กรุงเทพฯ – 21 พฤษภาคม 2547 – อินเทลค้นพบ 3 เยาวชนดาวรุ่งจากการแข่งขันการประกวดผลงานด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาติ หรือที่เรียกว่า อินเทล ไอเซฟ (Intel International Science and Engineering Fair) ซึ่งมีนักเรียนจากทั่วโลกเข้าร่วมแข่งขันมากกว่า 1,300 คน โดย 3 เยาวชนที่คว้ารางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์ของอินเทล” ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุดของการประกวดระดับนานาชาตินี้ ได้แก่ เยาวชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา ซึ่งต่างคว้าเงินทุนการศึกษาไปคนละ 2 ล้านบาท ด้วยผลงานด้านการวิจัยพื้นโลกใต้ทะเล เพื่อหาข้อมูลด้านกำเนิดของโลก ผลงานการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ซึ่งนำไปสู่ความก้าวหน้าใหม่ๆ ด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก และผลงานโครงการพัฒนาด้านกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถสแกนได้โดยใช้ต้นทุนต่ำ นอกจากนี้ในงานประกวดอินเทล ไอเซฟ ดังกล่าวยังมีการมอบรางวัลแก่เยาวชนผู้ชนะเลิศสาขาต่างๆ อีกรวมเป็นมูลค่าเงินรางวัลทั้งสิ้น 120 ล้านบาท
สุดยอด 3 เยาวชนคนเก่งของโลกในการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ ปีนี้ได้แก่ คุณหยวนเชง ซู จากเมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน คุณซาร่า โรส แลงเบิร์ก จากเมืองฟอร์ท เมเยอร์ รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา และคุณยูเว เทรสเก้ จากเมืองกราเฟนไฮนิเชน ประเทศเยอรมนี
ดร.เครก บาร์เรตต์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการของอินเทลกล่าวถึงผลการประกวดในปีนี้ว่า “ผมมั่นใจว่าความรักและชื่นชอบในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็กๆ ที่ได้รับรางวัลต่างๆ จากการประกวดอินเทล ไอเซฟในปีนี้จะผลักดันให้พวกเขาเติบโตเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์ที่ยิ่งใหญ่ของโลกในอนาคตได้อย่างแน่นอน แม้ว่าเยาวชนเหล่านี้จะมาจากคนละประเทศทั่วโลก ผมหวังว่าเมื่อพวกเขาจบการศึกษาและเริ่มต้นทำงาน พวกเขาจะยังคงมีโอกาสที่ร่วมมือกันทำการวิจัยต่างๆ เช่น อาจค้นพบวิธีการรักษาโรคใหม่ๆ ค้นพบแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในแง่มุมใหม่ และสร้างสรรค์เทคโนโลยีล้ำหน้าที่อาจจะเปลี่ยนโลกในอนาคตไปได้”
คุณหยวนเชง ซู นักเรียนอายุ 19 ปี จากสาธารณรัฐประชาชนจีน คว้ารางวัลชนะเลิศจากผลงานด้านวิทยาศาสตร์ คอมพิวเตอร์ หัวข้อ “Real Time Remeshing with Optimally Adapting Domain : A new scheme of view-dependent continuous levels of detail mesh rendering” ซึ่งเป็นการพัฒนาวิธีการในการสร้างคอมพิวเตอร์กราฟฟิกแบบสามมิติให้มีคุณภาพสูง มีรายละเอียดคมชัดในขณะที่ทำให้การเรนเดอร์ภาพมีความรวดเร็วขึ้นด้วย
คุณซาร่า โรส แลงเบิร์ก อายุ 17 ปีจากสหรัฐอเมริกา เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากโครงการด้านวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับโลกและอวกาศ หัวข้อ “Petrology, Morphology and Geochemistry of the Southern Juan de Fuca Ridge” ซาร่าทำการศึกษาด้านเคมี และทำการวิจัยจำลองทางคณิตศาสตร์ รวมทั้งศึกษาเกี่ยวกับพื้นโลกใต้ทะเลจากวีดิทัศน์ เพื่อที่จะอธิบายลักษณะพิเศษเฉพาตัวของบริเวณพื้นโลกแถบนี้ที่มีภูเขาไฟเป็นจำนวนมาก
สำหรับเยาวชนคนเก่งจากสาธารณรัฐเยอรมนี คุณยูเว เทรสเก้ อายุ 18 ปีนั้น ชอบศึกษาค้นคว้าด้านฟิสิกส์ โดยหัวข้อโครงงานที่ทำให้เขาคว้ารางวัลมาได้ก็คือ “Low-cost Scanning Tunneling Microscope” ซึ่งเป็นโครงการพัฒนากล้องจุลทรรศน์ราคาถูกที่มีประสิทธิภาพสูง ให้ภาพขยายที่คมชัดกว่ากล้องจุลทรรศน์แบบทั่วไป ยูเวใช้วัศดุที่หาได้ทั่วไป เช่น เส้นใยทังสเตนจากหลอดไฟ แผ่นโฟมที่นำกลับมาใช้ใหม่ รวมทั้งใช้ซาวน์การ์ดของคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลในการแปลงสัญญาณเป็นดิจิตอล
สำหรับประเทศไทยนั้น อินเทลได้ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) คัดเลือกเยาวชนเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ 2 คน ได้แก่ นายทวีธรรม ลิมปานุภาพ นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐม และนายศุภโชค หฤหรรษพงศ์ นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยตรัง จ.ตรัง
ผลการเข้าร่วมประกวดในครั้งนี้ นายทวีธรรมได้รับรางวัลชมเชยจาก Association for Computing Machinery จากผลงานเรื่อง “การเพิ่มความปลอดภัยระบบรหัสผ่านด้วยการตรวจสอบจังหวะการพิมพ์” ที่ส่งเข้าประกวดในสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ โดยนายทวีธรรมกล่าวว่า “รู้สึกภาคภูมิใจกับรางวัลที่ได้รับมาก เพราะเป็นการแสดงให้เห็นว่า แนวความคิดและการสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเราก็โดดเด่นไม่แพ้ผู้แข่งขันคนอื่น การเข้ามีส่วนร่วมในงานอินเทล ไอเซฟครั้งนี้ ทำให้เราได้รับแนวความคิดใหม่ๆ ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปปฏิบัติ เพื่อประยุกต์และพัฒนาโครงงานใหม่ๆ ต่อไป”
ส่วนนายศุภโชค นำผลงานเรื่อง “ต้นไม้สร้างไฟฟ้า” เข้าร่วมการประกวดในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งแม้จะพลาดหวังจากเวทีระดับโลก แต่ได้กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้จากการเข้าร่วมการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ ที่สหรัฐอเมริกาว่า “การเข้าร่วมการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ ในปีนี้เป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ทำให้โลกทัศน์ของเรานั้นกว้างขึ้น ช่วยให้เราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในมุมมองใหม่ๆ ของคนในวัยเดียวกัน ยอมรับว่าความคิดและความสามารถของเพื่อนๆ ทุกคนที่เข้าร่วมการแข่งขันนี้ยอดเยี่ยมมาก ซึ่งก็คงจะเป็นแบบอย่าง และแนวทางที่ดีที่จะพัฒนาผลงานของตนเองในอนาคตต่อไป”
นอกจากเยาวชนทั้งสองคนแล้ว ยังมีกลุ่มนักเรียนจาก ประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันในประเภททีมอีกด้วย ซึ่งผลงานของนักเรียนกลุ่มนี้ได้รับการยกย่องจากสมาคมวิจัยวิทยาศาสตร์ Sigma Xi ว่าเป็นผลงานยอดเยี่ยมอันดับหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงการนำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาผสมผสานกับวิศวกรรมศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ทำให้ได้รับทุนการศึกษามูลค่า 1,000 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เยาวชนทั้งสามที่เข้าร่วมประกวดประเภททีม ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ประกอบด้วย นายจารุพล สถิรพงษะสุทธิ นายณัฐดนัย ปุณณะนิธิ และนายภูมิยศ วิมลกิตติวัฒน์ โดยผลงานที่ได้รับการยกย่องครั้งนี้คือ “คลื่นการเดินของกิ้งกือ” (Walking with Millipede)
นายเอกรัศมิ์ อวยสินประเสริฐ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงนโยบายการสนับสนุนการพัฒนาเยาวชนทางด้านวิทยาศาสตร์มาโดยตลอด การประกวดเพื่อคัดเลือกนักเรียนตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันที่เวทีระดับโลกของอินเทล ไอเซฟ ก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ได้รับความสนใจจากเยาวชนไทยมาก การเข้าร่วมการแข่งขันอินเทล ไอเซฟ เป็นการกระตุ้นให้เยาวชนไทยฝึกฝนด้านการค้นคว้าวิจัย การวิเคราะห์ มีความคิดสร้างสรรค์และกล้าแสดงออก ที่ผ่านมาเราเริ่มการสนับสนุนเยาวชนไทยเข้าแข่งขันในวิทยาศาสตร์สาขาอื่นเพิ่มขึ้นด้วย เพราะอินเทล ไอเซฟมีสาขาที่จัดแข่งขันมากถึง 15 สาขา ผลการประกวดปีนี้จะเห็นว่า รางวัลชนะเลิศสูงสุดหนึ่งในสามตกเป็นของเยาวชนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งแสดงให้เห็ฯว่าเยาวชนจากเอเชียก็เก่งได้ไม่แพ้เยาวชนจากภูมิภาคอื่นๆ”
การแข่งขันอินเทล ไอเซฟ ซึ่งอินเทลได้เข้าเป็นผู้สนับสนุนหลักตั้งแต่ปี 2540 เป็นการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ผู้เข้าร่วมการแข่งขันซึ่งเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์จะต้องเป็นผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการแข่งขันในระดับประเทศของคนมาก่อน งานประกวดดังกล่าวนี้จัดมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 55 ปีแล้ว โดยมีสถาบัน Science Service ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรเป็นผู้จัดงาน
การที่อินเทลเข้าร่วมสนับสนุนการจัดงานประกวดผลงานด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ระดับนานาชาตินี้ นับเป็นหนึ่งในกิจกรรมความริเริ่มด้านการศึกษาของอินเทล ซึ่งเรียกว่า Intel? Innovation in Education ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนให้เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพสำหรับสังคมแห่งการเรียนรู้
อินเทลเป็นผู้ผลิตชิปคอมพิวเตอร์รายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นผู้ผลิตชั้นนำด้านคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายและผลิตภัณฑ์ด้านการสื่อสาร