แนวโน้มอสังหาริมทรัพย์ ปี 2547 : การเติบโตกระจายสู่ธุรกิจทุกประเภท

ในช่วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ภาพการฟื้นตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้สะท้อนการปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ โดยมีแรงผลักดันสำคัญจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลงมาอยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์ รวมทั้งรัฐบาลได้ดำเนินมาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยมีการเจริญเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ภาคธุรกิจโดยรวมมีผลประกอบการดีขึ้น สนับสนุนภาวะการจ้างงานและกำลังรายได้ของผู้บริโภค ส่งเสริมความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การขยายการลงทุนของภาคธุรกิจมีเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยด้านบวกข้างต้นส่งผลให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการฟื้นตัวที่กระจายไปสู่ธุรกิจประเภทต่างๆอย่างกว้างขวางมากขึ้น สำหรับในปี 2547 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวทุกประเภท โดยจะได้รับปัจจัยบวกจากความต้องการที่อยู่อาศัย การใช้จ่ายของผู้บริโภค และการลงทุนของภาคธุรกิจ ตลาดที่อยู่อาศัยคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่อัตราขยายตัวอาจชะลอลงเล็กน้อย อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์คาดว่าจะเริ่มมีการก่อสร้างโครงการใหม่เพิ่มขึ้นเนื่องจากอุปทานคงค้างเริ่มมีจำนวนน้อยลง

ส่วนด้านอุตสาหกรรม คาดว่าจะมีการขยายการลงทุนอย่างชัดเจนมากขึ้นหลังจากอุตสาหกรรมหลายประเภทมีอัตราการใช้กำลังผลิตถึงระดับที่น่าจะต้องมีการลงทุนเพิ่ม อีกทั้งมีการขยายการลงทุนของนักลงทุนจากต่างประเทศ ความต้องการที่มีต่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลให้การลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์โดยรวมขยายตัวในอัตราที่ใกล้เคียงหรือสูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา

หากพิจารณาจากภาวะการลงทุนในการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆของภาคเอกชน ทั้งที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์ประเภทพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยภาคเอกชนในปี 2547 จะมีมูลค่าประมาณ 290,000 ล้านบาท เทียบกับมูลค่าที่คาดการณ์ของปี 2546 ที่ 240,000 ล้านบาท โดยมีอัตราเติบโต ณ ราคาปีฐาน (ปี 2531) อยู่ที่ร้อยละ 17 ใกล้เคียงกับปี 2546 ที่คาดการณ์ว่าการเติบโตร้อยละ 16 โดยคาดว่าอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ใช่ที่อยู่อาศัยจะเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าปี 2546 สำหรับที่อยู่อาศัยจะขยายตัวชะลอลงจากปี 2546 แต่ยังเป็นอัตราเติบโตที่อยู่ในเกณฑ์ดี

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะมีการเติบโตดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา เช่น คอนโดมิเนียม ที่พักอาศัยสำหรับชาวต่างชาติ อาคารสำนักงาน นิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่คาดว่าจะเติบโตใกล้เคียงหรือชะลอลงจากปีที่ผ่านมา เช่น ธุรกิจบ้านจัดสรร ธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจบ้านมือสอง

การที่อุปสงค์ที่เข้ามาสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆปรับตัวสูงขึ้น นอกจากจะเป็นส่วนผลักดันการเติบโตของธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมแล้ว ยังจะสนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุปทานคงค้างหรือทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในระบบเศรษฐกิจ จากการที่สภาพคล่องของสินทรัพย์มีมากขึ้นตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเหล่านี้มีความคืบหน้าไปได้รวดเร็วขึ้น

ท่ามกลางความกังวลต่อภาวะฟองสบู่ว่าอาจก่อตัวขึ้นพร้อมๆกับเศรษฐกิจในช่วงขาขึ้น แม้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จะเห็นว่าปัจจุบันอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีระดับการลงทุนและภาวะการเก็งกำไรยังไม่สูงถึงขั้นที่จะเกิดฟองสบู่ในระยะอันใกล้นี้ แต่ความเสียหายรุนแรงที่จะเกิดตามมากับเศรษฐกิจฟองสบู่ย่อมเป็นสิ่งเตือนใจที่ทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าหน่วยงานภาครัฐและผู้ประกอบธุรกิจควรมีมาตรการและการดำเนินการเพื่อป้องกันสถานการณ์ที่เกิดการเก็งกำไรในวงกว้าง ซึ่งนำไปสู่การลงทุนที่เกินขนาดจนกลายเป็นภาวะฟองสบู่อันส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ ตัวแปรที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในระยะอันใกล้ ขึ้นอยู่กับความต่อเนื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งทิศทางอัตราดอกเบี้ยในช่วงขาขึ้น (ถ้าดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจส่งผลการทบให้อุปสงค์เกิดการชะลอตัว รวมทั้งปัญหาภาระหนี้ภาคครัวเรือน)

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีศักยภาพที่จะเติบโตได้ในระยะยาว

เนื่องจากอสังหาริมทรัพย์มีความเกี่ยวข้องกับทิศทางการลงทุนของประเทศ ซึ่งหากพิจารณาถึงนโยบายของภาครัฐในด้านเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว จะเห็นได้ว่ามีปัจจัยที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์อีกมาก ตัวอย่างเช่น การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เป็นยุทธศาสตร์เป้าหมายของประเทศ โดยรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไว้ 5 กลุ่ม ได้แก่ อาหาร แฟชั่น ยานยนต์ ไอซีที และการบริการขั้นสูง รวมทั้งเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค หรือ ฮับในอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น พลังงาน การแพทย์และการบริการด้านสุขภาพ สิ่งพิมพ์ ซึ่งจะเกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน

การพัฒนาเชิงโครงสร้างเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์การลงทุนของภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายสาธารณะ โดยเฉพาะโครงข่ายคมนาคมขนส่ง เช่น ขยายโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ไฮสปีดเทรน ระบบรถไฟรางคู่ จะเปิดพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ เพื่อสานต่อประโยชน์จากโครงการภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาค เช่น GMS, BIMST-EC และ Economic Corridors รัฐบาลได้จัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาระดับภูมิภาค ซึ่งจะผลักดันให้มีการกระจายการพัฒนาและความเจริญไปสู่จังหวัดต่างๆที่สำคัญมากขึ้น