พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร

การใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในธุรกิจต่างๆทั้งในลักษณะของอาหารเสริมสุขภาพ เครื่องสำอางสมุนไพร นวดและอบตัวด้วยสมุนไพร ไปจนถึงการรับประทานเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ และยาสมุนไพรมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านี้เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ตลาดเปิดกว้างในการเข้ามาลงทุน และมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก ทั้งนี้จะเห็นได้จากการที่ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในประเทศขยายตัวปีละไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20-30 เนื่องจากความนิยมในการบริโภคและใช้สมุนไพรไทย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” จากกลุ่มตัวอย่าง 4,135 คน โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กระจายกลุ่มตัวอย่างแยกรายภาค คาดว่ามูลค่าตลาดรวมในประเทศของผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในปี 2547 จะมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท และมูลค่าตลาดรวมผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในประเทศเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด เนื่องจากความนิยมผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะสอดรับกับกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อิงธรรมชาติที่เป็นกระแสที่กำลังมาแรงทั้งตลาดในประเทศและตลาดต่างประเทศ

กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในตลาดส่งออกก็มาแรงเช่นกัน แม้ว่ามูลค่าในการส่งออกจะเป็นเพียงแต่การส่งออกเครื่องเทศ สมุนไพร และสารสกัดจากสมุนไพร ซึ่งนับว่ายังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับการส่งออกสินค้าสำคัญอื่นๆโดยการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรมีมูลค่าประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น แต่จะเห็นได้ว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรยังแฝงอยู่ในหลายสินค้าได้แก่ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยความนิยมอาหารไทยซึ่งถือว่าเป็นอาหารจากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศอยู่ในยุคเฟื่องฟู ซึ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารหลากหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องแกงสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ธุรกิจนวดแผนโบราณและธุรกิจสปา ความนิยมในเรื่องการนวดแผนโบราณและสปา ซึ่งต้องมีการใช้ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหยที่ทำจากสมุนไพรนานาชนิด เครื่องสำอางจากสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถนำเงินมหาศาลเข้าประเทศ และยังมีอนาคตที่สดใสทีเดียว

ตลาดโลก…มูลค่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

คาดการณ์ว่าในแต่ละปีมูลค่าการค้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในตลาดโลกสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งตลาดใหญ่ของผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพร คือ ตลาดยาสมุนไพร ซึ่งทั้งแหล่งผลิตและบริโภคยาสมุนไพรที่ใหญ่จะอยู่ในยุโรป รองลงมาคือ เอเชียและญี่ปุ่น โดยมีการคาดการณ์กันว่าปริมาณการจำหน่ายยาสมุนไพรในเอเชียนั้นคิดเป็นประมาณครั้งหนึ่งของปริมาณการจำหน่ายในยุโรป

ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพร แบ่งออกได้เป็น 4 ลักษณะดังนี้

1.ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรสำหรับอุตสาหกรรมอาหาร(Culinary Herbs&Spice Market) ซึ่งผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในตลาดนี้แบ่งออกได้เป็น 3 ลักษณะคือ สด ตากแห้ง และผง ตลาดหลักของผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรเหล่านี้คือ โรงงานผลิตอาหาร โรงแรม และภัตตาคาร/ร้านอาหาร

2.ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรสำหรับอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพ(Medicinal/Supplement Herb&Spice Market) ในการป้องกันและรักษาสุขภาพนั้นมีทั้งการใช้ยาแผนปัจจุบัน รวมทั้งส่วนต่างๆของสัตว์และพืช ซึ่งการใช้ส่วนต่างๆของพืชและสัตว์นั้นเป็นองค์ความรู้ที่สะสมมาจากในอดีตที่มีการถ่ายทอดความรู้สืบต่อกันมา ในปัจจุบันความสนใจในการใช้อาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพรเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มหันมาตระหนักถึงคุณประโยชน์อเนกประการของอาหารเสริมจากเครื่องเทศและสมุนไพร ดังนั้นจึงหันมาบริโภคมากขึ้นเพื่อรักษาสุขภาพและป้องกันการเกิดโรคบางประเภท รวมทั้งการใช้ทดแทนการใช้ยาแผนปัจจุบันในลักษณะการแพทย์ทางเลือก ส่งผลให้เกิดร้านค้าปลีกอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพรเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในทวีปอเมริกาเหนือ ซึ่งตลาดอาหารเสริมจากเครื่องเทศและสมุนไพรจัดว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่สุดในบรรดาผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและเครื่องเทศทั้งหมด อย่างไรก็ตามข้อจำกัดของการเติบโตของตลาดอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพรคือ ข้อจำกัดในเรื่องการผลิต เนื่องจากมีโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ประเภทนี้เพียงบางโรงงานเท่านั้นที่มีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้นั้นได้รับการยอมรับในระดับสากลทั้งในด้านคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการผลิตถูกต้องตามหลักสุขอนามัย

3.ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรสำหรับอุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหย(Essential Oil Herb&Spice Market) อุตสาหกรรมน้ำมันหอมระเหยนั้นมีการใช้ใน 2 ลักษณะใหญ่ๆคือ การใช้น้ำมันหอมระเหยทั่วๆไปโดยใช้ในลักษณะเป็นน้ำมันในการแต่งกลิ่นอาหาร การใช้แต่งกลิ่นในสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ และการใช้ในอุตสาหกรรมผลิตยาปรับปรุงรสและกลิ่นของผลิตภัณฑ์ยาประเภทต่างๆ ส่วนการใช้น้ำมันหอมระเหยในอีกลักษณะคือสุคนธบำบัด(Aromatherapy) ซึ่งการใช้น้ำมันหอมระเหยในลักษณะนี้กำลังเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางหลังจากที่มีการศึกษาวิจัยทั้งในสหรัฐฯและญี่ปุ่นสนับสนุนประโยชน์ของสุคนธบำบัดในการช่วยลดความเครียดและกระตุ้นให้เกิดพลังงานในการทำงาน

4.ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรสำหรับอุตสาหกรรมยา(Pharmaceutical Herb&Spice Market) ความต้องการยาสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการค้นพบใหม่ๆทางชีววิทยา(New Biological Discoveries) โดยในญี่ปุ่นนั้นร้อยละ 50 ของวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานั้นเป็นเครื่องเทศและสมุนไพร ซึ่งการเติบโตในลักษณะเดียวกันนี้เกิดขึ้นในหลายประเทศในเอเชีย และยุโรป อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตยาบางแห่งจะไม่ใช้ส่วนผสมจากเครื่องเทศและสมุนไพรจนกว่าจะไม่มีทางเลือก(ไม่มีสารสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ) เนื่องจากปัญหาในเรื่องการไม่สามารถจดทะเบียนลิขสิทธิ์ยาจากการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเป็นวัตถุดิบ นอกจากนี้ในหลายประเทศนั้นมีการจำกัดการโฆษณาประชาสัมพันธ์สรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรในลักษณะของยารักษาโรค และถ้าจะโฆษณาสรรพคุณได้ผลิตภัณฑ์นั้นต้องผ่านการรับรองทางการแพทย์อย่างเป็นทางการก่อน ดังนั้นปัจจัยหนุนให้อุตสาหกรรมยาจากเครื่องเทศและสมุนไพรขยายตัวคือการวิจัยและพัฒนาของบรรดาบริษัทผู้ผลิตยา นอกจากนี้แต่เดิมข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่ายในการเก็บรวบรวมอยู่ในเกณฑ์สูง และการผันแปรของคุณภาพของวัตถุดิบในอดีต ซึ่งส่งผลให้บริษัทยาหันไปใช้สารสังเคราะห์ในการผลิตยาถึงร้อยละ 75-80 ของวัตถุดิบทั้งหมด อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้จากความต้องการของผู้บริโภคที่หันมาสนใจผลิตภัณฑ์ยาที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้นส่งผลทำให้บรรดาบริษัทผู้ผลิตยาหันมาสนใจวัตถุดิบประเภทเครื่องเทศและสมุนไพรมากยิ่งขึ้น

ตลาดในประเทศและตลาดส่งออก…ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมในการใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” ในระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 – 10 กุมภาพันธ์ 2547 จากกลุ่มตัวอย่าง 4,135 คน โดยเป็นการสำรวจทั่วประเทศ กระจายกลุ่มตัวอย่างแยกรายภาค ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณค่าใช้จ่ายของคนไทยในการซื้อสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรคาดว่ามูลค่าตลาดรวมในประเทศในปี 2547 จะสูงถึงเกือบ 40,000 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีแนวโน้มสดใสทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ได้แก่ ยาสมุนไพร ลูกประคบและน้ำมันหอมระเหยในธุรกิจนวดแผนโบราณ เครื่องสำอางสมุนไพร อาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพร ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

-ยาสมุนไพร ปัจจุบันยาสมุนไพรกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีผลข้างเคียงน้อยมาก ในขณะที่ยาแผนปัจจุบันเป็นผลิตภัณฑ์ทางเคมีที่มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก และปริมาณสารตกค้างในร่างกายสูง นอกจากนี้การใช้ยาสมุนไพรในการรักษาสุขภาพยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายเรื่องยาสำหรับคนไทยอีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันรัฐบาลมีการส่งเสริมให้บริโภคสมุนไพรเพื่อป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงทำให้ลดความจำเป็นในการที่ต้องไปโรงพยาบาล อีกทั้งยังเป็นการลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นการประหยัดเงินตราต่างประเทศอีกด้วย ปัจจัยหนุนในการขยายตัวของผลิตภัณฑ์สมุนไพรนอกจากกระแสความนิยมผลิตภัณฑ์อิงธรรมชาติแล้ว ธุรกิจยาสมุนไพรไทยนับว่าเป็นธุรกิจที่น่าสนใจ แต่ต้องมีการเปลี่ยนรูปลักษณ์ยาสมุนไพรให้เหมือนยาแผนปัจจุบัน รวมทั้งต้องทำการยกระดับมาตรฐานการผลิตให้เป็นที่ยอมรับของสากลทั้งในด้านคุณภาพของตัวยา และสุขอนามัยในการผลิตเพื่อที่จะได้เทียบชั้นแข่งขันกับยาแผนปัจจุบัน และเป็นทางเลือกใหม่กับผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีผลต่อการเจาะขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศในอนาคตอีกด้วย

-นวดแผนโบราณ/สปา ปัจจุบันธุรกิจนวดแผนโบราณเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายทั้งในกลุ่มชาวไทยและชาวต่างประเทศ โดยธุรกิจนวดแผนโบราณได้เข้าไปเป็นบริการเสริมของศูนย์สุขภาพที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่าในปัจจุบันมีศูนย์สุขภาพเปิดให้บริการมากกว่า 500 แห่ง และมีผู้สมัครเป็นสมาชิกหรือมาใช้บริการประมาณ 50,000 คนในแต่ละปี โดยแยกเป็นศูนย์สุขภาพที่ตั้งเป็นโครงการเดี่ยว ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโรงแรม ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโรงพยาบาล ศูนย์สุขภาพที่ตั้งอยู่ในโครงการอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ และศูนย์สุขภาพกึ่งรีสอร์ต การให้บริการเน้นการออกกำลังกาย ควบคู่ไปกับการเสริมความงาม และลดน้ำหนัก

ส่วนธุรกิจสปานั้นปัจจุบันในประเทศไทยมีธุรกิจสปาไม่ต่ำกว่า 200 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะย่านธุรกิจสำคัญต่างๆ มีทั้งโฮมสปา สปาดิลิเวอรี่ รีสอร์ตสปา สปาในโรงแรม สปาในโรงพยาบาล เป็นต้น เสน่ห์ของสปาไทยที่ทำให้ช่าวต่างชาติชื่นชอบมีหลายเหตุผลด้วยกันคือ ผู้ประกอบการไทยสามารถนำเครื่องเทศและสมุนไพรไทยที่มีอยู่ในประเทศกว่า 100 ชนิดที่ให้ประโยชน์และสรรพคุณมากมายมาเป็นวัตถุดิบแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพเป็นการสร้างความแตกต่างให้กับสปาไทย การเก็บรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจบริการด้านสุขภาพพบว่าจากที่เคยมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 20-30 มีทั้งผู้ประกอบการคนไทย และผู้ประกอบการที่ร่วมทุนกับชาวต่างชาติ ธุรกิจสปาสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาใช้บริการในประเทศไทยได้ประมาณ 2.6 ล้านคน สร้างรายได้คิดเป็นมูลค่า 85 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 3,570 ล้านบาท และคาดว่ารายได้จากบริการสปาน่าจะขยายตัวได้อีก เนื่องจากภาครัฐบาลได้พยายามส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทยให้มากขึ้น ดังนั้นจึงถือว่าธุรกิจสปาเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และบริการที่รัฐบาลให้การส่งเสริมและสนับสนุน อีกทั้งภาครัฐยังได้กำหนดยุทธศาสตร์ตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพของเอเชียในปี 2546-2554 โดยตั้งเป้าว่าจะนำรายได้เข้าประเทศไม่น้อยกว่า 100,000 ล้านบาท

-เครื่องสำอางสมุนไพร ตลาดเครื่องสำอางจากสมุนไพรแบ่งออกเป็นกลุ่มยี่ห้อต่างประเทศ และกลุ่มที่ผลิตในประเทศ จุดขายสำคัญที่น่าจับตามอง คือ การสร้างภาพลักษณ์สินค้าให้สอดคล้องกับกระแสอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามราคาของเครื่องสำอางสมุนไพรที่วางจำหน่ายราคาจะอยู่ในเกณฑ์สูง โดยเฉพาะเครื่องสำอางสมุนไพรนำเข้า ดังนั้นกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมายจะเป็นผู้บริโภคระดับกลางขึ้นไป และส่วนใหญ่จะอยู่ในวัยทำงาน ปัจจุบันผู้ประกอบการพยายามขยายฐานเพื่อจับตลาดกลุ่มวัยรุ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงและต่อเนื่อง ทำให้ตลาดของเครื่องสำอางสมุนไพรขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพรที่ใช้ในประเทศนั้นราคาจำหน่ายจะต่ำกว่า และส่วนมากจะผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกร โดยมีลักษณะการผลิตในครัวเรือน แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายที่ขยายกิจการไปผลิตในระดับอุตสาหกรรมทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก ทั้งนี้ตลาดในต่างประเทศก็เริ่มหันมานิยมเครื่องสำอางจากสมุนไพรมากขึ้นเช่นกัน

-อาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพร ตลาดอาหารเสริมสุขภาพจากสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากกระแสการรักษาสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อที่จะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลกำลังมาแรง รวมทั้งเทคโนโลยีในการคิดค้นเพื่อสกัดสารที่มีคุณภาพต่างๆจากเครื่องเทศและสมุนไพรมีความก้าวหน้าไปอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตามตลาดนี้ยังมีข้อจำกัดสำคัญในการขยายตัว คือ ราคาที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง ตลาดอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพรในประเทศแบ่งออก 2 ตลาดอย่างชัดเจน คือ ตลาดสินค้านำเข้า และตลาดสินค้าที่ผลิตในประเทศ โดยตลาดสินค้านำเข้า กลุ่มลูกค้าจะเป็นผู้มีรายได้สูง โดยบางครั้งจะมีการฝากซื้อผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศ หรือการซื้อผ่านการขายตรง หรือซื้อผ่านร้านจำหน่ายอาหารเสริมสุขภาพโดยเฉพาะ ส่วนตลาดสินค้าที่ผลิตในประเทศ ซึ่งมีราคาต่ำกว่าสินค้านำเข้า เนื่องจากส่วนใหญ่ยังผลิตโดยกลุ่มแม่บ้านหรือผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น เภสัชกรที่มีความรู้ในเรื่องสมุนไพรพื้นบ้าน เป็นต้น และขั้นตอนการผลิตไม่ซับซ้อนยุ่งยากเหมือนกับสินค้านำเข้า

-เครื่องดื่มสมุนไพร จากการที่คนไทยมีความตื่นตัวในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยเครื่องดื่มสมุนไพรนับว่าเป็นสินค้าที่เป็นที่นิยมประเภทหนึ่ง ตลาดเครื่องดื่มสมุนไพรยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในปัจจุบันมีผู้ประกอบการในธุรกิจเครื่องดื่มสมุนไพรมากมาย โดยส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการระดับท้องถิ่นที่มีการผลิตในลักษณะอุตสาหกรรมครัวเรือน นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการส่งออกเครื่องดื่มสมุนไพรไปจำหน่ายต่างประเทศ ในลักษณะของชาสมุนไพร ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก และมีแนวโน้มในการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรนั้นในช่วงระยะ 2 เดือนแรกของปี 2547 มูลค่าการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรของไทยเท่ากับ 7.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0 โดยในปี 2546 มูลค่าการส่งออกเครื่องเทศและสมุนไพรเท่ากับ 36.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับปี 2545 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 แต่จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรส่งออกยังแฝงอยู่ในหลายสินค้าได้แก่ ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหารไทยความนิยมอาหารไทยซึ่งถือว่าเป็นอาหารจากธรรมชาติที่อุดมไปด้วยเครื่องเทศและสมุนไพร ทำให้ธุรกิจร้านอาหารและภัตตาคารไทยในต่างประเทศอยู่ในยุคเฟื่องฟู ซึ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าประเภทวัตถุดิบสำหรับการประกอบอาหารหลากหลายประเภทโดยเฉพาะเครื่องแกงสำเร็จรูปและเครื่องปรุงรส ธุรกิจนวดแผนโบราณและธุรกิจสปา

ความนิยมในเรื่องการนวดแผนโบราณและสปา ซึ่งต้องมีการใช้ลูกประคบ และน้ำมันหอมระเหยที่ทำจากสมุนไพรนานาชนิด เครื่องสำอางจากสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถนำเงินมหาศาลเข้าประเทศ และยังมีอนาคตที่สดใสทีเดียว สำหรับแนวโน้มการส่งออกสมุนไพรและสารสกัดจากสมุนไพรคาดว่ายังคงมีแนวโน้มแจ่มใส เนื่องจากไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่เป็นแหล่งอันอุดมสมบูรณ์และมีความหลากหลายของทรัพยากรสมุนไพร ซึ่งไทยต้องรักษาจุดแข็งในเรื่องนี้ไว้เพื่อที่จะให้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยสามารถผงาดขึ้นอยู่ในแถวหน้าของประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่สำคัญของโลก

แนวโน้มในอนาคต…ตลาดยังมีโอกาสเติบโต

ผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากรัฐบาล โดยกรมวิชาเกษตร กระทรวงเกษตรฯดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาการผลิตเครื่องเทศและสมุนไพรที่มีคุณภาพในเชิงพาณิชย์ ตลอดจนพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรอย่างเป็นระบบครบวงจร ทั้งในด้านวัตถุดิบ การวิจัย ตลอดจนการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานสู่สากล รวมทั้งส่งเสริมการตลาดทั้งในและนอกประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าตลอดจนมีศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลก และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้าสมุนไพรของเอเชียในอนาคต ส่วนทางกระทรวงสาธารณสุขวางยุทธศาสตร์การพัฒนาผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรอย่างครบวงจรและประกาศนโยบายเพื่อดำเนินการเชิงรุกวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาเครื่องเทศและสมุนไพรไทยให้เป็นผลิตภัณฑ์เศรษฐกิจของชาติ เนื่องจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

สำหรับปัจจัยสนับสนุนการขยายตลาดของผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในตลาดโลกมีดังนี้

1.กระแสความสนใจในเรื่องสุขภาพ(Health&Fitness) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาสนใจในเรื่องสุขภาพมากขึ้น โดยหันมาสนใจในเรื่องการออกกำลังกาย และคุณค่าทางโภชนาการของอาหารที่รับประทาน ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการบริโภคผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในประเทศทางตะวันตก เนื่องจากเครื่องเทศและสมุนไพรจัดเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารเพื่อสุขภาพ โดยแนวโน้มที่น่าสนใจคือการใช้เครื่องเทศและสมุนไพรในการปรุงแต่งรสอาหารทดแทนการใช้เกลือ

2.ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงขึ้น (High Cost of Health Care) ปัจจุบันกระแสความสนใจในเรื่องการป้องกันและรักษาสุขภาพให้แข็งแรงนับว่าเป็นทางเลือกของผู้บริโภคยุคใหม่ เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้การเลือกบริโภคอาหารเสริมสุขภาพหรือยาที่ผลิตจากเครื่องเทศและสมุนไพรก็เป็นการหลีกเลี่ยงการบริโภคสารสังเคราะห์ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยาแผนปัจจุบัน ดังนั้นในปัจจุบันจึงเกิดการแพทย์ทางเลือกหลากหลายแขนง ซึ่งการเลือกใช้ยาจากเครื่องเทศและสมุนไพรก็นับว่าเป็นการแพทย์ทางเลือกแขนงหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง เนื่องจากมีข้อได้เปรียบในแง่ค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพก็ต่ำกว่าถ้ามีการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ใช้อย่างถูกต้องและผลิตภัณฑ์นั้นผลิตอย่างถูกสุขอนามัย เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อการเกิดผลข้างเคียงของยาต่ำกว่าการใช้ยาแผนปัจจุบัน ในปัจจุบันการเลือกใช้ยาจากเครื่องเทศและสมุนไพรนับว่าเป็นทางออกใหม่ของการเผชิญกับปัญหาค่าใช้จ่ายทางการแพทย์เพิ่มสูงขึ้นสำหรับประเทศทางตะวันตก

3.กระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม(Environmental Concerns) ปัจจุบันกระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อมและความต้องการอาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบธรรมชาติ และปราศจากการปนเปื้อนของสารเคมีกำลังเป็นกระแสที่ชี้นำตลาดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตอาหารและยาต้องหันมาค้นคว้าวิจัยในการใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติมากขึ้น โดยเฉพาะการค้นคว้าวัตถุดิบจากพืช(Plant-based Products) มากกว่าการใช้วัตถุดิบจากสัตว์และสารสังเคราะห์ เนื่องจากสินค้าที่ใช้วัตถุดิบจากพืชนั้นมีแนวโน้มว่าจะได้รับการยอมรับจากตลาดมากขึ้น ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างชัดเจนคือ อุตสาหกรรมเครื่องสำอาง โดยผู้บริโภคให้ความสนใจเครื่องสำอางสมุนไพรมากขึ้น

4.การยอมรับแนวความคิดอาหารมีคุณค่าในเชิงการบำบัดโรค(Increasing Global Accecptance That Food Has Therapeutic Value) ในปัจจุบันหลายประเทศหันมาตระหนักถึงบทบาทสำคัญของเครื่องเทศและสมุนไพรที่เป็นมากกว่าการปรุงรสให้อาหารอร่อย แต่เครื่องเทศและสมุนไพรมีส่วนทำให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการมากขึ้น ซึ่งช่วยส่วนส่งเสริมสุขอนามัยและมีประโยชน์ทางการบำบัดโรค คนญี่ปุ่นหันมาสนใจอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับการผลักดันแนวคิดนี้ของสมาคมอาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการของญี่ปุ่น(Japanese Health and Nutritional Food Association) ส่วนบริษัทผู้ผลิตยาในยุโรปยอมรับการใช้พืชเครื่องเทศและสมุนไพรเป็นวัตถุดิบในการผลิตยามากขึ้น นอกจากนี้ประเทศต่างๆในยุโรปมีแนวโน้มจะดำเนินนโยบายตามเยอรมนีที่จะยอมรับการผลการวิเคราะห์วิจัยทางวิทยาศาสตร์ในการรับรองยาสมุนไพร โดยไม่จำเป็นต้องมีการทุ่มเทค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลในการทดลองวิจัยอย่างเต็มรูปแบบเช่นระบบเดิม(Full Drug Approval Research) ส่วนในสหรัฐฯอุตสาหกรรมอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพรมีอัตราการขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก โดยยอดจำหน่ายในแต่ละปีมากกว่า 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตามทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯยังคงมีนโยบายเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพของอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพร

ซึ่งการยอมรับแนวความคิดอาหารมีคุณค่าในเชิงการบำบัดโรคนับเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น ทำให้เกิดธุรกิจFunctional Food หรือ Nutraceuticals ซึ่งธุรกิจอาหารในลักษณะนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก กล่าวคือในสหรัฐฯคาดว่ามูลค่าของธุรกิจอาหารประเภทนี้สูงถึง 250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบครึ่งหนึ่งของมูลค่าธุรกิจอาหารในสหรัฐฯ ในญี่ปุ่นธุรกิจนี้มีมูลค่าประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักว่า Functional Food นับว่าเป็นทางเลือกใหม่ของการรักษา และมีการจัดตั้งองค์กร Food for Specific Health Use(FOSU)เพื่อเข้ามาดูแลธุรกิจ Functional Foodโดยเฉพาะ

ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญที่ทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ของไทยต้องติดตามการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด เนื่องจากแนวโน้มของตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรของไทยนั้นจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดโลก อีกทั้งยังเพื่อการปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก ซึ่งจะมีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรของไทยในอนาคต

บทสรุป

กระแสความนิยมผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรนับเป็นกระแสที่ยังคงมีอยู่อย่างต่อเนื่อง โดยอิงกับกระแสนิยมผลิตภัณฑ์อิงธรรมชาติ ซึ่งจากกระแสความนิยมดังกล่าวทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรของไทยทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง คาดว่ามูลค่าตลาดรวมของผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในปี 2547 เท่ากับ 40,000 ล้านบาท และยังมีอัตราการเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด เนื่องจากคนไทยหันไปนิยมอาหารเสริมสุขภาพจากเครื่องเทศและสมุนไพร เครื่องสำอางสมุนไพร นวดและอบตัวด้วยสมุนไพร และเครื่องดื่มสมุนไพร รวมทั้งยาสมุนไพรก็เข้ามาเป็นทางเลือกใหม่ของคนไทยในการป้องกันและรักษาสุขภาพ

ส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรนั้นในปัจจุบันมีการเก็บข้อมูลเพียงการส่งออกเครื่องเทศ สมุนไพร และสารสกัดสมุนไพร ซึ่งมีมูลค่าเฉลี่ยในแต่ละปีประมาณ 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่การส่งออกผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรนั้นยังแฝงอยู่ในสินค้าหลากหลายชนิด และผู้ส่งออกสินค้าดังกล่าวยังใช้สรรพคุณของเครื่องเทศและสมุนไพรไทยที่เป็นที่รู้จักและยอมรับของชาวต่างประเทศเป็นจุดขายที่สำคัญของสินค้า ได้แก่ธุรกิจเครื่องปรุงและวัตถุดิบในการประกอบอาหารไทย ซึ่งธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศกำลังได้รับความนิยมอย่างมาก ธุรกิจนวดแผนโบราณและสปาไทยทำให้ความต้องการลูกประคบสมุนไพรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการเติบโตของเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพ ซึ่งปัจจุบันเครื่องดื่มสมุนไพรประเภทผงสำเร็จรูปพร้อมชงดื่มนั้นได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น

ในอนาคตยังมีปัจจัยหนุนให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรมีการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง คือกระแสความสนใจในเรื่องสุขภาพ ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่มีแนวโน้มสูงขึ้น กระแสความใส่ใจในสิ่งแวดล้อม และกระแสการยอมรับแนวความคิดอาหารมีคุณค่าในเชิงการบำบัดโรค ซึ่งแนวโน้มเหล่านี้ยังจะเป็นแรงผลักดันที่สำคัญให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรในตลาดโลกขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องติดตามปัจจัยต่างๆเหล่านี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับการผลิตและการตลาดสินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องเทศและสมุนไพรของไทยให้สอดคล้องกับแนวโน้มที่เปลี่ยนแปลงไป