ผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซีย : คู่แข่งสำคัญของไทย

อินโดนีเซียนับว่าเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกกุ้งที่น่าจับตามองอย่างมาก เนื่องจากการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ด้วยหลากปัจจัยเกื้อหนุนทำให้อินโดนีเซียมีความได้เปรียบหลายประการเมื่อเทียบกับไทย ทำให้อินโดนีเซียก้าวขึ้นมาเป็นคู่แข่งขันที่แย่งชิงสัดส่วนตลาดในการส่งออกทั้งในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯและสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดนำเข้ากุ้งสำคัญของโลก

ปัจจุบันอินโดนีเซียจัดเป็นประเทศผู้ผลิตกุ้งเป็นอันดับ 3 รองจากไทยและจีน ในปี 2547 ปริมาณการผลิตกุ้งของอินโดนีเซียสูงถึง 205,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2546 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่ในปี 2546 มีอัตราการขยายตัวของปริมาณการผลิตสูงถึงร้อยละ 65.0 ทั้งนี้เนื่องจากกระทรวงเกษตรของอินโดนีเซียกำหนดแผน”Protekan2003” โดยมีจุดประสงค์หลักที่ผลักดันให้การผลิตกุ้งของอินโดนีเซียเพิ่มขึ้น

ยุทธวิธีหลักที่นำมาใช้คือการใช้ขยายพื้นที่การเลี้ยงกุ้ง และปรับระบบการเลี้ยงของกุ้งจากระบบดั้งเดิมมาเป็นระบบการเลี้ยงแบบพัฒนา(Intensive System) โดยกระทรวงทรัพยากรทางทะเลและประมง(Ministry of Marine and Fishery Resources)ของอินโดนีเซีย คาดว่าปริมาณการผลิตกุ้งของอินโดนีเซียในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นเป็น 250,000 ตัน และมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งของอินโดนีเซียต้องเผชิญปัญหาในเรื่องโรคจุดขาว(White Spot Disease) แต่ทางรัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาโดยการนำเข้ากุ้งแวนาไมและสตริโลทริส (Penaeus Vannamei และ Penaeus Stylirostris)มาจากสหรัฐฯ ทั้งนี้เพื่อปรับระบบการผลิตกุ้งตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา
ตลาดนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ที่สำคัญของโลกมีอยู่ 3 ตลาด คือ ตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป ซึ่งการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของอินโดนีเซียไปยังทั้งสามตลาดนี้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ตลาดญี่ปุ่น
ปัจจุบันญี่ปุ่นนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ 53,000-54,000 ตัน มูลค่า 60,000-70,000 ล้านเยน( 550-642 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) อินโดนีเซียเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่ง โดยมีสัดส่วนตลาดประมาณร้อยละ 22 ของมูลค่าการนำเข้า รองลงมาคือ เวียดนาม อินเดีย จีน และไทย เดิมนั้นญี่ปุ่นเคยนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์จากไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง แต่หลังจากเกิดภาวะโรคระบาดในกุ้งทำให้ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากอินโดนีเซียแทน อย่างไรก็ตามในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้เกิดโรคระบาดในการเลี้ยงกุ้งในอินโดนีเซียเช่นกัน ผู้นำเข้าในญี่ปุ่นเริ่มหันไปนำเข้าจากอินเดียและเวียดนามมากขึ้น แต่อินโดนีเซียยังคงครองอันดับหนึ่งในการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดญี่ปุ่น

ตลาดสหรัฐฯ
จากสถิติการนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์ของสหรัฐฯในระหว่างปี 2544-2546 สหรัฐฯนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซียเป็นอันดับ 7 โดยสหรัฐฯนำเข้าจากไทยมากที่สุด รองลงมาได้แก่ เวียดนาม จีน อินเดีย เม็กซิโก และเอกวาดอร์ ในปี 2546 สหรัฐฯนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากอินโดนีเซีย 47.76 ล้านปอนด์(21.71 ล้านตัน) มูลค่า 168.05 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ประเด็นที่น่าติดตามคือ เดิมนั้นอินโดนีเซียอยู่ในกลุ่ม 11 ประเทศที่สหรัฐฯเปิดการไต่สวนเพื่อเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด แต่ในที่สุดอินโดนีเซียก็หลุดจากข้อกล่าวหา เท่ากับว่าในปีนี้ถือว่าเป็นโอกาสทองของผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซียไปยังตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากประเทศที่สหรัฐฯนำเข้ากุ้งและผลิตภัณฑ์อันดับต้นๆล้วนแต่อยู่ในบัญชีประเทศที่ถูกสหรัฐฯไต่สวนเพื่อเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และถูกเรียกเก็บภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้นซึ่งเท่ากับว่าการส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์ของไทยไปยังตลาดสหรัฐฯจะประสบปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นจากอินโดนีเซีย

ตลาดสหภาพยุโรป(อียู)
เนื่องจากอียูประกาศยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพีกับอินโดนีเซีย โดยคงภาษีนำเข้ากุ้งจากอินโดนีเซีย ซึ่งภาษีนำเข้ากุ้งสดอยู่ที่ร้อยละ 3.5 และกุ้งแช่แข็งร้อยละ 7.5 ในขณะที่อียูเรียกเก็บภาษีนำเข้ากุ้งไทยในอัตราสูงถึงร้อยละ 12 สำหรับกุ้งสดและร้อยละ 20 สำหรับกุ้งแปรรูป คาดว่าในปี 2547 นี้มูลค่าการส่งออกกุ้งอินโดนีเซียไปตลาดอียูสูงถึง 150 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากมีการลงทุนร่วมกันระหว่างอียู(โดยเฉพาะอังกฤษและฝรั่งเศส)และอินโดนีเซียในการเลี้ยงกุ้งและแปรรูปกุ้งเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการที่อียูมีสมาชิกเพิ่มขึ้น ในขณะที่การส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2540 ซึ่งทาง อียูตัดจีเอสพีผลิตภัณฑ์กุ้งจากไทย ปัจจุบันการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของไทยไปยังตลาดอียูมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1-2 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งทั้งหมด ส่วนจีนและเวียดนามซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของอินโดนีเซียในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดอียูก็ประสบปัญหาการส่งออกเนื่องจากมีการตรวจพบสารคลอแรมฟินิคอลตกค้างในผลิตภัณฑ์กุ้ง

ปัญหาที่อินโดนีเซียกำลังเผชิญอยู่คือ

การนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมกุ้งในอินโดนีเซียประสบปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ อันเป็นผลมาจากความต้องการในการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการนำเข้ากุ้งเพื่อมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าที่สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อส่งออก ทางรัฐบาลอินโดนีเซียคาดว่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลสืบเนื่องจากการที่สหรัฐฯมีการไต่สวนการทุ่มตลาดผลิตภัณฑ์กุ้ง และประเทศที่ถูกสหรัฐฯไต่สวนส่งผลิตภัณฑ์กุ้งมายังอินโดนีเซียเพื่อส่งออกต่อไปยังตลาดสหรัฐฯอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นจึงมีเสียงคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่าผลิตภัณฑ์กุ้งที่นำเข้าส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงกุ้งในอินโดนีเซีย ดังนั้นทางกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้ามีนโยบายจะเพิ่มภาษีนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งเป็นร้อยละ 40 ถ้าไม่สามารถออกมาตรการงดการนำเข้าได้ แต่บรรดาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกุ้งต้องการให้รัฐบาลเลือกงดการนำเข้าหรือการขึ้นภาษีนำเข้ากุ้งเป็นบางประเภทที่ส่งผลกระทบกับผู้เลี้ยงกุ้งในประเทศเท่านั้น

ความได้เปรียบของอินโดนีเซียในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับกุ้งและผลิตภัณฑ์ไม่ว่าจะมองในแง่การผลิตที่อินโดนีเซียยังมีโอกาสทั้งในการขยายพื้นที่การเพาะเลี้ยงและการปรับระบบการเพาะเลี้ยงจากที่ในปัจจุบันอินโดนีเซียยังคงเลี้ยงกุ้งแบบดั้งเดิมมาเป็นการเพาะเลี้ยงแบบพัฒนา ทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งของอินโดนีเซียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนในด้านการส่งออกนั้นอินโดนีเซียเข้าไปครองอันดับหนึ่งในการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดญี่ปุ่นแทนที่ไทย ส่วนในตลาดส่งออกสำคัญคือสหรัฐฯและอียูนั้นสัดส่วนการส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซียก็เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากการเข้าไปร่วมทุนในธุรกิจกุ้งกับนักลงทุนท้องถิ่นในอินโดนีเซียของทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ทั้งนี้เพื่อส่งออกผลิตภัณฑ์กุ้งไปยังตลาดอียู

นอกจากนี้ทางอียูตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปกับไทย แต่ยังคงให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับอินโดนีเซีย ส่วนตลาดสหรัฐฯ อินโดนีเซียก็มีความได้เปรียบในแง่ของภาษีนำเข้าเช่นกัน ซึ่งผลิตภัณฑ์กุ้งจากอินโดนีเซียเสียภาษีนำเข้าร้อยละ 0 ในขณะที่ไทยถูกไต่สวนและเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด ซึ่งอัตราภาษีตอบโต้การทุ่มตลาดของไทยจะประกาศอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กรกฎาคม 2547 นี้ เท่ากับว่าผลิตภัณฑ์กุ้งของอินโดนีเซียเริ่มมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบในตลาดสหรัฐฯ และคาดหมายว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 สัดส่วนการนำเข้าผลิตภัณฑ์กุ้งจากอินโดนีเซียในตลาดสหรัฐฯมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น