จีนลงทุนต่างประเทศ :ผงาดต้อนรับปีวอก 2547

ปี 2547 จีนวางยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจที่ท้าทายเวทีโลกอย่างสำคัญประการหนึ่ง ได้แก่ การนำเม็ดเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ หลังจากที่จีนได้เล่นบทบาทแหล่งรองรับดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมากที่สุดในโลก ด้วยเม็ดเงินลงทุนมูลค่าสูงถึง 57,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 ขณะที่การลงทุนของจีนในตลาดต่างประเทศในระยะแรกอาจยังมีมูลค่าไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับเม็ดเงินที่ไหลเข้าประเทศจีนโดยตรง แต่รัฐบาลจีนมุ่งมั่นว่ามูลค่าการลงทุนของจีนในต่างแดนมีแนวโน้มที่จะแตะระดับเฉลี่ย 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปีในไม่ช้านี้ เทียบกับจำนวนเงินลงทุนราว 3,000–4,000 ล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน ทั้งนี้มีบริษัทจีนจำนวนกว่า 7,000 แห่ง ได้เข้าไปขยายกิจการครอบคลุมเกือบทุกสาขาการผลิตและอุตสาหกรรมแขนงต่างๆอย่างมากมาย โดยเฉพาะกิจการธนาคารและสถาบันการเงินของจีนได้เปิดดำเนินธุรกิจในต่างประเทศกว่า 180 ประเทศทั่วโลก รวมมูลค่าเม็ดเงินลงทุนสะสมสูงถึง 123,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเรียบร้อยแล้ว

บริษัทข้ามชาติจีน : ย่ำต่างแดน … ตอกย้ำพลังเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจจีนส่งท้ายปีเก่าอย่างร้อนแรง อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นราว 8.5% ในปี 2546 เทียบกับอัตรา 8% ในปีก่อน รัฐบาลจีนได้แสดงฝีมือสามารถฟื้นฟูความน่าเชื่อถือคืนสู่ประเทศได้อย่างรวดเร็ว จากพิษวิกฤตไข้ระบาด Sars ในช่วงต้นปี โดยประชาชนจีนกลับมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคและการลงทุนอย่างเชื่อมั่นอีกครั้ง การค้าขายและการลงทุนจากต่างประเทศเฟื่องฟูสุดขีด โดยเฉพาะภาคการส่งออกและการนำเข้ามีอัตราเพิ่มเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 30% และ 40% ตามลำดับ ส่งผลให้ฐานะการเงินของประเทศจีนแข็งแกร่งอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ด้วยเงินทุนสำรองเงินตราต่างประเทศมีจำนวนมหาศาลถึง 407,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากญี่ปุ่น และเป็นมูลค่าที่สูงกว่าหนี้สินต่างประเทศระยะสั้นของจีน ซี่งอยู่ที่ระดับราว 65,000 ล้านดอลลาร์ จึงสะท้อนถึงความมั่นคงของเศรษฐกิจจีน และเป็นปัจจัยหนึ่งที่หนุนให้จีนพร้อมที่จะก้าวออกไปแสวงหาพันธมิตรธุรกิจในต่างประเทศ

รัฐบาลจีนสนับสนุนให้บริษัทและธุรกิจเอกชนจีนขยายการลงทุนในต่างประเทศ ด้วยการผ่อนปรนกฎเกณฑ์การลงทุนในต่างแดนให้เสรีมากขึ้น ทั้งการลงทุนโดยตรงและการลงทุนในตลาดหุ้น-ตลาดพันธบัตรต่างประเทศ มาตรการใหม่ที่ทางการนำออกมาบังคับใช้เร็วๆนี้ เพื่อกระตุ้นการลงทุนของบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจจีน อาทิ
– อนุญาตให้บริษัทและธุรกิจในบางมณฑลและบางจังหวัดสามารถนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น โดยให้อำนาจแก่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ดูแลรับผิดชอบด้านการบริหารเงินตราต่างประเทศระดับมณฑล สามารถพิจารณาอนุมัติโครงการลงทุนในต่างประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุน 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มจากเพดานเงินลงทุนเดิม 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาตรการนี้มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2546
– อนุญาตให้บริษัทเอกชนจีนสามารถลงทุนในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรต่างประเทศได้ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง ฯลฯ ก่อนหน้านี้ ทางการจีนจะเป็นผู้ลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ ทำให้จีนมีฐานะเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่รายหนึ่งของพันธบัตรสหรัฐฯ

วัตถุประสงค์ในการขยายการลงทุนในต่างประเทศของจีน ประกอบด้วย 4 ประการ ได้แก่

ประการที่ 1 : แสวงหาแหล่งวัตถุดิบและพลังงานป้อนประเทศ
ประการที่ 2 : ช่องทางระบายสินค้าจีนไปยังตลาดต่างประเทศ
ประการที่ 3 : เรียนรู้เทคโนโลยีต่างประเทศและยกระดับคุณภาพสินค้าจีน
ประการที่ 4 : ลดแรงกดดันค่าเงินหยวน

กลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศของจีน

บริษัทจีนใช้วิธีเข้าซื้อบริษัทต่างชาติ เพื่อสวมชื่อยี่ห้อสินค้าของต่างประเทศซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย นับเป็นวิธีลัดในการลงทุนในต่างประเทศของจีน โดยจีนใช้กลยุทธ์เข้าซื้อบริษัทต่างชาติชั้นนำที่กำลังประสบปัญหาทางการเงิน เช่น การซื้อบริษัท Murray (บริษัทผลิตเครื่องตัดหญ้าและรถจักรยานของสหรัฐอเมริกา) การซื้อบริษัท Fairchild Dorpier (บริษัทผลิตเครื่องบินของเยอรมนี) การซื้อบริษัท Grundig (บริษัทผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ของเยอรมนี) การซื้อกิจการบางส่วนของบริษัท Thomson Electronics (บริษัทผลิตเครื่องรับโทรทัศน์ของฝรั่งเศส) เป็นต้น

การที่บริษัทจีนขยายการลงทุนในต่างประเทศโดยการเข้าซื้อบริษัทต่างชาติ และผลิตสินค้าภายใต้ยี่ห้อเดิมของบริษัทต่างชาติ จะช่วยประหยัดเงินค่าใช้จ่ายจำนวนมากในด้านการโฆษณาประชาสัมพันธ์ เพราะชื่อยี่ห้อสินค้าของต่างประเทศเหล่านั้นเป็นที่คุ้นเคยกันดีอยู่แล้วในตลาดโลก สามารถจับตลาดได้อย่างรวดเร็ว
สำหรับบริษัทจีนที่ต้องการใช้ชื่อยี่ห้อของตนเองในการเข้าไปลงทุนในต่างประเทศ จะต้องทุ่มเงินค่าโฆษณาจำนวนมหาศาล เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ต่างชาติรู้จักชื่อยี่ห้อสินค้าจีนและสร้างความน่าเชื่อถือในตลาดโลก เช่น บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า Haier เป็นต้น การดำเนินธุรกิจของจีนในต่างประเทศ บริษัทจีนนิยมใช้วิธีลงทุนเองทั้งหมด (wholly-owned) หรือร่วมลงทุนกับต่างชาติ (joint venture)

ในอดีต บริษัทจีนรุ่นบุกเบิกที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ส่วนใหญ่ ได้แก่ พ่อค้าชาวจีน ซึ่งไปตั้งฐานที่มั่นอยู่ในฮ่องกง ปัจจุบันสถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป บริษัทจีนที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ รัฐวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ รวมทั้งบริษัทเอกชนขนาดกลางและขนาดย่อมของจีน ก็เริ่มมีบทบาทในการขยายเครือข่ายการลงทุนในต่างประเทศกว้างขวางขึ้น อย่างไรก็ตาม บริษัทขนาดใหญ่ที่รัฐบาลจีนเป็นผู้ถือหุ้นมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขยายการลงทุนในต่างประเทศ

บริษัทข้ามชาติจีนที่มีบทบาทน่าจับตามองในต่างประเทศ อาทิ

1. Petrochina ดำเนินโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันจากประเทศคาซัคสถานมายังโรงกลั่นน้ำมันในเขตซินเจียงทางตะวันตกของจีน มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

2. China National Offshore Oil Corporation (CNOOC) บริษัทน้ำมันของจีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของอินโดนีเซีย หลังจากที่ควบกิจการกับบริษัท Repsol ของสเปน เมื่อปี 2545 จำนวนเงินลงทุน 585 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. Baosteel บริษัทผลิตเหล็กยักษ์ใหญ่ของจีนซื้อหุ้นมูลค่า 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ของโรงงานผลิตเหล็กขนาดใหญ่ที่สุดของบราซิล ซึ่งมีมูลค่า 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

4. Huawei Technologies บริษัทจัดหาอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคมของจีน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเซินเจิ้น พยายามที่จะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติ โดยจัดตั้งบริษัทวิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศต่างๆ เช่น สวีเดน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา พร้อมทั้งวางแผนที่จะขยายการลงทุนในเมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย มูลค่าเงินลงทุน 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อวิจัยด้านซอฟท์แวร์ของโทรศัพท์มือถือ และเทคโนโลยี broadband

5. Haier Group บริษัทผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้ายักษ์ใหญ่ของจีน จัดตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศ 13 แห่ง อาทิ โรงงานในอิหร่าน อินโดนีเซีย มลรัฐ South Carolina ในสหรัฐฯ และประเทศในยุโรป นอกจากนี้ Haier Group วางแผนที่จะจัดตั้งบริษัทในเครือที่เมืองเดลี ประเทศอินเดีย รวมทั้งกำลังก่อสร้างโรงงานในต่างประเทศอีก 10 แห่ง

6. TCL International Holdings บริษัทผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ขนาดใหญ่ของจีน มีฐานธุรกิจอยู่ที่เมืองฮุยโจว ผนวกกิจการกับบริษัท Thomson ของฝรั่งเศส แต่เป็นส่วนที่จัดตั้งเพื่อจัดจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ในสหรัฐฯ ใช้ชื่อบริษัทใหม่ว่า “TCL-Thomson Electronics” โดย TCL ถือหุ้น 67% ส่วน Thomson (สหรัฐอเมริกา) ถือหุ้น 33% ของบริษัทใหม่ เพื่อผลิตทีวีและเครื่องเล่น DVD คาดว่าบริษัทใหม่จะมียอดขายทีวีสูงที่สุดในโลก ประมาณ 18 ล้านเครื่อง/ปี คิดเป็นสัดส่วน 13% ของตลาดโทรทัศน์ของโลก บริษัท TCL ของจีนจะได้รับประโยชน์ในการขยายตลาดในยุโรปและอเมริกาเหนือ

ข้อสังเกต : จีนแตกต่างจากญี่ปุ่น

การลงทุนในต่างประเทศของจีน มีลักษณะที่แตกต่างจากการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษ 1980 เพราะจีนมุ่งลงทุนด้านอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าเป็นหลัก และคาดหวังผลกำไรเป็นอันดับแรก ทำให้บริษัทจีนใช้จ่ายเงินลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และปรับโครงสร้างกิจการอย่างจริงจัง อาทิ บริษัทจีนที่ซื้อบริษัท Murray ของสหรัฐฯ ประกาศปิดโรงงาน 3 แห่งของ Murray สั่งปลดผู้บริหารระดับสูง ลอยแพคนงาน 650 คน ย้ายฐานการผลิตเครื่องตัดหญ้าที่มีคุณภาพต่ำไปยังเมืองเจียงสูของจีน เป็นต้น เปรียบเทียบกับการลงทุนในต่างประเทศของญี่ปุ่นในปี 2527-2528 ซึ่งเป็นยุคที่เงินเยนแข็งแกร่งอย่างมาก ส่งผลให้ญี่ปุ่นนำเงินก้อนใหญ่ออกไปลงทุนยังต่างประเทศ โดยเฉพาะการลงทุนของญี่ปุ่นในสหรัฐฯ เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงนั้น แต่การลงทุนของญี่ปุ่นมีลักษณะเป็นการลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ซื้อบริษัทด้านบันเทิง เป็นต้น มากกว่าการลงทุนด้านการผลิตสินค้า ดังนั้น การขยายการลงทุนของจีนในต่างประเทศในช่วงนี้ จึงไม่น่าที่จะประสบชะตากรรมเหมือนญี่ปุ่นเมื่ออสังหาริมทรัพย์ซบเซาสุดขีดในเวลาต่อมา

จีนลงทุนในประเทศไทย

จีนเป็นนักลงทุนต่างชาติสำคัญของไทยที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) โดยจัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ 10 อันดับแรกของไทยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สำหรับในรอบปี 2546 ประมาณการว่ามูลค่าเงินลงทุนของจีนในไทยน่าจะอยู่ในระดับ 2,000 ล้านบาท ใกล้เคียงกับมูลค่าเงินลงทุนจำนวน 2,081 ล้านบาทในปี 2545 การลงทุนของจีนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เคยทำสถิติสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน แตะระดับ 8,515 ล้านบาทในปี 2544 เนื่องจากในปีนั้นจีนมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท/โครงการ ซึ่งยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI

บริษัทจีนที่เข้ามาลงทุนในไทย ส่วนใหญ่สนใจผลิตสินค้าประเภทสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เคมีภัณฑ์ กระดาษและเยื่อกระดาษ ผลิตภัณฑ์โลหะและเครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งธุรกิจบริการ การลงทุนของจีนในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการริเริ่มลงทุนในโครงการใหม่ๆ มากกว่าการขยายโครงการลงทุนที่มีอยู่เดิม ส่วนใหญ่โครงการลงทุนของจีนแต่ละโครงการมีมูลค่าไม่สูงนัก อยู่ในระดับเฉลี่ยต่ำกว่า 500 ล้านบาท ยกเว้นบางโครงการที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่มูลค่าเงินลงทุนสูงกว่า 1,000 ล้านบาท/โครงการ

โครงการลงทุนของจีนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ของไทยในรอบปี 2546 ได้แก่ โครงการผลิตเครื่องโซลาร์เซลล์ สายเคเบิลและสายเคเบิลใยแก้ว กระดาษอาบมัน แผงวงจรไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนประกอบเฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้น

แนวโน้มการลงทุนของจีนในไทย

การที่รัฐบาลจีนมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ประกอบกับประเทศไทยและประเทศจีนมีความเข้าใจอันดีระหว่างกัน เพิ่มพูนความสนิทสนมขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าจะส่งผลให้รัฐวิสาหกิจและบริษัทเอกชนของจีนสนใจเข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ระหว่างประเทศทั้งสอง อาทิ โครงการนำร่องเปิดการค้าขายสินค้าประเภทผัก-ผลไม้อย่างเสรีระหว่างกัน น่าจะทำให้บริษัทจีนเล็งเห็นช่องทางการเข้ามาร่วมลงทุนกับนักธุรกิจไทย เพื่อผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรต่อเนื่องและครบวงจร เช่น การแปรรูปพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตร ส่งผลดีในการขยายการส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปยังตลาดต่างประเทศอื่นๆ

นอกจากนี้ การพัฒนาเส้นทางคมนาคมระหว่างประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ซึ่งประกอบด้วยพม่า ลาว จีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) ไทย กัมพูชา และเวียดนาม น่าจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางติดต่อระหว่างประเทศในกลุ่มนี้ให้คล่องตัวยิ่งขึ้น รวมทั้งสามารถเชื่อมโยงเครือข่ายเส้นทางคมนาคมไปยังประเทศใกล้เคียงอื่นๆ เช่น อินเดีย โดยไทยมีฐานะเป็นศูนย์กลางการคมนาคมในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านลุ่มแม่น้ำโขง ทั้งเส้นทางคมนาคมทางบก ทางแม่น้ำ และทางอากาศ โครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมข้ามประเทศจะเป็นผลดีต่อการค้าขายสินค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน เนื่องจากช่วยย่นระยะเวลาในการเดินทางไปมาหาสู่ระหว่างกันและช่วยให้การขนส่งสินค้ารวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศและของภูมิภาคโดยรวม

ขณะเดียวกันโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ส่งผลให้จีนสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น โดยทางการมณฑลยูนนาน ซึ่งเป็นพื้นที่ตอนใต้ของจีนที่อยู่ใกล้ชิดกับพื้นที่ทางตอนเหนือของไทย มีโครงการที่จะขยายการลงทุนในเขตจังหวัดเชียงรายของไทยหลายโครงการ หลังจากที่ทางการไทยเตรียมพัฒนาพื้นที่ในเขตจังหวัดชายแดนภาคเหนือให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน จูงใจให้นักธุรกิจจีนในมณฑลยูนนานเล็งเห็นลู่ทางการร่วมลงทุนกับไทยในจังหวัดเชียงราย อาทิ โครงการลงทุนผลิตสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง การผลิตยารักษาโรคและเครื่องเวชภัณฑ์ โครงการร่วมลงทุนด้านการท่องเที่ยว รวมทั้งการอำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศผ่านทางแม่น้ำโขงให้คล่องตัวและเป็นระบบยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยให้การค้าขายสินค้าระหว่างไทยกับจีน ตลอดจนการค้ากับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ เช่น พม่า ลาว เพิ่มพูนขึ้น ส่งผลดีต่อการลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันตามไปด้วย

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าความโดดเด่นทางเศรษฐกิจของจีนที่มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงราว 8% ในปี 2547 จะสนับสนุนให้บริษัทและธุรกิจจีนกระจายเม็ดเงินลงทุนออกสู่ต่างแดนมากขึ้น เป็นจำนวนไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สนองนโยบายของทางการจีนที่มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศอย่างขะมักเขม้น ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มแจ่มใสเช่นกันในปี 2547 โดยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตในอัตราราว 7%-8% ผนวกกับความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างไทยกับจีนที่เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากจีนสู่ความร่วมมือกับไทยในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมแขนงต่างๆ รวมทั้งการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา (R&D) ระหว่างกัน ส่งผลดีต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศทั้งสองและภูมิภาคเอเชียโดยรวม