แม้ว่าจะมีคำที่ว่า “เงินซื้อความสุขไม่ได้” แต่คนส่วนใหญ่น่าจะไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะจากผลสำรวจจาก Deloitte Global 2025 Gen Z and Millennial Survey พบว่า รายได้ คือ ความเชื่อมโยงกับระดับ ความสุข มากที่สุดจากความเห็นของ Gen Z และ Gen Y
ดีลอยท์ ประเทศไทย ได้เปิดเผย ผลสำรวจ Deloitte Global 2025 Gen Z and Millennial Survey ในด้านมุมมองเกี่ยวกับความมั่นคงทางการเงิน พบว่า ประมาณ 63% ของคนไทยระบุว่า ตนเองใช้ชีวิตแบบ เดือนชนเดือน (ไม่เหลือให้ออม) ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ 52%
ขณะเดียวกันประมาณ 25% ระบุว่า ตนเองยังต้องดิ้นรนในการ จ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดในแต่ละเดือน ซึ่งถึงแม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 36% แต่กลับสะท้อนถึงแรงกดดันทางการเงินที่ยังมีอยู่ นอกจากนี้ ประมาณ 27% ของคนไทยมองว่า อาจไม่สามารถเกษียณได้อย่างมั่นคงทางการเงิน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลกที่ 42%
โดยข้อมูลทั้งหมดนี้สะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ไทยยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นทางการเงินในระยะสั้น มากกว่าการวางแผนระยะยาวเพื่ออนาคต เช่น การออมเพื่อเกษียณอายุ
ดังนั้น ค่าครองชีพ ถือเป็นปัจจัยที่สร้างความกังวลให้คนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง โดยความกังวล 3 อันดับแรกของทั้ง Gen Z และ Gen Y ในประเทศไทยที่ตรงกัน ได้แก่ ค่าครองชีพ การเติบโตทางเศรษฐกิจ และความปลอดภัยทางไซเบอร์ ตามด้วย 2 อันดับถัดมา ได้แก่ สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และการดูแลสุขภาพ
รายได้ = ความสุข
และเมื่อถามถึง Gen Z และ Gen Y ถึง 3 คุณค่าที่เชื่อมโยงกับ ความสุข ของคนรุ่นใหม่ พบว่า รายได้ มีความเชื่อมโยงกับระดับความสุขมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยสูงถึง 64% ขณะที่ ความเป็นอยู่ที่ดี และ ความหมายของงาน มีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกันที่ประมาณ 56% ทั้งนี้ คนในกลุ่ม Gen Y ให้ความสำคัญกับคุณค่าทั้ง 3 ด้านของ Trifacta มากกว่า Gen Z อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอาจสะท้อนถึงประสบการณ์ชีวิตและการทำงานที่มากกว่า
Gen Z เครียดกับทุกสิ่งยิ่งกว่า Gen Y
คนไทยรุ่นใหม่กว่า 1 ใน 3 ระบุว่า ตนเองรู้สึก เครียดหรือกังวลเกือบหรือแทบตลอดเวลา โดยพบว่า Gen Z มีความเครียดจากแทบทุกปัจจัยสูงกว่า Gen Y ไม่ว่าจะเป็น เรื่องอนาคตทางการเงินในระยะยาว สุขภาพส่วนตัว ภาระในบ้านหรือการดูแลครอบครัว หรือปัญหาการเงินในชีวิตประจำวัน ยกเว้นเพียงเรื่องสุขภาพหรือความเป็นอยู่ของสมาชิกในครอบครัว ที่ Gen Y มีระดับความกังวลสูงกว่าเล็กน้อย
นอกจากนี้ มากกว่า 1 ใน 3 ของคนไทยรุ่นใหม่ยังระบุว่า งานเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่สร้างความเครียด โดยสาเหตุหลักมาจากชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน การไม่มีเวลาเพียงพอในการทำงานให้เสร็จสมบูรณ์ และการไม่รู้สึกถึงความหมายหรือเป้าหมายในสิ่งที่ทำ โดยข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่า Gen Z มีระดับความเครียดในทุกมิติเหนือกว่า Gen Y อย่างชัดเจน โดยอาจกล่าวได้ว่า Gen Y สามารถรับมือกับแรงกดดันในที่ทำงานได้มากกว่า