รายงานภาวะตลาดหุ้นและการเงิน ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2547

ประเด็นตลาดวันนี้

ดัชนีตลาดหุ้น SET วันอังคารที่ 15 มิ.ย. ปิดตลาดที่ 613.76 จุด ลดลงจากวันก่อนเล็กน้อย โดยปรับลง 0.24 จุด หรือ ร้อยละ 0.04 นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางตลาด ประกอบกับได้ แรงกดดันจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และ จีน ซึ่งจะชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

– เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงไปเมี่อเทียบกับเงินเยน และ เงินยูโร ในวันนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 110.7 เยน/ดอลลาร์ฯ, 1.2074 ดอลลาร์ฯ/ยูโร แต่แข็งค่าขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับเงินบาท โดยอยู่ที่40.927 บาท/ดอลลาร์ฯ
ดัชนีNikkei ในอังคารปรับตัวลดลงไปจากเมื่อวานนี้ 103.96 จุด หรือ ร้อยละ 0.9 โดยปิดที่ระดับ 11,387.7 จุด โดยได้แรงกดดันจากความวิตกกังวลของนักลงทุนว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

– ตลาดหุ้นDow Jones ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ปิดตลาดลดลงไป 75.37 จุด คิดเป็นร้อยละ 0.72 โดยปิดที่ระดับ 10,334.73 จุด โดยได้แรงกดดันจากความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุน ในเรื่องของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงกว่าที่คาดไว้ของสหรัฐฯ หลังจากการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกในเดื่อน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้นเกินความคาดหมาย

– ยอดขาดดุลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ได้เพิ่มขึ้นเป็น 4.83 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จาก 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงขึ้นเกินความคาดหมายกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมที่ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เนื่องจากการลดลงอย่างมากของสินค้าส่งออก ในขณะที่ยอดนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาการขาดดุลการค้าถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่มาถ่วงความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ

– ธนาคารแห่งประเทศไทยได้มีการเตรียมออกพันธบัตรออมทรัพย์ วงเงินประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท ในเดือน ส.ค. – ก.ย. นี้ ตามแผนชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟู และ พัฒนาระบบสถาบันการเงิน โดยจะออกขายให้แก่ประชานทั่วไป สำหรับอัตราดอกเบี้ยจะเป็นไปตามตลาดพันธบัตร ณ. ที่ออกขาย ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าอัตราพันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกในปี 2545 แต่จะสูงกว่า พันธบัตรออมทรัพย์ที่ออกในปี 2546

– ปลัดกระทรวงพลังงานเผยว่า รัฐบาลจะคงค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ(เอฟที)ในเดือน มิ.ย. – ก.ย. ไว้ที่ระดับเดิมที่ 38.28 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าวจะยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยอยู่ที่ 2.36บาท/หน่วย สำหรับค่าไฟฟ้าเอฟทีได้ปรับขึ้น 0.81 สตางค์/หน่วย มาที่ 39.09 สตางค์ต่อหน่วยในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นผลมาจากค่าเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น จะนำไปรวมไว้ในการคำนวณรอบถัดไป

ภาวะตลาดหุ้น

Japan Nikkei-225
ตลาดหุ้นญี่ปุ่นในวันอังคาร ปรับตัวลดลงไป 103.96 จุด หรือ ร้อยละ 0.9 โดยสาเหตุหลักยังคงมาจากความวิตกกังวลของนักลงทุนที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่จะปรับขึ้นเพียง 0.25% ทั้งนี้ในช่วงเช้าดัชนีได้ปรับลดลงไปถึงระดับที่ 11,349.43 หลังจากมีข่าวลือเกี่ยวกับการขู่วางระเบิด ธนาคารรอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ สาขาโดเกียว แต่หลังจากไม่พบวัตถุระเบิดตลาดก็ได้ปรับตัวขึ้นมา ทั้งนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงชะลอการลงทุนเพื่อรอฟังผลดัชนีราคาผู้บริโภคสหรัฐฯเดือน พ.ค.ที่จะประกาศในวันอังคาร(ตามเวลาของสหรัฐฯ)

US ‘s Dow Jones
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาปิดตลาดลดลงไป 75.37 จุด หรือ ร้อยละ 0.72 โดยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10,334.73 จุด จากการที่นักลงทุนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเพิ่มขึ้นว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯจะปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงกว่าที่คาดไว้ หลังจากการเปิดเผยตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือน พ.ค. ที่เพิ่มขึ้นถึง 1.2% ซึ่งมากกว่าที่คาดไว้เดิมที่ 1% โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่งและ ราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง นอกจากนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่ยังรอการเปิดเผยข้อมูลดัชนีผู้บริโภคประจำเดือน พ.ค. ในเช้าวันอังคาร ซึ่งคาดกันว่าอาจปรับตัวขึ้นถึง 0.4% โดยตัวเลขดังกล่าวถือเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างที่จะกดดันธนาคารกลางสหรัฐฯให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างมากในปลายเดือนนี้

US’s NASDAQ
ดัชนี NASDAQ ในวันจันทร์ ลดลงไป 29.88 จุด หรือ ร้อยละ 1.49% โดยปิดตลาดอยู่ที่ 1,969.99 จุด ทั้งนี้ตลาดได้รับแรงกดดันเช่นเดียวกันเช่นเดียวกับดัชนี Dow Jones ในเรื่องของความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นของนักลงทุนต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ หุ้นที่ปรับตัวลง ได้แก่ หุ้นในกลุ่มผู้ผลิตอุปกรณ์สื่อสาร

Thailand’s SET
ตลาดหุ้นไทยปิดตลาดลดลงจากวันจันทร์ที่ผ่านมา 0.24 จุด หรือ ร้อยละ 0.04 มาอยู่ที่ระดับ 613.76 จุด มูลค่าการซื้อขายเบาบางที่สุดในรอบ 1 ปีที่ 9,480.99 ล้านบาท ตลาดมีความผันผวนจากการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรของนักลงทุน และยังคงแกว่งตัวอยู่ในช่วงแคบๆ จากการที่นักลงทุนชะลอการลงทุนเพื่อรอดูทิศทางตลาด ในขณะที่ยังมีความกังวลเรื่องแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงของสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจะส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก

สรุปการเคลื่อนไหวของค่าเงิน

Baht/USD
เงินดอลลาร์สหรัฐฯแข็งค่าขึ้นไปอีกเมื่อเทียบกับเงินบาท เช่นเดียวกับค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค อีกทั้งเงินบาทยังขาดปัจจัยใหม่ๆที่มาช่วยหนุนค่า โดยเงินบาทได้อ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 9 เดือน แนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่อาจมากกว่าระดับที่คาดไว้ และสถานการณ์ภาคใต้ ยังคงเป็นปัจจัยที่มากดดันค่าเงินบาท

Yen/USD
เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงไปเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเงินเยน โดยเงินเยนได้แรงหนุนจากการที่ผลตอบแทนในพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภท 10 ปี ได้ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 3 ปีครึ่ง โดยได้แรงหนุนจากความคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่นอาจพยายามยุติการใช้นโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายที่อัตราดอกเบี้ย 0% ทั้งนี้นักลงทุนจะให้ความสนใจไปที่การประกาศตัวเลขดัชนีผู้บริโภคเดือน พ.ค.ของสหรัฐฯ และ แถลงการณ์ของนาย อลัน กรีนสแปน ต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารของวุฒิสภา ที่จะมีขึ้นในวันอังคาร(ตามเวลาของสหรัฐฯ) ตลอดจนท่าที่ของผู้ว่าการธนาคารกลางของญี่ปุ่นที่มีต่อการที่พันธบัตรระยะยาวในญี่ปุ่นมีอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นมาก

USD/Euro
เงินดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนค่าลงไปเมื่อเทียบกับเงินยูโรในวันนี้ โดยอยู่ที่ระดับ 1.2074ดอลลาร์ฯ/ยูโร ทั้งนี้เป็นผลมาจากตัวเลขการขาดดุลการค้าของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 4.83 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ยังมีแรงหนุนให้กับมาแข็งค่าขึ้นอีก หากว่าตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน พ.ค.เพิ่มสูงขึ้นกว่าที่คาด ซึ่งจะส่งผลถึงแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของสหรัฐฯ

สรุปการเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนในตลาดตราสารหนี้

Thai Gov. Bond 1 Year / Thai Gov. Bond 5 Years / Thai Gov. Bond 10 Years / Thailand Bond Value (MB)

มูลค่าการซื้อขายในวันนี้อยู่ที่ 12,681.95ล้านบาท ลดลงจากวันก่อน 20% อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะสั้นแทบไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรระยะกลาง และ ระยะยาวเพิ่มสูงขึ้นอยู่ในช่วง 1 ถึง 3 bps.

Us Treasury Bond 10 Years
ราคาของ US Treasuries ปรับตัวลดลงอย่างมากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทั้งนี้นักลงทุนต่างวิตกกังวลว่าตัวเลขอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. ที่จะประกาศในวันอังคารมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแรง ทำให้อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะ yield ของ Us 10 years Treasury bond เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 4.87% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี