เหตุการณ์แผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา สร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนทั่วไป พร้อมกับคำถามด้านมาตรฐานความปลอดภัยแสนสิริร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับประเทศตลอดซัพพลายเชน เจาะลึกมาตรฐานงานก่อสร้างอาคารสูง มั่นใจการทำงานของผู้เชี่ยวชาญในประเทศไทย
ความปลอดภัยของลูกบ้านคือสิ่งที่เราไม่สามารถประนีประนอมได้
อุทัย อุทัยแสงสุข กรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทแสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทุกโครงการของแสนสิริผ่านกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวดเริ่มตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงการส่งมอบ มีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน มีการสุ่มตรวจจากองค์กรภายนอก โดยร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่า “ทุกโครงการของแสนสิริ” มีความแข็งแรงและปลอดภัยสูงสุด
เมื่อปี 2560 แสนสิริ ได้สนับสนุนสถาบันการศึกษาชั้นนำภาครัฐ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และหน่วยงานเอกชนบริษัทผู้ร่วมออกแบบชั้นนำ 8 แห่ง ร่วมจัดทำ “แนวทางปฏิบัติการออกแบบโครงสร้างในอาคารสูง” เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้แก่วิศวกรที่ได้รับการว่าจ้างจากแสนสิริในการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างและการตรวจสอบการคำนวณงานออกแบบดังกล่าวให้มีแนวทางในการปฏิบัติงานเป็นที่ยอมรับร่วมกัน เนื้อหาส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ผลของแรงแผ่นดินไหว แรงลม และการออกแบบฐานรากสำหรับอาคารสูงสอดคล้องตามมาตรฐานที่มีอยู่ในประเทศไทยและนำมาตรฐานในต่างประเทศมาอ้างอิงเพิ่มเติมซึ่งได้มีการรีวิวและปรับปรุงให้สอดคล้องตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ด้านกระบวนการก่อสร้างโครงการของแสนสิริจะผ่านการตรวจสอบทุกๆขั้นตอนโดยทีม Quality Control ตลอดจนกระบวนการทำงานประกอบไปด้วยภาคเอกชนที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรม ร่วมกันเช็คข้อมูลในแต่ละขั้นตอนเพื่อยืนยันว่าการออกแบบและก่อสร้างมีความแข็งแรงและปลอดภัยสอดคล้องตามข้อบังคับอาคารตามกฎกระทรวงปี 2550 ว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน และความคงทนของอาคาร, มาตรฐานการออกแบบอาคารต้านทานการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวที่ถูกกำหนดโดยสภาวิศวกร และมาตรฐานกรมโยธาธิการและผังเมือง 1301/1302 ซึ่งเป็นมาตรฐานการออกแบบโครงสร้างอาคารสูงของประเทศไทย
ทีมวิศวกรแสนสิริ และพาร์ตเนอร์ผู้เชี่ยวชาญจะเร่งตรวจสอบคุณภาพจนครบทุกโครงการคอนโดมิเนียมที่เราพัฒนา เพื่อความอุ่นใจและสบายใจสูงสุด ปัจจุบันตรวจแล้ว 186 โครงการ (ข้อมูล ณ 3 เมษายน 2568)
มาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป
ดร.วีระศักดิ์ วานิชวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฑีฆาก่อสร้าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงหัวใจการทำงานของ บริษัทฯที่ดำเนินธุรกิจนี้มานานกว่า 41 ปี คือการคำนึงถึงความปลอดภัย แข็งแรง มีระบบตรวจสอบได้รับการรับรองตามมาตรฐาน ISO 45001 (มาตรฐานสากลสำหรับระบบการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัย) และได้รับมาตรฐานISO 9001 (มาตรฐานบริหารงานคุณภาพระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการคุณภาพองค์กร) บริษัทฯ ยังเป็นผู้รับเหมารายแรกๆของไทย ที่นำ เทคโนโลยี BIM มาใช้ในการก่อสร้าง และได้นำ Applications ต่างๆ มาช่วยลดข้อผิดพลาดในการทำงานมาอย่างต่อเนื่อง
“มาตรฐานการก่อสร้างในหลักการ ต้องอยู่ที่การออกแบบงานที่ถูกต้องตามหลักวิศวกรรม รวมทั้งใช้วัสดุที่มีคุณภาพแข็งแรงปลอดภัยตามหลักวิชาการ ระบบการทำงานต้องมีคุณภาพและความปลอดภัยทุกขั้นตอนในการทำงาน โดยต้องตรวจสอบการทำงานทั้งหมด และต้องสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยให้กับวิศวกร แรงงานก่อสร้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นทุกเวลา”
ส่วนการพัฒนานวัตกรรมที่อยากเห็นในวงการก่อสร้างคือการใช้วัสดุก่อสร้างสำเร็จรูปมากขึ้นเช่น ผนังน้ำหนักเบาโครงโลหะที่มีความแข็งแรงรับแรงและกันเสียงได้ดี ซึ่งเมื่อเกิดการแตกร้าว อาทิ จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว จะสามารถซ่อมแซมได้ง่ายกว่าผนังปูน พร้อมกับอยากเห็นภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันพัฒนานวัตกรรมด้านความปลอดภัย อย่างจริงจัง
จารุวัตร จีระมานะพงศ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท จีระธนา ก่อสร้าง จำกัดให้ความเชื่อมั่นต่อมาตรฐานการก่อสร้างไทยว่าอาคารทุกอาคารที่ก่อสร้างหลังปี 2550 กฎหมายระบุให้มีมาตรฐานก่อสร้างรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหว ทั้งนี้จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุดจะพบว่า โครงสร้างอาคารส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง จะมีส่วนประกอบอาคารเสียหายบ้าง เช่น งานระบบ ผนัง ส่วนอาคารที่ถล่มลงมาต้องไปหาสาเหตุที่แท้จริง ถือเป็นความผิดปกติที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น
“บริษัทฯ จะทำทุกอย่างบนกระดาษ วิเคราะห์ก่อนทำงานจริง เวลาผิดพลาดจะผิดพลาดบนกระดาษสามารถแก้ไขได้ ไม่รอไปเจอปัญหาหน้างานแล้วค่อยแก้ เพราะความเสียหายจะสูงกว่ามาก มีการจัดลำดับการทำงานให้ถูกต้อง มีการอบรมพนักงานถึงข้อกำหนดคุณภาพงานให้ตรงกันทุก 6 เดือน และอยู่ระหว่างพัฒนาซอฟท์แวร์ เพื่อนำ AI มาใช้ตรวจสอบอุปกรณ์ก่อสร้าง คนที่อยู่ในวงการนี้ต้องสู้กันด้วยวิชาการ เทคโนโลยี ความเร็ว และคุณภาพ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยการก่อสร้างไทย”
“บริษัทอสังหาฯขนาดใหญ่ ไม่เอาเรื่องความปลอดภัยไปแลกกับชื่อเสียงอยู่แล้ว หรือคนคุมงานก็ไม่เอาวิชาชีพไปแลกเพราะได้ไม่คุ้มเสีย กว่าที่แต่ละบริษัทจะได้รับใบอนุญาตมาแต่ละใบ ต้องผ่านการตรวจสอบหนัก ขณะที่วิศวกรไทยเก่งระดับโลก ผมเชื่อมั่นว่าภาพรวมการก่อสร้างของไทยมีมาตรฐานเพียงพอ”
ด้านวรินทร์ ศรีมหาโชตะ กรรมการบริหาร บริษัท คอนสตรัคชั่นไลนส์ จำกัดเป็นอีกบริษัทรับเหมาที่ทำงานร่วมกับแสนสิริ ระบุว่า หัวใจของการทำงานด้านมาตรฐานก่อสร้างของบริษัทฯที่ดำเนินธุรกิจมานาน 35 ปี จะยึดหลักการ “Plan Do Check Action” และมีการบริหารจัดการภายใต้มาตรฐาน ISO 9001 โดยบริษัทฯจะมีทีมวิศวกรระดับสามัญเป็นของตนเอง ในการตรวจสอบการทำงานของบริษัทเอง
“เราไม่ได้ก่อสร้างตามแบบก่อสร้างอย่างเดียว แต่เราจะดูว่าแบบที่ส่งมาให้ก่อสร้างนี้ถูกต้องหรือไม่ ถ้าแบบไม่ถูกต้อง เราก็จะบอกไปทางเจ้าของโครงการถึงความกังวลของเรา ภายใต้หลักการทำงาน Plan Do Check Action จะเป็นการปิดความเสี่ยง เพราะเมื่อปัญหาขึ้นแล้ว เราไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ การมีวินัยในกระบวนการทำงาน คือสิ่งที่สำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมก่อสร้าง ต้องมีบุคคลที่สามตรวจสอบ และการเลือกผู้รับเหมาที่ได้มาตรฐาน และยังเสนอแนะถึงนวัตกรรมก่อสร้างที่ควรนำมาใช้ให้มากขึ้น เพื่อสร้างความปลอดภัยคือการลงทุนระบบ Formwork System หรือนั่งร้านอลูมิเนียมที่มีระบบล็อกทั้งตัวตึกเข้าด้วยกัน ป้องกันการถล่มของนั่งร้าน ซึ่งบริษัทฯใช้นวัตกรรมนี้มากว่า 5 ปี”
ส่วนจุดที่ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อยกระดับมาตรฐานความปลอดภัย เขาย้ำว่า ทุกโครงการก่อสร้างควรมีบุคคลที่สามเข้ามาตรวจสอบ และทำทุกอย่างตามมาตรฐาน รวมถึง ต้องมีการทวนสอบการออกแบบว่าแข็งแรงปลอดภัยดีหรือไม่
กรณีศึกษา ตึกถล่มในต่างประเทศ มาจากหลายสาเหตุรวมกัน
กฤษฎา แท้ประสาทสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทอินฟรา กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีความเชี่ยวชาญงานอาคารสูง เกี่ยวกับแรงลมแผ่นดินไหว มีผลงานออกแบบ และการตรวจสอบอาคารที่มีปัญหา โดยบทเรียนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ ในแง่มาตรฐานและคุณภาพงานออกแบบก่อสร้าง เห็นว่า ในกรณีของอาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่กำลังก่อสร้างถล่มลงมานั้น ผู้เชี่ยวชาญอยู่ระหว่างตรวจสอบสาเหตุ อย่างไรก็ตามเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นความผิดปกติค่อนข้างมาก เนื่องจากแม้อาคารรุ่นเก่าที่ไม่ได้ออกแบบเพื่อรองรับเหตุการณ์แผ่นดินไหวในไทย ยังไม่มีอาคารใดถล่มลงมา ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า อาคารถล่มที่เกิดขึ้น อาจเกิดจากสภาวะไม่ดีหลายอย่าง (Bad Conditions) มาประกอบกัน ที่ไม่สามารถนำมาเหมารวมอาคารที่เหลือทั้งหมดได้ เป็นกรณีศึกษาที่กรรมการตรวจสอบควรเปิดเผยความจริงทั้งหมดเพื่อให้วิศวกร ผู้ประกอบการ ผู้ควบคุมงาน รวมถึงผู้รับเหมา ได้เข้าใจว่าเหตุใดจึงทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้
ส่วนกรณีศึกษาอาคารถล่มในต่างประเทศส่วนใหญ่จะเกิดจากสาเหตุหลายอย่างรวมกัน มักไม่ใช่เรื่องเดียว บางเรื่องอาจเป็นเรื่องเล็กน้อยคาดไม่ถึง เช่น จุดต่อจุดเดียวที่ทำไม่สมบูรณ์ พลาดแค่จุดนั้นจุดเดียว เมื่อนึกได้ก็คิดว่าไม่เป็น ไร แต่เมื่อผสมกับการเปลี่ยนแปลงฟังก์ชันการใช้งานภายอาคาร การเปลี่ยนแปลงทางน้ำใต้ดิน ร่วมด้วย ทำให้อาคารถล่มอย่างคาดไม่ถึง คือ ถ้าขาดปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งก็จะไม่ถล่ม หลายครั้งจะเป็นทำนองนี้ แต่หากทำงานด้วยความระมัดระวังตั้งแต่ต้น จะไม่มีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้เลย
“การออกแบบที่ดี ต้องการผู้รับเหมาผู้ควบคุมงานที่ดี รวมทั้งเจ้าของโครงการที่เข้าใจสนับสนุน เพราะจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น เรื่องที่เกิดขึ้นนี้จะพิสูจน์ผลงานของทั้งผู้ประกอบการ ผู้ออกแบบ และผู้รับเหมาร่วมกันเราต้องเคารพในวิชาชีพ มีความรับผิดชอบและตั้งใจทำ ผลงานที่ดีจะสะท้อนเพอร์ฟอร์แมนซ์ของอาคาร และขอฝากย้ำถึงภาคส่วนต่างๆ ในการรักษาคุณภาพมาตรฐานงานออกแบบ-ก่อสร้าง ว่า สิ่งที่ต้องคำนึงคือวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็ก และคอนกรีต ที่ได้มาตรฐานคุณภาพ โดยควรมีการสุ่มตรวจคุณภาพหน้างาน ไม่สุ่มตรวจเฉพาะในห้องปฏิบัติการเท่านั้น เนื่องจากพบหลายกรณีวัสดุก่อสร้างหน้างานไม่ได้คุณภาพเท่ากับที่ตรวจในห้องปฏิบัติการ”
วัสดุก่อสร้างมาตรฐานสูง ได้รับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม
จรรยา สว่างจิตร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พี.โอเวอร์ซีส์ สตีล จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายส่ง วัสดุก่อสร้าง อีกหนึ่งพาร์ตเนอร์ของแสนสิริ กล่าวถึงมาตรฐานการทำงานของบริษัทฯ ที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป ในอุตสาหกรรมว่าบริษัทฯ ได้คัดเลือกสินค้าในการจัดจำหน่าย โดยเน้นผู้ผลิตจากโรงงานไทยที่มีชื่อเสียงมาอย่าง ยาวนาน และได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม เป็นหลัก
ด้านกระบวนการตรวจสอบคุณภาพวัสดุโดยเฉพาะเหล็กโครงสร้างทางโรงงานที่บริษัทฯ เลือกจำหน่าย จะมีการตรวจสอบคุณภาพของสินค้าก่อนส่งมอบที่หน้างาน และทางแสนสิริจะทดสอบเหล็กตัวอย่างจากสถาบันกลางเป็นรายไตรมาส ตาม TOR โดยมาตรฐานเหล็กในโครงการของแสนสิริ จะเป็นเหล็ก EF ที่ควบคุมคุณภาพการผลิตได้อย่างสม่ำเสมอ
“สินค้าเหล็กเส้นที่ทางบริษัทฯ จำหน่ายให้กับแสนสิริ จะถูกผลิตด้วยกระบวนการ EF (Electronic Arc Furnace) ซึ่งเป็นกระบวนการหลอมเศษเหล็กด้วยวิธีการอาร์คด้วยไฟฟ้าซึ่งเหล็กเส้นจะสะอาดกว่าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า วิธี IF (Induction Furnace) ซึ่งเป็นเตาระบบเก่า ไม่สามารถควบคุมคุณภาพของเหล็กได้อย่างสม่ำเสมอ และยังเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม”
นวัตกรรม ตรวจจับแผ่นดินไหวในลิฟต์โดยสาร
เพ็ญไพสิฐ จันทร์พรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเน่ จำกัด (มหาชน) ผู้จำหน่ายลิฟต์ บันไดเลื่อนและทางเลื่อนอัตโนมัติ กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นหัวใจสำคัญในการทำงานของบริษัทฯ ที่มีมาตรฐานการทำงานที่เหนือกว่าข้อกำหนดทั่วไป คือ “ความรวดเร็วและความปลอดภัย” ในการบริหารสถานการณ์วิกฤตจึงได้กำหนดแผนงานเร่งด่วน 3Rs ประกอบไปด้วย Recover (ฟื้นฟู), Repair (ซ่อมแซม), และ Rebuild (ปรับปรุงหรือสร้างใหม่) โดยได้ส่งทีมช่างและวิศวกรลงพื้นที่ทันที เพื่อให้ลิฟต์กลับมาใช้งานได้เร็วที่สุด โดยยึดมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
“บริษัทฯให้ความสำคัญกับทุกๆ โครงการ รวมถึงโครงการของแสนสิริ โดยได้นำแผนงาน 3Rs มาใช้กับการปฏิบัติงานจริงจัง โดย Recover ฟื้นฟูลิฟต์อย่างน้อยหนึ่งตัวในอาคารให้สามารถใช้งานได้ภายใน 48 ชั่วโมงแรก Repair ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึก เปลี่ยนอุปกรณ์ และซ่อมแซมอย่างละเอียดเพื่อให้แน่ใจว่าลิฟต์โดยสารทุกตัวปลอดภัยสำหรับการใช้งานอย่างต่อเนื่อง และ Rebuild อัปเกรดและปรับปรุงลิฟต์โดยสาร เพื่อลดความเสียหายระยะยาวในอนาคต และเพิ่มความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการรองรับฟังก์ชันการตรวจจับความปลอดภัยจากแผ่นดินไหว และการบำรุงรักษาเชิงป้องกัน”
ขณะที่นวัตกรรมด้านการก่อสร้างที่อยากเห็น “เพ็ญไพสิฐ” ระบุว่าจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศไทย ผู้ออก แบบหรือเจ้าของอาคารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเกี่ยวกับการป้องกันภัยที่จะเกิดจากสถานการณ์แผ่นดินไหว ซึ่งบริษัทฯมีเทคโนโลยีที่เรียกว่า “เทคโนโลยีตรวจจับแผ่นดินไหวในลิฟต์โดยสาร” มาใช้ ซึ่งช่วยยกระดับความปลอดภัย และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเหตุฉุกเฉินในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยเซ็นเซอร์นี้จะตรวจจับการสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว และช่วยหยุดลิฟต์อัตโนมัติพร้อมกับเดินทางไปยังชั้นที่ใกล้ที่สุดเพื่อให้ผู้โดยสารออกจากลิฟต์ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งนวัตกรรมนี้สามารถทำได้ทั้งในอาคารก่อสร้างใหม่ และสามารถปรับปรุงลิฟต์โดยสารในโครงการที่มีอยู่เดิมเพื่อให้รองรับบริการนี้ได้เช่นกัน
และทั้งหมดนี้ คือ คือการการันตีมาตรฐานการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์ของแสนสิริ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์แนวหน้าของไทย ทั้งโครงการที่สร้างแล้วเสร็จ โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง และโครงการในอนาคต ว่ามีความปลอดภัยสูงสุดจากพาร์ตเนอร์ตลอดซัพพลายเชน