ราคาทองคำไทย : ประกายสดใส 2547

ทองคำในตลาดทองของไทยต้อนรับศักราชใหม่ 2547 โดยทำสถิติราคาทองคำสูงสุดอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ณ ระดับ 7,850 บาท/บาทน้ำหนักเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2547 พุ่งขึ้นตามกระแสทองคำต่างประเทศที่ราคาทะยานถึง 430 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ในช่วงระหว่างการซื้อขายต้อนรับปีลิง นับเป็นราคาทองคำต่างประเทศสูงสุดในรอบ 15 ปี การที่ราคาทองคำไทยแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในช่วงต้นปี 2547 คิดเป็นราคาทองคำเพิ่มขึ้น 11.3% เมื่อเทียบกับราคาทองคำในระดับเฉลี่ยราว 7,050 บาท/บาทน้ำหนักตอนต้นปี 2546

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ว่าราคาทองคำทั้งตลาดต่างประเทศและตลาดในประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรก 2547 หากทิศทางค่าเงินดอลลาร์ยังคงอ่อนไหว ประกอบกับสถานการณ์รุนแรงในอิรักและในภูมิภาคตะวันออกกลางยังปะทุอย่างต่อเนื่อง รวมถึงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯที่คาดว่าจะอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง ล้วนส่งผลให้ทองคำกลายเป็นทางเลือกในการลงทุนที่น่าสนใจของนักลงทุนต่างประเทศในช่วงนี้

สำหรับตลาดทองคำไทย การที่ราคาทองคำในตลาดทองของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นในขณะนี้ ทำให้การซื้อขายทองคำย่านเยาวราชไม่คึกคักเท่าที่ควร แม้ว่าเป็นระยะเวลาเฉลิมฉลองปีใหม่ และต่อเนื่องด้วยเทศกาลตรุษจีนช่วงปลายเดือนมกราคมนี้ โดยปกติเป็นเวลาที่คนไทยทั่วไปมักนิยมซื้อเครื่องประดับทองคำรูปพรรณ เพื่อเก็บออมไว้เป็นทรัพย์สินมีค่า และเพื่อใช้เป็นเครื่องประดับตกแต่งสวยงาม ซึ่งบ่งบอกถึงความมั่งคั่งและฐานะของผู้สวมใส่ รวมทั้งเพื่อใช้เป็นของขวัญของกำนัลมีค่าให้แก่พนักงานลูกจ้างหรือญาติมิตรในวันปีใหม่ตามประเพณีเก่าแก่ของคนไทยและจีน

การที่ทองคำของไทยมีราคาขยับสูงขึ้นรวดเร็วตั้งแต่ช่วงปลายปี 2546 ทำให้ประชาชนชาวไทยชะลอการซื้อเครื่องประดับทองคำรูปพรรณชั่วขณะ เพื่อรอดูทิศทางราคาทองคำให้ชัดเจน แต่อย่างไรก็ตาม มีผู้ซื้อบางกลุ่มได้ตัดสินใจซื้อทองคำ เนื่องจากเกรงว่าราคาทองคำในตลาดทองไทยมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จึงควรซื้อเก็บไว้ก่อนที่ราคาทองคำจะแพงขึ้นมากกว่าระดับที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ แรงซื้อทองคำอีกส่วนหนึ่งในช่วงที่ราคาทองคำขาขึ้น เป็นการซื้อทองคำเพื่อหวังเก็งกำไร เพราะราคาทองคำของไทยที่เพิ่มขึ้นรวดเร็ว ทำให้นักเก็งกำไรเห็นโอกาสที่จะทำกำไร โดยเข้าซื้อทองคำในช่วงที่ราคาทองเริ่มขยับขึ้น และรีบนำทองคำออกขายเมื่อเห็นว่าราคาทองคำน่าจะถึงจุดสูงสุดแล้ว นักเก็งกำไรจะได้รับผลกำไรจากส่วนต่างระหว่างราคาที่ซื้อทองคำจากร้านค้าทองกับราคาที่นำทองคำไปขายคืนแก่ร้านค้าทอง

ทั้งนี้ นักเก็งกำไรจะซื้อทองคำแท่งเพื่อการเก็งกำไร เนื่องจากการซื้อขายทองคำแท่งจะไม่มีค่ากำเหน็ด (ค่าแรง) แตกต่างจากการซื้อขายเครื่องประดับทองรูปพรรณ ในกรณีที่ผู้ซื้อนำเครื่องประดับทองรูปพรรณไปขายคืนแก่ร้านค้าทอง จะถูกทางร้านค้าทองหักค่ากำเหน็ดประมาณ 400-500 บาทต่อน้ำหนักทองคำ 1 บาท ทำให้ไม่ได้รับเงินคืนอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เมื่อเทียบกับการซื้อขายทองคำแท่ง

แนวโน้มตลาดทองคำไทย

ราคาทองคำของไทยมีแนวโน้มที่จะทรงตัวในระดับสูงในช่วงครึ่งปีแรก 2547 สอดคล้องกับราคาทองคำในต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงแข็งแกร่ง ทองคำที่ซื้อขายกันในประเทศไทย เกือบทั้งหมดเป็นทองคำที่นำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้น ราคาทองคำของไทยจึงเคลื่อนไหวตามทิศทางของราคาทองคำในต่างประเทศ การที่ราคาทองคำต่างประเทศพุ่งขึ้นรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาทองคำของไทยแพงขึ้นตามไปด้วย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าราคาทองคำของไทยมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับสูงเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท/บาทน้ำหนักในช่วงครึ่งปีแรก 2547 นับเป็นระดับราคาเฉลี่ยที่เข้มแข็งต่อเนื่องมาจากปี 2546 ซึ่งอยู่ที่ระดับเฉลี่ยราว 7,000 บาท/บาทน้ำหนัก และเทียบกับระดับราคาเฉลี่ยราว 6,500 บาท/บาทน้ำหนักในปี 2545 จะเห็นได้ว่าราคาทองคำไทยมีทิศทางปรับขึ้นมาโดยตลอด และคาดว่าราคาทองคำไทยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ยังคงสดใสต่อไป ตามแนวโน้มราคาทองคำในตลาดโลก

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อราคาทองคำในประเทศไทย ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก สรุปได้ดังนี้

1. ราคาทองคำต่างประเทศ การที่ประเทศไทยนำเข้าทองคำจากต่างประเทศ ทำให้ราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดทองของไทยอิงกับราคาทองคำต่างประเทศ และเคลื่อนไหวตามราคาทองคำตลาดโลก ซึ่งขยับสูงขึ้นเป็นลำดับ โดยมีราคาเพิ่มขึ้นราว 20% ในรอบปี 2546 และคาดว่าราคาทองคำต่างประเทศจะมั่นคงต่อเนื่องในปี 2547 เนื่องจากทิศทางค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังคงอึมครึม ประกอบกับระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำ ทำให้นักลงทุนหันไปสนใจถือทองคำเป็นหลักทรัพย์เพื่อการลงทุนมากกว่าที่จะถือหลักทรัพย์สกุลเงินดอลลาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่ประเทศสหรัฐอเมริกายังคงตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของประเทศเป้าหมายการก่อการร้ายสากล รวมถึงความรุนแรงในอิรักที่ยังไม่สงบ ซ้ำเติมให้ค่าเงินดอลลาร์เปราะบาง และเป็นปัจจัยผลักดันให้นักลงทุนหันไปหาซื้อทองคำไว้แทน เพื่อเป็นหลักทรัพย์ประกันความเสี่ยง
ขณะเดียวกันราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางโน้มสูงขึ้น ปลุกให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับภัยเงินเฟ้อ มีส่วนกระตุ้นให้ปริมาณความต้องการซื้อทองคำเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อเป็นหลักประกันยามเกิดภาวะเงินเฟ้อ ดังนั้น จึงคาดว่าความต้องการซื้อทองคำในตลาดโลกจะยังคงอยู่ในระดับสูงในระยะนี้ ทำให้ราคาทองคำต่างประเทศมีแนวโน้มเข้มแข็ง และส่งผลให้ราคาทองคำในประเทศไทยพลอยมั่นคงตามไปด้วยในช่วงต้นปีนี้

2. ค่าเงินบาท อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่กำหนดราคาซื้อขายทองคำในประเทศไทย เพราะทองคำเป็นสินค้าที่ไทยต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องนำค่าอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทมาคิดคำนวณราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดทองของไทยด้วย การที่เงินบาทมีค่าเข้มแข็งขึ้นตลอดปี 2546 เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีส่วนกดดันราคาทองคำมิให้เพิ่มขึ้นรวดเร็ว เมื่อเทียบกับราคาทองคำในตลาดต่างประเทศที่พุ่งขึ้นกว่า 20% ในรอบปีที่ผ่านมา ขณะที่ราคาทองคำของไทยเพิ่มขึ้นราว 11% ในปี 2546 ทั้งนี้ เพราะเงินบาทของไทยมีค่าแข็งขึ้นประมาณ 8.2% เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยค่าเงินบาทอยู่ในระดับเฉลี่ย 39.60 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2546 เทียบกับค่าเงินบาทในอัตราเฉลี่ย 43.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯตอนต้นปี 2546 ดังนั้น เมื่อนำราคาทองคำในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มาแปลงเป็นสกุลเงินบาท ทำให้ราคาทองคำในตลาดทองของไทยเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของราคาทองคำในต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาทในปี 2547 นี้ คาดว่าจะเข้มแข็งขึ้นอีก อยู่ในระดับเฉลี่ยราว 38-39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ ดังนั้น แม้ว่าราคาทองคำในตลาดโลกจะแพงขึ้นรวดเร็ว แต่ราคาทองคำในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในทางตรงข้าม หากเงินบาทของไทยมีค่าอ่อนตัวลง จะส่งผลให้ราคาทองคำที่ซื้อขายกันในตลาดทองไทยขยับสูงขึ้นเร็วกว่าที่เป็นอยู่