กลุ่มทิสโก้ ปักธงยุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืนปี 2568

กลุ่มทิสโก้ เดินหน้ายุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Focus) พร้อมจัดทัพรับความท้าทายปี 2568 ด้วยการยกระดับประสิทธิภาพการดำเนินงานในทุกมิติ ทั้งด้านคุณภาพสินเชื่อ การบริหารจัดการหนี้และดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ไปจนถึงการยกระดับบริการที่ปรึกษาทางการเงิน พร้อมเสริมศักยภาพด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อวางแผนทางการเงินที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในทุกช่วงชีวิต รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบด้าน เพื่อให้ลูกค้ามี Wealth Span ที่สอดคล้องกับ Health Span อย่างยั่งยืน ขณะที่ผลประกอบการปี 2567 มีกำไรสุทธิ 6,901
ล้านบาท

นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ กลุ่มทิสโก้ (Mr. Sakchai Peechapat, Group Chief Executive, TISCO Financial Group Public Company Limited) เปิดเผยว่า กลุ่มทิสโก้ให้ความสำคัญกับการเป็นสถาบันการเงินที่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจจากลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมเติบโตเคียงข้างกันอย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูง ในปี 2568 กลุ่มทิสโก้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวประมาณ 3%

จากแรงสนับสนุนด้านการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชน และการเติบโตของภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การขยายตัวดังกล่าวยังคงเปราะบางและเผชิญกับความไม่แน่นอนจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ อาทิ นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และคุณภาพลูกหนี้ที่ถดถอย แม้ว่านโยบายการเงินที่ผ่อนคลายและมาตรการแก้หนี้ “คุณสู้ เราช่วย” จะมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาระหนี้ของกลุ่มเปราะบาง แต่ยังไม่สามารถช่วยสร้างการเติบโตที่มั่นคงในวงกว้าง

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้บริบทของการดำเนินธุรกิจในปี 2568 ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทายสูงและต้องดำเนินการอย่างรอบคอบในทุกมิติ ดังนั้น ในปี 2568 กลุ่มทิสโก้จะเดินหน้ายุทธศาสตร์ธุรกิจยั่งยืน (Sustainable Focus) โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการในทุกมิติอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยกลยุทธ์ที่คำนึงถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ลูกค้าและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย

กลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพด้านสินเชื่อ

ธุรกิจสินเชื่อรายย่อย มีสัดส่วนราว 70% ของสินเชื่อรวม โดยส่วนใหญ่เป็นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ใหม่ รถยนต์มือสอง รถจักรยานยนต์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถทุกประเภท ภายใต้แบรนด์ “สมหวัง เงินสั่งได้” ในปีนี้จะเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานของสาขา โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการไปยังกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพ ควบคู่กับการดูแลคุณภาพทางเครดิต และให้ความช่วยเหลือดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันจะนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยคัดกรองลูกค้า พร้อมขยายบริการสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงินไปยังสาขาสมหวัง เงินสั่งได้ เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่ให้บริการเฉพาะสาขาธนาคาร

ธุรกิจสินเชื่อลูกค้าขนาดใหญ่ (Corporate Banking) จะมุ่งเน้นเติบโตในกลุ่มที่ทิสโก้มีความชำนาญ รวมถึงขยายไปยังกลุ่มธุรกิจกระแสใหม่ (S-Curve) ที่มีศักยภาพการเติบโตสูง เช่นเดียวกับ ธุรกิจสินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)
จะขยายวงเงินสินเชื่อหมุนเวียน (Floor Plan) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับลูกค้า พร้อมมองหาโอกาสการเติบโตในธุรกิจใหม่ ๆ

“ในปีนี้เศรษฐกิจไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน สิ่งที่เราทำได้คือการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบและพิจารณาความเสี่ยงอย่างเหมาะสม พร้อมให้ความช่วยเหลือดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ และการช่วยเหลือลูกหนี้ในโครงการ “คุณสู้ เราช่วย” พร้อมด้วยขยายบริการไปยังสินเชื่อบ้านและที่ดินแลกเงิน โดยใช้บ้านและที่ดินเป็นหลักประกัน เพื่อตอบสนองความต้องการสภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น รวมถึงเดินหน้าหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ จากกลุ่มธุรกิจที่ยังคงมีศักยภาพในการเติบโตสูง” นายศักดิ์ชัย กล่าว

การเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีดิจิทัล

กลุุ่มทิสโก้ ยังคงเดินหน้ายกระดับการให้บริการทางการเงินอย่างยั่งยืน โดยส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาวางโครงสร้างพื้นฐานภายในองค์กร ให้สามารถขับเคลื่อนกระบวนการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการวิเคราะห์และใช้ข้อมูล (Data Analytics) ในการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ เข้าใจพฤติกรรมและโจทย์ความต้องการของลูกค้า รวมถึงสร้างนวัตกรรมที่จะยกระดับการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น ตรงจุด สะดวก เข้าใจง่าย และครบวงจร

นอกจากนี้ จะเร่งภารกิจ Culture of Innovation โดยพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้เชี่ยวชาญทั้งด้านการเงิน การลงทุน และก้าวทันเทคโนโลยี นำไปสู่เป้าหมายและผลสัมฤทธ์ที่เกิดขึ้นจริงและวัดผลได้ นั่นคือ การเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และเสริมศักยภาพการให้บริการได้ดียิ่งขึ้น

กลยุทธ์การสร้างรายได้ค่าธรรมเนียม

นายเมธา ปิงสุทธิวงศ์ กรรมการอำนวยการและกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มทิสโก้ (Mr. Metha Pingsuthiwong, Chief Operating Officer and President) กล่าวว่า ธุรกิจธนบดีและตลาดทุน จะมุ่งเน้นการให้คำปรึกษาทางการเงินแบบองค์รวม (Holistic Financial Advisory) ครอบคลุมทั้งบริการที่ปรึกษาการเงิน การลงทุน ความคุ้มครองชีวิตและสุขภาพ การวางแผนเกษียณ และการวางแผนมรดก เพื่อสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนในระยะยาวและเหมาะสมกับความต้องการตลอดช่วงชีวิตของลูกค้า

ธุรกิจบริหารความมั่งคั่ง (Wealth Management) มุ่งเน้นยกระดับบริการการวางแผนการเงินให้มีประสิทธิภาพขึ้น โดยจับมือกับพันธมิตรชั้นนำ ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) 14 แห่ง และบริษัทประกัน 11 แห่ง เพื่อคัดสรรผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละรายโดยไม่จำกัดค่าย ควบคู่กับการให้คำแนะนำที่ผสานระหว่างที่ปรึกษาทางการเงินและโปรแกรมวางแผนการเงิน TISCO My Goal

ธุรกิจบริหารจัดการกองทุน (Asset Management) มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์คุณภาพสูงที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีอย่างสม่ำเสมอแก่ลูกค้า พร้อมขยายฐานลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล และ Agent Network รวมถึงต่อยอดผลิตภัณฑ์และบริการไปในกลุ่มกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)

ธุรกิจหลักทรัพย์ (Securities Brokerage) เพิ่มโอกาสการลงทุนที่ง่ายและสะดวกให้กับลูกค้า พร้อมกระจายรายได้จากการให้บริการใหม่ ๆ โดยนำ AI เข้ามาประยุกต์ใช้ ร่วมกับการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ลูกค้า

ธุรกิจประกันภัย (Bancassurance) มุ่งพัฒนาและคัดสรรผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่คุ้มค่า ตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าในเชิงลึก ผ่านความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับบริษัทพันธมิตรประกันภัยชั้นนำ โดยที่บริษัทจะคำนึงถึงความเหมาะสมกับความเสี่ยงและสถานะทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย เพื่อให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ได้อย่างตรงจุด สามารถช่วยลูกค้าบริหารความเสี่ยง และสร้างความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

ผลการดำเนินงานปี 2567

นายชาตรี จันทรงาม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายควบคุมการเงินและบริหารความเสี่ยงกลุ่มทิสโก้ (Mr. Chatri Chandrangam, Senior Executive Vice President – Risk and Financial Control) กล่าวว่า ในปี 2567 กลุ่มทิสโก้มีกำไรสุทธิ 6,901 ล้านบาท อ่อนตัวลง 5.5% จากปีก่อน เนื่องจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss – ECL) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 0.6% ของยอดสินเชื่อเฉลี่ย เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและหนี้ภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ขณะที่รายได้รวมจากการดำเนินงานปรับตัวดีขึ้น 2.3% โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิทรงตัวจากปีก่อนหน้า จากการบริหารผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่มีประสิทธิภาพ แม้ในภาวะที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 30% ก็ตาม ด้านรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 8.4% จากการรับรู้กำไรจากเงินลงทุน การขยายตัวของธุรกิจหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยเฉพาะธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรายได้ธุรกิจวาณิชธนกิจจากการเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO

อย่างไรก็ดี ค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ชะลอตัวลง ผลจากรายได้นายหน้าประกันภัยที่ลดลงตามยอดการปล่อยสินเชื่อใหม่ อีกทั้ง ค่าธรรมเนียมจากการซื้อขายหลักทรัพย์อ่อนตัวลง จากปริมาณการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ซบเซา ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานลดลง 0.9% จากการลดลงของค่าใช้จ่ายพนักงาน ทั้งนี้ บริษัท   มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นเฉลี่ย (ROAE) งวดปี 2567 อยู่ที่ 16.1%

เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567 มีจำนวน 232,200 ล้านบาท ลดลง 1.1% จากสิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถใหม่ ซึ่งเป็นไปตามยอดขายรถยนต์ในประเทศที่หดตัวลงกว่า 27% ในขณะที่บริษัทยังคงนโยบายการขยายสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อบรรษัทขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อยที่มีอัตราผลตอบแทนสูง ได้แก่ สินเชื่อจำนำทะเบียน สินเชื่อเช่าซื้อรถมือสอง และสินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์ พร้อมด้วยเพิ่มความรอบคอบและระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อใหม่ในสภาวะที่เศรษฐกิจยังคงเปราะบาง ด้านสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ที่ 2.35% ของสินเชื่อรวม ผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า อย่างไรก็ดี บริษัทยังคงมุ่งเน้นการติดตามดูแลลูกหนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ด้วยระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 155.3%

ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 20.5% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 18.7% และ 1.8% ตามลำดับ