เงินดอลลาร์ไร้แรงต้านสัปดาห์สุดท้ายของปีเก่า สร้างสถิติใหม่มีค่าหล่นทะลุระดับ 1.25 ดอลลาร์/ยูโร ส่งผลให้ค่าเงินอเมริกันลดลงราว 21% ในรอบปี 2546 เมื่อเทียบกับเงินตราสกุลเดียวยุโรป และมีค่าต่ำสุดในรอบ 11 ปี เมื่อเทียบกับเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ แตะอัตราเฉลี่ยราว 1.78 ดอลลาร์/ปอนด์ ชั่วขณะ แม้แต่เงินเยนญี่ปุ่นก็มีค่าขยับขึ้นอยู่ที่ 106 เยน/ดอลลาร์ ทั้งๆที่ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเงินอย่างต่อเนื่อง และทำสถิติใช้เงินมากที่สุดเป็นมูลค่าราว 186 พันล้านดอลลาร์ในปี 2546 ก็ตาม แต่นักลงทุนบางส่วนหมดความสนใจเงินดอลลาร์และทยอยเทขายออกมาก่อนสิ้นปี 2546 สำหรับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ สุกใสส่งท้ายปีแพะ ฝ่าแนวต้าน 416 ดอลลาร์/ออนซ์ นับเป็นราคาทองสูงสุดตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2539 ส่งผลให้ราคาทองคำเพิ่มขึ้น 20% ในรอบปีนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯดำดิ่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เมื่อเทียบกับเงินยูโร ท่ามกลางการซื้อขายที่เบาบางในช่วงใกล้เทศกาลปีใหม่ 2547 สาเหตุสำคัญที่ฉุดให้ค่าเงินดอลลาร์มีทิศทางง่อนแง่นอย่างหนัก ก็คือ การที่นักลงทุนขาดความมั่นใจในเสถียรภาพค่าเงินอเมริกัน เมื่อสหรัฐฯกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยแก่การก่อการร้ายข้ามชาติ เนื่องจากมีรายงานข่าวแพร่สะพัดว่ากลุ่ม al Qaeda อาจลงมือลอบโจมตีสหรัฐฯในช่วงเทศกาลวันหยุดติดต่อกันหลายวัน ยิ่งไปกว่านั้น การลอบทำร้ายทหารสหรัฐฯอย่างต่อเนื่องในอิรัก ก็เป็นชนวนที่ทำให้แผ่นดินอิรักยังคงคุกรุ่นด้วยควันปืนและระเบิดพลีชีพ ทำให้ภารกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มยืดเยื้อต่อไป ไม่เป็นผลดีกับเศรษฐกิจสหรัฐฯและการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกันในปี 2547 นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ก็ยังได้รับผลกระทบด้านลบจากความไม่สงบและความตึงเครียดในพื้นที่อื่นๆรอบโลก เช่น ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล-ปาเลสไตน์ การลอบสังหารประธานาธิบดีปากีสถาน เป็นต้น
ปัจจัยสำคัญอื่นๆที่มีส่วนร่วมกดดันค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯด้วย ได้แก่
•รายงานตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯล่าสุดไม่น่าพอใจ อาทิ ดัชนีวัดความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนธันวาคมอยู่ที่ระดับ 91.3 ต่ำกว่าที่เก็งไว้ 91.5 ยอดขายบ้านเดือนพฤศจิกายนลดลงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ รวมถึง ดัชนีวัดกิจกรรมทางธุรกิจเดือนสุดท้ายของปีร่วงลงอยู่ที่ 59.2 ต่ำกว่าที่คาดหวังไว้ที่ 62.2
•ความอึมครึมโรควัวบ้า ปรากฏว่าทางการสหรัฐฯจำเป็นต้องเรียกคืนเนื้อวัวจากรัฐต่างๆมากขึ้น เพื่อนำมาตรวจให้เกิดความมั่นใจว่าไม่มีเชื้อวัวบ้า แต่สถานการณ์ดังกล่าวซ้ำเติมความวิตกกังวลให้แก่ประชาชน ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจที่ใช้เนื้อวัวและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง อีกทั้งประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ ได้แก่ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ก็ยังคงยืนกรานที่จะห้ามนำเข้าจากสหรัฐฯต่อไป จนกว่าจะเกิดความมั่นใจมากกว่านี้
เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเด็นสำคัญที่คอยบั่นทอนค่าเงินดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง ก็คือ การที่สหรัฐฯมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมหาศาล คาดว่าจะแตะ 500 พันล้านดอลลาร์ในปี 2546 หรือราว 5% ของ GDP สหรัฐฯ จนทำให้เกรงกันว่าสหรัฐฯจะสามารถดึงดูดเงินทุนต่างประเทศมาเจือจุนเพียงพอหรือไม่ และตราบใดที่ตลาดเงินยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆเพิ่มเติม ประเด็นเกี่ยวกับยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ จะคอยเหนี่ยวรั้งให้ค่าเงินดอลลาร์ทรุดต่ำลงตลอดเวลา
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าติดตามในปี 2547 ก็คือ การประชุมกลุ่มชาติอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ที่รัฐฟลอริด้า สหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีกระแสข่าวว่าประเทศสมาชิกบางส่วนไม่ค่อยสบายใจที่ค่าเงินดอลลาร์ลดต่ำลงอย่างมาก แต่ก็มีบางส่วนยังคงเพิกเฉยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งน่าจะเดือดร้อนที่สุดจากการที่ค่าเงินยูโรเข้มแข็ง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ แต่ปรากฏว่าทางการเยอรมันรอดูเหตุการณ์ให้ชัดเจนในต้นปีวอก
เงินเยนญี่ปุ่น มีค่าสูงขึ้นอีกเล็กน้อย แตะที่ระดับเฉลี่ยราว 106 เยน/ดอลลาร์ชั่วครู่ ก่อนที่จะมาซื้อขายในช่วงแคบราว 107 เยน/ดอลลาร์ เนื่องจากตลาดเงินคอยระมัดระวังเกี่ยวกับการแทรกแซงของทางการญี่ปุ่น ในเดือนธันวาคมธนาคารกลางญี่ปุ่นใช้เงินเป็นจำนวนราว 21.04 พันล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดเงินรวมตลอดปี 2546 ที่ทางการญี่ปุ่นได้เข้าแทรกแซงตลาดเงิน เพื่อกดให้ค่าเงินเยนต่ำ และพยุงค่าเงินดอลลาร์ไว้ เป็นมูลค่าทั้งสิ้นราว 187 พันล้านดอลลาร์
เงินปอนด์อังกฤษ มีค่าสูงสุดเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี เนื่องจากเงินดอลลาร์มีค่าทรุดโทรมลงอย่างหนัก ในขณะที่เศรษฐกิจอังกฤษยังคงสดใส ทำให้คาดว่าอังกฤษมีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกระลอกตอนต้นปี 2547 เป็นแรงดึงดูดให้นักลงทุนสนใจถือเงินปอนด์ เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ
ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ ยังคงไต่ระดับสูงขึ้นเป็นระยะๆ ปิดท้ายปี 2546 ได้อย่างสวยงาม ยืดหยัดที่ระดับราคาเฉลี่ยราว 416 ดอลลาร์/ออนซ์ เป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 8 ปี ปัจจัยสำคัญที่หนุนราคาทองคำยังคงได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์ถล่ม ความไม่สงบในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก ทั้งจากภัยก่อการร้ายและภัยธรรมชาติ รวมถึงการที่เศรษฐกิจโลกในปี 2547 มีแนวโน้มฟื้นตัว ล้วนเป็นแรงกระตุ้นให้นักลงทุนปรารถนาที่จะถือทองคำมากขึ้น ทั้งในรูปแบบเพื่อการลงทุนและเพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันความเสี่ยง
อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 29 ธันวาคม 2546 เทียบกับวันที่ 30 ธันวาคม 2546 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2484 ดอลลาร์/ยูโร (1.2556 ดอลลาร์/ยูโร) 107.16 เยน (107.11 เยน) และ 1.7726 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.7792 ดอลลาร์/ปอนด์)
ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2546 เท่ากับ 413.50 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 416.80 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2546