ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) เป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยมีการพัฒนาขึ้นมาอย่างรุดหน้า ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากประเทศเกษตรกรรมไปสู่ประเทศที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น ปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและโครงสร้างการผลิตของประเทศ
ภายใต้แนวโน้มการลงทุนของโลกที่กำลังจะฟื้นตัวสู่วัฏจักรขาขึ้น ความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นของเศรษฐกิจภายในภูมิภาค รวมทั้งปัจจัยภายในประเทศในด้านมหภาคและนโยบายด้านการลงทุนของไทยที่เอื้ออำนวย ได้ส่งผลให้ความสนใจของนักลงทุนต่างชาติต่อการเข้ามาลงทุนในไทยมีเพิ่มมากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองในเชิงบวกต่อทิศทางการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในไทยในระยะสั้นถึงระยะกลาง โดยมีปัจจัยบวกมาจากวัฏจักรของการเคลื่อนย้ายการลงทุนโดยตรงในโลกเริ่มมีทิศทางปรับตัวสู่ช่วงขาขึ้น การขยายตัวของปริมาณการค้าโลกโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยี ขณะที่นักลงทุนต่างชาติมองประเทศไทยว่ามีความน่าลงทุนมากเป็นอันดับต้นๆในโลก จากปัจจัยพื้นฐานภายในประเทศของไทยที่เอื้ออำนวย ทำให้คาดว่าจะยังคงมีการลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าประเทศไทยในระดับสูงในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า ซึ่งมองว่าเป็นช่วงของกระแสคลื่นอีกลูกหนึ่งของการหลั่งไหลเข้ามาของการลงทุนจากต่างประเทศ และเป็นกระแสที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิตของไทยไปสู่กิจกรรมที่มีระดับฐานความรู้และเทคโนโลยีที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการลงทุนโดยตรงในปี 2547 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงในระยะสั้นเกี่ยวกับราคาน้ำมัน ซึ่งขอบเขตความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับผลของราคาน้ำมันที่สูงขึ้นต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจและอุปสงค์ในโลก ในกรณีพื้นฐาน ถ้าปัจจัยความผันผวนของราคาน้ำมันเกิดจากภาวะอุปสงค์และอุปทานของโลกต่อสินค้าน้ำมัน ราคาน้ำมันน่าจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ ซึ่งในกรณีนี้คาดว่าคงไม่มีผลกระทบต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของการลงทุนโดยตรงของโลกมากนัก
ในกรณีนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่ามูลค่าเงินลงทุนโดยตรงสุทธิที่จะเข้ามาในช่วงปี 2547 น่าจะมีระดับไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 65 จากมูลค่า 1,815 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2546 แม้ราคาน้ำมันอาจมีความผันผวนและเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องไปจนถึงช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งอาจส่งผลให้นักลงทุนมีการชะลอการลงทุนเพื่อรอดูสถานการณ์ในกรณีโครงการที่ไม่เร่งด่วน แต่ถ้าไม่มีปัจจัยความรุนแรงที่นอกเหนือความคาดหมายอื่นๆจนนำไปสู่วิกฤตการณ์ราคาน้ำมัน จนฉุดให้อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงและนำไปสู่การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและการชะลอการลงทุนแล้ว แนวโน้มการลงทุนโดยตรงที่จะเข้ามาในประเทศไทยในช่วงปี 2547 น่าจะขยายตัวในอัตราที่สูงดังได้กล่าวมาแล้ว
ความท้าทายในอนาคต
ปัจจัยเสี่ยงระยะสั้นเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อเงินลงทุนโดยตรงที่จะไหลเข้ามาในประเทศในระยะสั้น แต่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมุมมองของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือแนวทางที่จะรักษาความสามารถในการแข่งขันของประเทศในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การเปิดรับการลงทุนจากต่างประเทศเป็นกลยุทธที่ประเทศไทยนำมาใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจตลอดระยะที่ผ่านมาและยังคงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต ขณะเดียวกันการที่นักลงทุนต่างชาติตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานที่ตั้งของการลงทุนย่อมมีสาเหตุจากความพร้อมในปัจจัยโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับการลงทุนในกิจกรรมแต่ละประเภท
นับตั้งแต่กลางทศวรรษที่ 1980 ได้เกิดคลื่นกระแสการลงทุนจากต่างประเทศขนาดใหญ่เข้ามายังประเทศไทยแล้ว 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นช่วงที่บริษัทญี่ปุ่นมีการย้ายฐานการผลิตออกนอกประเทศครั้งใหญ่ภายหลังจากการแข็งค่าของเงินเยน อันเป็นจุดเริ่มของการลงทุนที่เข้ามายังไทยระหว่างปี2530-2538 คลื่นลูกที่สองเป็นช่วงรอยต่อระหว่างก่อนและหลังวิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ปี 2540 ซึ่งการปรับโครงสร้างภาคธุรกิจของไทยทำให้มีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีความเห็นว่า นับจากปี 2546 ถึงปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ภายใต้กระแสคลื่นลูกที่สามของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ซึ่งหากมียุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในด้านนโยบายอุตสาหกรรมและนโยบายส่งเสริมการลงทุน ไทยมีโอกาสที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศในแนวทางที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอุตสาหกรรมไปสู่กิจกรรมที่มีการใช้เทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นและมีการสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
แนวนโยบายในการขยายประโยชน์จากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติในการพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ถือเป็นความท้าทายต่อการก้าวข้ามระดับของเทคโนโลยี ซึ่งต้องอาศัยการปฏิรูปและยกระดับโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมที่จะรองรับกิจกรรมเศรษฐกิจที่ต้องใช้ฐานความรู้และเทคโนโลยีในระดับสูงได้ โดยมีการดำเนินการเชิงบูรณาการที่ประสานความร่วมมือจากทุกด้าน ทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุนและนโยบายอุตสาหกรรม ที่เน้นเป้าหมายให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติไปสู่ผู้ประกอบการไทยและบุคลากรชาวไทย และส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยมีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองภายในประเทศ สร้างความเชื่อมโยงระหว่างเทคโนโลยีที่ได้รับจากต่างประเทศและเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นภายในประเทศ
รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับการลงทุนในทุกๆด้าน อาทิ การคมนาคมสื่อสาร โครงสร้างไอที การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การบริการทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพ การจัดการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ดีจะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนให้กับภาคธุรกิจได้อย่างมาก และนอกจากโครงสร้างด้านวัตถุแล้วจะตัองมีการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้เพียงพอและมีความรู้ความชำนาญที่สอดรับกับความต้องการจ้างงานในสาขาที่จะเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้น ปัญหาเชิงโครงสร้างด้านบุคลากรอาจลดความน่าดึงดูดของไทยต่อการลงทุนจากต่างประเทศในอนาคต และเป็นอุปสรรคต่อการไปสู่เป้าหมายของยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมที่วางไว้ในการก้าวขึ้นมาเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคด้วยเช่นกัน