Peak Oil – วิกฤตที่ไทย…ต้องเตรียมการรับมือ

ทิศทางราคาน้ำมันโลกช่วงเวลาที่เหลือของปี 2547 ยังคงผันผวนและทรงตัวในระดับสูง ถึงแม้ว่าขณะนี้จะอ่อนตัวลงมาต่ำกว่าระดับที่วิ่งขึ้นไปทำสถิติสูงสุดในรอบ21ปีที่บาร์เรลละ 42.45 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2547 นี้ ทั้งนี้เป็นผลมาจากแรงกดดันของปัจจัยสำคัญอย่างน้อย 4 ประการ นั่นคือ ปัญหาความมั่นคงทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น กำลังการผลิตน้ำมันในหลายประเทศลดปริมาณลงและการกักตุนน้ำมัน ซึ่งทั้ง 4 ปัจจัยนี้มีผลกดดันตลาดน้ำมันโลกให้มีราคาสูงในระยะต่อไป

อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษนั่นก็คือ “Peak Oil” อันเป็นสถานการณ์ที่กำลังการผลิตน้ำมันของโลกเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคอยู่ในระดับสูงสุด เมื่อผ่านจุดนี้ไปความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบของโลกจะเริ่มลดลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ซึ่งในขณะนี้สถานภาพการผลิตน้ำมันของโลกในหลายๆประเทศได้เข้าสู่ภาวะ Peak Oil แล้ว และถ้าหากไม่มีการค้นพบแหล่งน้ำมันใหม่แล้ว (เพื่อตอบสนองความต้องการน้ำมันที่ไม่มีวันสิ้นสุดของมนุษย์) ในไม่ช้าโลกก็จะเผชิญกับวิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำมันที่รุนแรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และราคาน้ำมันดิบก็จะพุ่งสูงขึ้นเกินกว่าในปัจจุบันเป็นอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยเองก็ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศตรึงราคาน้ำมันในประเทศเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2547 ที่ผ่านมา เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยหวังว่าภาวะราคาน้ำมันโลกจะอ่อนตัวลงในไม่ช้า แต่จนถึงปัจจุบันนี้ราคาน้ำมันโลกก็ยังทรงตัวในระดับที่สูงอยู่ ส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงชดเชยไปแล้วกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในขณะนี้ได้มีการปรับราคาน้ำมันเบนซินขึ้นไปแล้ว 3 ครั้งรวม 1.80 บาทต่อลิตร ทำให้เบนซินออกเทน 95 มีราคาลิตรละ 18.79บาท เบนซินออกเทน 91 ลิตรละ17.99บาท แต่ยังคงตรึงราคาน้ำมันดีเซลหมุนเร็วไว้ที่ ลิตรละ 14.59บาทต่อไป

ราคาน้ำมันโลก: 4 ปัจจัยสำคัญ….แรงกดดันทิศทางราคา

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบของโลกสามารถสรุปได้ดังต่อไปนี้

1. ปัญหาความมั่นคงทางการเมืองในประเทศแถบเอเชียตะวันออกกลาง

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าประเทศที่เป็นเจ้าของทรัพยากรล้ำค่านี้และผลิตน้ำมันส่งออกคือ กลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) และกลุ่มประเทศโอเปกนี้เอง สมาชิกส่วนใหญ่คือประเทศในแถบอ่าวเปอร์เซีย ทั้งสิ้น และทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบ หรือสงครามในบริเวณดังกล่าว วิกฤตการณ์พลังงานเกี่ยวกับราคาน้ำมันจะถูกหยิบยกขึ้นเป็นประเด็นในการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยเสมอ ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์สงครามระหว่างอิรักและอิหร่านในปี 2523 สงครามระหว่างอิรักและคูเวตในปี 2533 สงครามการโค่นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน ที่เริ่มต้นในปี 2546 และปัญหาการก่อการร้ายในประเทศซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น ในจำนวนสมาชิกประเทศผู้ผลิตน้ำมันในตะวันออกกลางทั้ง10ประเทศ ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศที่มีปริมาณสำรองของน้ำมันและก๊าซธรรมชาติสูงเป็นอันดับ1 รองลงมาคือ ประเทศอิรัก และอิหร่านตามลำดับ

จากสถิติที่ผ่านมานับแต่ปี 2533 ถึงปัจจุบันราคาน้ำมันดิบจากที่เคยอยู่ในอัตราเฉลี่ยบาร์เรลละ 25 ดอลลาร์สหรัฐได้ถีบตัวสูงขึ้นถึงบาร์เรลละ 42.45 ดอลลาร์สหรัฐในต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา และแม้ว่าประเทศซาอุดีอาระเบียจะประกาศเพิ่มกำลังการผลิตจากเดิมอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขึ้นไปเป็น 2.0 ล้านบาร์เรลต่อวันแล้วก็ตาม ก็ยังไม่เป็นการเพียงพอต่อความต้องการในตลาดหรือฉุดราคาให้ต่ำลงได้

2. การเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้น

การที่เศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นก็มีผลให้ความต้องการด้านพลังงานเพิ่มขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะประเทศจีนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างรวดเร็ว ในปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้นมากและจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีการใช้น้ำมันสูงเป็นอันดับสองของโลกรองลงมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา จากกราฟจะเห็นได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. 2546 ความต้องการใช้น้ำมันดิบโดยรวมของโลกได้เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2545 มาอยู่ที่ระดับ 78.8 ล้านบาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 ล้านบาร์เรล/วัน ส่วนปริมาณการผลิตโดยรวมของโลกในปี พ.ศ. 2546 อยู่ในระดับเดียวกับปริมาณการใช้ที่ 78.8 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2545 ประมาณ 2.8 ล้านบาร์เรล/วัน ในปี พ.ศ. 2547ปริมาณความต้องการของนํ้ามันคาดว่าจะอยู่ในระดับประมาณ 80.6 ล้านบาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 % จากปีที่ผ่านมา โดย 60% ของความต้องการนํ้ามันมาจากประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศจีนและประเทศที่กำลังพัฒนาในทวีป เอเชีย

3. กำลังการผลิตน้ำมันในหลายประเทศลดปริมาณลง

ในปัจจุบันผู้ผลิตน้ำมันในหลายประเทศประสบกับภาวะกำลังการผลิตน้ำมันลดลง เช่น บ่อน้ำมันที่ประเทศโคลัมเบีย ที่มีชื่อว่า Cruz Beana จากที่เคยผลิตได้ประมาณ 500,000 บาร์เรล/วัน แต่ในปี 2000 กำลังการผลิตลดลงเหลือประมาณ 200,000 บาร์เรล/วัน และแหล่งน้ำมัน Prudhoe Bay ที่อลาสก้า จากที่เคยผลิตได้วันละประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรล แต่ในปัจจุบันกำลังการผลิตลดลงเหลือเพียงประมาณ 350,000 บาร์เรล/วัน ในขณะเดียวกันก็เพิ่มการนำเข้าน้ำมันจากกลุ่มโอเปก (OPEC) ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำมันมีราคาสูงขึ้น

4. การกักตุนน้ำมัน

การกักตุนน้ำมันเพื่อการเก็งกำไรของกองทุน เฮดจ์ ฟันด์ (Hedge Fund) รวมถึงกระแสข่าวที่สหรัฐและประเทศจีนจะทยอยซื้อน้ำมันเข้ามาเก็บสำรองตั้งแต่ต้นปี 2547 ซึ่งมีส่วนทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น

Peak Oil: ก้าวไปสู่จุดวิกฤตแล้วหรือยัง

กระแสเกี่ยวกับภาวะ Peak Oil เริ่มเกิดขึ้นเมื่อ Dr. M. King Hubbert นักธรณีฟิสิกส์ ซึ่งได้คิดค้นหลักการคำนวณหาค่า Peak Oil และได้ตีพิมพ์ทฤษฎีของเขาในหนังสือ Energy and Power ในปี 2509 ซึ่งได้คาดคะเนภาวะ Peak Oil ในประเทศสหรัฐอเมริกาว่าจะเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2513 ซึ่งในครั้งนั้นผลการคาดคะเนก็สะท้อนให้เห็นว่าทฤษฎีของเขานั้นเป็นความจริง

ภาวะของ Peak Oil คือระดับที่ความสามารถในการผลิตน้ำมันของโลกเพื่อตอบสนองความต้องการบริโภค อยู่ในระดับสูงสุด ซึ่งหลังจากผ่านจุดนี้ไปแล้วความสามารถในการผลิตน้ำมันของโลกจะเริ่มลดลงตามปริมาณน้ำมันที่เหลืออยู่ใต้ดิน ทั้งนี้จากกรณีศึกษาจากแหล่งผลิตน้ำมันในที่ต่างๆของโลก ในปัจจุบันพบว่า ได้มีการใช้น้ำมันดิบใต้ดินไปแล้วกว่า 50 % ของปริมาณน้ำมันที่มี กล่าวคือเมื่อน้ำมันสำรองใต้ดินลดลง ประกอบกับความสามารถในการผลิตน้ำมันดิบเริ่มประสบกับการชะลอตัวจึงส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นนั่นเอง ซึ่งนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ด้านพลังงานต่างให้ความสนใจในการคาดการณ์ภาวะ Peak Oil ดังกล่าว ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด

นักวิชาการหลายท่านได้ใช้ทฤษฎี Hubbert Curve ของ Dr. M. King Hubbert มาใช้ในการคำนวนหา Peak Oil ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มขึ้นในช่วงประมาณปี พ.ศ. 2553-2563 อย่างไรก็ตามภาวะ Peak Oil นี้อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดไว้ก็เป็นได้หากปริมาณการใช้น้ำมันของประชากรโลกเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้

ปีที่จะเกิดวิกฤตการณ์ Peak Oil นักวิชาการ

2548-2553 Campbell, 2543
2547 Bartlett, 2543
2550 Duncan and Youngquist, 2542
2562 Bartlett, 2543
2563 Edwards, 2540
2553-2563 International Energy Agency, 2541

ที่มา: http://www.shuartfarm.fsnet.co.uk/technology/oil_production_curve.htm

จะเห็นได้ว่าระยะเวลาที่เกิด Peak Oil ในแต่ละประเทศจะเกิดขึ้นต่างกัน โดยประเทศสหรัฐอเมริกาได้เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2513 เป็นต้นมา ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นประเทศที่ใช้น้ำมัน และพลังงานรูปอื่นๆมากที่สุดในโลกทั้งผลิตขึ้นเองและนำเข้า ในช่วงที่ผ่านมามีสัญญาณบอกเหตุดังกล่าว โดยจากข้อมูลกำลังการผลิตน้ำมันในแหล่งน้ำมันแถบอลาสกา พบว่ากำลังการผลิตจากเดิมในปี 2531 ผลิตได้ 2.017 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี พ.ศ. 2547 กลับลดลงเหลือเพียงแค่ 938,000 บาร์เรลต่อวัน

ส่วนประเทศยุโรปในแถบทะเลเหนือ ก็เริ่มเข้าสู่ช่วง Peak Oil แล้วเช่นกัน ประเทศในแถบนี้ให้ความสนใจและศึกษาเรื่องภาวะ Peak Oil ควบคู่ไปกับการศึกษาด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง และมีความพยายามในการแก้ปัญหานี้อย่างเปิดเผยและเป็นรูปธรรมมากที่สุดและที่มีข้อมูลเห็นได้ชัด คือ ประเทศอังกฤษ และนอรเวย์ จากบทวิเคราะห์ของ ASPO (Association for the Study of Peak Oil & Gas) ซึ่งได้รับการยืนยันจากกรมการค้าและอุตสาหกรรมของอังกฤษ ได้ชี้ว่าการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของประเทศอังกฤษในแถบทะเลเหนือ ภายในปี 2563 จะลดลงจนกระทั่งหมดไปในที่สุด

ประเทศนอรเวย์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สำคัญประเทศหนึ่งในแถบทะเลเหนือ มีรายได้หลักจากการส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติคิดเป็น 20 % ของ GDP ขณะนี้นอรเวย์กำลังประสบปัญหากำลังการผลิตเช่นกัน เนื่องจากประเทศอื่นๆในแถบทะเลเหนือต่างประสบปัญหาภาวะความสามารถในการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเริ่มถดถอย ซึ่งหากนอรเวย์เร่งกำลังการผลิตส่งออกเพื่อตอบสนองตลาด แน่นอนที่สุดในเวลาไม่ช้านอรเวย์ก็ต้องประสบปัญหาเช่นเดียวกับประเทศอังกฤษและประเทศอื่นๆ และจากคำสัมภาษณ์ของนาย Einar Stensnaes รัฐมนตรีพลังงานของประเทศนอร์เวย์ ผ่านสำนัก BBC Online ว่า ถึงเวลาแล้วที่นอร์เวย์จะต้องมองหาแหล่งรายได้ในธุรกิจอื่น เพื่อทดแทนอุตสาหกรรมส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เป็นอยู่เช่นปัจจุบัน

บ่อน้ำมันที่มีกำลังการผลิตลดลง

บ่อน้ำมัน กำลังการผลิตสูงสุด

Peak Prod. (b/d) กำลังการผลิตในปี 2543. (b/d)

Oseberg 502,644 (ปี 2537) 264,973
Gullfaks 530,000(ปี 2537) 226,806
Brage 110,337(ปี 2539) 45,267

ที่มา : The Norwegian Petrolieum Directorate

จากข้อมูลในตารางแสดงให้เห็นว่าบ่อน้ำมันต่างๆมีกำลังการผลิตลดลงเรื่อยๆทำให้บริษัทน้ำมันต่างๆต้องทุ่มเทเงินลงทุนเพื่อค้นหาแหล่งน้ำมันใหม่ๆ แต่แหล่งที่ค้นพบกลับมีสภาพภูมิประเทศที่เสี่ยงอันตรายเพิ่มมากขึ้น เช่น ในมหาสมุทรที่ไกลจากชายฝั่ง ลึกลงไปใต้พื้นดิน ใต้พื้นน้ำแข็ง ทำให้การลงทุนต้องใช้กำลังทุนทรัพย์จำนวนมหาศาล และอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาใช้ ซึ่งในปี 2546 ที่ผ่านมาผลการสำรวจกลับไม่พบแหล่งน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่มีปริมาณมากพอดังในอดีต แม้นค้นพบว่ามีก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าปริมาณของน้ำมันที่ได้จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่

ส่วนในประเทศในแถบตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกน่าจะประสบภาวะ Peak Oil ช้ากว่าที่อื่นๆ ดังรายงานผลการสำรวจของบริษัท บริติช ปิโตรเลียม ของประเทศอังกฤษพบว่า มีปริมาณน้ำมันที่อยู่ใต้ดิน คิดเป็นสัดส่วน 65.4 % ของโลก ในจำนวนนี้ประเทศซาอุดีอาระเบียและประเทศอิรักมีน้ำมันสำรองอยู่ประมาณ 25% และ 11% ตามลำดับ ซึ่งหากทั่วโลกยังมีปริมาณการใช้น้ำมันดิบที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ประเทศในแถบตะวันออกกลางน่าจะเริ่มเข้าสู่ภาวะ Peak Oil ประมาณปี 2563 ซึ่งหมายความว่าในอนาคตที่ไม่นานนับจากนี้ต้นทุนในการผลิตน้ำมันจากแหล่งต่างๆก็จะสูงขึ้นและอาจส่งผลต่อทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก

แน่นอนที่สุดประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายซึ่งยังต้องอาศัยน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักในการพัฒนาประเทศและมีการแข่งขันการเติบโตทางเศรษฐกิจ ประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยลงมาคือ ประเทศที่ร่ำรวย ซึ่งมีทุนมหาศาลสามารถสำรองน้ำมันไว้ได้เต็มที่

การตื่นตัวต่อภาวะ Peak oil ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของประชากรโลกอย่างกว้างขวางทำให้ทั่วโลกต่างรณรงค์เพื่อหาพลังงานทดแทนน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน ที่นับวันจะร่อยหรอลงไป แต่พลังงานทดแทนแหล่งใหม่จะต้องหาได้ทั่วไปและไม่มีวันหมดไปอีกทั้งไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ประเทศไทยกับการหาพลังงานทดแทน: เตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหา

ถึงแม้ว่าจะมีการดำเนินมาตรการประหยัดพลังงานตามมติคณะรัฐมนตรีอันได้แก่ การขอความร่วมมือปิดสถานีเติมน้ำมันตั้งแต่เวลา 24.00-05.00 น. ที่เคยใช้ได้ผลมาแล้วเมื่อปี พ.ศ. 2523 การปิดไฟตามป้ายโฆษณาหลัง 22.00 น. มาตรการปิดไฟฟ้าบนถนนบางสาย การเพิ่มภาษีป้ายทะเบียนวงกลมสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลที่มีขนาดเครื่องยนต์ 2500 ซีซี และการให้หน่วยงานราชการช่วยกันประหยัดไฟฟ้า แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะยาวแล้วการหาแหล่งพลังงานในรูปแบบอื่นทดแทนยังคงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เนื่องจากการผลิตน้ำมันทั้งโลกกำลังเข้าสู่จุด Peak Oil และในวันหนึ่งทั้งน้ำมันและก็าซธรรมชาติต่างก็จะหมดไป โดยในขณะนี้ประเทศไทยได้มีการรณรงค์ให้มีการใช้พลังงานทดแทนเพื่อนำมาแทนน้ำมันกันมากขึ้นเช่น การเสนอแนะให้ใช้แก๊สโซฮอล์สำหรับผู้ใช้ยานพาหนะ โดยแก๊สโซฮอล์มีส่วนผสมของน้ำมันเบนซินกับเอทานอล ซึ่งเอทานอลนั้นเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์เกิดจากการนำอ้อยมาแปรรูปเป็นแอลกอฮอล์ มีคุณสมบัติการใช้งานเทียบเท่าน้ำมันเบนซิน 95 และมีราคาถูก

อย่างไรก็ตามการนำแก๊สโซฮอล์มาใช้นั้นช่วยบรรเทาปัญหาน้ำมันได้ในระยะสั้นถึงระยะกลาง เนื่องจากแก๊สโซฮอล์ก็ยังมีส่วนผสมของน้ำมันเบนซินอยู่ ซึ่งถ้าวันหนึ่งน้ำมันเบนซินเกิดมีการขาดแคลนขึ้นมาและมีราคาแพงขึ้นมาก ก็จะส่งผลกระทบต่อการผลิตแก๊สโซฮอล์เช่นกัน ดังนั้นสิ่งที่ควรคำนึงถึงในขณะนี้ก็คือการหาแหล่งพลังงานทดแทนอี่นๆที่จะสามารถนำมาใช้เพื่อลดการพึ่งพาน้ำมันในระยะยาว ทั้งนี้การใช้พลังงานทดแทนของไทยมีการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่ พลังงานน้ำที่เริ่มนำมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่ปี 2539 และในปี 2545 มีพลังงานกระแสไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานน้ำเมื่อเทียบกับน้ำมันดิบเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,656 พันตัน พลังงานลมที่การเริ่มทำโครงการผลิตไฟฟ้ากังหันลมของการไฟ้ฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่แหลมพรหมเทพ จังหวัดภูเก็ต โดยมีกำลังการผลิต 150 KW สูงสุด พลังงานแสงอาทิตย์โครงการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนที่ไม่มีระบบจำหน่ายไฟฟ้าเข้าถึง และฐานปฏิบัติการกองร้อยตำรวจตระเวนชายแดนที่ 336 และ 337โครงการประเมินผลทางด้านเทคนิค เศรษฐกิจ และสังคมของการจัดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าประจุ แบตเตอรี่ด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามโครงการการใช้พลังงานทดแทนเมื่อกระจายสู่ชุมชนโดยเฉพาะชนบทกลับไม่เกิดผลในวงกว้างเท่าที่การยกตัวอย่าง เช่น โครงการพลังน้ำขนาดเล็กมากจากเดิมมี 59 โครงการแต่ในปัจจุบัน ลดลงเหลือเพียง 23 โครงการ ซึ่งสาเหตุของปัญหาเกิดจากชาวบ้านขาดความรู้ความเข้าใจในการบำรุงรักษาเครื่องจักรและขาดความเข้าใจในการจัดการและการสนับสนุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ ทำให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้ายังมีราคาสูง โครงการต่างๆขาดความต่อเนื่องและการประสานงานที่ดี จึงทำให้ไม่ประสบผลเท่าที่ควร

มุมมองศูนย์วิจัยกสิกรไทย: ไทยต้องดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า ในการส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานทดแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้:-

1. กลไกราคาน้ำมันในประเทศควรสอดคล้องกับการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน

แม้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าการตรึงราคาน้ำมันอาจเป็นมาตรการที่มีความจำเป็นในระยะสั้น แต่ก็ควรใช้ในขอบเขตที่จำกัด ทั้งนี้เพราะราคาน้ำมันที่ต่ำกว่าความเป็นจริงไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีแรงจูงใจที่จะหันไปลองใช้พลังงานทดแทนต่างๆเท่าที่ควร กล่าวคือ กลไกราคาน้ำมันควรจะเอื้อต่อการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก โดยทางการควรเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการตรึงราคาเฉพาะกรณีฉุกเฉินและในระยะสั้นๆเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสร้างวินัยที่ดีในการใช้พลังงานแก่ประชาชนในประเทศ

2. มาตรการในการกระตุ้น และชักจูงให้เกิดความร่วมมือประหยัดพลังงาน

โดยใช้มาตรการจูงใจด้านภาษี เช่น การลดหย่อนภาษีเพื่อส่งเสริมให้ใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลขนาดเล็กที่ประหยัดพลังงาน หรือการลดภาษีสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่เริ่มมีการใช้พลังงานทดแทน ลดภาษีนิติบุคคลแก่กิจการที่สามารถประหยัดการใช้พลังงานได้ตามที่ทางการกำหนด เช่น ลดการใช้พลังงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้ร้อยละ 10 ของการใช้พลังงานในปีที่ผ่านมาก็ให้ลดภาษีนิติบุคคลลงมาเหลือร้อยละ 25 จากอัตราปัจจุบันที่เรียกเก็บร้อยละ 30 เป็นต้น

3. การกำหนดอัตราภาษีน้ำมันในระดับที่เหมาะสม

ในปัจจุบันนี้ประเทศทางแถบยุโรปตะวันตกในหลายประเทศมีอัตราการจัดเก็บภาษีสำหรับน้ำมันค่อนข้างสูง จุดประสงค์ของการเก็บภาษีในอัตราที่สูงนั้น รัฐบาลต้องการลดการใช้น้ำมันลงเพื่อรับมือกับปัญหา Peak Oil และยังเป็นการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศเหล่านี้มีราคาที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศอังกฤษน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว อัตราภาษีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 75 ของราคาขายปลีก ประเทศฝรั่งเศสน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว อัตราภาษีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 73 ของราคาขายปลีก ประเทศเยอรมันน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว อัตราภาษีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 71 ของราคาขายปลีก ประเทศอิตาลีน้ำมันเบนซินชนิดไร้สารตะกั่ว อัตราภาษีอยู่ที่ประมาณร้อยละ 68 ของราคาขายปลีก เป็นต้น ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราจัดเก็บอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ของราคาขายปลีก

ดังนั้นหากมีการใช้มาตรการปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมในอัตราที่สามารถสะท้อนให้เกิดความร่วมมือในการประหยัดพลังงานอย่างจริงจังก็จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว นอกจากนี้แล้วรัฐบาลสามารถนำรายได้จากภาษีดังกล่าวไปพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ อาทิ สนับสนุนโครงการวิจัยพลังงานทางเลือกต่างๆ จัดวางระบบขนส่งมวลชนให้มีประสิทธิภาพ และเร่งพัฒนาระบบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปัจจุบันนี้กำลังประสบปัญหาด้านมลภาวะเป็นพิษ อีกทั้งยังเป็นการสร้างวินัยที่ดีแก่การใช้น้ำมันของประชาชนในประเทศ ด้วย

4. ส่งเสริมการลงทุนในการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน

โดยรัฐบาลควรเร่งดำเนินการและเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟ้ฟ้าและพลังงานจากแหล่งอื่น เช่น แสงอาทิตย์, ลม, น้ำ, และชีวมวล ทั้งนี้เพราะการลงทุนและเร่งผลักดันการสร้างสถานีก๊าซธรรมชาตินั้นเป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น เพราะวันหนึ่งก๊าซธรรมชาติก็จะหมดลงและยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

5. ส่งเสริมอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ สำหรับใช้ในการผลิตพลังงานทดแทน อ

าทิ โซลาเซลล์ กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น เพื่อช่วยให้ประชาชนทั่วไปสามารถซื้อหาได้ในราคาถูก และติดตั้งได้ง่าย โดยเฉพาะระบบพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถนำมาติดตั้งที่อาคารบ้านเรือนเพื่อลดการใช้พลังงานไฟฟ้า และเป็นการประหยัดค่าไฟ เมื่อมีการใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์เกิดขึ้น เมี่อถึงวิกฤตการณ์พลังงานขาดแคลนป้ายโฆษณาและไฟฟ้าตามถนนก็ยังสามารถส่องแสงสว่างไสวได้ตลอดคืน

6. ส่งเสริมการจัดตั้งเมืองตัวอย่าง ในการใช้พลังงานทดแทนให้เห็นเป็นรูปธรรม

รัฐบาลควรผลักดันโครงการเมืองตัวอย่าง โดยเริ่มจากนิคมอุตสาหกรรม หน่วยงานรัฐบาล อาคารที่สร้างใหม่ หรือโครงการบ้านจัดสรรใหม่ หรืออาคารสำนักงานที่อยู่อาศัยให้หันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์โดยออกเป็นกฎหมายบังคับสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน

7. รัฐบาลควรจะทุ่มงบประมาณในด้านการค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน

โดยการจัดงบประมาณให้กับสถาบันที่มีการทำวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทดแทน เช่น ตามมหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาต่างๆ

8. ส่งเสริมระบบขนส่งให้มีความสะดวก

โดยการจัดระบบผังเมืองกำหนดเส้นทางขนส่ง และ พัฒนาระบบบริการให้มีประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อเป็นการประหยัดพลังงาน

โดยสรุปแล้วศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ปัญหาพลังงานเป็นปัญหาระยะยาวของประเทศ โดยรัฐบาลไทยควรที่จะมีการกำหนดเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งพลังงานอื่นเพื่อทดแทนน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในระยะยาวเพราะสิ่งที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติสักวันหนึ่งก็คงจะหมดไปหรือมีต้นทุนที่แพงเกินกว่าจะนำมาใช้ได้อย่างในปัจจุบัน ทั้งนี้ในการที่จะบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนดังกล่าวนั้น ทางการอาจจำเป็นที่จะต้องกำหนดกลยุทธ์และมาตรการในหลายด้านโดยประเด็นสำคัญประการหนึ่งก็คือ กลไกราคาน้ำมันในประเทศจะต้องเอื้อต่อการพัฒนาพลังงานทดแทน นั่นคือรัฐบาลควรเข้าไปตรึงราคาน้ำมันเฉพาะในกรณีฉุกเฉินจริงๆเท่านั้น เพื่อเป็นการสร้างวินัยแก่ผู้บริโภค และทำให้เกิดแรงจูงใจที่จะหันไปเลือกใช้พลังงานในรูปแบบอื่นทดแทน

นอกจากนี้ควรจะมีการกำหนดเป้าหมายที่จะลดสัดส่วนการพึ่งพาน้ำมันลงไปในระยะยาวอย่างเป็นรูปธรรมและสามารถวัดผลได้ เช่น ควรจะมีการตั้งเป้าว่าภายในอีก 10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะลดสัดส่วนการบริโภคน้ำมันต่อ GDP ลงเหลือเป็นเท่าใด จากที่อยู่ที่ 5.4% ของGDPในขณะนี้ พร้อมทั้งการพิจารณาออกมาตรการในด้านต่างๆเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ เช่น การตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายใน 10 ปี จะปรับระบบการบริโภคพลังงานของประเทศให้หันมาใช้พลังงานที่ไม่ใช้น้ำมันทดแทนให้ได้ร้อยละ 10 ของความต้องการพลังงานในประเทศ เพราะหากเรายังแก้ไขปัญหาราคาน้ำมันแพงในลักษณะเฉพาะหน้าต่อไปเรื่อยๆ ปัญหาต่างๆก็คงจะไม่ได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศยังคงไม่เปลี่ยนแปลง เพราะนึกว่าการปรับขึ้นของราคาน้ำมันคงเป็นปรากฏการณ์ชั่วคราวที่ไม่นานก็จะผ่านพ้นไป ทำให้เกิดนิสัยที่เคยชินต่อการใช้น้ำมันอย่างฟุ่มเฟือยอยู่เช่นเดิม