พม่า: ปัญหาการเมืองสะเทือนเศรษฐกิจ

การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของพลเอกขิ่นยุ้นต์ นายกรัฐมนตรีพม่าในฐานะแขกของรัฐบาลไทยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2547 เป็นส่วนหนึ่งของประเพณีที่ผู้นำประเทศอาเซียนจะเดินทางเยือนประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน ภายหลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้นำประเทศ ขณะเดียวกันการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีไทยและนายกรัฐมนตรีพม่าครั้งนี้ น่าจะช่วยประสานความเข้าใจระหว่างกันมากขึ้น

แม้ว่ากลุ่มอาเซียนยึดมั่นในนโยบายไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกอื่นๆ แต่สถานการณ์อึมครึมทางการเมืองของพม่าส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้ประกาศขยายการคว่ำบาตรทางการค้ากับพม่าออกไปอีก 1 ปี ขณะที่สหภาพยุโรปมีท่าทีลังเลต่อการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชีย – ยุโรป (ASEM) เพื่อพิจารณารับรองสมาชิกใหม่ของอาเซียนอย่างพม่า ลาว และกัมพูชา ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ ณ ประเทศ เวียดนาม คาดว่าจะส่งผลกระทบทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของพม่าและภูมิภาคอาเซียนโดยรวม

ศักยภาพทางเศรษฐกิจของพม่า

พม่ามีข้อได้เปรียบทางด้านพื้นฐานเศรษฐกิจที่เหนือกว่าประเทศกำลังพัฒนาและประเทศด้อยพัฒนาหลายประเทศ ทั้งในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ภูมิประเทศที่เหมาะสม ค่าจ้างแรงงานราคาถูก ทำให้พม่ามิอาจปิดกั้นตัวเองจากความสัมพันธ์ทางการค้ากับนานาประเทศได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศเพื่อนบ้านซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดที่มี ศักยภาพสูงในการรองรับสินค้าจากพม่า อาทิ ทรัพยากรป่าไม้มูลค่ามหาศาลอันเป็น สินค้าหลักที่นำรายได้เข้าสู่ประเทศ โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของพม่านับตั้งแต่ทางการจีนประกาศห้ามทำการตัดไม้ซุงในประเทศเมื่อปี 2541 และยังเป็นสินค้าที่พม่าใช้เป็นข้อต่อรองในการแลกเปลี่ยนกับน้ำมันของเวียดนามและอิรัก รวมทั้งพม่ามีโครงการแลกเปลี่ยนก๊าซธรรมชาติกับน้ำมันดีเซลของอินเดีย เนื่องจากพม่าอุดมไปด้วยทรัพยากรก๊าซธรรมชาติจำนวนมาก แหล่งก๊าซธรรมชาติที่เพิ่งสำรวจพบเมื่อต้นปี 2547 คาดว่ามีปริมาณสำรองมากกว่า 6 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และคาดการณ์ว่าอาจสำรวจพบปริมาณก๊าซธรรมชาติในบริเวณใกล้เคียงอีกกว่า 12 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต

นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลก็นับเป็นแหล่งดึงดูดประเทศต่างๆในอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย ให้เข้ามาขอสัมปทานอุตสาหกรรมประมงจากทางการพม่า ล่าสุด มรดกทางวัฒนธรรมของพม่าที่สืบต่อกันมาก็ยังเป็นโอกาสแก่นักลงทุนต่างชาติทั้งในด้านการท่องเที่ยวและการคมนาคมทางอากาศ โดยในส่วนของประเทศไทยนั้นมีสายการบิน 3 สายการบินที่ให้บริการในเส้นทางการบินตรงสู่พม่า

อย่างไรก็ตาม ข้อได้เปรียบทางเศรษฐกิจนานัปการของพม่ามักถูกบดบังด้วยปัญหาทางการเมือง ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหายาเสพติด ปัญหาสิทธิมนุษยชน และความอึมครึมของบรรยากาศการลงทุน ซึ่งปัจจัยต่างๆเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการไหลเข้าของเงินลงทุนจากต่างชาติ ทำให้ระบบเศรษฐกิจพม่าพัฒนาไปได้ไม่เต็มศักยภาพที่มีอยู่

พม่า & ชาติเอเชีย: ลู่ทางการพัฒนาเศรษฐกิจแจ่มใส

โอกาสของการพัฒนาเศรษฐกิจและการค้าของพม่าเปิดกว้างมากขึ้นอีกครั้งจากการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของอาเซียนในปี 2540 ถึงแม้ว่าที่ผ่านมาการค้าขายระหว่างพม่ากับสมาชิกอาเซียนด้วยกันมีมูลค่าไม่มากนัก ทว่าตลาดขนาดใหญ่กว่า 500 ล้านคนของ อาเซียนในปัจจุบันซึ่งพร้อมจะรองรับผลผลิตของประเทศสมาชิกด้วยกัน ประกอบกับการค้าขายสินค้าที่ปราศจากภาษีและอุปสรรค น่าจะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศของพม่า กลไกทางการค้าย่อมจะเป็นตัวขับเคลื่อนและผลักดันให้เกิดการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจในพม่าและในภูมิภาคนี้อย่างแน่นอน

ขณะเดียวกันคาดว่า พม่าจะได้รับประโยชน์จากโครงการความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างอาเซียน-จีน ที่จะจัดตั้งขึ้นในปี 2553 รวมทั้งโครงการความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-อินเดีย ในปี 2555 เพราะพม่ามีโอกาสที่จะพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดจีนและอินเดีย เนื่องจากความได้เปรียบด้านภูมิประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อกันกับประเทศทั้งสอง

นอกจากนี้การที่พม่าเข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา จีน พม่า ลาว เวียดนาม และไทย (GMS-EC) หรือหกเหลี่ยมเศรษฐกิจ และโครงการความตกลงเขตการค้าเสรี BIMST-EC ซึ่งประกอบไปด้วย บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย เนปาล และภูฎาน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างพม่าและประเทศเหล่านี้ได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่า พม่าจะสามารถพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการค้าอย่างเท่าเทียมกัน

ความจำเป็นในการปฏิรูปโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจในประเทศเพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกนับว่าเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน และดูเหมือนว่า รัฐบาลทหารพม่าจะตระหนักดีถึงความสำคัญของการปรับตัวรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยได้จัดให้มีการประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2547 การประชุมดังกล่าวได้แสดงให้เห็นถึงทัศนคติที่ยอมผ่อนปรนของรัฐบาลทหารพม่าในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ท่ามกลางบรรยากาศการค้าและการลงทุนที่ดีขึ้นจากประเทศในภูมิภาคเอเชีย โดยปัจจุบันสิงคโปร์นับเป็นคู่ค้ารายสำคัญที่สุดของพม่า รองลงมา ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย จีน และประเทศไทย

พม่า & ไทย: โอกาสทางการค้าราบรื่น

สำหรับการค้าระหว่างประเทศไทยกับพม่าซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่มีอาณาเขตติดต่อกัน ประกอบด้วย 2 รูปแบบ ได้แก่ การค้าปกติกับการค้าชายแดน โดยในส่วนของการค้าชายแดนนั้น พม่าได้เปิดจุดผ่านแดนที่สำคัญกับประเทศไทย 3 จุด คือ ด่านศุลกากรแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตรงกับด่านท่าขี้เหล็กของพม่า ด่านศุลกากรแม่สอด จังหวัดตาก ตรงกับด่านเมียวดีของพม่า และด่านศุลกากรระนอง ตรงกับด่านเกาะสองของพม่า

ในไตรมาสแรกของปี 2547 มูลค่ารวมของการค้าชายแดนระหว่างประเทศไทยกับพม่าประมาณ 325.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 83.6 ของมูลค่าการค้าทั่วไปโดยรวมระหว่างประเทศไทยกับพม่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศไทยส่งออกสินค้าชายแดนไปพม่าเป็นมูลค่า 114.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าสินค้าชายแดนจากพม่า 210.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศไทยเสียเปรียบดุลการค้าชายแดนกับพม่ามูลค่า 95.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขาดดุลการค้าชายแดนลดลงร้อยละ 44.22 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประเทศไทยสามารถส่งสินค้าผ่านทางชายแดนไปยังพม่าได้เพิ่มขึ้น

ทางด้านการค้าในรูปแบบการค้าปกติระหว่างประเทศไทยกับพม่าในไตรมาสแรกของปี 2547 มีมูลค่า 388.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ พุ่งขึ้นร้อยละ 145 จากระยะเดียวกันของปีก่อน โดยประเทศไทยส่งออกไปพม่าเป็นมูลค่า 148.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และนำเข้าจากพม่ามูลค่า 240.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเทศไทยเสียเปรียบดุลการค้าทั่วไปกับพม่าเป็นมูลค่า 92.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 42.6 ในช่วงเวลาเดียวกัน ทั้งนี้ สินค้าหลักที่ประเทศไทยนำเข้าจากพม่า คือ เชื้อเพลิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 91.6 ของมูลค่าการนำเข้าสินค้าทั้งหมดจากพม่า ในขณะที่สินค้าส่งออกจากประเทศไทยกว่าร้อยละ 82.5 เป็นสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เชื้อเพลิง และสิ่งทอ

การพบปะระหว่างผู้นำไทยและผู้นำพม่าครั้งนี้น่าจะทำให้บรรยากาศทางการค้า ปัญหาการค้าชายแดน ปัญหาชนกลุ่มน้อย และปัญหายาเสพติดระหว่างประเทศไทยกับพม่าคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น แต่ด้วยอิทธิพลของโลกาภิวัตน์ ซึ่งทุกความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ล้วนเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้การเยือนประเทศไทยของผู้นำพม่าในครั้งนี้จึงไม่ใช่เพียงการสร้างโอกาสทางการค้าของทั้งสองประเทศหรือการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างกันในการแก้ไขปัญหาและแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสร้างสรรค์เท่านั้น นัยสำคัญของการสานต่อเจตนารมณ์ของ Bangkok Process ที่ต้องการจะเห็นความปรองดองในชาติควบคู่ไปกับการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจของพม่าเพื่อก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก นับเป็นประเด็นที่ท้าทายพม่า และนานาประเทศต่างเฝ้ามองอย่างใกล้ชิด