนให้เห็นถึงการดำเนินธุรกิจขององค์กรบนพื้นฐานความยั่งยืน ทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) แต่อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่า คือ การเปิดเวทีแห่งโอกาสให้เราได้ร่วมกันขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนในประเด็นสำคัญต่างๆ ในประเทศไทย อาทิ การแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ ความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงดิจิทัล นวัตกรรม และการศึกษา ซึ่งปี 2568 ที่กำลังจะมาถึงนี้ จะเป็นอีกหนึ่งปีที่ทรู จะเร่งก้าวไปข้างหน้า เป็นผู้นำที่พร้อมเสริมแกร่งให้คนไทยทุกคนได้ใช้ชีวิตที่ปลอดภัยขึ้น มีสุขภาพที่ดีขึ้น และใช้ชีวิตดิจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”
มิติด้านสิ่งแวดล้อม ชูแพลตฟอร์มจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ 94 จาก 100 คะแนนในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จากการประเมิน S&P Global CSA ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสามารถในการลดการปล่อยคาร์บอนและการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบัน ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เสาสัญญาณมากกว่า 10,000 แห่ง อีกทั้ง ยังดำเนินโครงการรีไซเคิลและโครงการต่างๆ เพื่อบริหารจัดการและลดขยะ
ในปี 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น มุ่งเดินหน้าขยายความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มเพื่อร่วมกันบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่าน 3 โครงการสำคัญ ได้แก่
• ผสานความร่วมมือกับคู่ค้าหลัก เร่งขับเคลื่อนภารกิจลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน หรือใน Scope 3 ตามหลักการ Science Based Targets initiative (SBTi) โดยคู่ค้าหลักที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับการสนับสนุนจากทรู ในการจัดหาแพลตฟอร์มเพื่อใช้เป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลและตรวจสอบข้อมูล ช่วยให้บริษัทคู่ค้าบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยยังมีแผนที่จะมอบสิทธิประโยชน์ด้านการเงินให้แก่บริษัทคู่ค้าที่เข้าร่วมโครงการด้วย
• พัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มบริหารจัดการพลังงาน ที่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงสุดถึง 20% โดยนำเทคโนโลยี IoT และปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้เพื่อคาดการณ์และจัดการการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
• บ่มเพาะนวัตกรรุ่นใหม่ ดึงศักยภาพเทคโนโลยีคืนคุณค่าให้แก่สังคม ในปี 2567 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ดำเนินโครงการ “e-Waste HACK BKK” เพื่อส่งเสริมให้นักเรียนและคนรุ่นใหม่ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมโซลูชันจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีแผนที่จะจัดโครงการ Hackathon ต่อเนื่องในปี 2568
มิติด้านสังคม สร้างการเข้าถึงดิจิทัลเพื่อเสริมแกร่งคนในสังคม
จากการประเมิน ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้ 99 จาก 100 คะแนนในมิติด้านสังคม สะท้อนถึงความมุ่งมั่นและทุ่มเทในการดำเนินโครงการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นส่งเสริมด้านการศึกษา สาธารณสุข และการสร้างสังคมดิจิทัลสำหรับทุกคน ซึ่งโครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของทรู ทั้งเครือข่าย 4G ที่ครอบคลุมประชากรไทยมากกว่า 99% ขณะที่เครือข่าย 5G ครอบคลุม 92% และในปี 2568 ทรู ยังตั้งเป้าที่จะเร่งยกระดับเครือข่ายให้ทันสมัยครบ 100% เพื่อเพิ่มความเร็วและความครอบคลุมในเสาสัญญาณทั่วประเทศ
จากโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมอันแข็งแกร่งนี้ ทรู มุ่งมั่นที่จะทรานสฟอร์มการเข้าถึงเครือข่ายและสัญญาณให้กลายเป็นโอกาสทางดิจิทัล ผ่าน 3 แพลตฟอร์มสำคัญ ได้แก่
• ทรูปลูกปัญญา โครงการหลักด้านการศึกษาของทรู โดยคลังความรู้ออนไลน์ ทรูปลูกปัญญา มีผู้ใช้งานมากกว่า 32 ล้านคนต่อปี และมีการปรับเปลี่ยนอัปเดทอยู่เสมอเพื่อตอบสนองให้ทันต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงของนักเรียนและครูผู้สอน และด้วยการเติบโตของเทคโนโลยี AI ทรูปลูกปัญญา ยังได้เสริมหลักสูตรต่างๆ เพื่อสร้างทักษะอย่างยั่งยืน เช่น การคิดเชิงวิพากษ์ ความคิดสร้างสรรค์ และการคิดเชิงวิเคราะห์
• Tech for Good พัฒนานวัตกรรมโซลูชันเพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืน ตอบโจทย์ประเด็นต่างๆ ในสังคมไทย โดยทรู คอร์ปอเรชั่น ได้จดทรัพย์สินทางปัญญามาแล้วกว่า 100 ผลงาน พร้อมขับเคลื่อนโซลูชันที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาจนเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ ระบบ True Smart Early Warning System (TSEWS) ที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยเฝ้าระวังช้างป่า ไม่ให้เข้ามาทำความเสียหายและอันตราย ลดความขัดแย้งระหว่างมนุษย์และช้างป่า โดยอัตราความสำเร็จใกล้เคียง 100% ทั้งนี้ ทรู ตั้งเป้าที่จะจดสิทธิบัตรนวัตกรรมให้ได้ 125 ผลงาน ภายในปี 2568
• ทรู ไซเบอร์เซฟ ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ทั้งจากลิงก์แปลกปลอม SMS หลอกลวง และการกรองสายเรียกเข้า โดยสามารถป้องกันผู้ใช้งานจากลิงก์อันตรายได้มากกว่า 100,000 รายการโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบทุกรูปแบบราวเดือนมีนาคม 2568
มิติด้านธรรมาภิบาล: การป้องกันรูปแบบใหม่ ก้าวทันยุค AI
ทรู คอร์ปอเรชั่น ยังคงรักษามาตรฐานระดับสูงในมิติด้านธรรมาภิบาล โดยมุ่งเน้นความโปร่งใส ความรับผิดชอบ และการดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรม โดยได้ 92 จาก 100 คะแนนในมิตินี้ และเพื่อรับมือกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เพิ่มขึ้น ทรู คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทโทรคมนาคมแห่งแรกในประเทศไทยที่ได้นำแผนการใช้ปัญญาประดิษฐ์อย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Responsible AI (RAI) Roadmap ของสมาคมจีเอสเอ็ม (GSMA) มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ ผ่านความร่วมมือกับโอเปอร์เรเตอร์ระดับโลก 19 ราย เพื่อส่งเสริมการใช้ AI อย่างปลอดภัย เท่าเทียมและยั่งยืน เป็นไปตามมาตรฐานระดับสากลสูงสุด และในช่วงต้นปี 2568 ทรู คอร์ปอเรชั่น เตรียมจะเปิดตัวโครงการ Responsible AI by Design เพื่อรับรองการใช้งาน AI อย่างมีจริยธรรมในทุกกระบวนการดำเนินงานขององค์กร
นายมนัสส์ มานะวุฒิเวช ประธานคณะผู้บริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า “ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะผู้นำด้านความยั่งยืน ยังคงสานต่อความมุ่งมั่น ทุ่มเท สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจภายใต้ธรรมาภิบาล โดยบริษัทฯ กำหนดเป้าหมายที่จะสร้างมาตรฐานใหม่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่องค์กรอื่นๆ ได้นำแนวทางปฏิบัติด้านความยั่งยืนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์”
ด้วยคะแนนที่โดดเด่นในกลุ่มโทรคมนาคมโลก จากการประเมิน S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ประจำปี 2024 ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับการคัดเลือกติดอันดับดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มดัชนีความยั่งยืนชั้นนำที่นักลงทุนให้การยอมรับ โดย DJSI ใช้กระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใสและมีกฎเกณฑ์ชัดเจน พิจารณาจากคะแนนความยั่งยืนรวม (Total Sustainability Scores) ของบริษัทต่างๆ ที่ได้จากการประเมินด้านความยั่งยืนประจำปีของ S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) ทั้งนี้ มีเพียงบริษัทที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์
เกี่ยวกับ S&P Global CSA
S&P Global Corporate Sustainability Assessment (CSA) เป็นการวิเคราะห์ที่จัดขึ้นรายปี โดยใช้หลักเกณฑ์การประเมินที่เชื่อมโยงกันทั้งปัจจัยด้านความยั่งยืน ผลลัพธ์ทางการเงิน และตัวขับเคลื่อนมูลค่าทางธุรกิจที่มีมานานกว่า 20 ปี ควบคู่กับการตรวจสอบอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้านความยั่งยืนและการเงินชั้นนำของ S&P Global ผู้ให้บริการข้อมูลด้านการเงินและการจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลก ทั้งนี้ การประเมิน CSA ครอบคลุมการเก็บข้อมูลมากกว่า 3,500 หัวข้อ (data points) ในกว่า 35 ประเด็นด้านความยั่งยืน
เกี่ยวกับทรู คอร์ปอเรชั่น
บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นผู้นำเทเลเคอม-เทคคอมปานีไทยที่มุ่งมั่นสร้างศักยภาพให้คนในสังคมและกลุ่มธุรกิจ ได้เข้าถึงนวัตกรรมโซลูชันการเชื่อมต่อที่ล้ำสมัย ร่วมพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน บริการเสียงและบริการดาต้าของทรู จะช่วยสร้างระบบนิเวศไลฟ์สไตล์ครบวงจร ทั้งความบันเทิงระดับโลก สิทธิพิเศษและการเชื่อมต่อแบบไร้รอยต่อ และด้วยนวัตกรรมจากเทคโนโลยี AI ทำให้ทรู มีส่วนช่วยสร้างโลกที่ดีขึ้น คนในสังคมมีสุขภาพที่ดีขึ้น และปลอดภัยมากขึ้น ทั้งนี้ การที่ ทรู คอร์ปอเรชั่น ติดอันดับดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) ด้วยคะแนนสูงสุดในกลุ่มโทรคมนาคมโลก ติดต่อกันเป็นเวลา 7 ปี สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเทคคอมปานีไทยในการขับเคลื่อนความยั่งยืนและมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ดูข้อมูลเพิ่มเติม คลิก www.true.th/sustainability
#ยั่งยืนที่แท้ทรู #TrueDJSI #TrueSustainability