หลังจากช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อกลางปี 2540 เป็นต้นมา บริษัทกลุ่มธุรกิจของไทยที่เคยขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศ (Outward Foreign Direct Investment) ต่างชะลอแผนการลงทุนในต่างประเทศ ตลอดจนตัดขายทรัพย์สินที่ลงทุนไว้นอกประเทศทิ้งไปเป็นจำนวนมาก เพื่อพยุงสถานะทางการเงินของบริษัทแม่ แต่ปัจจุบัน บริษัทไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นจากวิกฤต มีฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่ปรับตัวดีขึ้นมาก ประกอบกับเศรษฐกิจภายในและภายนอกประเทศเป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้น ส่งผลให้บริษัทไทยเริ่มกลับมาทบทวนกลยุทธการลงทุนในต่างประเทศอีกครั้ง
จากสถิติการลงทุนโดยตรงสุทธิของไทยในต่างประเทศ (Net Flows of Thai Direct Investment Abroad) คาดว่า ตลอดทั้งปี 2546 การลงทุนโดยตรงของไทยในต่างประเทศมีมูลค่าประมาณ 420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 200 จากมูลค่า 141 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2545 และสูงขึ้นเมื่อเทียบกับในช่วง 5 ปีก่อนหน้าคือระหว่างปี 2541-2545 ที่มีการลงทุนเฉลี่ย 166 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี
ประเภทธุรกิจที่มีการลงทุนสูงในปี 2546 ส่วนใหญ่เป็นสาขานอกภาคการผลิต ที่สำคัญได้แก่ สาขาการค้า (สัดส่วนร้อยละ 25 ของการลงทุนโดยรวม) สถาบันการเงิน (ร้อยละ 24) บริษัทลงทุนและโฮลดิ้ง (ร้อยละ 13) ส่วนในภาคการผลิตที่สำคัญคือ สาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 8) เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง (ร้อยละ 6)
การลงทุนของไทยในต่างประเทศในปี 2546 กว่าร้อยละ 50 เป็นการลงทุนในจีนและอาเซียน โดยอัตราการเติบโตของการลงทุนในจีนสูงถึงเกือบร้อยละ 300 ขณะที่การลงทุนในอาเซียน 3 ประเทศหลัก คือ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และอินโดนีเซีย เติบโตร้อยละ 200
การลงทุนในต่างประเทศเป็นช่องทางในการแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจนอกประเทศไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป การวิเคราะห์ในเชิงสถิติจากอดีตที่ผ่านมาพบว่า ธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศมีอัตราส่วนของการถอนการลงทุนต่อมูลค่าการลงทุนทั้งหมด (Divestment Rate) อยู่ที่ประมาณร้อยละ 14 ธุรกิจไทยมีการถอนการลงทุนสูงมากในช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ระหว่างปี 2540-2544 มีเงินลงทุนของไทยในต่างประเทศที่ไหลกลับเข้ามาประมาณ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของเงินลงทุนในต่างประเทศที่ไหลกลับเข้ามาทั้งหมดตลอดระยะที่ผ่านมา
โดยสาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างธุรกิจของบริษัทแม่ที่ประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน สำหรับเหตุผลในกรณีอื่นๆ โดยทั่วไปมีสาเหตุจากการไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เข้าไปลงทุน ปัญหาที่บริษัทไทยมักพบคือ ปัญหาการเจาะตลาดผู้บริโภคและการแข่งขันกับธุรกิจท้องถิ่น ความสามารถในการทำกำไร ปัญหาผู้ร่วมทุนและบุคลากรด้านบริหาร และปัญหาด้านการบริหารจัดการอื่นๆ
ในระยะต่อไป การลงทุนในต่างประเทศจะมีความสำคัญเพิ่มขึ้น กล่าวได้ว่าการออกไปลงทุนตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นการปรับตัวเชิงกลยุทธทางธุรกิจเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจไทย การเข้าไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีต้นทุนต่ำและเข้าถึงตลาดที่มีศักยภาพ เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่สำคัญที่จะทำให้บริษัทไทยสามารถแข่งขันในระดับภูมิภาคได้
สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางธุรกิจสูง มีความเข้มแข็งทางการเงิน และมีประสบการณ์จากการลงทุนในต่างประเทศมาแล้ว อาจอาศัยความได้เปรียบดังกล่าวในก้าวย่างต่อไปของการขยายการลงทุนในต่างประเทศได้อย่างไม่ยากเย็นนัก แต่สำหรับบริษัทไทยโดยทั่วไปแล้วยังขาดประสบการณ์ในการทำธุรกิจในต่างประเทศ ดังนั้น การส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนในต่างประเทศอาจต้องพึ่งพาการสนับสนุนของภาครัฐ โดยเป็นการให้ความช่วยเหลือในเบื้องต้นหรือการอำนวยความสะดวกแก่ธุรกิจไทยที่ต้องการออกไปลงทุนในต่างประเทศ อาทิ ด้านการเงิน (การให้สินเชื่อ การประกันความเสี่ยง) ด้านข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุน (ฐานข้อมูลรายประเทศ ข้อมูลการดำเนินธุรกิจในประเทศที่เป็นเป้าหมายหลักในการลงทุน) การให้บริการโดยหน่วยงานรัฐที่ตั้งอยู่ในต่างประเทศ เพื่อให้การช่วยเหลือแก่นักธุรกิจที่สนใจเข้าไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ