เจาะลึกอาชีพ ‘บอร์ดเกมดีไซเนอร์’ กับ ‘อาร์ม วัชริศ’ แห่ง ‘DNR Boardgame’ พร้อมมองเทรนด์ และโอกาสใช้บอร์ดเกมเป็น ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ เมืองไทย

คนส่วนใหญ่น่าจะรู้จัก บอร์ดเกม จาก เกมเศรษฐี หรือ บันไดงู แต่ปัจจุบันกระแสของ โมเดิร์น บอร์ดเกม ในไทยกำลังเติบโต โดย Positioning มีโอกาสได้พูดคุยกับ อาร์ม วัชริศ ถนอมทรัพย์ แห่ง DNR Boardgame นักออกแบบบอร์ดเกมที่เบอร์ต้น ๆ ของไทย ที่จะมาเล่าถึงเทรนด์โมเดิร์นบอร์ดเกมและเจาะลึกถึงการเป็น บอร์ดเกมดีไซเนอร์ เป็นอย่างไรบ้าง

กว่าจะมาเป็น DNR Boardgame 

อาร์ม วัชริศ ถนอมทรัพย์ เล่าว่า หากนับเฉพาะ โมเดิร์นบอร์ดเกม เล่นมาเป็น 10 ปี ในช่วงนั้นโมเดิร์นบอร์ดเกมยังไม่เป็นเทรนด์เหมือนปัจจุบัน ยังมีคนเล่นไม่มาก ทำให้ในประมาณปี 2015 ได้ตัดสินใจเปิดร้านบอร์ดเกมชื่อ Dice and Roll เพื่อหาเพื่อนเล่น ซึ่งระหว่างนั้นก็ลอง ทำบอร์ดเกมของตัวเอง มีการส่งประกวดบ้าง จนมาปี 2018 ที่ตัดสินใจปิดร้านคาเฟ่ เพราะอิ่มตัวและไม่มีเวลาดูแล หันมาออกแบบบอร์ดเกมอย่างจริงจัง จนได้มีบอร์ดเกมออกมาวางขายในปี 2019 

“ช่วงนั้นคือ เรารู้สึกว่า เราเล่นบอร์ดเกมแล้วรู้สึกสนุกขนาดนี้ ถ้าเรามีโอกาสทำเกมออกไปแล้วคนอื่นเขาแฮปปี้กับเกมเรา เราจะน่าจะแฮปปี้ขึ้นอีก”

เกมแรกที่ทำขายของ DNR Boardgame ต่อยอดมาจากเกมประกวด ชื่อเกม The Coding ซึ่งเป็นเกมแนวถอดรหัส ที่แม้จะแค่ผ่านเข้ารอบ 13 เกมสุดท้าย แต่หลายคนเห็นถึงศักยภาพที่จะสามารถผลิตได้จริง ซึ่งพอทำออกไปก็ประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง ถัดมาปี 2020 ก็ได้ออกเกม Cabbage Farm ซึ่งเกมนี้เป็นเกมชนะเลิศอันดับหนึ่งจากงานประกวดออกแบบบอร์ดเกม ปั้นกระดาน ครั้งที่ 1 จากนั้นก็ทยอยออกบอร์ดเกมใหม่มาเรื่อย ๆ จนมาปี 2025 ก็ออกแล้วกว่า 20 เกม

“โอกาสของผมมันมาจากการประกวด ทำให้เราได้รู้จักเพื่อน ๆ พี่ ๆ ในวงการ ซึ่งเขาก็มีส่วนช่วยในการฟีดแบ็ก ให้เราต่อยอดไปสู่การทำบอร์ดเกม”

กว่าจะเป็นบอร์ดเกมให้เล่น ยากกว่าที่คิด

การทำบอร์ดเกมสักหนึ่งเกมมีส่วนประกอบกันของหลาย ๆ ส่วน โดยผู้ออกแบบก็จะออกแบบ กลไก ดูแลภาพรวม  สตอรี่ จากนั้นก็จะมีเรื่องของ UX / UI หรืองานภาพประกอบ ก็จะมีการทำงานร่วมกับศิลปินเข้ามาช่วยออกแบบ สิ่งสำคัญคือต้องมีการทดลองเล่น ครั้งแล้วครั้งเล่า จนคิดว่าดีพอ จากนั้นก็จะเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน เมื่อชิ้นงานเสร็จก็จะเข้าสู่กระบวนการขาย ต้องทำเรื่องการตลาด หาช่องทางการจำหน่าย เป็นต้น

ซึ่งนักออกแบบจะมีทั้งแบบที่ ออกแบบเอง ขายเอง (Self -Published) บางคนก็ทำงานร่วมกับ Publisher โดยมีทั้งถูก ซื้อชิ้นงาน หรือ ออกแบบตามโจทย์ของ Publisher แน่นอนว่าหากทำเองขายเองก็จะต้องทำทุกอย่างเอง แต่ถ้าร่วมกับ Publisher ส่วนมากก็จะโฟกัสแค่งานออกแบบ โดยที่ผ่านมา ชิ้นงานของดีเอ็นอาร์มีทั้งแบบ Self Publish และที่จำหน่ายผ่าน Publisher อย่างละครึ่ง

“นักออกแบบบอร์ดเกมมันไม่ใช่แค่ว่า อยากออกแบบเกมแล้วมันก็จบแค่นั้น เพราะถ้าต้องทำเกมออกไปขาย แบบ Self-Published มันเป็นอีกศาสตร์หนึ่งไปเลย เป็นเรื่องของการทำธุรกิจย่อม ๆ ต้องติดต่อทั้งศิลปิน โรงงานผลิต แล้วก็ต้องมาคิดว่าจะขายอย่างไร เพราะเกมใหม่ หากคนยังไม่มีโอกาสลองเล่น ก็ยิ่งยาก ต้องคิดว่าทำอย่างไรให้คนได้มีโอกาสเล่นมากขึ้น” 

อยากเป็นบอร์ดเกมดีไซเนอร์ต้องใจรัก เล่นให้เยอะ และอดทน

แม้อาจจะวัดได้ยากว่าประเทศไทยมีจำนวนนักออกแบบบอร์ดเกมมากน้อยแค่ไหน แต่ อาร์ม เชื่อว่า มีนักออกแบบหน้าใหม่เกิดขึ้นทุกปี ซึ่งในมุมของอาร์มการจะมาเป็นนักออกแบบสิ่งสำคัญที่แนะนำคือ ต้อง ใจรัก และ อยากให้ เล่นเยอะ ๆ เพื่อจะได้มีไอเดียในการนำมาใช้ออกแบบบอร์ดเกมใหม่ ๆ อีกสิ่งสำคัญคือ อดทน เพราะว่าบอร์ดเกม สิ่งสำคัญคือการ เพลย์เทสต์ ซึ่งเป็นกระบวนการทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะต้องแก้จนกว่าจะได้เกมที่สมบูรณ์ ซึ่งหลายคนอาจถอดใจไปในช่วงนี้

นอกจากนี้ อาร์มมองว่าการเป็นดีไซน์เนอร์บอร์ดเกมอาจไม่จำเป็นต้อง เป็นอาชีพหลัก เพราะมองว่าสามารถ ทำเป็นงานเสริม เพราะมีน้อยคนที่จะโด่งดังขายได้เป็นล้านกล่อง หรือขายแค่ license ก็อยู่ได้ไปตลอด

“ผมโดนถามบ่อยมากว่าเป็นบอร์ดเกมดีไซเนอร์อย่างเดียวได้ไหม แต่ผมกลับคิดอีกมุมว่า ทำไมต้องเป็นบอร์ดเกมดีไซเนอร์อย่างเดียว เพราะขนาดระดับโลกยังมีไม่กี่คนที่ขายแค่ license อย่างเดียวเพื่อยังชีพ ดังนั้น มันยากมาก”

มั่นใจ ไทยมีศักยภาพเป็นฮับของภูมิภาค

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ส่วนสำคัญที่ อาร์ม มองว่า ช่วยดันตลาดบอร์ดเกมในไทยหลัก ๆ มาจาก อินฟลูเอนเซอร์​ โดยเฉพาะ ยูทูบเบอร์ ที่นำบอร์ดเกมมาเล่น จนต่อยอดสู่การทำเกมออกมาขาย ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้คนไทยรู้จักโมเดิร์นบอร์ดเกม

“ยูทูบเบอร์มีส่วนเยอะมากกับกระแสบอร์ดเกมในไทย อย่างน้อย ๆ ก็เรื่องการยกพื้นฐานของคำว่าบอร์ดเกมของทุกคนขึ้นมา ไม่ใช่รู้จักแค่เกมเศรษฐี หรือเกมบันไดงู และหลายเกมดังได้มากขึ้นเพราะอินฟลูฯ ถ้าเกมถูกอินฟลูฯ หยิบไปเล่นเหมือนถูกหวยเลย”

ปัจจัยหลัก ๆ ที่อาจทำให้ตลาดบอร์ดเกมยัง ไม่แมส ส่วนหนึ่งอาร์มมองว่า ราคา ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องยอมรับบอร์ดเกม ไม่ได้ถูก และการจะตัดสินใจจากแค่ ปก อาจไม่พอ ดังนั้น นี่จึงอาจเป็นข้อจำกัดที่สำคัญ และต้องได้คาเฟ่บอร์ดเกมเป็นส่วนช่วยให้ลูกค้าได้ลองเล่นก่อนตัดสินใจ รวมถึงอินทธิพลของอินฟลูฯ​ 

แม้จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง แต่ตลาดบอร์ดเกมในไทยก็ถือว่าเติบโตอย่างมาก เห็นได้จากการจัดงานเกี่ยวกับบอร์ดเกม จำนวน Publisher มากถึง 6-7 ราย รวมถึงร้านคาเฟ่บอร์ดเกมที่มีอีกเป็นหลักร้อย ๆ ร้าน รวมถึงจำนวน บอร์ดเกมไทย ที่ออกมาประมาณปีละประมาณ 20 เกม 

แม้จะยังเทียบกับต่างประเทศที่มีเป็นหลักร้อยเกมไม่ได้ แต่ก็มีหลายเกมที่ถูกนำไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ดังนั้น อาร์มจึงมองว่า ตลาดบอร์ดเกมในไทยยังมี โอกาสเติบโตอีกมาก และมีศักยภาพเป็น ศูนย์กลางของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเห็นได้จากที่งานบอร์ดเกมระดับโลกอย่าง CMON Expo มาจัดที่ประเทศไทย 

บอร์ดเกม ก็เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ อาร์มยังมองว่า บอร์ดเกมไทยก็สามารถใช้เป็น ซอฟต์พาวเวอร์ ได้ เพราะสามารถสอดแทรกความน่าสนใจของประเทศไทยไว้ในเกม ซึ่งก็จะช่วยให้ต่างชาติรู้จักประเทศไทยมากขึ้น

“ผมว่าถ้ารัฐบาลอยากมาทางนี้จริง ๆ ผมว่ามันมันทำได้ ทำแบบไม่เคอะเขินด้วย และแม้ว่าตลาดบอร์ดเกมไทยจะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น แต่เชื่อว่าไทยมีศักยภาพที่จะเป็นผู้นำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้”

อนาคต DNR Boardgame  

ตั้งแต่ทำ DNR Boardgame มา สิ่งที่เป็นความภูมิใจที่สุดคือ โมเมนต์ที่มีคนชื่นชอบในงาน มันดีใจ ดังนั้น แม้ว่าการขายเกมได้เป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้ไปต่อได้ แต่ความสำเร็จของ DNR Boardgame ไม่ใช่เรื่องยอดขายอย่างเดียว แต่แค่มีคนชื่นชอบผลงานก็มีความสุขแล้ว ดังนั้น อนาคตของ DNR Boardgame ก็คือต้องการ ทำเกมต่อไปเรื่อย ๆ และนำรายได้ไปทำเกมต่อ ๆ ไป แค่นี้ก็ดีใจแล้ว

สำหรับใครที่สนใจอยากจะลองเล่นเกมของ DNR Boardgame สามารถติดต่อได้ผ่านช่องทาง Facebook Fanpage ได้เลย