เมื่อ 16 ปีก่อน ‘ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด’ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากการที่ ‘อนพ วัฒนกูล’ รู้สึกอิ่มตัวกับการเป็นพนักงานออฟฟิศ จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาดที่ทำมานานมากกว่า 20 ปี เพื่อมาทำธุรกิจของตัวเอง
ณ ตอนนั้น เขาศึกษาความเป็นไปได้ของสินค้าอยู่หลายตัว โดย วิธีคิด คือ อยากทำสินค้าที่อยู่คู่กับคนไทยแบบยั่งยืน ไม่ใช่ ‘แฟชั่น’ ที่มาแล้วไปอย่างรวดเร็ว และสุดท้ายมาสรุปที่ ‘ลูกชิ้นทอด’ เพราะนอกจากจะเป็นสินค้าที่คนไทยบริโภคเป็นประจำตั้งแต่เด็กจนโตแล้ว ยังเห็นโอกาสทางธุรกิจ เพราะแม้ยุคนั้นจะมีลูกชิ้นทอดขายมากมายตามท้องตลาด แต่ไม่มีสักรายที่สร้างแบรนด์และทำการตลาดจริงจัง
เมื่อเห็นช่องทางการทำธุรกิจ อนพจึงเริ่มต้นซื้อลูกชิ้นของเจ้าหนึ่งมาทอดขายในตลาดนัดท่าอิฐ จังหวัดนนทบุรี เพื่อศึกษากระบวนการต่าง ๆ ทั้งเทคนิคการทอด วิธีการขาย การจัดส่งและการจัดเก็บ ฯลฯ กระทั่งมั่นใจจึงสร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมา ใช้ชื่อว่า ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด โดยชื่อมาจาก ‘ความใหญ่ของตัวลูกชิ้น’ และได้เปิดขายแฟรนไชส์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเคาน์เตอร์ รถเข็น มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง บูธ และซุ้ม
ตอนนี้จากร้านลูกชิ้นทอดในตลาดนัด ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด มีสาขา 2,500 แห่งกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งตลาดนัด ชุมชน ปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า ตลอดจนห้างหรูอย่าง Emporium และอภิมหาโปรเจกต์ One Bangkok ไม่รวมแฟรนไชส์ในกัมพูชาอีกกว่า 10 แห่ง
ทว่ากว่าจะประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นก็ต้องผ่านอุปสรรคมามากมายเช่นกัน
แผนธุรกิจที่ไม่มีคนเชื่อว่า เป็นไปได้
อนพ วัฒนกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อร่อยระเบิด จำกัด เจ้าของแฟรนไชส์ ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด เล่าว่า หลังจากมั่นใจจะขายอะไร เขาได้เขียนแผนธุรกิจ กำหนดสเปกลูกชิ้นปลาที่คิดค้นพัฒนาขึ้นมาเองในคอนเซ็ปต์ ‘กรอบนอก นุ่มใน ไม่เหนียว ไม่เหี่ยว ไม่คาว’ ไปนำเสนอโรงงานลูกชิ้นที่มหาชัยมากกว่า 10 โรงงาน ปรากฏว่า ถูกปฏิเสธทั้งหมด และบางแห่งไล่ตะเพิดเขาออกมา
“โรงงานเขาไม่เชื่อว่า แผนธุรกิจจะเป็นได้ด้วยข้อจำกัดที่มีสาขาเพียงแห่งเดียว สิ่งที่ผมทำ คือตัดสินใจใช้เงินจากการเออร์ลี่ซื้อรถเข็น 20 คัน แล้วแจกเลย ทำให้ผมขยายสาขาได้ทันที 20 แห่ง ช่วยให้โรงงานเห็นวอลุ่มในการผลิต และทุกสาขาประสบความสำเร็จ ทำให้ภายในปีเดียวสามารถขยายสาขาเพิ่มเป็น 100 แห่ง จนผมได้โรงงานที่ยอมผลิตให้ผมเจ้าเดียวและเป็นพาร์ทเนอร์ที่เติบโตมาด้วยกันจนถึงวันนี้”
สำหรับจุดที่ทำให้ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิดเดินมาถึงทุกวันนี้ อนพยอมรับเป็นจังหวะและโอกาสในช่วงเวลานั้นด้วย คือ 1.เลือกโปรดักต์ถูก 2.ด้วยตัวเขาเองมีประสบการณ์ทำงานในบริษัทใหญ่มานาน ทำให้นำสิ่งที่เรียนรู้มาวางระบบให้กับธุรกิจตัวเอง 3.การที่เรียนด้านการตลาด บวกกับทำงานด้านนี้มานานกว่า 20 ปี ทำให้สามารถวางแผนการตลาดได้ดี
และ 4.ความหลากหลายของแฟรนไชส์ทั้งรูปแบบและราคาที่ให้ลูกค้าสามารถเลือกได้ตามความต้องการ โดยรูปแบบมีให้เลือกมากมาย เช่น เคาน์เตอร์ รถเข็น มอเตอร์ไซค์พ่วงข้าง บูธ และซุ้ม ส่วนราคาก็มีให้เลือกกว่า 10 ชุด เริ่มต้นตั้งแต่ราคาหลักพันไปจนห้าหมื่นกว่าบาท
“ตอนนั้นมีคนทำตลาดลูกชิ้นพอสมควร แต่คนสร้างแบรนด์และการตลาดจริงจังค่อนข้างน้อย ซึ่งอาจจะถือเป็นความโชคดีของเราด้วย เราเก่งการตลาด เราก็ทำอย่างเดียว ไม่สร้างโรงงาน ทำให้คล่องตัว มีโฟกัสชัดเจน ช่วยให้ธุรกิจเราประสบความสำเร็จได้ภายในปีเดียว”
อีก 5 ปี นำบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
จากร้านลูกชิ้นทอดในตลาดนัดเมื่อ16 ปีก่อน ปัจจุบันไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด มีสาขา 2,500 แห่งกระจายไปตามพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งตลาดนัด ชุมชน ปั๊มน้ำมัน ศูนย์การค้า ตลอดจนห้างหรูอย่าง Emporium และอภิมหาโปรเจกต์ One Bangkok ไม่รวมแฟรนไชส์ในกัมพูชาอีกกว่า 10 แห่ง
และแน่นอนว่า การเดินทางของร้านลูกชิ้นทอดแห่งนี้ยังมีเส้นทางอีกยาวไกล เพราะในอีก 5 ปีข้างหน้า อนพวางแผนจะนำแบรนด์และบริษัทที่เขาปลุกปั้นขึ้นมาเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่ง ณ วันนั้นไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิดต้องมีสาขา 5,000 แห่ง และต้องมีธุรกิจมากกว่าลูกชิ้นทอด
โดยโจทย์นี้ถูกส่งผ่านมาสู่ทายาทอย่าง ‘สารัช วัฒนกูล’ ที่เข้ามาขับเคลื่อนธุรกิจแทนผู้เป็นพ่อเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท อร่อยระเบิด จำกัด
“รุ่นคุณพ่อ เป็นการเริ่มต้นธุรกิจด้วยการอยากสร้างอาชีพที่ยั่งยืนให้คนไทย มาถึงตอนนี้แบรนด์เราเดินทางมา 16 ปี เป็นที่รู้จักแล้ว โจทย์ของผม คือ ทำอย่างไรถึงจะรักษาคุณภาพ มาตรฐาน และสร้างให้ธุรกิจเติบโตต่อเนื่องไปให้ได้ การเข้าตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นวิธีหนึ่ง”
สารัชเข้ามารับช่วงธุรกิจในยุคที่การตลาดเปลี่ยนผ่านจากแบบดั้งเดิม เน้นสื่อสารและโฆษณาตามนิตยสารหรือเปิดบูธตามงานต่าง ๆ มาสู่ยุคดิจิทัล ทำให้เขาโฟกัสในเรื่องนี้ โดยเน้นทำการตลาดออนไลน์ในทุกช่องทางและมีโซเชียลมีเดียเป็นของตัวเองในทุกแพลตฟอร์ม
ขณะเดียวกัน พยายามเพิ่มยอดขายให้แฟรนไชส์แต่ละแห่ง ด้วยการพัฒนามาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานคุณภาพ รสชาติและความปลอดภัย รวมถึงเซตระบบต่าง ๆ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การตรวจสอบยอดขาย การใช้วัตถุดิบของลูกค้าที่ซื้อแฟรนไชส์ เป็นต้น เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อผู้บริโภค
นอกจากนี้ ยังต้องพยายามมองหาตลาดใหม่ ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า อย่างเช่น การไปออกบูธตามคอนเสิร์ต งานอีเวนต์ต่าง ๆ และการจัดเลี้ยงนอกสถานที่
รวมถึงพยายามออกสินค้าใหม่ต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแปลกใหม่และดึงให้ลูกค้าเข้าร้านบ่อยที่สุด ซึ่งภายในปีนี้จะมีโปรเจกต์ใหม่ที่ถือว่าใหญ่สำหรับสร้างการเติบโตให้กับไจแอ้น โดยอาจจะมีการเปิดแบรนด์ใหม่ที่ไม่ใช่ ‘ลูกชิ้น’ แต่เป็น ‘อาหารจานหลัก’ สไตล์สตรีทฟู้ดส์ ซึ่งจะเห็นช่วงไม่เกินไตรมาส 3 ของปีนี้
“ตอนนี้โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน คู่แข่งก็เยอะ มีการแข่งขันมากขึ้นไม่เฉพาะในตลาดลูกชิ้น ยังหมายรวมถึงในตลาดสินค้าทดแทนอื่น ๆ ถ้าวันไหนเราหยุดเติบโต ลูกค้าที่ซื้อแฟรนไชส์ไปก็หยุดเติบโตไปด้วย ดังนั้น เราต้องหาทางโตต่อเนื่อง และเรายังยึดมั่นในสตรีทฟู้ดส์ เพราะเป็นอะไรที่อยู่คู่คนไทย”
ส่วนเทรนด์สุขภาพที่มาแรง จะมีผลต่อยอดขายของลูกชิ้นทอด พระเอกหลักในตอนนี้หรือไม่
ทั้งอนพและสารัชมีความเห็นตรงกันว่า ‘ไม่’ เนื่องจากที่ผ่านมาทางไจแอ้นมีการออกเมนูสุขภาพ เช่น ลูกชิ้นนึ่ง แต่ขายดีสู้ตัวทอดไม่ได้ ทำให้เห็นว่า แม้กระแสสุขภาพมาแรง แต่สุดท้ายคนก็ยังชอบของทอดอยู่ดี ไม่เช่นนั้น ‘เคเอฟซี’ คงไม่สามารถอยู่รอดและมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องได้