แนวโน้มภาคการส่งออกของไทยในปี 2547 : แรงผลักดันสำคัญมาจากสินค้าที่พึ่งพาเทคโนโลยี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย วิเคราะห์แนวโน้มภาคการส่งออกของไทยในปี 2547 โดยคาดว่าการส่งออกในปีนี้น่าจะมีแรงผลักดันสำคัญมาจากสินค้ากลุ่มที่พึ่งพาเทคโนโลยีเป็นหลัก และเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้นกว่าในปีที่ผ่านมา ขณะที่สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตรคาดว่ายังเติบโตอยู่ในเกณฑ์ดีแม้อัตราขยายตัวอาจไม่สูงเท่ากับปีก่อนหน้า ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมประเภทอื่น (อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานสูงและอุตสาหกรรมที่พึ่งพาทรัพยากร) มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า การส่งออกไทยจะขยายตัวประมาณร้อยละ 13 ในปี 2547 ซึ่งนับเป็นอัตราเติบโตในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากร้อยละ 18.6 ในปี 2546

การเติบโตที่ชะลอลงนั้นมีสาเหตุสำคัญเนื่องจากในปี 2546 การส่งออกของไทยมีการขยายตัวสูงมาก ทำให้ต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูง และในปี 2546 สินค้าหลายชนิดมีการเติบโตสูงจากผลของปัจจัยชั่วคราว สำหรับปัจจัยที่จะเกื้อหนุนต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ส่วนสำคัญคาดว่ามาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและประเทศในภูมิภาคเอเชีย การปรับตัวดีขึ้นของระดับราคาสินค้าตามทิศทางอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งทิศทางการฟื้นตัวของธุรกิจไอที และเป็นช่วงวัฏจักรขาขึ้นของอุตสาหกรรมปัจจัยการผลิตพื้นฐาน เช่น เหล็กและปิโตรเคมี

สัญญาณเชิงบวกต่อภาคการส่งออกของไทยประกอบด้วย

– ระดับราคาสินค้าส่งออกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง : ในช่วงเดือนมกราคม 2547 ระดับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 เทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2546 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 จากเดือนก่อนหน้า (ธันวาคม 2546) โดยสินค้าที่มีระดับราคาสูงขึ้นมาก ได้แก่ สินค้าเกษตร เช่น ข้าวและยางพารา สินค้าชิ้นส่วนไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีระดับราคาสูงขึ้นถึงร้อยละ 99 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่วงจรพิมพ์และส่วนประกอบเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์มีระดับราคาสูงขึ้นร้อยละ 31 และร้อยละ 22 ตามลำดับ

– ความสามารถในการทำกำไรของภาคธุรกิจส่งออกปรับตัวดีขึ้น : ดัชนีราคาสินค้าเข้า-ออกเปรียบเทียบ (Terms of Trade) ที่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมาสะท้อนว่าแรงกดดันที่มีต่อภาคธุรกิจในด้านการแข่งขันทางราคาได้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีต่อแนวโน้มผลกำไรของภาคธุรกิจส่งออก

– สินค้ากลุ่มที่พึ่งพาเทคโนโลยีมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น : โดยคาดว่าสินค้าหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และหมวดยานยนต์จะขยายตัวในอัตราที่ไม่ต่ำกว่าในปีที่ผ่านมา ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 40 ของการส่งออกโดยรวมของไทย สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดใหญ่อันดับหนึ่งและในปีที่ผ่านมาตลาดสหรัฐค่อนข้างซบเซา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีสัดส่วนเกือบ 1 ใน 4 ของการส่งออกของไทยทั้งหมด คาดว่าจะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าขั้นสุดท้ายรายใหญ่ที่สุดในโลก อันจะส่งผลต่อปริมาณความต้องการในตลาดโลก และที่สำคัญคือการปรับตัวสูงขึ้นของระดับราคา

นอกจากนี้ การเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศเพื่อขยายกำลังผลิต (เช่น ฮาร์ดดิกส์ไดรฟ์ แผงวงจรไฟฟ้า และวงจรพิมพ์) คาดว่าจะเป็นแรงสนับสนุนอีกด้านหนึ่งให้การส่งออกของสินค้ากลุ่มนี้ขยายตัวสูงขึ้นในปีนี้ สินค้าหมวดยานพาหนะอุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่คาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวได้ใกล้เคียงกับในปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางที่ฟื้นตัวดีขึ้น และการขยายการส่งออกภายใต้สิทธิพิเศษทางภาษีของ AFTA ที่น่าจะมีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่มากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปีเริ่มต้น ที่สำคัญ การขยายการส่งออกของบริษัทรถยนต์ค่ายต่างๆที่มีการโยกย้ายฐานการผลิต โดยเฉพาะการผลิตรถปิ๊กอัพ 1 ตัน จากประเทศบริษัทแม่เข้ามายังประเทศไทยกำลังจะเริ่มต้นขึ้น ซึ่งคาดว่าจะเป็นช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ก่อนที่แผนการขยายกำลังการส่งออกจะเดินเครื่องเต็มรูปแบบในปี 2548

– การส่งออกไปยังอาเซียนมีแนวโน้มเติบโตสูงอย่างต่อเนื่อง : การส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียนขยายตัวร้อยละ 22 ในปี 2546 และในเดือนมกราคมเติบโตสูงถึงร้อยละ 37 ซึ่งคาดว่าเป็นผลมาจากการเริ่มต้นของเขตการค้าเสรีอาเซียนอย่างเป็นทางการตั้งแต่ 1 มกราคม 2546 และจากการวิเคราะห์เปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนพบว่า ไทยมีอัตราการขยายตัวของการส่งออกไปยังอาเซียนสูงกว่าประเทศอื่นๆ โดยมีอัตราขยายตัวร้อยละ 21 ขณะที่ฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 14 มาเลเซียและอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6 และสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 5 สะท้อนถึงโอกาสที่ไทยจะได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าภายในภูมิภาค นอกจากกลุ่มอาเซียนแล้ว ตลาดที่คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นคือสหรัฐ ขณะที่ตลาดญี่ปุ่น สหภาพยุโรปและจีน อาจมีทิศทางที่ชะลอตัวลงจากที่เติบโตสูงในปีก่อนหน้า

สำหรับตัวแปรที่อาจมีผลกระทบต่อทิศทางการส่งออกของไทยในช่วงปีนี้ ประกอบด้วย

– การแข็งค่าของเงินบาท จากตัวเลขส่งออกในช่วงที่ผ่านชี้ให้เห็นว่าแม้หลังจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นแต่การส่งออกก็ยังคงขยายตัวได้ดี ซึ่งคาดว่าการส่งออกอาจไม่ถูกกระทบมากนักถ้าค่าเงินบาทเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกับสกุลเงินในภูมิภาคและไม่แข็งค่าอย่างรวดเร็วเกินไป

– ราคาน้ำมัน ยังเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมแม้ขณะนี้อาจยังไม่ปรากฏผลเนื่องจากรัฐบาลยังคงตรึงราคาน้ำมันไว้

– ราคาวัตถุดิบและสินค้าปัจจัยการผลิตในตลาดโลก โดยเฉพาะเหล็กพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ วัตถุดิบพื้นฐาน เช่น ทองแดง อลูมิเนียม เม็ดพลาสติก ต่างมีระดับราคาสูงขึ้น ปัจจัยดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันต่อต้นทุนการผลิตถ้าสินค้าที่ส่งออกมีการแข่งขันด้านราคาสูง

– ปัญหาการก่อการร้าย ที่เกิดขึ้นในสเปนและตะวันออกกลางเป็นสัญญาณว่าโลกยังเผชิญต่อภัยคุกคามจากกลุ่มก่อการร้าย ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อความต่อเนื่องของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก