ธสน. ลงนามปล่อยกู้ TPI 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

นายสถาพร ชินะจิตร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ประธานผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย จำกัด (มหาชน) (TPI) พร้อมด้วยนายพละ สุขเวช ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ TPI ร่วมลงนามในสัญญาเงินกู้จำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐแก่ TPI เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ณ อาคารเอ็กซิม ธสน. สำนักงานใหญ่ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546

กรรมการผู้จัดการ ธสน. เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2546 ที่ผ่านมา ธสน. ได้ร่วมในพิธีลงนามสัญญาเงินกู้ระหว่างระหว่าง ธสน. และ TPI จำนวน 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้ TPI ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการนำเข้าน้ำมันดิบมาผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นวัตถุดิบพื้นฐานที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอื่นๆ เป็นอย่างมาก ซึ่งในการปล่อยกู้ครั้งนี้ ธสน. มีความมั่นใจและเชื่อมั่นว่า TPI จะสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีจุดเด่นในหลายๆ ด้าน ทั้งการเป็นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ครบวงจรแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการมีสาธารณูปโภคที่สนับสนุนการดำเนินงานครบวงจร ทั้งท่าเรือน้ำลึก คลังน้ำมัน โรงไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบสำคัญทางการบริหารต้นทุนโดยขนาด (Economy of Scales) ของ TPI

นายสถาพรกล่าวเพิ่มเติมว่าแม้ TPI เป็นบริษัทที่อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูกิจการ แต่จากการเฝ้าติดตามการดำเนินการของคณะผู้บริหารแผนซึ่งนำโดยพลเอกมงคล อัมพรพิสิฏฐ์ ปรากฏว่ามีความคืบหน้าไปอย่างดียิ่ง กิจการมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น ตัวเลขผลประกอบการมีความชัดเจนและดีขึ้นตามลำดับ ทั้งวงเงินที่ให้ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของวงเงินหมุนเวียนที่บริษัทสามารถก่อหนี้ได้เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูกิจการตามแผนฟื้นฟูกิจการที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว และได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายด้วย ธสน. จึงมีความมั่นใจและยินดีให้การสนับสนุนเงินหมุนเวียนในครั้งนี้

นอกจากนั้น ภาวะอุตสาหกรรมก๊าซปิโตรเลียมเหลวและน้ำมันสำเร็จรูปของประเทศในปี 2546 มีแนวโน้มดีขึ้น ประกอบกับศักยภาพของ TPI ทำให้การปล่อยกู้ในครั้งนี้จะยังประโยชน์ให้ผู้ขอกู้มีสภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียนในการประกอบกิจการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงและผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีให้ถึงระดับที่เหมาะสมสูงสุด (Optimal Production Level) ที่ระดับ 150,000 บาร์เรลต่อวันและบรรลุจุดมุ่งหมายของผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการที่ต้องการแก้ปัญหาของ TPI โดยให้ TPI ยังสามารถคงความเป็นบริษัทของคนไทยที่ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ อันจะก่อให้เกิดผลดีโดยรวมต่อภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ต้องใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี รวมไปถึงเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ เนื่องจากจะเป็นการช่วยลดการสูญเสียเงินบาทและทดแทนการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงและปิโตรเคมีจากต่างประเทศ