ประเด็นเปิดตลาด
– รัฐบาลญี่ปุ่นจะส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบโรงงานไก่ไทยในวันที่ 19 ก.พ. โดยหากไม่มีปัญหาเรื่องไข้หวัดนก หรือโรงงานได้มาตรฐาน ก็คาดว่า ไทยน่าจะสามารถส่งออกไก่ต้มสุกไปญี่ปุ่นได้ในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้
– ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2548 วงเงิน 1.17 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นงบสมดุล แล้ว โดยการจัดทำใช้สมมติฐานว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยอยู่ที่ระดับ 7.5% ในปี 2548 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.5% และหนี้สาธารณะอยู่ในระดับไม่เกิน 55% ของ GDP
– ดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones วันอังคารปิดบวกร้อยละ 0.82 สู่ระดับ 10,714.88 จุด ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้น NASDAQ ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.30 ที่ระดับ 2,080.35 จุด
– ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันอังคารปิดเพิ่มขึ้นมาก ที่ร้อยละ 1.44 สู่ระดับ 10,701.13 จุด โดยเปิดตลาดเช้าวันพุธเพิ่มขึ้นที่ระดับ 10,759.48 จุด
– เงินบาท และเงินเยน อ่อนค่าลงในเช้าวันนี้ มาอยู่ที่ระดับ 39.030 บาท/ดอลลาร์ และ 105.62 เยน/ดอลลาร์ ในขณะที่เงินยูโรแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 1.2863 ดอลลาร์/ยูโร ตามลำดับ
– ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ เติบโต 0.8% ในเดือน ม.ค. สูงกว่าการคาดการณ์เล็กน้อย ในขณะที่ ผลสำรวจกิจกรรมการผลิตของรัฐนิวยอร์ก ปรับเพิ่มขึ้นจาก 39.2 ในเดือน ม.ค. มาอยู่ที่ 42.1 ในเดือน ก.พ. สูงกว่าตัวเลข consensus ที่ 39.5
– ดัชนีชี้ภาวะเศรษฐกิจของเยอรมัน (ZEW Indicator of Economic Sentiment) ปรับลดลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 69.9 ในเดือน ก.พ. จาก 72.9 ในเดือนก่อน
ภาวะตลาดหุ้น
U.S. Dow Jones / U.S. NASDAQ
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ วันอังคารปรับเพิ่มขึ้น หลังจากข่าวที่ว่าจะมีควบรวมกิจการระหว่างบริษัทซิงกูลาร์กับบริษัทเอทีแอนด์ที และข่าวที่ว่าธนาคารสหรัฐฯ 2 แห่งได้ประกาศตกลงซื้อกิจการคู่แข่ง ซึ่งเพิ่มความมั่นใจให้กับนักลงทุน ขณะที่ ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่บ่งชี้ถึงการฟื้นตัวชองภาคการผลิต รวมถึงสภาพอากาศที่หนาวเย็นอันส่งผลให้ปริมาณการใช้ก๊าซและไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยดัชนีตลาดหุ้น Dow Jones ปิดบวก 0.82% ที่ระดับ 10,714.88 จุด สอดคล้องกับดัชนีหุ้น NASDAQ ที่ทะยานขึ้น 1.30% สู่ระดับ 2,080.35 จุด
Japan Nikkei-225
ดัชนีตลาดหุ้น Nikkei วันอังคารทะยานขึ้น 1.44% สู่ระดับสู่สุดในรอบ 2 สัปดาห์ที่ 10,701.13 จุด โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มที่เกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศได้รับแรงหนุนจากความหวังเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไตรมาส 3 ที่สดใส ซึ่งจะบ่งถึงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งจากภาวะซบเซาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน หุ้นกลุ่มธนาคารก็ปรับขึ้นภายหลังข่าวที่ว่าหน่วยงานรัฐจะให้ความช่วยเหลือด้านการเงินกับบริษัทคาเนโบ้ และรับข่าวการเข้าจดทะเบียนของธนาคารชินเซอิ ซึ่งเป็นธนาคารญี่ปุ่นแห่งแรกที่จะมีการแปรรูปเป็นของรัฐ
Thailand’s SET
ดัชนีตลาดหุ้นไทยวันอังคารปรับตัวขึ้น 1.34% สู่ระดับ 748.83 จุด นำโดยหุ้นกลุ่มพลังงานที่มีแรงซื้อเพื่อเก็งกำไร จากการคาดการณ์ที่ว่าอาจได้รับผลดีจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้า และราคาหุ้นพลังงานก็ยังคงอยู่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม ข่าวลบเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกยังคงกดดันตลาดอยู่ และทำให้นักลงทุนเพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน อันมีผลให้มูลค่าการซื้อขายค่อนช้างเบาบาง
จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดัชนีหุ้นไทยวันพุธนี้ คงจะมีแนวรับที่ระดับ 730 จุด ส่วนแนวต้านอยู่ที่ระดับ 740 และ 757 จุด โดยคาดว่า จะมีแรงซื้อเพื่อเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 4/46เข้ามาต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความกังวลเกี่ยวกับการระบาดของไข้หวัดนกอาจส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายเป็นไปอย่างเบาบางเหมือนเมื่อวานนี้ อันอาจจะกดดันให้มีการขายทำกำไรออกมาบ้างในช่วงปลาย
สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน
Baht/USD
เงินบาทอ่อนค่าลง โดยมีการเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ จากความวิตกต่อการอาจเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อลดความผันผวนของเงินบาทโดยธนาคารแห่งประเทศไทย และความกังวลต่อไข้หวัดนกที่ยังกดดันเงินบาทอยู่
Yen/USD
เงินเยนอ่อนค่าลง ถึงแม้จะมีการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาลที่แสดงว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการขยายตัว 1.7% ในช่วงระหว่าง ต.ค – ธ.ค. จากไตรมาสก่อนหน้า มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 1.1% ในขณะที่ตลาดได้วิตกมากยิ่งขึ้น ต่อการเข้าแทรกแซงเงินเยนของธนาคารกลางญี่ปุ่น
USD/Euro
เงินยูโรแข็งค่าขึ้น จากการร่วงลงของดอลลาร์ หลังการเปิดเผยปริมาณเงินทุนไหลเข้าสหรัฐฯ ที่ลดลงมาอยู่ที่ 7.55 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ธ.ค. จากที่ 8.75 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ย. ซึ่งทำให้นักลงทุนบางส่วนเทขายดอลลาร์ จากความไม่มั่นใจต่อการสามารถชดเชยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดที่พุ่งขึ้นของสหรัฐฯ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯยังอยู่ในระดับต่ำได้
จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ค่าเงินบาทในวันพุธนี้ คงจะเคลื่อนไหวอยู่ในช่วง 38.90-39.07 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยทิศทางค่าเงินบาทน่าจะยังคงเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มค่าเงินเยน ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากความกังวลต่อการเข้าแทรกแซงของทางการญี่ปุ่น ถึงแม้ว่าญี่ปุ่นจะได้รับปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจ ซึ่งหนุนให้เงินเยนแข็งค่าขึ้นก็ตาม
สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้
U.S. Treasury 10 Years / Thai Gov. Bond 1 Year / Thai Gov. Bond 5 Years / Thailand Bond Volume (MB)
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ปรับตัวแคบๆ ในช่วง –1 ถึง 1 bps. โดยสเปรดระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะ 2 และ 10 ปี อยู่ที่ 3.02% ไม่เปลี่ยนแปลงจากวันก่อน ขณะที่มูลค่าการซื้อขายในตลาดตราสารหนี้ไทย เพิ่มขึ้น 49.54% จากวันก่อน ด้านการประมูลพันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย วงเงินรวม 1 หมื่นล้านบาท ประเภทอายุ 6 เดือน และ 1 ปี มีอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.19% และ 1.37% ตามลำดับ ค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับ 1.19% และ 1.38% ในการประมูลพันธบัตรประเภทเดียวกันเมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งนี้ ภาพรวมตลาดพันธบัตรค่อนข้างซบเซา โดยนักลงทุนรอข่าวการออกพันธบัตรล็อตใหม่จากทางการ