ตลาดการศึกษาไทยไปต่อทิศไหน ? ในยุค “ใบปริญญาไม่สำคัญเท่าทักษะ”

ตลาดการศึกษาไทย เผชิญความท้าทายต่อเนื่อง ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ปี 2567 มีเด็กเกิดใหม่เพียง 462,240 คน จากปี 2566 มีจำนวนเด็กเกิดใหม่ 519,000 คน ขณะที่ไทยมีอัตราเจริญพันธุ์เพียง 1.0 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 2.1

“โดยมีการคาดการณ์ว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ไทยจะมีการเกิดที่ลดลงเหลือเพียง 40 ล้านคน เท่ากับว่าประชากรจะหายไป 25 ล้านคน หรือมองให้เห็นภาพคือ เฉลี่ยทุก 2 ปี ประชากรจะลดลง 1 ล้านคน”

ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลให้ จำนวนโรงเรียนในไทย ลดลงด้วยเช่นกัน อ้างอิงข้อมูล สำนักนโนบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า

  • ปีการศึกษา 2567 เหลือโรงเรียนเพียง 29,082 แห่ง
  • ปีการศึกษา 2557 (ช่วง 10 ปีก่อน) มีโรงเรียน 30,922 แห่ง
  • ปีการศึกษา 2547 (ช่วง 20 ปีก่อน) มีโรงเรียน 32,413 แห่ง

ท่ามกลางแรงกดดันจากเทคโนโลยี โดยเฉพาะ AI ที่เข้ามาเขย่าโครงสร้างการศึกษาไทย และเป็นสิ่งที่ไทยต้องเร่งปรับตัวให้ทันโลก

(ซ้าย) ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)

ผศ.ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา เลขาธิการสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า เทคโนโลยีและ AI ได้เข้ามาเปลี่ยนโฉมการศึกษาไทย จากเดิมระบบการเรียนต้องเข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัย จึงจะได้ความรู้ ทว่าปัจจุบันสามารถหาความรู้ได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องมาเรียนในสถานศึกษาด้วยซ้ำ

ดังนั้น สถาบันการศึกษาต้องเปลี่ยนบทบาท จากผู้ให้ความรู้ (knowledge) สู่ผู้สอนการใช้ประโยชน์จากความรู้ (Knowledge Utilization) เพื่อเติมเต็มพื้นฐานความรู้ที่ผู้เรียนมีอยู่แล้วให้สามารถวิเคราะห์และใช้ได้ถูกวิธี

“อาจารย์หลายคนมักกลัวเด็กเอา AI มาใช้แล้วคอยจับผิดเด็ก แบบนี้ผิดทาง ควรให้เด็กใช้ ‘และต้องใช้ให้เป็น’ จุดนี้อาจารย์ต้อง coach ให้ให้เด็กใส่การวิเคราะห์เพิ่มเข้าไป การใช้ AI ทำให้งานดีและเร็วขึ้น นั่นแปลว่ามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ซึ่งตอนนี้มีหลายมหาวิทยาลัยเทรนด์ AI ของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ในหลักสูตร”

ภาพจาก Shutterstock

ขณะเดียวกัน ภาคการศึกษาต้องปรับหลักสูตรให้ยืดหยุ่น และเหมาะสมกับผู้เรียน อาทิ บางคนอาจมีความรู้เกินสเต็ปแรกไปแล้ว ข้ามไปสเต็ป 2 3 4 ได้หรือไม่ ตลอดจนเปิดหลักสูตร Sandbox ที่เปิดให้ผู้เรียนอิงประสบการณ์ ลงไปทำงานด้วยตนเอง เป็นต้น

หรือกระทั่ง “การเรียนควบคู่ระหว่างคณะ” เพื่อรับ ดิปโพลมา (Diploma) เพิ่มเติมจากคณะอื่น ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยเริ่มเปิดหลักสูตรรายวิชาใหม่ๆ และเปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้ามาเรียนข้ามคณะหรือจากภายนอกได้มากขึ้น

อีกเทรนด์ที่มาแรง คือ นำแนวคิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งสถาบันระดับอุดมศึกษาหลายแห่ง เปิดหลักสูตรดึงดูดผู้เรียนหลายวัย สามารถเลือกเรียนตามความสนใจและทักษะอาชีพได้

“ปัจจุบันความรู้หาได้ทุกที่ เขาไม่จำเป็นต้องมาเรียนที่เราด้วยซ้ำ ยุคนี้นอกจากความรู้แล้ว ทักษะเป็นสิ่งที่คนให้ความสำคัญมาก ทั้ง hard skills เช่น coding, data analysis, digital marketing และ soft skills อย่าง critical thinking, communication เป็นต้น”

ภาพ Gen AI จาก Chatgpt

จากแนวโน้มดังกล่าว ผลักดันให้พันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชนเครือข่ายการศึกาษานานาชาติ เตรียมการจัดงาน didacta asia 2025 งานมหกรรมการศึกษาและประชุมสัมมนา ครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด Gateway to Tomorrow’s Education เพื่ออัปเดตเทคโนโลยีพร้อมสร้างพันธมิตรทางธุรกิจในการพัฒนาการศึกษาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเตรียมจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-17 ตุลาคม 2568 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา