อินเดีย & ไทย : เศรษฐกิจรุ่งโรจน์ ความร่วมมือธุรกิจรุ่งเรือง

อินเดียและไทย มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดชัดเจนในช่วงรัฐบาล พตท. ทักษิณ ชินวัตร มีการเดินทางไปเยือนซึ่งกันและกันระหว่างผู้นำรัฐบาลของประเทศทั้งสองหลายครั้ง อีกทั้งรัฐบาลไทยได้กำหนดให้อินเดียเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญที่ไทยเปิดเจรจาเขตการค้าเสรี (Free Trade Area) ด้วย รวมถึงความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับพหุภาคี ซึ่งไทยและอินเดียต่างช่วยกันผลักดันหลายโครงการอย่างจริงจัง อาทิ การจัดตั้งเขตการค้าเสรี 5 ชาติ (ได้แก่ อินเดีย ไทย บังคลาเทศ ศรีลังกา และพม่า) การรณรงค์ส่งเสริมการท่องเที่ยว “Visit BIMST-EC Year” ในปี 2547 การสร้างสรรค์สันติภาพในพม่า และโครงการพัฒนาเส้นทางคมนาคมเชื่อม 3 ประเทศ (ไทย พม่า อินเดีย) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขภายในภูมิภาคเอเชีย สอดคล้องกับแนวนโยบายรวมพลังเศรษฐกิจชาติเอเชียของผู้นำรัฐบาลไทย และนโยบายสร้างความปรองดองแห่งชาติเอเชียของผู้นำอินเดีย

ความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของไทยและอินเดีย เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะมีบทบาทสำคัญช่วยให้โครงการความร่วมมือต่างๆทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคีประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมเร็วขึ้น โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจฉายแววสดใสมาก เป็นตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market) ที่กำลังดึงดูดความสนใจจากพ่อค้า นักธุรกิจ และนักลงทุนจากต่างประเทศมากขึ้น และกำลังไล่ตามหลังประเทศจีนไม่ห่างไกลกันนัก ด้วยจำนวนประชากรอยู่ในระดับ 1,000 ล้านคนด้วยกันทั้งสองประเทศ เพียงแต่ประเทศจีนได้มีโอกาสเปิดประเทศและก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรีก่อนในช่วงปี 2521 ยุคประธาน เติ้ง เสี่ยว ผิง ขณะที่อินเดียปลดวางระบบเศรษฐกิจสังคมนิยมลง และหันมาเปิดประเทศอย่างจริงจังนับตั้งแต่ปี 2534 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอินเดียวันนี้มีความมั่นคงเป็นลำดับ จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะได้ร่วมมือทางเศรษฐกิจกับอินเดียได้อย่างเต็มที่ ในฐานะพันธมิตรที่มีความผูกพันกันเป็นพิเศษ ช่วยเพิ่มพูนความมั่งคั่งให้แก่ประเทศทั้งสองต่อไป

เศรษฐกิจอินเดีย 2547 : ร้อนแรง รุกไล่เศรษฐกิจจีน

อินเดียไม่ได้ทำให้ประชาคมโลกผิดหวัง หลังจากประกาศตัวเลขอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ วัดโดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2546 เพิ่มขึ้น 10.4% นับเป็นอัตราขยายตัวสูงกว่า GDP ของจีนในไตรมาสเดียวกันที่อยู่ในระดับ 9.9% ทั้งนี้ รัฐบาลอินเดียคาดว่าเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2546/47 (1 เมษายน 2546 – 31 มีนาคม 2547) เศรษฐกิจอินเดียจะเติบโตประมาณ 8.1% ซึ่งเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 15 ปี ของประเทศ สะท้อนให้เห็นว่าอินเดียกำลังดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 10 ซึ่งระบุชัดเจนว่า อินเดียจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 8% ต่อปี จนถึงปี 2550 ปัจจุบัน อินเดียยังมีฐานะทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเป็นจำนวนเงินสูงถึง 106,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ติดอันดับท็อปเท็นของโลก เทียบเท่ากับมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ 18 เดือน อีกทั้งยังเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีภาระหนี้สินจากต่างประเทศต่ำสุดประเทศหนึ่งด้วย ประมาณ 16% ของ GDP (เทียบกับไทยอยู่ที่ระดับราว 36% ของ GDP)

ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจอินเดียสดใส ได้แก่

– ภาคเกษตรกรรมเฟื่องฟู การที่ภูมิอากาศเอื้ออำนวยต่อภาคการเกษตรในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณผลผลิตทางการเกษตรของอินเดียเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยทั่วไป ภาคการเกษตรมีสัดส่วนประมาณ 25% ของ GDP และมีจำนวนเกษตรกรราว 600 ล้านคน ดังนั้น เมื่อภาคการผลิตสดใส ทำให้เกษตรกรมีรายได้งดงาม กลายเป็นพลังซื้อมหาศาลในระบบเศรษฐกิจอินเดีย ประกอบกับรัฐบาลได้มีนโยบายปรับลดภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคหลายรายการ อาทิ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ ล้วนจูงใจให้ชาวอินเดียจับจ่ายใช้สอยกันอย่างคึกคัก ปัจจุบัน อินเดียมีประชากรระดับกลางเป็นจำนวนประมาณ 300 ล้านคน มีรายได้เฉลี่ยราว 2,000-3,000 ดอลลาร์/ปี

– ภาคอุตสาหกรรมและบริการขยายตัว การที่อินเดียมีนโยบายเปิดเสรีทางเศรษฐกิจมากขึ้น ทำให้บริษัทต่างประเทศเริ่มสนใจเข้ามาลงทุนในอินเดีย โดยเฉพาะธุรกิจด้านไฮเทคที่อินเดียมีความได้เปรียบแหล่งลงทุนแห่งอื่นชัดเจน ได้แก่ คอมพิวเตอร์ซอฟแวร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลและเคมีภัณฑ์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพ การให้บริการประเภท outsource แก่กลุ่มธุรกิจต่างประเทศ เป็นต้น เนื่องจากอินเดียมีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมาก โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ และวิศวกรรม อีกทั้งยังใช้ภาษาอังกฤษได้อย่างชำนาญ รวมถึงค่าจ้างแรงงานต่ำกว่าบุคลากรในสหรัฐฯและยุโรป ทำให้บริษัทชั้นนำต่างประเทศมาใช้ฐานการผลิตและบริการในอินเดียเป็นจำนวนมาก

– ก่อสร้างบูม รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี Atal Behari Vajpayee มีนโยบายปรับปรุงสาธารณูปโภคและสาธารณูปการอย่างขนานใหญ่ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของประเทศมานาน จึงได้มีการใช้จ่ายเงินเป็นมูลค่าประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อพัฒนาถนนเส้นทางสำคัญๆทั่วประเทศ ปรับปรุงเส้นทางรถไฟและระบบขนส่งมวลชน ขยายเครือข่ายโทรศัพท์ ไฟฟ้า ประปา ก่อสร้างท่าเรือและท่าอากาศยานเพิ่มเติม โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งรัฐบาลจัดตั้งถึง 14 เขต เพื่อรองรับการลงทุนจากต่างประเทศ ก็ได้มีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไว้ด้วย

– อัตราดอกเบี้ยต่ำสุดในรอบ 3 ทศวรรษ ธนาคารกลางอินเดียได้รักษาอัตราดอกเบี้ยต่ำในรอบปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 6% ซึ่งเป็นอัตราต่ำมากในรอบ 31 ปี จึงช่วยกระตุ้นให้เกิดการกู้ยืมเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะด้านที่อยู่อาศัย ปรากฏว่าอัตราการขยายตัวสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มราว 35% ในปี 2546 และคาดว่ายังคงสดใสในปีนี้ ยิ่งไปกว่านั้น การที่อัตราดอกเบี้ยต่ำยังจูงใจให้ผู้ประกอบการหันมากู้ยืมเงิน เพื่อขยายกิจการมากขึ้นด้วย เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น

– ตลาดหุ้นอินเดียแจ่มใส การที่เศรษฐกิจอินเดียมีวี่แววแข็งแรงตั้งแต่ต้นปี 2546 โดยการขยายตัวของ GDP รายไตรมาสเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมาตรการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ นับเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนให้มาลงทุนในตลาดหุ้นอินเดีย คิดเป็นเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเพิ่ม 73% ในรอบปีที่ผ่านมา

– เสถียรภาพทางการเมือง การที่นายกรัฐมนตรี Vajpayee สามารถบริหารจัดการประเทศได้อย่างราบรื่น โดยเฉพาะควบคุมดูแลพรรคร่วมรัฐบาลที่ประกอบด้วย 23 พรรคการเมือง ให้ทำงานร่วมกันอย่างได้ผล ทำให้ภาคเอกชนประกอบกิจการด้วยความมั่นใจ อีกทั้ง การที่ผู้นำประเทศได้เปิดการเจรจาสันติภาพกับประเทศปากีสถานเป็นผลสำเร็จ นับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงที่ทำให้นายกรัฐมนตรี Vajpayee ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนอย่างท่วมท้น

ไทย – อินเดีย : ร่วมเก็บเกี่ยวผลประโยชน์

การที่อินเดียมีแนวโน้มเศรษฐกิจเข้มแข็ง และมีแนวนโยบายเศรษฐกิจเปิดกว้าง รวมถึงการให้ความสำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศไทย ทำให้คาดว่าอินเดียจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในภูมิภาคแถบนี้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเศรษฐกิจอาเซียนมีเสถียรภาพมากขึ้น หลังเกิดวิกฤตเอเชียเมื่อ 6 ปีที่แล้ว อีกทั้ง การที่ประเทศจีนเข้ามาสนิทสนมกับอาเซียนอย่างชัดเจน นับเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้อินเดียจำเป็นต้องแสวงหาพันธมิตรในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เช่นกัน เพื่อสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับประเทศไทยมีวัตถุประสงค์ที่จะสร้างความสัมพันธ์กับประเทศเอเชียส่วนใหญ่อยู่แล้ว โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง ไม่ว่าจะเป็นด้านตลาดขนาดใหญ่ ประกอบด้วยประชากรกว่า 1,000 ล้านคน ในจำนวนนี้เกินกว่าครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี พร้อมที่จะเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินเดียในภายหน้า อีกทั้งยังเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมีความรู้ความชำนาญด้านวิทยาการสมัยใหม่และเทคโนโลยีขั้นสูง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดว่าปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะช่วยเกื้อหนุนให้ความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับอินเดีย บังเกิดผลประโยชน์แก่กันและกันเพิ่มพูนมากขึ้น สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

ไทย – อินเดีย เปิดศักราชรับ FTA

การค้าระหว่างไทยกับอินเดียมีทิศทางขยายตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากชาวอินเดียจะมีความต้องการสินค้าจากต่างประเทศมากขึ้น ตามความเข้มแข็งของเศรษฐกิจอินเดีย อีกทั้งมาตรการเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทย–อินเดีย ซึ่งได้เริ่มเจรจากันแล้ว แม้ว่าจะมีอุปสรรคระหว่างการหารือกันบ้าง เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดของสินค้า แต่เจ้าหน้าที่ของทั้งสองประเทศต่างเร่งหาทางออกอย่างแข็งขัน จึงคาดว่าไทยและอินเดียน่าที่จะเริ่มทยอยปรับลดอัตราภาษีขาเข้าระยะแรกระหว่างกันได้ภายในครึ่งหลังของปี 2547 ภายใต้กรอบข้อตกลงการเปิดการค้าเสรีเบื้องต้นระหว่างไทยกับอินเดีย

โอกาสทองของสินค้าไทย สินค้านำร่องที่กรุยทางไปสู่การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างไทย–อินเดีย ประกอบด้วยสินค้าจำนวน 84 รายการ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ไทยส่งออกไปอินเดียในอันดับต้นๆอยู่แล้ว ดังนั้น การลดหย่อนอัตราภาษีขาเข้าภายใต้กรอบข้อตกลงการค้าเสรีไทย–อินเดีย น่าจะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยมีความได้เปรียบด้านราคาในตลาดอินเดียมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เม็ดพลาสติก ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยไปอินเดีย และมีอัตราขยายตัวอยู่ในเกณฑ์สูง ยิ่งไปกว่านั้น กลุ่มสินค้าไทยอื่นๆที่น่าจะได้รับอานิสงส์ด้วย อาทิ สินค้าประเภทรถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องยนต์สันดาปภายใน เหล็ก-เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ฯลฯ ซึ่งเป็นสินค้ายอดนิยมที่อินเดียไว้วางใจในคุณภาพและนำเข้าจากประเทศไทยจำนวนมาก

อนึ่ง ประเทศไทยกำลังผลักดันให้มีการเปิดเสรีการค้าผลไม้สดที่มีชื่อเสียงของไทย เพราะการส่งออกผลไม้สดของไทยไปตลาดอินเดียยังมีมูลค่าค่อนข้างน้อย จึงควรประชาสัมพันธ์ให้คนอินเดียรู้จักและคุ้นเคยกับผลไม้ไทยอย่างจริงจัง เพื่อขยายลู่ทางส่งออกผลไม้ไทยไปยังอินเดียมากขึ้น

ไทยขาดดุลการค้าอินเดียลดลง การค้าระหว่างไทยกับอินเดียสดใสมากในรอบปี 2546 เพราะภาวะเศรษฐกิจอินเดียเฟื่องฟู มีอัตราการเจริญเติบโตสูง ทำให้การส่งออกของไทยไปอินเดียพุ่งขึ้น 54% คิดเป็นมูลค่าส่งออก 639 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ การส่งออกไปอินเดียยังคงเข้มแข็งในอัตราเพิ่ม 56% เป็นมูลค่า 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2547

สถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปอินเดียที่แจ่มใส ขณะที่การนำเข้าสินค้าจากอินเดียค่อนข้างทรงตัว โดยมีอัตราเพิ่ม 12.8% คิดเป็นมูลค่านำเข้า 870 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้ากับอินเดียลดลง 35% เหลือยอดขาดดุล 231 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2546 เทียบกับยอดขาดดุล 357 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2545

ลงทุนไทย – อินเดีย

อินเดียลงทุนไทยอันดับที่ 7 การที่เศรษฐกิจอินเดียมีแนวโน้มเข้มแข็งขึ้น เริ่มส่อวี่แววให้บรรดาธุรกิจต่างๆ ของอินเดียแสวงหาพันธมิตรลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งในประเทศไทยด้วย โครงการลงทุนของอินเดียที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย (BOI) กระเตื้องขึ้นรวดเร็วในรอบปีที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าเงินลงทุน 3,445 ล้านบาทในปี 2546 เทียบกับเม็ดเงินลงทุน 145 ล้านบาทในปี 2545 ส่งผลให้อินเดียจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 7 ในเอเชียที่เข้ามาขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ถัดจากญี่ปุ่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน มาเลเซีย และเกาหลีใต้ในปี 2546 ก่อนหน้านี้ โครงการลงทุนของอินเดียในไทยเคยทำสถิติสูงถึง 7,245 ล้านบาทในปี 2541 แต่เมื่อเกิดวิกฤตการเงินในเอเชีย ทำให้การลงทุนของอินเดียในไทยลดน้อยถอยลง

ทั้งนี้ ไทยและอินเดียมีศักยภาพที่จะร่วมมือกันในโครงการลงทุนต่างๆ โดยผสานผสมทักษะความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของอินเดีย กับจุดแข็งของไทยในด้านทรัพยากรวัตถุดิบและความก้าวหน้าด้านโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ อาทิ การลงทุนด้านเทคโนโลยีชีวภาพ พันธุวิศวกรรม เทคโนโลยีอวกาศ ซอฟท์แวร์คอมพิวเตอร์ กิจการโทรคมนาคม อุตสาหกรรมยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ การผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ อุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางสมุนไพร เป็นต้น ในอดีต โครงการลงทุนของอินเดียในประเทศไทยมักกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอและเคมีภัณฑ์เป็นหลัก

ไทยลงทุนอินเดียอันดับที่ 3 ทางด้านการลงทุนของไทยในอินเดีย ประเทศไทยจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 3 ในกลุ่มอาเซียนที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย รองจากมาเลเซียและสิงคโปร์ โครงการลงทุนของไทยที่ได้รับอนุมัติการลงทุนจากทางการอินเดียมีมูลค่าสะสมรวมทั้งสิ้นประมาณ 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงระหว่างปี 2534-2546 ส่วนใหญ่เกิดในช่วงแรกที่อินเดียเริ่มนโยบายเปิดประเทศในปี 2534 แต่น่าเสียดายที่วิกฤตค่าเงินบาทในปี 2540 ทำให้การลงทุนในต่างประเทศของไทยซบเซาลง

ปัจจุบัน การที่เศรษฐกิจไทยแข็งแกร่งขึ้น ทำให้อินเดียน่าจะเป็นแหล่งลงทุนของไทยเป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจการที่นักธุรกิจไทยมีความเชี่ยวชาญสูง ได้แก่ ธุรกิจบริการด้านการท่องเที่ยว กิจการโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร เนื่องจากอินเดียยังขาดแคลนการพัฒนาในด้านนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่อินเดียเป็นประเทศต้นตำรับของการเล่นโยคะ อายุรเวชและสปา แต่ขาดการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ ดังนั้น นักธุรกิจไทยที่มีประสบการณ์ช่ำชองในการจัดทัวร์สุขภาพ น่าจะมีโอกาสร่วมลงทุนกับอินเดียในธุรกิจนี้ด้วย

ท่องเที่ยวไทย – อินเดีย

อินเดียเที่ยวไทย ชาวอินเดียเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ที่เดินทางมาท่องเที่ยวไทย โดยมีชาวอินเดียมาเที่ยวเมืองไทยเฉลี่ยสูงกว่า 200,000 คนต่อปีในช่วงระหว่างปี 2544-2546 ประเทศไทยได้รับรายได้ด้านการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวชาวอินเดียเฉลี่ยราว 7,500 ล้านบาทต่อปีในช่วงเดียวกัน ทั้งนี้ คาดว่าชาวอินเดียมีแนวโน้มที่จะเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจของอินเดียสดใส ผนวกกับค่าเงินรูปีของอินเดียเข้มแข็ง ทำให้ชาวอินเดียมีพลังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ประกอบกับทางการไทยและอินเดียบรรลุข้อตกลงในการเปิดน่านฟ้าเสรีระหว่างกันเมื่อปลายปี 2546 รวมทั้งเพิ่มเที่ยวบินตรงระหว่างกรุงเทพฯ กับเมืองสำคัญของอินเดีย 4 แห่ง จึงช่วยอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางให้แก่นักท่องเที่ยวชาวอินเดียมากขึ้น

ไทยเที่ยวอินเดีย ทางด้านนักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเยือนอินเดียมากเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ประมาณการว่าคนไทยที่เดินทางไปท่องเที่ยวอินเดียจะมีจำนวนมากกว่า 20,000 คนในปี 2546 เทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวไทยเฉลี่ย 16,000 คนต่อปีในช่วงระหว่างปี 2544-2545 และเสียค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวอินเดียประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี

การที่รัฐบาลอินเดียทุ่มเงินงบประมาณมูลค่า 200 ล้านบาท เพื่อจัดโครงการรณรงค์ด้านการท่องเที่ยวภายใต้คำขวัญที่ว่า “มหัศจรรย์อินเดีย” หรือ “Incredible India” นับตั้งแต่ต้นปี 2546 เป็นต้นมา จัดเป็นมาตรการหนึ่งที่ทางการอินเดียต้องการจูงใจให้นักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมถึงนักท่องเที่ยวไทยได้เข้ามาสัมผัสความสุขที่หลากหลายจากการเดินทางมาเยือนอินเดีย ที่มีความสวยงามทั้งด้านศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ รวมถึงภูมิประเทศและธรรมชาติที่คละเคล้าระหว่างเมืองร้อนและเมืองหนาวทุกรูปแบบ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีรสนิยมแตกต่างกัน สามารถเดินทางมาเที่ยวอินเดีย และพบความบันเทิงได้เหมือนกันอย่างคุ้มค่า ทั้งนี้ คาดว่านักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มที่จะเดินทางไปเที่ยวอินเดียมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยอยู่ในเกณฑ์ดี และทัวร์ไปอินเดียก็มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะทัวร์เที่ยวชมสถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา และหมู่เกาะสวยงามของอินเดียในทะเลอันดามัน

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียกำลังงอกงาม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือทางการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น เนื่องจากไทยและอินเดียต่างกำลังเร่งรัดพัฒนาเศรษฐกิจกันอย่างยิ่งยวด ซึ่งจะเกื้อหนุนกันได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอินเดีย ได้กำหนดทิศทางเศรษฐกิจไว้อย่างชัดเจนว่า อินเดีย จะก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมแห่งความรู้ (Knowledge Economy) เพื่อรองรับการเป็นประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัวในปี 2020 รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการให้บริการและแหล่งผลิตสินค้าอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกด้วย จึงเป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะได้ร่วมมือเป็นหุ้นส่วนเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดกับอินเดียในวันนี้และต่อไป