สหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งจับจากธรรมชาติ : ไทย…เร่งปรับตัวรับสถานการณ์

สหรัฐฯห้ามไทยส่งออกกุ้งที่จับจากทะเลหรือกุ้งธรรมชาติไปจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2547 เนื่องจากชาวประมงไทยไม่ได้ใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเล(Turtle Excluder Devices : TEDs) ซึ่งการห้ามส่งออกกุ้งธรรมชาติในครั้งนี้จะส่งผลกระทบเฉพาะการส่งออกกุ้งที่จับได้จากธรรมชาติและกุ้งกระป๋องที่ใช้วัตถุดิบกุ้งที่จับได้จากธรรมชาติที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯประมาณ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 2,000 ล้านบาท เนื่องจากผลผลิตกุ้งของไทยเป็นกุ้งที่ได้จากธรรมชาติเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องคำนึงถึงด้วยคือ กุ้งที่นำเข้าจากต่างประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบสำหรับโรงงานกุ้งกระป๋องและกุ้งแปรรูปของไทยจะต้องมีใบรับรองระบุด้วยว่าเป็นกุ้งธรรมชาติหรือกุ้งที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ทั้งนี้เพื่อที่จะไม่ให้มีปัญหาในการส่งออก

สำหรับกุ้งที่เพาะเลี้ยงชายฝั่งและเพาะเลี้ยงในกระชังยังคงส่งออกได้แต่ต้องแนบแบบฟอร์มรับรองโดยหน่วยงานของรัฐบาล(DS.2031)ว่าเป็นกุ้งที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ส่วนกุ้งที่จับโดยเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น แห เป็นต้น ยังคงสามารถส่งออกได้ แต่ต้องมีการตรวจสอบก่อนว่ามีกลุ่มเรือประมงที่จับกุ้งโดยเครื่องมือประมงพื้นบ้านมากน้อยเพียงใด ซึ่งทางกรมประมงจะต้องจัดส่งรายชื่อผู้มีอำนาจในการลงนามรับรองแบบฟอร์ม พร้อมทั้งตัวอย่างลายเซ็นต์ให้สหรัฐฯทราบ รวมทั้งยังต้องรวบรวมจำนวนและรายชื่อเรือประมง พร้อมทั้งปริมาณกุ้งที่จับจากทะเลหรือกุ้งธรรมชาติในแต่ละปี

ทั้งนี้เพื่อให้สหรัฐฯสามารถเข้ามาตรวจสอบได้เพื่อแก้ปัญหาการส่งออกกุ้งที่จับได้จากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปสหรัฐฯในโอกาสต่อไป โดยตั้งแต่นี้ต่อไปอาจจะต้องให้เรือประมงไทยทุกลำติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเล ซึ่งมีราคาประมาณ 2,000 บาท/เครื่อง ในระยะที่ผ่านมานั้นชาวประมงบางลำไม่ยอมติดตั้งเครื่องแยกเต่าทะเลโดยอ้างว่าการติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลทำให้สามารถจับปลาและกุ้งได้น้อยลง นอกจากนี้ต้องเร่งทำความเข้าใจกับผู้เลี้ยงกุ้งเพื่อป้องกันการที่พ่อค้าคนกลางหรือผู้ส่งออกจะถือโอกาสใช้เป็นข้ออ้างในการกดราคารับซื้อกุ้งทั้งหมด

เครื่องมือแยกเต่าทะเล…ไม่ใช่ประเด็นใหม่

สาเหตุที่สหรัฐฯประกาศใช้มาตรการห้ามการนำเข้ากุ้งที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่ไม่ได้มีโครงการหรือกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเลเทียบเท่ากับสหรัฐฯนั้นเกิดขึ้นเนื่องจากผลการศึกษาของหน่วยงานที่สำคัญ 2 หน่วยงานยืนยันตรงกันว่าการทำประมงกุ้งนั้นมีผลทำให้อัตราการตายของเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองเพิ่มขึ้นอย่างมาก กล่าวคือ National Academy of Sciences มีการวิจัยการทำประมงกุ้งในสหรัฐฯ พบว่าการประมงกุ้งทะเลหรือกุ้งธรรมชาติทำให้อัตราการตายของเต่าทะเลซึ่งเป็นสัตว์คุ้มครองสูงถึง 11,000-55,000 ตัว จึงต้องมีการประกาศใช้เครื่องมือที่แยกเต่าทะเลออกในเวลาทำการประมง

นอกจากนี้สถาบันเอิร์ธ ไอร์แลนด์ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯมีการศึกษาเกี่ยวข้องกับเต่าทะเลใน The Sea Turtle Restoration Project (STRP) โดยมีการวิจัยการเสียชีวิตของเต่าทะเลจากการทำประมงกุ้งในประเทศแถบแอตแลนติกและแคริบเบียน (บราซิล กัวเตมาลา เอลซัลวาดอร์ ฮอนดูรัส นิการากัว และคอสตาริก้า) ปรากฏว่าจำนวนเต่าทะเลต้องเสียชีวิตจากการติดมากับอวนลากของการทำประมงกุ้งทะเลในแต่ละปีสูงถึง 60,000 ตัว

โดยในจำนวนเต่าทะเลที่เสียชีวิตในการศึกษาวิจัยของทั้งสองหน่วยงานนี้เป็นเต่าทะเล 5 ชนิดที่อยู่ภายใต้การประกาศคุ้มครองของพระราชบัญญัติสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในภาวะใกล้สูญพันธุ์ของกฎหมายสหรัฐฯ ได้แก่ เต่าตนุ เต่ากระ เต่ามะเฟือง เต่าหญ้า และเต่าหัวฆ้อน ดังนั้นในปี 2532 สภาคองเกรสของสหรัฐฯประกาศใน PUBLIC LAW 101-162 SECTION 609 กำหนดให้ประเทศที่ส่งผลิตภัณฑ์กุ้งเข้าตลาดสหรัฐฯจะต้องมีกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเลเทียบเท่าสหรัฐฯ

ในปี 2535 สถาบันเอิร์ธ ไอร์แลนด์ยื่นฟ้องกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯต่อศาลการค้าระหว่างประเทศ (Court of International Trade : CIT) ผลการตัดสินในวันที่ 29 ธันวาคม 2538 บังคับให้รัฐบาลสหรัฐฯปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง และมีผลบังคับกับทุกประเทศที่ส่งกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์เข้าตลาดสหรัฐฯ

ดังนั้นสหรัฐฯจึงประกาศนโยบายงดการนำเข้ากุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากประเทศที่ไม่มีโครงการหรือกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเลที่เทียบเท่ากับสหรัฐฯ และบังคับให้ประเทศที่ส่งกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์มายังสหรัฐฯต้องติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลในเรือประมงกุ้งทุกลำ โดยประเทศเหล่านี้ต้องส่งคำรับรองว่าในประเทศมีโครงการหรือกฎหมายคุ้มครองเต่าทะเล ซึ่งมีผลบังคับตั้งแต่ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2539 ประเทศที่ได้รับผลกระทบในครั้งนั้นมากถึง 56 ประเทศ

หลังจากนั้นทางสหรัฐฯมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาติดตามความคืบหน้าเพื่อการประเมินการติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลทุกปี โดยในระยะที่ผ่านมามี 15 ประเทศพ้นจากบัญชีรายชื่อที่สหรัฐฯห้ามส่งออกกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เดนมาร์ก สวีเดน เนเธอร์แลนด์ นอรเว เปรู รัสเซีย ไอร์แลนด์ อังกฤษ อาร์เจนตินา อุรุกวัย ชิลี นิวซีแลนด์ เยอรมนี และอินโดนีเซีย เนื่องจาก 14 ประเทศแรกนี้มีการจับกุ้งในทะเลที่มีอุณหภูมิต่ำ ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีเต่าทะเลอาศัยอยู่

ส่วนกรณีของประเทศอินโดนีเซียนั้นมีกฎหมายบังคับใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเลออกจากการจับกุ้ง สำหรับในกรณีของประเทศไทยสหรัฐฯตรวจพบว่ามีเรือประมงกุ้งบางลำยังไม่ได้ติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลจึงห้ามนำเข้ากุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากไทยตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2547

จากการศึกษาพบว่าเต่าทะเลที่ติดมากับอวนในการทำประมงกุ้งต้องเสียชีวิตเนื่องจากต้องติดอยู่ใต้น้ำเป็นเวลานานๆ จึงจมน้ำตาย เนื่องจากขาดอากาศหายใจ เพราะเต่าเป็นสัตว์ที่หายใจทางปอด เครื่องมือแยกเต่าทะเลเป็นอุปกรณ์ที่ติดไว้กับอวนในการทำประมงกุ้งเพื่อแยกเต่าทะเลออกจากอวน โดยอุปกรณ์นี้มีลักษณะเป็นประตูกลเล็กๆที่จะเป็นทางออกของเต่าทะเลที่พลัดเข้าไปติดอวนจับกุ้ง

ซึ่งผลจากการทดสอบอุปกรณ์นี้สามารถลดอัตราการตายของเต่าทะเลได้มากกว่าร้อยละ 97 และยังสามารถลดอัตราการสูญเสียจากการได้ผลพลอยได้อื่นๆ ที่ไม่จำเป็น เช่น แมงกะพรุน ปลาที่ไม่มีค่าทางเศรษฐกิจ ได้อีกร้อยละ 60 นับว่าเป็นการรักษาทรัพยากรที่มีค่าทางการประมงไว้ สิ่งที่สำคัญก็คือ จากผลการทดสอบการใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเลกับอวนจับกุ้งแล้วปรากฏว่าไม่ได้ทำให้ปริมาณกุ้งที่จับได้ลดน้อยลง

การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทย…กระทบเฉพาะกุ้งที่จับได้ตามธรรมชาติ

ตลาดสหรัฐฯเป็นตลาดหลักของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์โดยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2547 การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯมีสัดส่วนร้อยละ 60.3 ของการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ทั้งหมด โดยคู่แข่งสำคัญในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯคือ จีน อินเดีย เวียดนาม และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตามกฎหมายอนุรักษ์เต่าทะเลของสหรัฐฯดังกล่าวมีผลบังคับเฉพาะการส่งออกกุ้งทะเลหรือกุ้งที่จับได้ตามธรรมชาติ ซึ่งกรมประมงยืนยันว่ากุ้งและผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยส่งออกร้อยละ 95 เป็นกุ้งที่ได้จากการเพาะเลี้ยง ดังนั้นผลกระทบเฉพาะส่งออกกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐฯซึ่งมีมูลค่าในแต่ละปีประมาณ 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือ 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

อย่างไรก็ตามคู่แข่งที่สำคัญที่ต้องจับตามองในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯของไทยคือ อินโดนีเซีย มีข้อได้เปรียบไทยตรงที่รัฐบาลอินโดนีเซียมีการออกกฎหมายติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเลในเรือประมงทุกลำ ทำให้อินโดนีเซียไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่สหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2540 จึงนับว่าโอกาสของอินโดนีเซียดีกว่าผู้ส่งออกของไทยในการส่งออกกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯ

มาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการ…ปรับตัวรับสถานการณ์ตลาด

แม้ว่าจากการประเมินผลกระทบจากการห้ามนำเข้ากุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากไทยของสหรัฐฯแล้ว ปรากฎว่าผลกระทบนั้นเพียง 52 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งนับว่าไม่มากนัก แต่ทั้งรัฐบาลและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ดังนี้

1.ออกกฎหมายติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเลในเรือประมงทุกลำ ในปัจจุบันเรือประมงไทยบางส่วนก็ได้ติดตั้งเครื่องแยกเต่าทะเลบ้างแล้ว แต่ก็ยังมีเรือประมงจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องแยกเต่าทะเล ดังนั้นเพื่อให้สามารถส่งออกกุ้งที่จับได้จากธรรมชาติไปสหรัฐฯได้ เกษตรกรที่ทำธุรกิจเรือประมงทั้งหมดต้องลงทุนติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเลเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฎหมายของสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจ แต่ประเด็นที่ควรมีการพิจารณาคือ กรมประมงจะต้องควบคุมติดตามการติดตั้งเครื่องมือแยกเต่าทะเลในเรือประมงทุกลำ เนื่องจากจะได้ไม่เป็นข้ออ้างของสหรัฐฯในการห้ามการส่งออกกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ในกรณีที่มีการตรวจพบเรือประมงบางลำที่ไม่ติดเครื่องมือแยกเต่าทะเล

นอกจากนี้ต้องติดตามรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องมือแยกเต่าทะเลชนิดใหม่ เนื่องจากมีข่าวว่าหลังวันที่ 1 กันยายน 2547 สหรัฐฯอาจจะต้องการให้มีการใช้เครื่องมือแยกเต่าทะเลชนิดใหม่ ซึ่งเป็นการขยายขนาดให้กว้างขึ้นทั้งนี้เพื่อให้มีช่องว่างที่เต่าจะอาศัยลอดออกมาได้มากขึ้น เรื่องดังกล่าวผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าเป็นจริงหรือไม่ ถ้าเป็นข่าวจริงและถ้าสหรัฐฯยืนยันว่าเรือประมงไทยทั้งหมดต้องติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลชนิดใหม่ ทางกรมประมงก็ต้องบังคับให้เรือประมงทุกลำติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลชนิดใหม่ ทั้งนี้เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเพิ่มขึ้นอีกครั้งหนึ่ง

2.การตรวจสอบและรวบรวมผลผลิตกุ้งธรรมชาติ ทางกรมประมงจะต้องรวบรวมจำนวนและรายชื่อเรือประมงที่ทำประมงกุ้ง ซึ่งในปัจจุบันกรมประมงอยู่ในระหว่างการดำเนินการจดทะเบียนเรือประมง นอกจากนี้จะต้องมีการรวบรวมปริมาณกุ้งที่จับจากทะเลหรือกุ้งธรรมชาติในแต่ละปี และการนำกุ้งธรรมชาติเหล่านี้ไปแปรรูป ผลผลิตผลิตที่ได้จากการแปรรูปนั้นใช้บริโภคภายในประเทศเท่าใด และส่งออกเท่าใด โดยแยกรายละเอียดเป็นผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันกับสหรัฐฯอย่างชัดเจนว่าผลผลิตกุ้งของไทยส่วนใหญ่เป็นกุ้งที่ได้จากการเพาะเลี้ยง

ประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือ การผลิตผลิตภัณฑ์กุ้งโดยเฉพาะกุ้งกระป๋องและกุ้งแปรรูป ในปัจจุบันวัตถุดิบบางส่วนต้องพึ่งพาการนำเข้ากุ้งจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอินเดีย ซึ่งเป็นกุ้งที่จับจากแหล่งธรรมชาติ การนำเข้ากุ้งจากแหล่งนี้คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณการนำเข้ากุ้งทั้งหมด ดังนั้นการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งอาจจะได้รับผลกระทบทางอ้อมด้วย ถ้าสหรัฐฯระบุต้องมีการระบุแหล่งที่มาของวัตถุดิบ อย่างไรก็ตามมูลค่าความเสียหายสำหรับธุรกิจผลิตภัณฑ์กุ้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้ผลิตสามารถจะหาแหล่งนำเข้าอื่นๆทดแทนการนำเข้าจากประเทศที่มีการจับกุ้งจากทะเล และอาจต้องมีมาตรการเข้มงวดกับประเทศเหล่านั้นให้ยืนยันแหล่งที่มาของกุ้งว่ามาจากการเพาะเลี้ยงเพื่อที่จะนำไปยืนยันต่อกับสหรัฐฯว่าผลิตภัณฑ์กุ้งนี้ถูกต้องตามกฎหมายอนุรักษ์เต่าทะเล

3.แสดงให้สหรัฐฯเห็นว่าไทยมีมาตรการคุ้มครองอนุรักษ์เต่าทะเลเทียบเท่าสหรัฐฯ แม้ว่าประเทศไทยจะมีกฎหมายคุ้มครองอนุรักษ์เต่าทะเล แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ สหรัฐฯอาจจะเห็นว่าการบังคับใช้กฎหมายอาจจะยังไม่เข้มงวดเท่าที่ควร จึงน่าจะถึงเวลาที่ต้องดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจังและต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการแสดงให้สหรัฐฯเห็นว่าไทยมีมาตรการคุ้มครองอนุรักษ์เต่าทะเลเทียบเท่ากับสหรัฐฯ โดยเมื่อรวมกับการบังคับใช้กฎหมายให้เรือประมงกุ้งทุกลำติดเครื่องมือแยกเต่าทะเลแล้วจะเป็นเครื่องยืนยันในการดำเนินการต่อไปให้สหรัฐฯปลดรายชื่อประเทศไทยออกจากประเทศที่สหรัฐห้ามการส่งออกกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์

4.การเพิ่มปริมาณการเพาะเลี้ยงกุ้งทะเล แม้ว่ากุ้งที่ส่งออกร้อยละ 95 เป็นกุ้งที่ได้จากการเพาะเลี้ยง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ พ่อแม่พันธุ์กุ้งนั้นยังต้องพึ่งการจับจากแหล่งธรรมชาติ ดังนั้นจึงควรเร่งให้หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมมือกันค้นคว้าการเพาะฟักพ่อแม่พันธุ์จากกุ้งเลี้ยงเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบันกรมประมงมีเทคโนโลยีที่สามารถดำเนินการได้ทันที คาดว่าการเพาะเลี้ยงในลักษณะนี้จะทดแทนปริมาณกุ้งทะเลจากการทำประมงทะเลประมาณร้อยละ 50 โดยในการดำเนินการจะจัดทำเป็นโครงการนำร่องทดลอง และส่งเสริมให้ชาวประมงเข้าร่วมดำเนินการด้วย

5.การหาตลาดทดแทน ทางรัฐบาลคงต้องเร่งดำเนินการหาตลาดทดแทนกุ้งธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯไม่ได้ ซึ่งได้แก่การส่งเสริมให้คนไทยหันมาบริโภคกุ้งและผลิตภัณฑ์มากขึ้น โดยมาตรการนี้รัฐบาลก็ได้มีการดำเนินการไปแล้ว รวมทั้งการหาตลาดส่งออกทดแทน สำหรับตลาดส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งที่น่าสนใจ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน ออสเตรเลีย ฮ่องกง และไต้หวัน ส่วนกุ้งกระป๋องตลาดที่น่าสนใจคือ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น ส่วนกุ้งแปรรูปนั้นตลาดที่น่าสนใจคือ ญี่ปุ่น แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้และไต้หวัน อย่างไรก็ตามการเจาะขยายตลาดในประเทศเหล่านี้ต้องมีการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละประเทศ

6.มาตรการเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด นอกเหนือจากการที่สหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งที่จับจากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์จากไทยแล้ว การส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯในปัจจุบันอาจจะเผชิญปัญหาจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ร่วมกับประเทศที่ส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังสหรัฐอีก 5 ประเทศ คือ บราซิล จีน เอกกวาดอร์ อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งมีข่าวว่าทางรัฐบาลสหรัฐฯอาจจะประกาศอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งจะต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และถ้ามีการประกาศมาตรการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดนี้จริง ผลกระทบต่อมูลค่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯอาจจะมีมากกว่ากรณีที่สหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งที่จับได้จากธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ของไทยเสียอีก

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องรอดูคืออัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่ไทยถูกเรียกเก็บเมื่อเปรียบเทียบกับอีก 5 ประเทศ ซึ่งล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากมีการคาดหมายกันว่าอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่จะเรียกเก็บแต่ละประเทศนั้นไม่เท่ากัน ซึ่งจะส่งผลต่อความได้เปรียบเสียเปรียบในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯ

7.การกล่าวอ้างว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประเด็นที่พึงระวังที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯคือ การกล่าวอ้างว่าการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่งส่งผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลน เนื่องจากป่าชายเลนเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนตามธรรมชาติ ดังนั้นการบุกรุกป่าชายเลนจึงถือเป็นการทำลายสภาพแวดล้อม โดยมีข่าวคราวถึงผลการวิจัยขององค์กรระหว่างประเทศถึงผลกระทบการเพาะเลี้ยงกุ้งชายฝั่งในหลายประเทศนั้นส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องจะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับข้อหาดังกล่าว

บทสรุป

การเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกฎหมายอนุรักษ์เต่าทะเลแสดงถึงแนวโน้มว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหันมาใช้มาตรการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นข้อกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าสูงขึ้น กฎหมายอนุรักษ์เต่าทะเลนี้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งที่จับได้ตามธรรมชาติและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯ เพราะถือได้ว่าเป็นแนวทางการตลาดแนวใหม่ ซึ่งมีการรณรงค์ที่จะติดฉลากแสดงถึงการอนุรักษ์เต่าทะเลบนหีบห่อของกุ้งสดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภครับรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเล โดยการรณรงค์ขยายวงเข้าไปทั่วทั้งในซุปเปอร์มาร์เก็ตและภัตตาคารต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ

นอกจากปัญหาดังกล่าวแล้วการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯยังอาจจะเผชิญปัญหาเกี่ยวกับการทุ่มตลาดและจะต้องถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งคาดว่าปัญหาในเรื่องดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อมูลการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2547 มากกว่ากรณีที่สหรัฐฯห้ามนำเข้ากุ้งที่จับได้ตามธรรมชาติจากไทย

ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดที่จะเรียกเก็บ โดยปัญหาในการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดส่งผลกระทบเฉพาะการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง นับว่าเป็นการซ้ำเติมปัญหาธุรกิจกุ้งไทย ในขณะเดียวกันสิ่งที่ควรระวังต่อไปก็คืออาจจะมีการกล่าวอ้างว่ากุ้งที่เพาะเลี้ยงตามป่าชายเลนนั้นทำลายสภาพแวดล้อม เนื่องจากป่าชายเลนเป็นพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำวัยอ่อนตามธรรมชาติ ดังนั้นการบุกรุกป่าชายเลนจึงถือเป็นการทำลายสภาพแวดล้อมด้วย

ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องควรมีการหารือและเตรียมตัวรวบรวมข้อมูลเพื่อชี้แจงแต่เนิ่นๆ เพราะถ้ามีการนำเรื่องผลกระทบของการทำฟาร์มเลี้ยงกุ้งต่อพื้นที่ป่าชายเลนมาตั้งเป็นการกีดกันการนำเข้ากุ้งสดแช่แข็งและผลิตภัณฑ์แล้ว ธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศจะได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก