อุตสาหกรรมรถยนต์จีน : คลื่นลูกใหม่ … กระทบรถยนต์ไทย

แม้ว่าจีนจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะเจ้าตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคหลายชนิด เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน และคอมพิวเตอร์ แต่ในไม่ช้าจีนจะเป็นที่รู้จักกันในฐานะประเทศผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลก เมื่อปีที่ผ่านมา การผลิตรถยนต์ในจีนมีปริมาณถึง 4.44 ล้านคัน คิดเป็นอัตราการเติบโตถึงร้อยละ 35.2 ทำให้จีนแซงหน้าฝรั่งเศสขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ลำดับที่ 4 ของโลก

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนมีมูลค่าถึง 93 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 1 ใน 10 ของขนาดเศรษฐกิจของประเทศ และในปี 2547 คาดว่า การผลิตรถยนต์ประเภทต่าง ๆ ในจีนจะขยายตัวอย่างน้อยร้อยละ 20 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 5 ล้านคัน การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเป็นสิ่งซึ่งน่าจับตามองเนื่องจากอาจส่งผลกระทบทั้งในด้านบวกและลบต่อพัฒนาการของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศเอเชียอื่น ๆ รวมทั้งประเทศไทย

รถยนต์จีน & พันธมิตรข้ามชาติ

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของจีนก่อให้เกิดความต้องการรถยนต์จำนวนมากในเขตเมืองใหญ่และมณฑลชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศ ในปี 2547 คาดว่าความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจะเพิ่มเป็น 2.6 ล้านคันหรือราวครึ่งหนึ่งของความต้องการรถยนต์ทุกประเภท ความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลดังกล่าวจะเติบโตอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากกลุ่มคนมีเงินหรือเศรษฐีใหม่จำนวนมากเพิ่งจะเริ่มซื้อรถยนต์คันแรกหลังทางการจีนเลิกคุมโควต้าทะเบียนรถยนต์เมื่อไม่นานมานี้

คาดว่าความต้องการรถทุกประเภทของจีนจะเพิ่มเป็นจำนวนถึง 8 ล้านคันในปี 2553 ซึ่งจะทำให้จีนไต่อันดับขึ้นมาเป็นตลาดรถยนต์อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นผู้ส่งออกรถยนต์อันดับต้นๆ ของเอเชียเช่นเดียวกับญี่ปุ่นและเกาหลี โดยคาดว่าจีนจะสามารถส่งออกรถยนต์ถึง 3 ล้านคันในปี 2553 นอกจากนี้ ชาวจีนจะมีรถยนต์รวมกันถึง 14.66 ล้านคันในปีดังกล่าวก่อนที่จะเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนถึง 72 ล้านคันในปี 2563 ซึ่งหมายความว่า ไม่ช้าก็เร็ว จีนจะก้าวขึ้นมาเป็นตลาดรถยนต์และผู้ผลิตรถยนต์อันดับหนึ่งของโลกควบคู่กัน

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนเกิดขึ้นจากยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรกับผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติ การลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์จีนแบ่งเป็น 2 ช่วงใหญ่ ๆ ช่วงแรกระหว่างปี 2528-2539 เป็นช่วงที่ทางการจีนอนุญาตให้มีการร่วมทุนระหว่างรัฐวิสาหกิจของจีนกับผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเพื่อผลิตรถยนต์นั่งสำหรับประชาชนทั่วไป

โดยช่วงแรกจีนได้จำกัดผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเพียง 8 ราย ซึ่งค่ายรถยนต์จากสหรัฐฯ และยุโรปรวมทั้งญี่ปุ่นบางรายพากันมาลงทุนในตลาดจีน อาทิ Daimler-Chrysler, VW, Peugeot, Daihatsu, Suzuki, Fuji Heavy Industries และ Citroen ผลก็คือ VW สามารถเติบโตจนกลายเป็นเจ้าตลาดรถยนต์อันดับหนึ่งในจีน และจีนก็ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นตลาดอันดับหนึ่งของ VW นอกถิ่นกำเนิดเดิมในเยอรมนี

กระแสการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมยานยนต์เกิดขึ้นอีกครั้งหลังปี 2541 เมื่อทางการจีนยกเลิกข้อจำกัดจำนวนผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติจำนวน 8 ราย ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่นไม่ว่าจะเป็น Honda, Mazda, Toyota, Nissan และ Mitsubishi พากันแห่เข้ามาลงทุนในจีนหลังจากเห็นว่าตลาดจีนมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยการลงทุนส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545-2546 หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ทำให้ในปี 2546 จีนกลายเป็นฐานการลงทุนของผู้ผลิตรถยนต์ข้ามชาติเกือบทุกค่าย ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์รุ่นต่าง ๆ มากถึง 45 รุ่นเทียบกับจำนวนเพียง 11 รุ่นเมื่อปี 2541

การลงทุนผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลจากต่างชาติในจีน

ปี ค.ศ. ผู้ผลิต
1985 Daimler-Chrysler
1985 VW
1991 VW (another joint venture)
1985 Suzuki
1986 Peugeot (withdrawal in 1988)
1986 Daihatsu (Toyota since 2000)
1992 Fuji Heavy Industries
1996 Citroen
1998 Honda
1999 GM
2002 Mazda
2002 Hyundai
2002 Toyota
2002 Kia
2002 Fiat
2003 Nissan
2003 Ford
2003 Mitsubishi

ที่มา: Japan Research Institute 2003

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับสิบปีของรัฐบาลจีน (2544-2548) กำหนดไว้ว่า จีนจะส่งเสริมให้เอกชนลงทุนเพื่อผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคลโดยภาครัฐจะไม่เข้ามาแข่งขันในกิจการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม กระแสการลงทุนจากต่างประเทศเกิดขึ้นท่ามกลางผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่นจำนวนมากที่ขาดประสิทธิภาพของจีน ด้วยจำนวนผู้ผลิตรถยนต์กว่า 2,000 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ล้าหลัง ดังนั้นทางการจีนจึงสนับสนุนให้เกิดการควบรวมกิจการของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ

นอกจากนี้ ทางการจีนยังแสดงท่าทีว่าจะให้การสนับสนุนผู้ผลิตรถยนต์ท้องถิ่น 3 รายได้แก่ Dongfeng, First Auto Work (FAW) และ Shanghai Automotive Industry Co (SAIC) ให้พัฒนาขึ้นมาเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลก โดยผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 3 รายได้หันมาใช้ยุทธศาสตร์การสร้างพันธมิตรกับบรรษัทรถยนต์ข้ามชาติของญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป ทั้งนี้ Dongfeng ได้ร่วมมือกับ Citroen และ Nissan ขณะที่ FAW หันมาผนึกกำลังกับ VW, Toyota และ Mazda ส่วน SAIC ก็ได้เลือก VW และ GM เป็นพันธมิตร เป็นต้น

Dongfeng ได้สร้างความฮือฮาเมื่อปี 2546 โดยการประกาศเป็นพันธมิตรกับ Nissan ซึ่งก่อให้เกิดโครงการร่วมทุนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์ของจีน โดย Nissan จะลงทุนถึง 120 พันล้านหยวนเพื่อถือหุ้นร้อยละ 50 ใน Dongfeng และจัดตั้ง Nissan-Dongfeng Motor ขึ้นและใช้โรงงานที่เมืองหวูฮั่นเพื่อผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และใช้โรงงานที่กวางเจาและเชียงฟั่นเพื่อผลิตรถยนต์นั่งส่วนบุคคล

คาดว่ายอดขายทั้งหมดของกลุ่ม Nissan-Dongfeng Motor จะมีจำนวน 550,000 คันคิดเป็นมูลค่า 9.64 พันล้านดอลลาร์ในปี 2006 นอกจากนี้ Dongfeng ยังมีโครงการร่วมทุนกับ Honda เพื่อจัดตั้ง Dongfeng Honda Engine ที่กวางเจาและ Dongfeng Honda Auto Parts ที่ฮุ่ยโจวเพื่อผลิตเครื่องยนต์และชิ้นส่วนรถยนต์ตามลำดับ

ทางด้าน FAW ได้ร่วมทุนกับ VW เพื่อผลิตรถ Audi และ VW มาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว จนประสบความสำเร็จมากมาย ล่าสุดได้ร่วมทุนกับ Toyota เมื่อปี 2545 เพื่อผลิตรถยนต์นั่ง โดย Toyota จะลงทุน 100 พันล้านหยวนในโรงงานของ FAW ที่เทียนสินเพื่อผลิตรถยนต์นั่ง ส่วนการผลิตรถอเนกประสงค์จะใช้โรงงานที่ฉางชุน จี้หลินและเฉิงตู รวมทั้งจะผลิตรถเล็กภายใต้ยี่ห้อ Daihatsu อีกด้วย ทั้งนี้ Toyota พุ่งเป้าที่จะครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์ในจีนร้อยละ 10 ภายในปี 2010

สำหรับ SAIC เป็นผู้ผลิตรถรายแรกที่ร่วมทุนกับ VW ตั้งแต่สองทศวรรษก่อนจนกลายเป็นผู้ผลิตรถรายใหญ่ 1 ใน 3 ของจีน หลังจากนั้นก็ได้ร่วมทุนกับ Daewoo, Suzuki และ GM เพื่อขยายฐานการผลิตรถยนต์ของตนด้วยผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดย GM จะใช้โรงงานของ Daewoo ที่ร่วมทุนกับ SAIC ที่เมืองหย่านไถเพื่อผลิตรถยนต์นั่ง และใช้โรงงานที่เสิ่นหยางเพื่อผลิตรถอเนกประสงค์ นอกจากนี้ จะใช้แบรนด์ Isuzu สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ และผลิตรถแวนขนาดเล็กสำหรับตลาดในชนบทด้วย

อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในจีน

ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนจัดว่ามีลักษณะกระจัดกระจายและขาดการประหยัดเชิงขนาดเนื่องจากมีผู้ประกอบการจำนวนหลายพันรายที่มีเทคโนโลยีและเครื่องจักรล้าสมัย ทางการจีนจึงมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการปรับโครงสร้างและการควบรวมของอุตสาหกรรมนี้ผ่านทางมาตรการต่าง ๆ อาทิ จัดสรรสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการที่เข้มแข็งบางราย ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต ส่งเสริมการผลิตชิ้นส่วนที่มีศักยภาพเป็นการเฉพาะ และส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนเพื่อการส่งออก คาดว่ามาตรการเหล่านี้จะทำให้เกิดการรวมตัวของผู้ผลิตเหลือเพียง 1 ใน 3 ของผู้ประกอบการทั้งหมดในไม่ช้า

การเปิดกว้างอุตสาหกรรมยานยนต์จีนหลังการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้พลิกโฉมหน้าธุรกิจดังกล่าวในจีน ทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดดทั้งในอุตสาหกรรมการประกอบรถยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วน ปัจจุบันจีนได้ยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับแบบและรุ่นของรถที่จะผลิตในจีน นอกจากนี้ จีนยังเตรียมที่จะถ่ายโอนอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นสามารถออกใบอนุญาตจัดตั้งโรงงานประกอบและผลิตชิ้นส่วนยานยนต์สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศที่มีมูลค่าไม่เกิน 150 ล้านดอลลาร์ เพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้เพียง 30 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะยกเลิกข้อจำกัดเกี่ยวกับสัดส่วนการถือครองหุ้นสำหรับต่างชาติในโครงการร่วมทุนที่กำหนดไว้เดิมไม่เกินร้อยละ 50 อีกด้วย .

นโยบายด้านการลงทุนที่ยืดหยุ่นของทางการจีนข้างต้น กอปรกับมาตรการบังคับใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศทำให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ข้ามชาติดาหน้าเข้ามาลงทุนในจีน จนถึงปัจจุบันมีการลงทุนของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ข้ามชาติในจีนมากกว่า 500 โครงการ อาทิ บริษัท Delphi ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์รายใหญ่ของสหรัฐฯ เข้ามาลงทุนในจีนถึง 13 โครงการคิดเป็นมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ และสามารถส่งออกสินค้าที่ผลิตในจีนเป็นมูลค่า 95 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2546 หรือราว 1 ใน 3 ของสินค้าที่ผลิตในจีนทั้งหมด ส่วน Visteon ก็ลงทุนในจีนจำนวน 5 โครงการ นอกจากนี้ Nippon Denso ยังมีโครงการลงทุนที่เมืองเทียนสิน หยันไถและฉงชิ่ง ทำให้ปัจจุบันจีนได้กลายมาเป็นแหล่งลงทุนอันดับ 2 สำหรับผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่น ด้วยจำนวนโครงการลงทุนทั้งสิ้น 182 โครงการ เทียบกับ 277 โครงการในสหรัฐฯ และ 164 โครงการในประเทศไทย

โครงการลงทุนในต่างประเทศของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่น

อันดับ / ประเทศ / จำนวนโครงการ
1 USA 277
2 China 182
3 Thailand 164
4 Indonesia 79
5 Taiwan 68

World Total 1,237

ที่มา: Japan Research Institute, 2003

การลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยขยายตลาดส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของจีน ทั้งนี้ ค่าจ้างแรงงานค่อนข้างถูก ตลอดจนกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่ยืดหยุ่นและค่าเงินหยวนที่ค่อนข้างอ่อนล้วนส่งผลดีต่อการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เพื่อส่งออกของจีนทั้งสิ้น การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของจีนขยายตัวจาก 2 พันล้านดอลลาร์ในปี 2545 เป็น 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2546 ตามลำดับ โดยผู้ประกอบรถยนต์ได้หันมานำเข้าชิ้นส่วนที่ผลิตในจีนเพิ่มขึ้น อาทิ GM ได้มีนโยบายที่จะเพิ่มการนำเข้าชิ้นส่วนจากจีนจากมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ในปี 2546 เป็น 4 พันล้านดอลลาร์ในปี 2552 ทั้งนี้ ชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีศักยภาพสูงของจีนได้แก่ กระบอกสูบและชิ้นส่วน หม้อน้ำ และเครื่องปรับอากาศรถยนต์ เป็นต้น

ในทางกลับกัน ขณะที่การส่งออกของจีนขยายตัวอย่างรวดเร็ว การนำเข้าก็เพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัวอันเป็นผลมาจากการลดภาษีและการยกเลิกข้อจำกัดการนำเข้าตามข้อผูกพันกับองค์การการค้าโลก ในปี 2546 จีนนำเข้ารถยนต์และชิ้นส่วนมูลค่า 14.45 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 84 สินค้านำเข้าประกอบด้วยรถยนต์ 125,129 คัน มูลค่า 5.25 พันล้านดอลลาร์ ชิ้นส่วนประกอบสำเร็จของรถยนต์ (Completely Knocked Down: CKD) มูลค่า 3 พันล้านดอลลาร์ และชิ้นส่วนอื่น ๆ และอะไหล่มูลค่า 6.2 พันล้านดอลลาร์

แนวโน้มระยะสั้นอุตสาหกรรมยานยนต์จีน

แนวโน้มการเปิดเสรีอุตสาหกรรมยานยนต์จีนในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งประกอบด้วยการยกเลิกระบบโควต้านำเข้าและการลดอัตราภาษี รวมทั้งการอนุญาตให้บริษัทรถยนต์ต่างชาติเข้ามาตั้งสำนักงานขายและให้บริการหลังการขาย รวมทั้งการให้สินเชื่อรถยนต์ จะเป็นตัวเร่งอุปสงค์รถยนต์ในจีนเพิ่มมากขึ้น คาดว่าอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ของจีนจะลดลงอีกร้อยละ 25 สำหรับรถยนต์นั่งในปี 2549 ร้อยละ 25 สำหรับรถโดยสารในปี 2548 ร้อยละ 15-25 สำหรับรถบรรทุกในปี 2548 และร้อยละ 10 สำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ในปี 2549 นอกจากนี้ จีนจะยกเลิกข้อจำกัดในเรื่องใบอนุญาตการนำเข้าสำหรับรถบรรทุก รถโดยสารและมอเตอร์ไซค์ในปีนี้ รวมทั้งเพิ่มโควต้ารถยนต์นำเข้าใน 2547 ก่อนที่จะทำการยกเลิกในปี 2548 ซึ่งจะทำให้ราคารถยนต์ถูกลงและการนำเข้าเพิ่มขึ้น

จากประสบการณ์ของญี่ปุ่นและประเทศอุตสาหกรรมใหม่ในเอเชีย การพัฒนาเป็นสังคมที่ใช้รถยนต์อย่างแพร่หลายจะเกิดขึ้นเมื่อรายได้ต่อหัวของประชากรในประเทศสูงกว่า 3,000 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี แต่ในจีนนั้นรายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่งทะลุหลัก 1,000 ดอลลาร์เมื่อปีที่ผ่านมานี้เอง อย่างไรก็ตาม รายได้ต่อหัวของประชากรในเมืองใหญ่ของจีน เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางเจา เซินเจิ้น กลับสูงกว่า 3,000 ดอลลาร์ ทำให้ประชากรกลุ่มดังกล่าวสามารถซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นของตนเอง

แต่เนื่องจากในอดีตทางการจีนได้คุมจำนวนทะเบียนรถยนต์ในเมืองทำให้การซื้อรถยนต์ส่วนบุคคลเป็นเรื่องยาก มาบัดนี้ เมื่อทางการจีนผ่อนคลายข้อกำหนดดังกล่าวและราคารถยนต์ลดลงอันเป็นผลมาจากการเปิดตลาดรถยนต์ ทำให้ความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในเมืองใหญ่ของจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว และคงใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่อุปสงค์ซึ่งร้อนแรงดังกล่าวจะชะลอตัวลง ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีนจะขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงช่วงกีฬาโอลิมปิกส์ที่ปักกิ่งในปี 2551 และงาน World Expo ที่เซี่ยงไฮ้ในปี2553 โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจากการลงทุนเพื่อเตรียมงานดังกล่าวจะเป็นปัจจัยเสริมให้เกิดการเพิ่มรายได้ของประชากรและการซื้อรถยนต์เพิ่มขึ้น

สินเชื่อรถยนต์เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นตลาดรถยนต์ในจีนโดยเฉพาะการซื้อรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ที่ผ่านมาผู้ซื้อรถยนต์ในจีนจะซื้อเป็นเงินสดเนื่องจากการควบคุมธุรกิจเช่าซื้อและการให้สินเชื่อรถยนต์ของทางการจีน ทำให้ผู้ซื้อรถส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลเป็นหลัก แต่เมื่อปีที่แล้วธนาคารกลางของจีนได้อนุญาตให้ GM, Toyota และ VW สามารถให้บริการสินเชื่อรถยนต์แก่ผู้ซื้อรถของตนได้ ซึ่งคาดว่าการให้บริการทางการเงินดังกล่าวจะเริ่มได้ในปี 2547 ซึ่งจะกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อรถเงินผ่อนมากขึ้น

อุตสาหกรรมยานยนต์จีนและผลกระทบต่อไทย

จนถึงปัจจุบัน การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนยังไม่ส่งผลกระทบโดยตรงกับธุรกิจยานยนต์ในไทย การนำเข้าชิ้นส่วนยานยนต์จากจีนยังมีปริมาณน้อยมากเนื่องจากต้นทุนการผลิตของจีนยังสูงกว่าไทยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10-15 อันเป็นผลมาจากผลิตภาพการผลิตที่ต่ำกว่าไทย ที่ผ่านมาไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปจีนเพิ่มมากขึ้นตามลำดับ เนื่องจากคุณภาพการผลิตและระดับเทคโนโลยีของไทยโดยทั่วไปยังสูงกว่าจีน โดยในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไปจีนมูลค่า 34.1 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากเดิมในปี 2545 ที่การส่งออกมีมูลค่า 21.8 ล้านดอลลาร์ โดยสินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นอะไหล่และยางรถยนต์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม การส่งออกดังกล่าวก็มีมูลค่าน้อยมาก คิดเป็นลำดับที่ 31 ของสินค้าส่งออกของไทยไปจีนทั้งหมด

แม้การพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ของจีนจะไม่ส่งผลทางตรงมากนักต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไทย แต่ความต้องการวัตถุดิบประเภทยางพาราและเม็ดพลาสติกเพื่อนำไปใช้ผลิตเป็นชิ้นส่วนยานยนต์และสินค้าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้ส่งผลดีอย่างมากต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของไทยไปจีนในปัจจุบัน โดยในปี 2546 ไทยส่งออกยางพาราและเม็ดพลาสติกไปจีนเป็นมูลค่า 716 ล้านดอลลาร์และ 388 ล้านดอลลาร์ตามลำดับ สินค้าทั้งสองรายการเป็นสินค้าส่งออกไปจีนที่มีมูลค่ารวมเป็นอันดับ 2 และ 3 ตามลำดับ จะเป็นรองก็เพียงแต่คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วนเท่านั้น โดยไทยส่งออกสินค้าทั้งสองรายการไปจีนเพิ่มขึ้นร้อยละ 100 และ ร้อยละ 34 ตามลำดับในปี 2546

ในระยะ 1-3 ปีข้างหน้าไทยมีโอกาสที่จะขยายการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์หลายชนิดไปยังจีน อาทิ ส่วนประกอบเครื่องยนต์ประเภทลิ้นลูกสูบ กระบอกสูบ หัวฉีดน้ำมัน แชสสีและชิ้นส่วนกันกระเทือน หม้อน้ำอะลูมิเนียม ชิ้นส่วนประเภทเบาะรถยนต์ กระจกหลัง สายไฟรถยนต์ ยางรถยนต์ และชิ้นส่วนพลาสติก เป็นต้น ซึ่งความต้องการชิ้นส่วนดังกล่าวในจีนมีสูงมากจากการผลิตรถยนต์เพื่อสนองตลาดในประเทศ นอกจากนี้ ไทยยังมีโอกาสเข้าไปตั้งธุรกิจศูนย์บริการรถยนต์ในจีน เนื่องจากจีนเพิ่งจะอนุญาตให้ต่างชาติเข้าไปลงทุนในธุรกิจดังกล่าวโดยสามารถถือหุ้นได้มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งบริการซ่อมรถยนต์และจัดจำหน่ายอะไหล่ยานยนต์มีลู่ทางที่สดใสจากปริมาณรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในจีน

สำหรับในอนาคต จีนมีโอกาสอย่างสูงที่จะพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คาดว่าในปี 2553 จีนจะเป็นตลาดรถยนต์อันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น แน่นอนว่าจีนจะสามารถลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนมาตรฐานลงได้จากการประหยัดเชิงขนาด ในทางตรงกันข้าม ไทยไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนที่หลากหลายในปริมาณมากได้เนื่องจากฐานลูกค้าในไทยและอาเซียนที่เล็กกว่า ดังนั้น ในทางทฤษฎีแล้วจีนมีศักยภาพที่จะลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ให้ถูกกว่าต้นทุนการผลิตในสหรัฐฯ และญี่ปุ่นได้ราวร้อยละ 20-30 จากการปรับปรุงผลิตภาพการผลิต

ทั้งนี้ การผลิตรถยนต์ในระบบ global platform ที่สามารถผลิตรถหลากรุ่นหลายยี่ห้อโดยใช้ฐานการผลิตร่วมกันจะช่วยให้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่ผลิตในจีนสามารถส่งออกไปได้ทั่วโลกในอนาคต ในด้านทรัพยากรบุคคล จีนยังผลิตวิศวกรด้านวิศวกรรมยานยนต์เป็นจำนวนมากทุกปีขณะที่ไทยเองยังไม่มีหลักสูตรดังกล่าวเป็นการเฉพาะ ทำให้จีนมีความพร้อมที่จะเรียนลัดและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตได้อย่างรวดเร็ว

ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะช่วยให้จีนสามารถตามทันประเทศผู้ผลิตรถยนต์อื่น ๆ และสามารถลดต้นทุนการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ได้ถึงร้อยละ 30-60 ในอีก 3 ปีข้างหน้า ในอนาคตเมื่อการผลิตรถยนต์ของจีนสามารถตอบสนองต่ออุปสงค์ในประเทศได้เพียงพอแล้ว หรือเมื่ออุปสงค์ในประเทศหดตัว ก็จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการส่งออกไปยังต่างประเทศดังที่เคยเกิดขึ้นในไทยหลังภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ เมื่อถึงเวลานั้น ผู้บริโภคไทยและอาเซียนอาจหันมาซื้อรถยนต์นั่งที่ผลิตในจีนก็เป็นได้เนื่องจากแรงจูงใจในเรื่องของราคาและความหลากหลายของรุ่นการผลิต โดยเขตการค้าเสรีไทย-จีนซึ่งกำลังเกิดขึ้นจะช่วยให้เกิดการค้าและการแลกเปลี่ยนชิ้นส่วนยานยนต์ระหว่างสองประเทศมากขึ้น

ผู้ผลิตรถยนต์และชิ้นส่วนในไทยน่าจะหันมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ชนิดเฉพาะเจาะจงซึ่งสามารถเจาะตลาดผู้บริโภคบางกลุ่มในจีนได้ โดยรถปิ๊กอัพซึ่งมีศูนย์การผลิตใหญ่ในไทยแต่มีการผลิตในจีนน้อยมากอาจมีโอกาสเข้าไปขยายตลาดในชนบทของจีนได้เนื่องจากสามารถใช้ขนส่งพืชผลการเกษตรในพื้นที่ห่างไกลได้ดี นอกจากนี้ การพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันตกของจีนที่กำลังเกิดขึ้นจะช่วยเพิ่มรายได้ของประชากรในพื้นที่ตอนในของจีน และเป็นการกระตุ้นความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์เช่นรถปิ๊กอัพรวมทั้งรถยนต์นั่งราคาถูกมากขึ้น ทั้งนี้ การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของจีนและการวิเคราะห์ด้านการตลาดเป็นสิ่งจำเป็นในการออกแบบและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและมีพลวัตรสูงในจีน