สิงคโปร์ – วันพุธที่ 7 กรกฎาคม 2547 – ผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ของปี พ.ศ. 2546 พบว่าห้าสิบสามเปอร์เซ็นต์ของซอฟต์แวร์ที่มีการติดตั้งและใช้งานอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้นกว่าเจ็ดพันห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ จากข้อมูลหลักที่เผยแพร่โดยกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) ซึ่งเป็นสมาพันธ์ระดับนานาชาติของผู้ผลิตซอฟต์แวร์ชั้นนำระดับโลก พบว่าเอเชียแปซิฟิกเป็นภูมิภาคที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์สูงสุดเป็นลำดับที่สี่และมีมูลค่าความสูญเสียสูงสุดเป็นลำดับที่สองของโลก
นับเป็นครั้งแรกที่บีเอสเอได้มอบหมายให้ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล ดาต้า คอร์ปอเรชั่น(ไอดีซี) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยชั้นนำระดับโลกทางด้านเทคโนโลยี เป็นผู้ดำเนินการศึกษา โดยทำการรวบรวมข้อมูลจากตลาดซอฟต์แวร์หลัก ซึ่งรวมถึง ระบบปฏิบัติการ (operating system), ซอฟต์แวร์สำหรับผู้ใช้ทั่วไป (consumer software) และซอฟต์แวร์ที่พัฒนาภายในประเทศ (local market software) ซึ่งต่างจากการศึกษาปีที่ผ่านมาที่ขอบเขตของการศึกษาจำกัดอยู่ที่ซอฟต์แวร์สำหรับธุรกิจ (ฺBusiness Software Application) เท่านั้น
บทสรุปของการศึกษาตามแนวทางใหม่นี้ ได้นำเสนอภาพของการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลกในแง่มุมที่กว้างและสะท้อนสภาพที่ใกล้เคียงความเป็นจริงมากขึ้น โดยทั้งหมดนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อมูลอุตสาหกรรม และความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ตลาดของไอดีซี ซึ่งผลการศึกษาพบว่าจากมูลค่ารวมของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์ทั่วโลกประมาณแปดหมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯเป็นมูลค่าของซอฟต์แวร์ที่มีลิขสิทธิ์เพียงห้าหมื่นหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐฯเท่านั้น
จากการศึกษาพบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีตั้งแต่ประเทศที่มีอัตราการละเมิดในระดับสูงถึง 92% คือ ประเทศเวียตนาม และจีน ในขณะเดียวกันก็มีประเทศที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับต่ำเพียง 23% คือ ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งสามในสี่ประเทศที่มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในระดับสูงจะเป็นประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
“เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ยังคงต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายที่มาจากการต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และมันยังเป็นสิ่งที่รัฐบาลในภูมิภาคนี้ควรให้ความสนใจที่ต้องจัดการให้ตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์นี้ลดลง” มร. เจฟฟรีย์ ฮาร์ดี้, รองประธานและกรรมการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์กล่าว “จากการศึกษาของไอดีซีอีกชิ้นหนึ่งที่ได้นำเสนอเมื่อปีที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดถึงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศหนึ่งกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ ของอุตสาหกรรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ
“การละเมิดลิขสิทธิ์ยังคงเป็นปัญหาใหญ่อันหนึ่งในเอเชียแปซิฟิกดังจะเห็นได้จากการที่ภูมิภาคนี้เป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศผู้นำการละเมิดลิขสิทธิ์” มร. มาติน คราลิค, ผู้จัดการอาวุโส, ฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของไอดีซี “เป็นที่น่าเสียดายว่าการละเมิดลิขสิทธิ์นี้ทำลายบรรยากาศการแข่งขันในภูมิภาค รายได้ที่สูญเสียไปกับการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นมีความสำคัญต่อความสำเร็จและความอยู่รอดของธุรกิจขนาดเล็ก, นักพัฒนาซอฟต์แวร์ท้องถิ่นและในที่สุดแล้วก็ทำให้เกิดการถดถอยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ และความสามารถในการแข่งขันกับภูมิภาคอื่นๆ ของโลก”
ผลการศึกษายังพบว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์จะมีอัตราสูงในประเทศที่การเติบโตของตลาดคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลสูง เช่นประเทศจีนและอินเดีย และหากตัวเลขการละเมิดในประเทศดาวรุ่งเหล่านี้ไม่ลดลงแนวโน้มอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ของทั่วโลกก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน
“ยังมีภารกิจที่ต้องทำอีกมากเพื่อต่อสู้ให้ได้มาซึ่งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แข็งแกร่งมากขึ้นและการให้ความเคารพต่อสิทธิในสิ่งที่ได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นมาในภูมิภาค” มร. ฮาร์ดี้เสริม “บีเอสเอจะยังคงทำงานร่วมกับภาครัฐบาลในภูมิภาคนี้เพื่อผลักดันนโยบายการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาด้านซอฟต์แวร์พร้อมๆ ไปกับการนำโครงการมาปฏิบัติให้เกิดการรับรู้ให้กับกลุ่มผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งในระดับธุรกิจและผู้ใช้ทั่วไป เกี่ยวกับความสำคัญของการปกป้องลิขสิทธิ์ในงานสร้างสรรค์ต่างๆ การลดลงของการละเมิดลิขสิทธิ์จะกระตุ้นระบบเศรษฐกิจในท้องถิ่นได้เกิดความเคลื่อนไหว, สร้างรายได้ให้กับรัฐบาล, สร้างงานและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมต่างๆ ต่อไปในอนาคต”
จากการวิเคราะห์ครั้งนี้ไอดีซีใช้ข้อมูลด้านการจำหน่ายซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ทั่วโลกที่รวบรวมไว้ และทำการสัมภาษณ์กว่า 5,600 รายในสิบห้าประเทศทั่วโลก รวมถึงการใช้นักวิเคราะห์ของไอดีซีที่มีอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลกในการประเมินสภาพตลาดท้องถิ่น โดยไอดีซีนำเสนออัตราการละเมิดและมูลค่าความสูญเสียเป็นเงินเหรียญสหรัฐอเมริกาด้วยการใช้ข้อมูลของไอดีซี โดยจำแนกเป็นคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล ซอฟต์แวร์และการจำหน่ายไลเซ่น จากผู้จัดจำหน่ายในทุกอุตสาหกรรมใน 86 ประเทศ
จากผลการศึกษาพบว่า:
– อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี 2546 เท่ากับ 53 เปอร์เซ็นต์โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งหมดมากกว่าเจ็ดพันห้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$7.5 billion)
– ยุโรปตะวันออกมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในปี2546 สูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณสองพันสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$2.2 billion)
– ในยุโรปตะวันตกมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2546 เท่ากับ 36 เปอร์เซ็นต์และมีมูลค่าความเสียหายทั้งหมดเก้าพันหกร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$ 9.6 billion)
– อัตราเฉลี่ยของการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศแถบละตินอเมริกาเท่ากับ 63 เปอร์เซ็นต์โดยมีมูลค่าความเสียหาย ประมาณหนึ่งพันสามร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$ 1.3 billion)
– ตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกามีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์เฉลี่ยประมาณ 55 เปอร์เซ็นต์และมีมูลค่าความสูญเสียประมาณเก้าร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$900 million)
– ทวีปอเมริกาเหนือมีการละเมิดลิขสิทธิ์ประมาณ 23 เปอร์เซ็นต์คิดเป็นมูลค่าความสูญเสียมากกว่าเจ็ดพันสองร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$7.2 billion)
ผลการศึกษาพบด้วยว่า มูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์ในแต่ละภูมิภาคมีความสัมพันธ์กับอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์และตัวเลขมูลค่าความสูญเสียทั้งหมด ตัวอย่างเช่น 92 เปอร์เซ็นต์ของซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งในประเทศเวียดนามภายในปี 2546 เป็นซอฟต์แวร์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีการละเมิดเพียง 29 เปอร์เซ็นต์ แต่มูลค่าความเสียหายในประเทศญี่ปุ่นเท่ากับ หนึ่งพันหกร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ (US$1.6 billion) ซึ่งสูงเป็น 40 เท่าของมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นในประเทศเวียดนาม (สี่สิบล้านแปดแสนเหรียญสหรัฐฯ (US$40.8 million)) ซึ่งความแตกต่างนี้อธิบายได้จากขนาดของตลาดซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ของทั้งสองประเทศที่โดยที่ญี่ปุ่นมีขนาดใหญ่กว่าเวียดนาม
เกี่ยวกับบีเอสเอ
กลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ (www.bsa.org) เป็นองค์กรชั้นนำที่มีหน้าที่ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลอย่างปลอดภัยและถูกกฎหมาย บีเอสเอเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ระดับโลกรวมถึงพันธมิตรด้านฮาร์ดแวร์ โดยประสานงานร่วมกับภาครัฐและตลาดในแต่ละประเทศ สมาชิกของบีเอสเอแสดงให้เห็นถึงภาคอุตสาหกรรมที่มีอัตราการเติบโตเร็วที่สุดในโลก บีเอสเอเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ใช้คอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ การสร้างระบบความปลอดภัยและการทำธุรกรรมบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ต สนับสนุนการกำหนดนโยบายที่ช่วยให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรมและขยายโอกาสทางการค้าไปจนถึงการต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์
สมาชิกของบีเอสเอได้แก่ อะโดบี, แอปเปิล คอมพิวเตอร์, ออโตเดสก์, เอวิด เทคโนโลยี, เบนท์เลย์ ซิสเต็มส์ , บอร์แลนด์, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, ซีเอ็นซี ซอฟต์แวร์/มาสเตอร์แคม, เอ็นทรัสต์, ฮิวเลตต์ แพคการ์ด, ไอบีเอ็ม, อินเทล, อินเทอร์เน็ต ซีเคียวริตี้ ซิสเต็มส์, อินทุย, แมคโครมีเดีย, ไมโครซอฟท์, เน็ทเวิร์ค แอสโซซิเอทส์, อาร์เอสเอ ซีเคียวริตี้, โซลิดเวิร์คส์, ไซเบส, ไซแมนเทค, ยูจีเอส พีแอลเอ็ม โซลูชั่นส์, และเวอริทัส ซอฟต์แวร์
เกี่ยวกับไอดีซี
ไอดีซี (www.idc.com) เป็นองค์กรระดับโลกในด้านการให้คำปรึกษาและข้อมูลให้กับวงการเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม ไอดีซีวิเคราะห์และทำนายแนวโน้มของเทคโนโลยีเพื่อให้ลูกค้าสามารถนำไปกำหนดกลยุทธ์, การตัดสินใจซื้อขายด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจบนพื้นฐานของข้อเท็จจริง นักวิเคราะห์ของไอดีกว่า 700 คนในห้าสิบประเทศทั่วโลกให้คำแนะนำจากความเชี่ยวชาญและข้อมูลเชิงลึกของตลาดเทคโนโลยี และทีมผู้บริหารของไอดีซีประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับจากในวงการ ซึ่งลูกค้าที่เป็นผู้บริหารและผู้จัดการด้านสารสนเทศให้ความไว้วางใจในคำแนะนำจากไอดีซีมากว่า 40 ปีในการตัดสินใจต่างๆ เพื่อให้ธุรกิจประสบความสำเร็จตามที่ได้วางไว้