ราคาไก่ ไข่ หมูพุ่ง…ผลไม้ลด : กระทบตลาดเครื่องเซ่นไหว้ช่วงตรุษจีน

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนแต่ละปีบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนจะออกจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจ โดยเม็ดเงินสำหรับการจับจ่ายซื้อเครื่องเซ่นไหว้นั้นคิดเป็นประมาณร้อยละ 50 ของเม็ดเงินสะพัดทั้งหมดในช่วงเทศกาลตรุษจีน แม้ว่าในปี 2547 นี้แนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเม็ดเงินสะพัดในช่วงเทศกาลตรุษจีนนั้นจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าในช่วงปีที่ผ่านๆมา

แต่อุปสรรคประการสำคัญคือ ราคาไก่ ไข่ และหมู ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องเซ่นไหว้มีแนวโน้มว่าจะแพงขึ้นกว่าทุกปี อันเป็นผลมาจากปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงคาดว่าบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องเพิ่มงบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้ หรือถ้าตั้งงบประมาณไว้เท่าเดิมก็จะต้องลดปริมาณเครื่องเซ่นไหว้ลง

นับว่าราคาที่พุ่งสูงขึ้นของไก่ ไข่ และหมูนั้นทำให้ผู้ประกอบการรายย่อย โดยเฉพาะผู้ค้าปลีกในตลาดสดต้องพลาดโอกาสทองของปี ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลจับจ่ายเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้ของชาวไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ตามในปี 2547 นับว่าเป็นปีแรกหลังจากที่ไทยเปิดเขตเสรีทางการค้ากับจีนโดยการลดภาษีนำเข้าผักผลไม้เป็นโครงการนำร่อง ซึ่งทำให้ผลไม้นำเข้านานาชนิดที่เคยมีราคาแพงนั้นราคาลดลงเมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมา

กอปรกับปริมาณการผลิตผลไม้โดยเฉพาะส้มในประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าจะส่งผลให้บรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนหันไปจับจ่ายซื้อผลไม้มากขึ้น เนื่องจากผลไม้ในปีนี้มีให้เลือกมากมายหลายชนิด และราคาถูกกว่าทุกปีที่ผ่านมาประมาณร้อยละ 20 นับว่าในช่วงตรุษจีนนี้จึงจะเป็นช่วงที่บรรดาผู้ค้าผลไม้ทั้งค้าส่งและค้าปลีกจะสามารถสร้างยอดขายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำต่อเนื่องจากในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา

ไก่เนื้อไก่ไข่…ปัญหาโรคระบาด

ปริมาณการผลิตไก่เนื้อในปี 2547 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่สูงมากนัก เนื่องจากทางผู้ผลิตและส่งออกเนื้อไก่มีนโยบายลดปริมาณไก่เนื้อลงร้อยละ 15 ตั้งแต่ในช่วงกลางปี 2546 และคาดว่าจะยังคงนโยบายนี้ต่อไปอย่างน้อยถึงกลางปี 2547 เพื่อควบคุมปริมาณการผลิตไก่เนื้อ ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจไก่เนื้อต้องเผชิญกับภาวะราคาตกต่ำเช่นในช่วงต้นปี 2546 อันเป็นผลมาจากการส่งออกตั้งแต่ช่วงปลายปี 2545

นอกจากนี้ยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องโรคระบาดในเขตพื้นที่เลี้ยงสำคัญและสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงส่งผลให้ปริมาณไก่เนื้อและไก่ไข่ลดลงด้วย โดยบรรดาฟาร์มเลี้ยงไก่เนื้อในหลายพื้นที่ประสบความเสียหายหลังจากที่ไก่ในฟาร์มทยอยกันตายต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนเทศกาลปีใหม่

ซึ่งในการประชุมคณะทำงานกำกับดูแลสินค้าปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ (สุกร ไก่เนื้อ และไก่ไข่) ครั้งที่ 1/2547 ตัวแทนภาคเอกชนเจ้าของฟาร์มได้ประมาณการตัวเลขความเสียหายของไก่เนื้อและไก่ไข่ที่ตายจากทั้งการระบาดของโรคอหิวาต์ชนิดเฉียบพลันและตายเพราะอากาศเปลี่ยนนั้นมีจำนวนไม่น้อยกว่า 40 ล้านตัว แยกเป็นไก่ไข่ปัจจุบันมียืนกรงอยู่ประมาณ 40 ล้านตัว ขณะนี้คาดการณ์ว่าตายไปแล้วประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 10 ล้านตัวแล้ว ส่วนไก่เนื้อปัจจุบันมีไก่ยืนกรงประมาณ 120 ล้านตัว คาดว่าตายไปแล้วประมาณร้อยละ 25 หรือประมาณ 30 ล้านตัว อย่างไรก็ตามตัวเลขความเสียหายของกรมปศุสัตว์ยังคงมีรายงานปริมาณไก่ตายเพียง 300,000 ตัวเท่านั้น เท่ากับว่าตัวเลขความเสียหายนี้ยังสับสนอยู่ ซึ่งการสำรวจความชัดเจนในเรื่องความเสียหายนี้นับว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ

ประเด็นที่เป็นที่วิตกของผู้ประกอบการในธุรกิจเลี้ยงไก่ คือ

1.โรคอหิวาต์ชนิดเฉียบพลันและอากาศเปลี่ยนแปลงจะกระจายวงกว้างไปทั่วประเทศ

เพราะในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนจะมีการเคลื่อนย้ายไก่เนื้อ จากแหล่งเลี้ยงไก่เนื้อไปยังตลาดค้าส่งทั่วประเทศเพื่อให้ผู้บริโภคจับจ่ายเป็นเครื่องเซ่นไหว้ รวมทั้งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของรัฐบาลต้องให้ข้อมูลที่ชัดเจนถึงสาเหตุการตายขายไก่เป็นจำนวนมาก และข้อมูลความเสียหายที่แท้จริง รวมทั้งแนวทางป้องกันที่ชัดเจนและเป็นที่เชื่อถือได้ ทั้งนี้เพื่อให้ระงับความหวาดวิตกทั้งของผู้เลี้ยงและผู้บริโภค ก่อนที่ความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องสาเหตุการตายของไก่จะกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ทำให้ผู้เลี้ยงไก่ต้องประสบกับภาวะขาดทุนอีกรอบ เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศเกิดความหวาดวิตกที่จะบริโภคไก่ อันเป็นผลจากความไม่แน่ใจในความปลอดภัย รวมทั้งอาจจะส่งผลกระทบถึงธุรกิจการส่งออกไก่เนื้อและไข่ไก่ เนื่องจากในปัจจุบันมีข่าวเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในหลายประเทศในเอเชีย

2.ราคาไก่เนื้อจะมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าทุกปีที่ผ่านมา

เนื่องจากมาตรการควบคุมปริมาณไก่เนื้อของผู้ประกอบการ กอปรกับปัญหาปริมาณไก่เนื้อที่มีแนวโน้มลดลงจากที่มีไก่ตายเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจไก่เนื้อพลาดโอกาสทองของปีที่จะสามารถจำหน่ายไก่เนื้อเพื่อเป็นเครื่องเซ่นไหว้ เนื่องจากบรรดาคนไทยเชื้อสายจีนจะต้องจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเพื่อซื้อเครื่องเซ่นไหว้ ดังนั้นบางครัวเรือนจึงอาจจะคงงบประมาณค่าใช้จ่ายไว้แต่ซื้อเครื่องเซ่นไหว้ลดลง

ส่วนไก่ไข่นั้นสถานการณ์โรคระบาดในช่วงประมาณ 3 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการในธุรกิจไก่ไข่ประมาณว่าปริมาณไข่ไก่ทั้งระบบเสียหายถึงร้อยละ 30 ส่งผลกระทบปัญหาปริมาณไข่ไก่และราคาไข่ไก่ในตลาด จากเดิมที่ธุรกิจไก่ไข่ประสบปัญหาต้นทุนอยู่ในเกณฑ์สูงจากราคาอาหารสัตว์ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในปี 2547 นี้ ต้นทุนไข่ไก่เดิมอยู่ที่ประมาณฟองละ 1.50-1.60 บาท ถ้าฟาร์มใดเสียหายประมาณร้อยละ 30 จะทำให้ต้นทุนไข่ไก่สูงเป็นฟองละ 2.15-2.30 บาท และหากบางฟาร์มเกิดความเสียหายสูงเกินกว่าร้อยละ 30 ต้นทุนไข่ไก่จะเพิ่มขึ้นเป็นฟองละ 2.50-2.67 บาท ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่เดือดร้อนอย่างมาก มีแนวโน้มว่าราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 นี้

ราคาสุกรปรับเพิ่ม…ก่อนช่วงเทศกาลตรุษจีน

ในวันที่ 14 มกราคม 2547 สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติจะปรับขึ้นราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มอีกกิโลกรัมละ 3 บาท จากเดิมกิโลกรัมละ 34-35 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 37-38 บาทเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งนี้เนื่องจากต้นทุนอาหารที่เลี้ยงสุกรปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 18-20 นอกจากนี้จากสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้อัตราการสูญเสียเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10-12 จากในปีปกติที่จะมีอัตราการสูญเสียในช่วงนี้ประมาณร้อยละ 8-9 ของปริมาณการเลี้ยงสุกรทั้งหมด รวมทั้งค่าขนส่งเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 10 ขณะเดียวกันวัคซีนที่ใช้ฉีดป้องกันโรคในสุกรบางชนิดต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ต้นทุนการเลี้ยงสุกรจะเพิ่มขึ้น แต่ปกติต้นทุนเฉลี่ยของสุกรมีชีวิตอยู่ที่กิโลกรัมละ 38-39 บาท

นอกจากนี้ในช่วงใกล้เข้าสู่เทศกาลตรุษจีนความต้องการใช้สุกรเพื่อนำไปไหว้บรรพบุรุษมีปริมาณเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตสุกรที่ออกสู่ท้องตลาดคงที่ จึงส่งผลให้ราคาสุกรในช่วงนี้ปรับตัวขึ้น ทั้งนี้ราคาสุกรหน้าฟาร์มที่เพิ่มขึ้นนั้นจะส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรชำแหละเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 5 บาท โดยขณะนี้ราคาอยู่ที่กิโลกรัมละ 75-77 บาท

ผลไม้ราคาลดลง…อานิสงส์เปิดเขตการค้าเสรีกับจีน

ตั้งแต่ช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมาบรรดาผู้ค้าส่งและผู้ค้าปลีกผลไม้ได้รับอานิสงส์อย่างถ้วนหน้า เนื่องจากผู้บริโภคหันไปมอบกระเช้าผลไม้เป็นของขวัญปีใหม่กันเป็นจำนวนมาก อันเป็นผลมาจากกระแสการบริโภคอาหารสุขภาพที่กำลังมาแรง รวมทั้งราคาผลไม้ต่างๆในปีนี้ไม่แพงอย่างเช่นทุกปีที่ผ่านมา และยังมีผลไม้ให้เลือกมากมายหลากหลายชนิด ซึ่งคาดว่าในช่วงเทศกาลตรุษจีนนี้ยอดจำหน่ายผลไม้ก็ยังจะพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง

โดยผลไม้ก็เป็นหนึ่งในเครื่องเซ่นไหว้ที่นิยมของบรรดาชาวไทยเชื้อสายจีนเช่นเดียวกัน ซึ่งผลไม้ที่ขาดไม่ได้ในการไหว้เจ้าของคนไทยเชื้อสายจีนได้แก่ ส้ม กล้วยหอม องุ่น แอปเปิ้ล และส้มโอ โดยอานิสงส์การเปิดเขตการค้าเสรีกับจีนนั้นทำให้ราคาส้ม องุ่น และแอปเปิ้ลที่นำเข้ามาจากจีนในปีนี้ราคามีแนวโน้มลดลงกว่าในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งโดยเฉลี่ยลดลงถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับราคาในปีที่ผ่านมา ส่วนผลไม้นำเข้าที่มาจากแหล่งอื่นๆที่ไม่ใช่จีนราคาก็ยังคงใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา รวมทั้งในปีนี้ผลไม้ยอดนิยมที่จะใช้เป็นเครื่องเซ่นไหว้ในปีนี้มีให้เลือกมากมายอีกด้วย

นอกจากนี้ราคาส้มโดยเฉพาะส้มสายน้ำผึ้งตกต่ำในปีนี้เป็นไปตามการคาดการณ์ของผู้ค้าและชาวสวนส้มเมื่อประมาณ 5 ปีก่อน เนื่องจากมีการขยายการปลูกส้มสายน้ำผึ้งกันอย่างมาก โดยมีราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจ แต่เกษตรกรรายย่อยไม่มีการควบคุมคุณภาพในการปลูกและการเก็บ ทำให้ส้มที่จำหน่ายได้ราคาตกต่ำและไม่เป็นที่ยอมรับของตลาด ในขณะที่ส้มจากผู้ปลูกส้มรายใหญ่ที่มีการควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวดนั้นยังคงจำหน่ายได้ในราคาดี แต่อาจจะได้รับผลกระทบบ้างจากการที่ปริมาณส้มมีมากเกินความต้องการของตลาด แต่ผู้ปลูกส้มรายใหญ่นั้นมีการเตรียมรับมือกับปัญหานี้แล้ว โดยการเร่งขยายตลาดส่งออก เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้ที่นิยมส้มประเภทเปลือกบางโดยเฉพาะ ซึ่งตลาดหลักยังคงเป็นตลาดในเอเชีย เช่น ฮ่องกง ไต้หวัน จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น รวมทั้งยังมีแนวคิดที่จะขยายตลาดไปยังประเทศต่างๆที่มีชาวเอเชียอพยพไปตั้งรกรากอยู่ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา เป็นต้น

ในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้แม้ว่าจะอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มดี คาดว่าเม็ดเงินที่จะสะพัดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่บรรดาธุรกิจเครื่องเซ่นไหว้ต้องประสบกับอุปสรรคสำคัญคือ ราคาไก่ ไข่ และหมูมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการในธุรกิจเหล่านี้พลาดโอกาสทองในการที่จะสร้างยอดจำหน่ายเป็นกอบเป็นกำในช่วงเทศกาลจับจ่ายของบรรดาคนไทยเชื้อสายจีน อย่างไรก็ตามคาดว่าบรรดาผู้ค้าส่ง-ค้าปลีกผลไม้ในปีนี้จะสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำในช่วงเทศกาลตรุษจีนต่อเนื่องจากช่วงเทศกาลปีใหม่ อันเป็นอานิสงส์จากการเปิดเขตการค้าเสรีไทยจีน รวมทั้งปริมาณการผลิตผลไม้ของไทยโดยเฉพาะส้มนั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาผลไม้ในปีนี้อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าทุกปีที่ผ่านมา