ที่ผ่านมา จากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และสงครามการค้า ทำให้ทุนต่างประเทศไหลเข้าลงทุนตั้งโรงงาน และคลังสินค้าในไทยมากขึ้น ทั้งจากจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น และยุโรป
สะท้อนจากข้อมูลการลงทุนในไทย ปี 2567 ของ บีโอไอ ที่พบว่า
- การขอรับการส่งเสริม จำนวน 3,137 โครงการ เพิ่มขึ้น 40% และมีมูลค่า 1.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% (YoY)
- การอนุมัติให้การส่งเสริม จำนวน 2,953 โครงการ เพิ่มขึ้น 24% และมีมูลค่า 9.73 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% (YoY)
- การออกบัตรส่งเสริม จำนวน 2,678 โครงการ เพิ่มขึ้น 47% และมีมูลค่า 8.46 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 72% (YoY)
จากปัจจัยดังกล่าว ทำให้เกิดโครงการเมืองอุตสาหกรรมใหม่ ชื่อว่า “อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์” ภายใต้การบริหารของ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด ทุนจดทะเบียน 10,520 ล้านบาท
โดยมี 3 กลุ่มทุนใหญ่ ร่วมทุน (JV) ประกอบด้วย
- บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มเจ้าสัวเจริญ ถือหุ้น 50%
- บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) ของกลุ่มวินิชบุตร ถือหุ้น 25%
- บริษัท นิคมอุตสาหกรรมเอเซีย จำกัด ของคุณชาลี โสภณพนิช ถือหุ้น 25%
โดยโครงการ ARAYA พัฒนาในรูปแบบ industrial township ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4,631 ไร่ บริเวณบางนา-ตราด กม. 32 ซึ่งเป็นที่ดินที่ประมูลจากกรมบังคับคดี (เดิมเป็นของกลุ่มกฤษดานคร) ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่ง ณ เวลานั้น ประมูลมา 4,315 ไร่ ในราคา 8,914 ล้านบาท และค่อย ๆ ซื้อที่ดินรอบข้างเพิ่ม
ความพิเศษของที่นี่ คือ ทำเลยุทธศาสตร์ที่เชื่อมได้หลายเส้นทาง อาทิ ฝั่งตะวันออก ใช้เวลาไป EEC 60 นาที, ฝั่งตะวันตก ใช้เวลาไปศูนย์กลาง CBD กทม. 50 นาที และใช้เวลาเพียง 15 นาทีเชื่อมต่อกับสนามบินสุวรรณภูมิ
“ปณต สิริวัฒนภักดี” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด กล่าวว่า บริษัทฯ ใช้เวลา 7 ปี ซุ่มพัฒนาที่ดิน และรวมแปลงที่ดิน จึงเผยโฉมอย่างเป็นทางการ
ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาพัฒนาเต็มทุกเฟสราว 7 ปี เงินลงทุนสำหรับที่ดิน พัฒนาที่ดิน และสาธารณูปโภคต่างๆ รวม 5-6 หมื่นล้านบาท โดยขณะนี้สาธารณูปโภคในเฟสแรกเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

“กมลกาญจน์ คงคาทอง” กรรมการผู้จัดการ บริษัท อารยะ แลนด์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ พัฒนาในรูปแบบ Industrial Tech Ecosystem บุกเบิกระบบนิเวศนวัตกรรม ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงและโลจิสติกส์แบบครบวงจร อาทิ กลุ่มธุรกิจเซมิคอนดักเตอร์ ดาต้าเซ็นเตอร์
ส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนที่น่าเชื่อถือ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากทั่วโลกเข้ามาส่งเสริมเศรษฐกิจภายในประเทศ
เบื้องต้น การพัฒนาแบ่งออกเป็น 3 เฟสใหญ่ โดยเฟสแรกเป็นโซนนิคมอุตสาหกรรม ใช้พื้นที่ 2,000 ไร่ งบลงทุน 20,000 ล้านบาท ใช้เวลาพัฒนาราว ๆ 2-3 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าเข้าจองพื้นที่แล้ว 100 กว่าไร่ คาดว่าปี 2568 จะปิดการขายได้ 300-400 ไร่
สำหรับ อารยะ ดิ อีสเทิร์น เกตเวย์ แบ่งโครงสร้างพื้นที่ออกเป็น 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
- Industrial Tech Campus (แคมปัสด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยี): พื้นที่ที่ถูกออกแบบให้เป็นแคมปัสของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงศูนย์ข้อมูล (Data Center)
- Logistics Park (พื้นที่โลจิสติกส์): พื้นที่สำหรับธุรกิจโลจิสติกส์ คลังสินค้า และศูนย์กระจายสินค้า
- ARAYA Industrial Estate (นิคมอุตสาหกรรมอารยะ): พื้นที่สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ และตั้งอยู่ในพื้นที่ของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (IEAT) ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ ตามนโยบายของภาครัฐ
- Lifestyle & Amenities (โซนไลฟ์สไตล์และบริการต่างๆ) : พื้นที่รีเทล ไลฟ์สไตล์ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของโครงการที่
- Community Services Centre (ศูนย์กลางการให้บริการชุมชน): มีทั้งโรงเรียนนานาชาติ โรงพยาบาล และพื้นที่ส่วนกลางอื่น ๆ
- Residential Project (โครงการที่อยู่อาศัย): พื้นที่สำหรับพัฒนาเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับบุคลากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้บริหาร ที่ทำงานในโครงการ