ส่องสวัสดิการ “โตโยต้า” ยักษ์ใหญ่แห่งยานยนต์ ดูแลพนักงานอย่างไรให้รองรับกับความหลากหลาย


การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบันต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน เนื่องจากมีการเปลี่ยนผ่านของยุคสมัย ย่อมเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทั้งในเรื่องวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม เราจึงได้เห็นนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน ไปจนถึงเรื่องความเท่าเทียม เพื่อรองรับสังคมที่มีความหลากหลายมากขึ้น


นโยบาย DE&I สร้างโอกาสแห่งความเท่าเทียม 

DE&I เป็นหนึ่งในนโยบายหลักที่หลายๆ องค์กรเริ่มพูดถึง เป็นกระแสหลักที่ต้องจับตามองในปัจจุบัน โดยนโยบายดังกล่าวนั้น เปรียบเสมือนหนึ่งในหัวใจสำคัญในการบริหารบุคคลขององค์กรทั่วโลก และแน่นอนว่าบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง
“โตโยต้า” หรือ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย ก็ไม่ยอมตกขบวนนี้อย่างแน่นอน ทั้งในส่วนของบริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่น ภูมิภาคเอเชีย และประเทศไทย ได้ดำเนินนโยบาย DE&I เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์การสหประชาติ และเป็นไปตามวิสัยทัศน์ “Creating Mobility For All” ที่กล่าวว่าเราจะ “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” และมอบทางเลือก “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” ที่เหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการที่หลากหลายของลูกค้า อีกทั้งยังมีพันธกิจ “Producing Happiness for All” ที่ต้องการจะเป็นผู้สร้างความสุขให้กับทุกคน

แสดงให้เห็นว่าโตโยต้าเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมความหลากหลาย และการให้โอกาสที่เท่าเทียมกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงต่อต้านการคุกคามต่อกันไม่ว่าจะเป็นในระดับสังคมองค์กร พนักงานหรือคู่ค้าทางธุรกิจ


ยอมรับความหลากหลาย และไม่เลือกปฏิบัติ

โตโยต้าได้ประกาศใช้นโยบาย DE&I เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2566 หลักๆ จะเป็นการเริ่มจากภายในองค์กร ก่อนที่เป้าหมายในระยะยาวจะขยายผลไปสู่คู่ค้า ตัวแทนจำหน่าย หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของบริษัท แนวคิดของนโยบายนี้ต้องการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ครอบคลุม และเปิดกว้าง สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่างในทุกระดับขององค์กร ซึ่งจะสะท้อนถึงคุณค่าและปรัชญาของ Toyota Way ที่มุ่งมั่นพัฒนาองค์กรและพนักงานให้เติบโตไปพร้อมกันนั่นเอง

นโยบาย DE&I ของโตโยต้า ประกอบด้วย 3 ส่วนด้วยกัน ได้แก่

1.Diversity (ความหลากหลาย) : นโยบายนี้เน้นในเรื่องการสร้างสภาพแวดล้อมที่เคารพ และยอมรับความแตกต่างของคน ซึ่งในความแตกต่างนี้มีทั้งที่สามารถมองเห็นได้ เช่น เพศ อายุ หรือรูปลักษณ์ภายนอก เป็นต้น และยังรวมไปถึงสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น ความคิด ความเชื่อ ศาสนา วัฒนธรรม และความสามารถต่างๆ เพื่อให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขยังรวมไปถึงการยอมรับ และสนับสนุนในความแตกต่างของแต่ละคนโดยไม่มีอคติ ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนผู้หญิงในบทบาทผู้นำ

2.Equity (ความเท่าเทียม) : มีการออกแบบนโยบายและกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานทุกคน เช่น การประเมินผลงาน การจ่ายค่าตอบแทน และการเลื่อนตำแหน่ง รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ไม่เลือกปฏิบัติ (Non-Discrimination) และมอบโอกาสที่เท่าเทียมในการพัฒนาทักษะ และความก้าวหน้าในอาชีพของแต่ละคน

3.Inclusion (การยอมรับความแตกต่าง) : เป็นการให้คุณค่ากับความแตกต่างของคน สร้างพื้นที่ที่ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม และได้รับการยอมรับ รวมไปถึงป้องกันการล่วงละเมิด (Anti-Harassment) ผ่านการส่งเสริมให้หลีกเลี่ยงพฤติกรรม และการกระทำใดๆ ที่ทำให้รู้สึกถึงการคุกคาม การล่วงละเมิด หรือการดูถูกเหยียดหยาม (Social Bullying) และยังสนับสนุนกิจกรรมหรือโปรแกรมที่ส่งเสริมความเข้าใจและเคารพต่อความแตกต่าง

โดยที่นโยบาย DE&I ของโตโยต้ามีการปรับใช้ในส่วนของการบริหารบุคคลอย่างจริงจัง โดยเริ่มใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการสรรหา คัดเลือกพนักงานโดยปราศจากอคติรวมถึงการดูแลและพัฒนาพนักงาน ตลอดจนการประเมิณผลการปฎิบัติงานไปจนถึงเกษียณอายุอีกด้วย

คุณสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า

“ปัจจุบัน สังคมไทยเปิดกว้างในประเด็นเรื่อง DE&I เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายและผู้หญิง การยอมรับในเพศทางเลือก และการส่งเสริมไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ รณรงค์ต่อต้านการ Bullying ในทุกรูปแบบ

ทั้งนี้ ความเท่าเทียมในสังคมไทยที่เป็นรูปธรรมมากที่สุดก็คงเป็นเรื่องการผ่านร่าง พรบ. สมรสเท่าเทียม ที่จะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 มกราคม 2568 นี้ ซึ่งไทยถือประเทศแรกในอาเซียน และนับเป็นประเทศที่ 3 ในเอเชียที่มีการผ่านร่างกฎหมายนี้ จึงมองว่า พรบ. สมรสเท่าเทียม เป็นหมุดหมายสำคัญที่จะยกระดับความเท่าเทียมในสังคมไทยให้ก้าวไปอีกขั้นหนึ่ง โตโยต้าเองก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของความเท่าเทียม ผ่านนโยบาย DE&I และได้ปรับสวัสดิการและกฎระเบียบต่างๆให้สอดรับกับกฎหมายสมรสเท่าเทียม และยังทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเท่าเทียมในองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม”


ปรับสวัสดิการรองรับสมรสเท่าเทียม

ในส่วนของสวัสดิการที่เรียกว่าเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญในการดึงดูดพนักงานใหม่ และรักษาพนักงานให้อยู่กับบริษัทฯ ไปนานๆ  โตโยต้าซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่แห่งวงการยานยนต์ระดับโลกได้มีการปรับตัว ปรับสวัสดิการเพื่อให้เข้ากับยุคสมัยอย่างต่อเนื่อง

และในโอกาสที่กฏหมายสมรสเท่าเทียมมีผลบังคับใช้ โตโยต้าก็ได้ร่วมเฉลิมฉลองกับก้าวสำคัญนี้ผ่านการปรับสวัสดิการให้สอดคล้องกับ “กฏหมายสมรสเท่าเทียม” โดยให้สิทธิการลา สิทธิการรักษาพยาบาล และเงินช่วยเหลือในโอกาสต่างๆ ครอบคลุมคู่สมรสพนักงานที่เป็นเพศเดียวกัน  รวมถึงยังให้สิทธิการลาประเภทพิเศษที่นอกเหนือจากกฏหมายกำหนด อาทิ สิทธิการลาผ่าตัดแปลงเพศโดยได้รับค่าจ้าง รวมถึงการปรับเปลี่ยนกฎระเบียบการแต่งกาย พนักงานสามารถแต่งกายตามเพศวิถี หรืออัตลักษณ์ทางเพศของตนได้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ด้วยการสร้างบรรยากาศสถานที่ทำงานให้เป็นพื้นที่ “ปลอดภัยและสบายใจ”

นอกจากสวัสดิการที่รองรับสมรสเท่าเทียมแล้ว ยังมีการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อรองรับความหลากหลาย อาทิ ห้องน้ำสำหรับผู้ใช้รถเข็น ห้องน้ำที่ไม่แบ่งแยกเพศ ทางลาดและแผงควบคุมลิฟท์รองรับผู้ใช้เก้าอี้รถเข็น ห้องละหมาด ห้องให้นมบุตร ที่จอดรถและเก้าอี้คนท้อง รวมถึง Co-Working Space ที่ตอบโจทย์ทุกสไตล์การทำงาน

ส่วนสวัสดิการที่โดดเด่นที่สุดของโตโยต้า คือการมี Selective Welfare ที่พนักงานสามารถออกแบบสวัสดิการของตัวเองได้ตามรายการที่บริษัทกำหนด ช่วยตอบโจทย์และรองรับความต้องการที่หลากหลาย เช่น การเลือกไม่รับสวัสดิการบางรายการ เพื่อเปลี่ยนเป็นประกันสำหรับครอบครัว หรือบัตรกำนัลต่างๆ สำหรับเติมน้ำมัน เดินทางท่องเที่ยว ทานอาหาร บริการสปา หรือกระทั่งอุปกรณ์แกดเจ็ต สินค้าไลฟ์สไตล์ที่ชื่นชอบ เป็นต้น

ทั้งนี้นโยบาย DE&I ของโตโยต้า ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อปรับใช้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการให้ความรู้ สร้างการรับรู้ และสร้างจิตสำนึกอีกด้วย ที่ผ่านมาโตโยต้าได้จัดอบรม E-learning “เรื่องนโยบายความหลากหลาย และการยอมรับความแตกต่าง” และอบรมเรื่อง Unconscious Bias เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอคติที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวอันเป็นหัวข้อสำคัญของการส่งเสริม DE&I ในองค์กร เพื่อสร้างค่านิยมอันดีงามในสังคม

โดยเป้าหมายสำคัญในการส่งเสริมนโยบาย DE&I ก็คือ การสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทุกคนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และแสดงศักยภาพของตนเองได้อย่างเต็มที่ ทำให้องค์กรได้ส่งเสริมคนเก่ง และยังเป็นการรักษาคนให้อยู่กับองค์กรระยะยาวอีกด้วย

แรกเริ่มนโยบาย DE&I มีการใช้ในองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีแผนระยะกลาง-ยาวโดยภายในต้นปี 2025 โตโยต้าจะเริ่มส่งเสริมนโยบาย DE&I ให้กับกลุ่มผู้แทนจำหน่ายเป็นกลุ่มแรก เนื่องจากมองว่ากลุ่มผู้แทนจำหน่าย คือตัวแทนที่ใกล้ชิดกับลูกค้ามากที่สุด อันจะเป็นกระบอกเสียงสำคัญที่สะท้อนวิสัยทัศน์ในเรื่องนโยบายความหลากหลายเท่าเทียมให้กับสังคม นอกจากนี้ภายในปี 2025 โตโยต้าจะขยายขอบเขตไปยังห่วงโซ่ธุรกิจของโตโยต้า (value chain) ให้ดำเนินการบนพื้นฐานเรื่องความหลากหลายความเท่าเทียมและการยอมรับความแตกต่างเช่นกัน

เรียกได้ว่าการมีนโยบาย DE&I นอกจากจะเป็นเรื่องของการบริหารบุคลากรภายในแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงการลดความขัดแย้ง และความไม่เข้าใจระหว่างบุคลากรได้อีกด้วย เพราะเมื่อทุกคนในองค์กรรู้สึกมีคุณค่าและได้รับการเคารพ องค์กรก็จะสามารถเติบโตและขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับพันธกิจ “Producing Happiness for All” ที่ต้องการจะเป็นผู้สร้างความสุขให้กับทุกคนนั่นเอง