แม้หลายธุรกิจจะ (พยายาม) มองว่า ปี 2568 มีสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่า ปีนี้ยังคงเต็มไปด้วยความท้าทาย ซึ่งต้องเตรียมตัวรับมือให้ดี ๆ รวมถึง ‘บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน)’ หรือ MBK ที่ ‘วิจักษณ์ ประดิษฐวณิช’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้อำนวยการฯ บอกว่า ปี 68 เป็นปีแห่งการทำธุรกิจที่ต้องระมัดระวังและรอบคอบ
“เราเห็นสัญญาณบวกจากธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงมาตรการของภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ยังมีปัจจัยหลายอย่างต้องจับตา เช่น ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก การมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้ปีนี้การทำธุรกิจต้องระมัดระวัง รอบคอบ และต้องมีโฟกัสมาก”
ปัจจุบันธุรกิจของ MBK มีด้วยกัน 7 กลุ่ม ซึ่งถือเป็นการกระจายความเสี่ยง ได้แก่ ‘ธุรกิจศูนย์การค้า’ ประกอบด้วย MBK Center , พาราไดซ์ พาร์ค, พาราไดซ์ เพลส, เดอะไนน์ พระราม 9 และเดอะไนน์ ติวานนท์ ‘ธุรกิจโรงแรม’ มี 8 แห่ง อาทิ ปทุมวันปริ๊นเซส, ดุสิตธานี กระบี่ บีช รีสอร์ท ฯลฯ ‘ธุรกิจสนามกอล์ฟ’, ‘ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์’, ‘ธุรกิจอาหาร’, ‘ธุรกิจการเงิน’ และ ‘ธุรกิจการประมูล’
สำหรับธุรกิจที่เติบโตและสร้างรายได้ดี โดยธุรกิจเหล่านี้เติบโตตามทิศทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ก็คือ ธุรกิจศูนย์การค้าโต 26%, ธุรกิจโรงแรมโต 22%, ธุรกิจสนามกอล์ฟโต 15% และธุรกิจอาหารโต 34% ซึ่งในปีนี้จะมีการพัฒนาต่อเนื่อง
อย่างธุรกิจศูนย์การค้า ในส่วนของ MBK Center ที่ตอนนี้มีทราฟฟิก 80,000-100,000 คนต่อวัน จากเดิมอยู่ที่ 72,000 คนต่อวัน ซึ่งลูกค้า 60% เป็นคนไทย อีก 40% เป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่เป็นชาวยุโรปและอินเดีย
วิจักษณ์บอกว่า นอกเหนือจากการปรับปรุงและพัฒนาศูนย์แล้ว การทำมาร์เก็ตติ้งถือเป็นกลยุทธ์สำคัญ ภายใต้ Targeted Marketing เน้นทำความรู้จักและตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกร้านค้า และจัดอีเวนท์วัฒนธรรมที่ลูกค้าชอบ เช่น การแข่งขันมวยไทย เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้สำคัญกับการทำตลาดผ่านโซเชียล มีเดีย และเสิร์ช เอ็นจิ้น ตามเทรนด์ปัจจุบัน
เช่นเดียวกับศูนย์การค้าอื่น ๆ ทั้งพาราไดซ์ พาร์ค, พาราไดซ์ เพลส, เดอะไนน์ พระราม 9 และเดอะไนน์ ติวานนท์ ที่มีการรีโนเวตและดึงแบรนด์ใหม่ ๆ เข้ามาเสริมทัพให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละศูนย์
นอกจากนี้ ในส่วนของ ‘บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด’ ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์, สยามพารากอน, ไอคอนสยาม ที่ทาง MBK ถือหุ้นอยู่ 58% ก็มีแผนจะยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจลักชัวรี่ทั้งในและต่างประเทศ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาอยู่
ส่วนธุรกิจโรงแรม ได้รับอานิสงส์จากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น โดยกลุ่มดังกล่าวถือเป็นกลุ่มลูกค้าหลักคิดเป็นสัดส่วน 90% ของลูกค้าทั้งหมด นอกจากปรับปรุงห้องพักให้ทันสมัยอยู่เสมอแล้ว MBK ยังได้ลงทุนโรงแรมใหม่อีก 1 แห่ง นั่นคือ ทินิดี เทรนดี้ กรุงเทพฯ ข้าวสาร
ขณะที่ธุรกิจที่มีการชะลอตัวตามสภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของตลาด ได้แก่ อสังหาริมทรัพย์ -33%, ธุรกิจการประมูล -12% และธุรกิจการเงิน -5% ตามแผนของ MBK ในปีนี้ต้องมีการปรับแผนหันมาโฟกัสในเรื่องการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่เน้นลงทุนเพิ่ม
เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ทาง MBK จะไม่เน้นเร่งสร้างโครงการใหม่ แต่พยายามขายโครงการเดิมที่มีอยู่ อย่าง ‘โครงการเดอะ พาโน’ ย่านกระทู้ จังหวัดภูเก็ต ที่เป็นพูลวิลล่า ลักชัวรี่ จำนวน 28 ยูนิต มีมูลค่าโครงการ 1,400 ล้านบาท ฯลฯ
ส่วนธุรกิจการประมูล ‘แอพเพิล ออโต้ ออคชั่น’ ปีนี้ได้ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ เน้นเรื่องการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น รวมไปถึงมีระบบคัดกรองลูกค้าอย่างเข้มข้นมากขึ้น
สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานของ MBK ช่วง 9 เดือนของปี 2567 มีรายได้รวม 8,391.41 ล้านบาท มีกำไร 2,111.63 ล้านบาท ส่วนผลดำเนินการในปี 2568 ตั้งเป้าจะเติบโตรายได้ไม่ต่ำกว่า 15%