อาเซียน จัดเป็นกลุ่มความร่วมมือของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่งในเอเชีย มีอายุเกือบ 40 ปี ฝากชื่อเสียงและผลงานความสำเร็จอย่างสูงในยุคสงคราม อินโดจีน ด้วยการรวมพลังกันคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งภายในภูมิภาคและนำความสงบร่มเย็นมาสู่ดินแดนเอเชียอาคเนย์จนกระทั่งทุกวันนี้ ส่วนบทบาทด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มฉายแววรุ่งโรจน์ในปี 2535 ด้วยการประกาศจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) โดยมีวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะขจัดอุปสรรคทางการค้าภายในกลุ่มให้หมดสิ้นทั้งด้านภาษีและไม่ใช่ภาษีภายในปี 2553-2558 ขณะนี้กลุ่มอาเซียนได้บรรลุเป้าหมาย AFTA ในระดับหนึ่งแล้ว โดยสินค้าเกือบทั้งหมด (99.6%) ของประเทศสมาชิกเดิม 6 ประเทศ มีอัตราภาษีศุลกากรลดลงเป็นลำดับ ปัจจุบันอยู่ในระดับเฉลี่ยประมาณ 2.39% ส่งผลให้การค้าขายภายในกลุ่มเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย อาเซียนก้าวเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมา
ท่ามกลางการแข่งขันทางเศรษฐกิจอย่างมากในเวทีโลก กระตุ้นให้กลุ่มอาเซียนต้องเร่งกระชับความร่วมมือให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น ในที่สุดผู้นำอาเซียนออกแถลงการณ์ Bali Accord II ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ประกาศจัดตั้ง “ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” (ASEAN Economic Community : AEC) ในปี 2563 (ค.ศ.2020) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่ได้ดำเนินการอยู่แล้วให้ลึกและกว้างขึ้น ซึ่งจะดำเนินการไปพร้อมๆ กับเป้าหมายอีก 2 ด้าน ได้แก่ การเป็นประชาคมแห่งความมั่นคง (ASEAN Security Community : ASC) และประชาคมทางสังคมและวัฒนธรรม (ASEAN Socio-Cultural Community : ASCC) เพื่อมุ่งหวังให้อาเซียนเป็นประชาคมเดียวกันอย่างสมบูรณ์แบบทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม ซึ่งสอดคล้องกับ “วิสัยทัศน์ของอาเซียนปี ค.ศ. 2020” (ASEAN Vision 2020) ที่ผู้นำอาเซียนได้ประกาศจุดยืนร่วมกันในการผลักดันให้อาเซียนเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง (Partnership in Dynamic Development) ภายในปี ค.ศ.2020
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เป็นเป้าหมายล่าสุดทางเศรษฐกิจที่ ทำให้อาเซียนมีตลาดและฐานการผลิตร่วมกัน โดยจะเปิดเสรีทั้งการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ การลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ รวมทั้งมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีขึ้น นับว่าเป็นรูปแบบของการรวมกลุ่มเศรษฐกิจทางภูมิภาค (Regional Economic Integration) ที่ก้าวหน้ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย อย่างไรก็ตาม การรวมกลุ่มในลักษณะประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนยังไม่ได้ก้าวไปถึงขั้นการเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Union) ดังเช่นสหภาพยุโรป (European Union : EU) ซึ่งมีการใช้เงินสกุลเดียวกัน ควบคู่กับการเปิดเสรีการค้า การบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต พร้อมทั้งปรับนโยบายเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปให้ประสานสอดคล้องกันด้วย
การดำเนินการเพื่อไปสู่เป้าหมาย AEC
การก้าวไปสู่การเป็น AEC ตามมติของผู้นำอาเซียน ดำเนินการโดยเสริมสร้างความร่วมมือของอาเซียนที่มีอยู่เดิม และริเริ่มการดำเนินการใหม่เพื่อกระชับความร่วมมือให้แข็งแกร่งขึ้น นับตั้งแต่จัดตั้งอาเซียนในปี 2510 อาเซียนได้ดำเนินการเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ เรื่อยมา ได้แก่ การจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) เขตการลงทุนของอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA) การเปิดเสรีการค้าบริการตามกรอบความตกลงเปิดเสรีด้านการค้าบริการของอาเซียน (ASEAN Framework Agreement on Trade in Services : AFAS) รวมทั้งความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว
ขณะนี้ อาเซียนเห็นพ้องกันในการเร่งรัดการเปิดเสรีสินค้าและบริการที่สำคัญ 11 สาขา เป็นสาขานำร่อง และกำหนดประเทศสมาชิกที่รับผิดชอบในแต่ละสาขา ได้แก่ การท่องเที่ยวและการบิน ไทยรับผิดชอบ สินค้าเกษตรและสินค้าประมง (พม่า) ยานยนต์และผลิตภัณฑ์ไม้ (อินโดนีเซีย) ผลิตภัณฑ์ยางและสิ่งทอ (มาเลเซีย) อิเล็กทรอนิกส์ (ฟิลิปปินส์) เทคโนโลยีสารสนเทศ ผลิตภัณฑ์และบริการสุขภาพ (สิงคโปร์) โดยดำเนินการ ดังนี้
* จัดทำร่างความตกลงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียนสำหรับ 11 สาขา นำร่อง (ASEAN Framework Agreement for the Integration of Priority Sectors) ประกอบด้วยประเด็นเรื่องการเปิดเสรี การอำนวยความสะดวก การส่งเสริมการค้าและการลงทุน และความร่วมมืออื่นๆ
* เจรจาจัดทำ Roadmaps สำหรับ 11 สาขานำร่อง จำแนกเป็น
– ด้านสินค้า 9 สาขา ได้แก่ สินค้าเกษตร สินค้าประมง ผลิตภัณฑ์ไม้ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งทอ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ และผลิตภัณฑ์สุขภาพ มีมาตรการหลักในการเปิดเสรี และอำนวยความสะดวกทางการค้าด้านต่างๆ ได้แก่ การลดภาษี มาตรการที่มิใช่ภาษี กฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า พิธีการทางศุลกากร มาตรฐานและความ สอดคล้อง และการเคลื่อนย้ายของนักธุรกิจ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ประกอบวิชาชีพ และแรงงานที่มีฝีมือ ทั้งนี้สมาชิกอาเซียนตกลงที่จะเร่งรัดการลดภาษีสินค้านำร่องเหลือ 0% ให้เร็วขึ้น 3 ปี เป็นปี 2007 จากกรอบ AFTA เดิมที่ภาษีจะเป็น 0% ในปี 2010 สำหรับประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ และเร็วขึ้น 3 ปี เป็นปี 2012 จากกำหนดเดิมปี 2015 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ 4 ประเทศ
– ด้านบริการ 2 สาขา ได้แก่ สาขาท่องเที่ยว และการบิน ซึ่งไทยเป็นประเทศผู้รับผิดชอบหลัก สำหรับด้านท่องเที่ยว ให้เร่งปรับประสานกฎระเบียบในการออกวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางมาอาเซียน และยกเว้นวีซ่าสำหรับคนอาเซียนที่เดินทางภายในอาเซียน สนับสนุนการการเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุนด้านท่องเที่ยวของอาเซียนทางอินเทอร์เน็ต ส่งเสริมการบำรุงรักษาแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรม และจัดตั้งเครือข่ายความร่วมมือของสถาบันทางวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการวิจัยเชิงลึกด้านท่องเที่ยว ส่วนด้านการบิน อยู่ระหว่างการจัดทำแผนปฏิบัติการเปิดเสรีการบริการด้านการขนส่งทางอากาศของอาเซียน นอกจากนี้ ไทย สิงคโปร์ และบรูไนฯ ได้นำร่องนโยบายเปิดน่านฟ้าเสรีในอาเซียน โดยเปิดเสรีเที่ยวบินขนส่งเฉพาะสินค้า (Cargo Open Skies Agreement) ทำให้การขนส่งสินค้าทางอากาศระหว่างกันสะดวกรวดเร็วขึ้น
อาเซียนจะเสนอร่างความตกลงการรวมกลุ่มเศรษฐกิจอาเซียน และ Roadmap สำหรับ 11 สาขานำร่อง ต่อผู้นำอาเซียนในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ ประเทศลาว เพื่อเป็นแผนงานการดำเนินการของอาเซียนต่อไป
ไทย & AEC : ผลดีและข้อควรระวัง
ผลดี
การจัดตั้ง AEC เป็นการผนึกกำลังร่วมกันของภูมิภาค และเป็นรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่สำคัญซึ่งอาเซียนจะได้ประโยชน์จากขนาดของตลาด และฐานการผลิตร่วมกัน (Economy of Scale) เพราะอาเซียนเป็นตลาดใหญ่มีประชากรประมาณ 520 ล้านคน ผลิตภัณฑ์-มวลรวมภายในประเทศ (GDP) รวมกัน 10 ประเทศ ราว 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และยังเป็นการสร้างอำนาจต่อรองทางการค้าในเวทีการค้าโลก นอกจากนี้ การจัดตั้ง AEC ทำให้อาเซียนเป็นที่สนใจของประเทศต่างๆ ซึ่งต้องการเข้ามาร่วมมือทางการค้าและเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น ขณะนี้อาเซียนกำลังดำเนินการสร้างพันธมิตรนอกภูมิภาค โดยขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียนหลายประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
สำหรับไทย การจัดตั้ง AEC จะเป็นผลดีต่อไทย เพราะอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความใกล้ชิดกับไทยมากที่สุด ประกอบกับที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของไทยเอื้ออำนวยให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค และที่ผ่านมาอาเซียนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจกับไทยทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และมีแนวโน้มที่จะทวี บทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สรุปได้ดังนี้
– การค้า – การเปิดเสรีทางการค้าระหว่างสมาชิกอาเซียนส่งผลให้อาเซียนเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยนับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 การค้ารวมระหว่างไทย-อาเซียนขยายตัวถึง 30.85% เป็นมูลค่า 14,451.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 19.21% ของการค้าไทยทั้งหมดกับโลก นับว่าอาเซียนเป็นคู่ค้าของไทยที่มีมูลค่าการค้าสูงที่สุด ขณะเดียวกันอาเซียนเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 2 ของไทย นับตั้งแต่ปี 2540 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน รองจากญี่ปุ่นที่ไทยนำเข้าเป็นอันดับ 1 สำหรับดุลการค้าระหว่างไทย-อาเซียน ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอาเซียนนับตั้งแต่ปี 2536 ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกของไทยไปอาเซียน ได้แก่ การลดภาษีตามพันธกรณี AFTA ที่ทำให้อัตราภาษีเหลือต่ำมากเกือบเป็น 0% ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมี ศักยภาพในตลาดอาเซียนมากขึ้น สามารถแข่งขันกับสินค้าจากนอกอาเซียนได้ เนื่องจากราคา ต่ำลง นอกจากนี้ การมุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าจากมาตรการที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers : NTBs) ของอาเซียน ทำให้สินค้าไทยส่งออกไปในอาเซียนได้สะดวก ไม่ประสบปัญหาจาก NTBs ดังเช่นที่มักพบในประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ การส่งออกของไทยได้รับอานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนขยายตัวดีขึ้น โดยช่วงครึ่งแรกของปี 2547 การเติบโตของ GDP ของอาเซียนโดยรวมเพิ่มขึ้น 5.9% นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา
– การลงทุน – การลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศอาเซียนในไทยมีความสำคัญ โดยมีสัดส่วนเกือบ 20% ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด การลงทุนของประเทศ อาเซียนในไทยที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2547 ที่สำคัญ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ โดยสิงคโปร์ได้ยื่นขออนุมัติโครงการรวมมูลค่า 9,623 ล้านบาท มาเลเซีย 8,413 ล้านบาท และฟิลิปปินส์ 2,039 ล้านบาท ดังนั้นการเร่งรัดการเปิดเสรีด้านการลงทุนของ AEC จะขจัดอุปสรรคด้านการลงทุนในภูมิภาคช่วยดึงดูดนักลงทุนทั้งในและนอกอาเซียนเข้ามาในภูมิภาคมากขึ้น รวมทั้งเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนแข่งกับประเทศนอกภูมิภาค เช่น จีน และอินเดีย ซึ่งขณะนี้มีโดดเด่นทางเศรษฐกิจมากขึ้น
– การท่องเที่ยว – นักท่องเที่ยวจากอาเซียนที่เดินทางมาไทยเมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาไทยสัดส่วนเพิ่มขึ้นจาก 23.62% ในปี 2543 เป็น 26.33% ในปี 2546 ชาวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยมากที่สุดมีสัดส่วนถึง 13.29% และนักท่องเที่ยวจากสิงคโปร์คิดเป็นสัดส่วน 6.29% เทียบกับนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอื่น ได้แก่ สหภาพยุโรปที่มีสัดส่วน 22.65% สหรัฐฯ (4.65%) เอเชียใต้ (3.88%) ออสเตรเลีย (2.82%) ตะวันออกกลาง (2.05%) และแอฟริกา (0.67%) ดังนั้น การยกเว้นวีซ่าสำหรับคนอาเซียนที่เดินทางท่องเที่ยวในอาเซียน และประสานความร่วมมือในการ ออกวีซ่าของอาเซียนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในอาเซียน คาดว่าจะทำให้การเดินทางท่องเที่ยวภายใน อาเซียนสะดวกขึ้น และจะดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งจากประเทศอาเซียนและนอกอาเซียนเดินทางมาไทยมากขึ้นด้วย
ข้อควรระวัง
การก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2563 ซึ่งเป็นเป้าหมาย ท้าทายของอาเซียน เหลือเวลาอีกเพียง 16 ปี จึงจำเป็นต้องมีแนวทางการดำเนินการที่มีประสิทธิ-ภาพ รวมทั้งความตั้งใจจริงของทุกประเทศร่วมกัน ขณะเดียวกันจากระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนยังมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน – กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม – จึงควรมีมาตรการลดช่องว่างความแตกต่างของระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และมีความจำเป็นที่จะต้องช่วยเหลือประเทศเหล่านี้ในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถเข้าสู่กระบวนการเปิดเสรีตามพันธกรณีต่างๆ ของอาเซียนให้ได้โดยเร็ว และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในที่สุด
ปูมหลังความร่วมมือทางเศรษฐกิจอาเซียน
นับตั้งแต่อาเซียนได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2510 ได้พัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องทั้งด้านสินค้า บริการ การลงทุน อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว มีประเด็นที่น่าสนใจสรุปได้ดังนี้
– เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area : AFTA) – การจัดตั้ง AFTA ในปี 2535 มุ่งขจัดอุปสรรคทางการค้าทั้งด้านภาษีและที่มิใช่ภาษี (Non-Tariff Barrier : NTBs) เพื่อส่งเสริมการค้าภายในกลุ่มอาเซียน (Intra-ASEAN Trade) จากตัวเลขการค้าภายในกลุ่มอาเซียนในปีก่อนเริ่มจัดตั้ง AFTA จนถึงปัจจุบันนี้ เห็นได้ชัดว่า Intra-ASEAN Trade ขยายตัวขึ้นอย่างมาก สัดส่วนของ Intra-ASEAN Trade เทียบกับมูลค่าการค้าทั้งหมดของ อาเซียน เพิ่มขึ้นจาก 19.3% ในปี 2536 เป็น 22.6% ในปี 2545 โดยมูลค่าเพิ่มขึ้นจาก 82,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2536 เป็น 159,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2545 และอัตราการ เติบโตเฉลี่ยของ Intra-ASEAN Trade ในช่วง 2536-2545 คิดเป็น 9.4% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของการค้าอาเซียนกับนอกภูมิภาค อาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับ 7.6% ต่อปี ดังนั้น ผลของ AFTA ทำให้เกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Regional Economic Integration) ของ อาเซียนที่แน่นแฟ้นขึ้น
ขณะนี้อาเซียนได้บรรลุเป้าหมายการลดภาษีภายใต้ AFTA โดยปัจจุบันภาษีศุลกากรสำหรับสินค้าเกือบทั้งหมด (99.6%) ของประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ อยู่ในระดับเฉลี่ย 2.39% และอาเซียนจะก้าวไปสู่การเป็นเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์แบบ คือ ภาษีศุลกากรของทุกรายการสินค้าจะทยอยลดลงเหลือ 0% ในปี 2553-2558
– เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area : AIA) – อาเซียนเริ่มดำเนินการเขตการลงทุนของอาเซียนภายใต้กรอบความตกลง AIA ในปี 2541 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอาเซียน สร้างบรรยากาศการลงทุนที่เสรี และมีความโปร่งใสมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนทั้งในอาเซียนและดึงดูดการลงทุนจากนอกอาเซียน โดยมีโครงการความร่วมมือด้านการลงทุน และให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกับคนในชาติ (National Treatment) ซึ่งมี เป้าหมายที่จะเปิดเสรีการลงทุนในอุตสาหกรรมทั้งหมดแก่นักลงทุนในอาเซียนภายในปี 2553 และนักลงทุนทั่วไปในปี 2563 ต่อมาได้เร่งรัดให้กำหนดเวลาการเปิดเสรีด้านการลงทุนแก่นักลงทุนทั่วไปเร็วขึ้น 10 ปีจากเดิมปี 2563 เป็นปี 2553 เท่ากับกำหนดเวลาการเปิดเสรีให้นักลงทุนในอาเซียน ส่วนประเทศสมาชิกใหม่สามารถยืดหยุ่นได้จนถึงปี 2558
ปี 2546 อาเซียนตกลงขยายขอบเขตของ AIA ครอบคลุมการเปิดเสรีการลงทุนด้านการผลิต เกษตรกรรม ป่าไม้ ประมง และเหมืองแร่ รวมทั้งบริการที่เกี่ยวเนื่องกับสาขาเหล่านี้ อย่างกว้างขวางขึ้น และเร่งรัดการเปิดเสรีการลงทุนในสาขาที่จัดอยู่ในบัญชีอ่อนไหว (sensitive list)
– การเปิดเสรีการค้าบริการ – อาเซียนได้เริ่มเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้กรอบความตกลง AFAS ในปี 2539 โดยดำเนินการเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการเป็นรอบๆ ละ 3 ปี เพื่อมุ่งขจัดอุปสรรค/ข้อจำกัดด้านการค้าบริการภายในอาเซียน และปรับปรุงให้การให้บริการของอาเซียนมีประสิทธิภาพและมีขีดความสามารถทางการแข่งขัน การเจรจา 2 รอบที่ผ่านมา (ปี 2539-2544) เน้น 7 สาขาบริการ ได้แก่ การเงิน (การธนาคาร ประกันภัย ธุรกิจเงินทุน เครดิตฟองซิเอร์ และธุรกิจหลักทรัพย์) การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศการสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว ก่อสร้าง และบริการธุรกิจ (เน้นบริการวิชาชีพ)
ขณะนี้การเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการอยู่ในรอบที่ 3 เริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม 2545 – 31 ธันวาคม 2547 โดยการเจรจาครอบคลุมบริการทุกสาขา และอาเซียนต้องการให้เปิดเสรีการค้าบริการให้ได้อย่างสมบูรณ์ก่อนปี 2563 ซึ่งเป็นเป้าหมายเดิมที่กำหนดไว้ตามวิสัยทัศน์ของอาเซียนปี 2563 (ASEAN Vision 2020) จึงเร่งรัดการเปิดตลาดในแนวทางใหม่ คือนอกเหนือจากการเปิดตลาดร่วมกันทั้ง 10 ประเทศแล้ว ยังเปิดตลาดให้แก่กันและกันตาม หลักการ ASEAN-X ด้วย คือ ประเทศสมาชิกตั้งแต่ 2 ประเทศขึ้นไปสามารถเปิดตลาดระหว่างกันมากขึ้นได้ โดยไม่ต้องขยายผลการเปิดตลาดให้สมาชิกอื่นที่ไม่ได้เข้าร่วมการเจรจาโดยวิธีดังกล่าว
การเจรจาเปิดตลาดการค้าบริการในรอบปัจจุบันนี้จะต้องสรุปผลภายในปี 2547 ขณะนี้อาเซียน 10 ประเทศอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดตลาดให้แก่กันมากขึ้นในลักษณะของการให้บริการข้ามพรมแดน การอนุญาตให้จัดตั้งธุรกิจ และให้บุคลากรจากประเทศอาเซียนอื่นเข้ามาทำงานได้ในสาขาต่างๆ ได้แก่ บริการวิชาชีพ (ด้านบัญชี ภาษีอากร วิศวกรรม สถาปัตยกรรม) บริการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โทรคมนาคมบางประเภทการก่อสร้าง การท่องเที่ยว (สำนักงานตัวแทนท่องเที่ยว และสวนสนุก) การขนส่งสินค้าและผู้โดยสารทางทะเล เป็นต้น
นอกจากนี้ อาเซียนได้ตกลงที่จะจัดทำข้อตกลงยอมรับคุณสมบัติร่วมกัน (Mutual Recognition Agreements : MRAs) ของสาขาวิชาชีพ เพื่ออำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ทำให้บุคลากรผู้ให้บริการที่เป็นนักวิชาชีพ และแรงงานที่มีฝีมือสามารถไปทำงานในประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้สะดวกขึ้น โดยกำหนดเป้าหมายการจัดทำ MRA ในสาขาวิศวกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมให้เสร็จภายในปี 2547 เป็นลำดับแรก ก่อนที่จะดำเนินการในสาขาอื่นต่อไป ได้แก่ บัญชี และบุคลากรในธุรกิจท่องเที่ยว
– ความร่วมมือด้านการเงิน – ในปี 2546 อาเซียนได้จัดทำ Roadmap เพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเงิน ซึ่งครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ (1) การพัฒนาตลาดทุน (2) การเปิดเสรีบริการทางการเงิน (3) การเปิดเสรีบัญชีทุน (capital account) และ (4) ความร่วมมือเกี่ยวกับเงินสกุลอาเซียน การดำเนินการเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการค้าและการลงทุนของ อาเซียนต่อไป
– ความร่วมมือทางเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่สำคัญ เช่น
+ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมภายใต้ ASEAN Industrial Cooperation Scheme (AICO)
+ความร่วมมือด้านขนส่ง ได้แก่ การอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าผ่านแดน ข้ามแดน และการขนส่งหลายรูปแบบ
+ความร่วมมือด้านการจัดทำโครงข่ายเชื่อมโยงท่อส่งก๊าซของอาเซียน (Trans-ASEAN Gas Pipeline Network)
สรุป
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่กระชับมากขึ้นเพื่อการเป็น AEC ทำให้เศรษฐกิจของอาเซียนมีความเกี่ยวเนื่องและเชื่อมโยงกันมากขึ้น ในด้านหนึ่งคือการเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเดียวกัน แต่ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนก็จะต้องแข่งขันกันเองเพื่อดึงดูดการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ดังนั้น การบรรเทาความขัดแย้งใน 2 ส่วนนี้จะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำหรับประเทศไทย ต้องแข่งขันทางเศรษฐกิจกับประเทศในอาเซียน การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันจึงเป็นสิ่งสำคัญ จากการสำรวจของ International Management Development (IMD) ในปี 2547 พบว่าอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยอยู่อันดับที่ 29 จากทั้งหมด 60 ประเทศ ซึ่งเป็นอันดับที่ดีขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่ปี 2544 อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับประเทศในอาเซียน ไทยยังอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่า สิงคโปร์และมาเลเซีย โดย IMD เห็นว่าไทยควรพัฒนาด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ เช่น กฎหมายที่ส่งเสริมการแข่งขัน การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน และการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เช่น อัตราการเข้าเรียนต่อในระดับมัธยมศึกษา และอัตราส่วนครูต่อนักเรียน
นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า การที่ไทยมีเป้าหมายที่จะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคในหลายๆ ด้าน เช่น ศูนย์กลางการท่องเที่ยวแห่งเอเชีย (Tourism Capital of Asia) และศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ จะต้องเผชิญกับการแข่งขันจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกง ซึ่งมีแผนดึงดูดนักท่องเที่ยวเช่นกันเพื่อนำรายได้เข้าประเทศ ดังนั้น ภายใต้กระแสการเปิดเสรีของโลกที่เข้มข้นและสภาพทางธุรกิจที่แข่งขันรุนแรงในปัจจุบันนี้ ไทยควรพัฒนาขีดความสามารถทั้งด้านการค้า บริการและการลงทุน โดยส่งเสริมการพัฒนาด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาทักษะและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะส่งเสริมการเติบโตของภาคอุตสาหกรรม
สำหรับด้านการตลาด ควรพัฒนาให้แบรนด์ของไทยเป็นแบรนด์ของภูมิภาคและของโลก (Regional and Global Brands) ส่วนภาคเกษตรกรรมควรพัฒนาระบบการจัดการฟาร์มสมัยใหม่ พัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ และพัฒนาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพทางการแข่งขันของไทย ซึ่งจะเห็นได้ว่า นอกจากไทยต้องแข่งขันกับประเทศอาเซียนแล้ว ยังจะต้องแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย และจะต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันจากการเปิดเสรี FTA ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ของภาครัฐในการจัดทำ FTA สองฝ่ายกับประเทศต่างๆ 8 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น จีน สหรัฐฯ อินเดีย บาร์เรน เปรู และกลุ่มเศรษฐกิจ BIMST-EC (บังคลาเทศ อินเดีย พม่า ศรีลังกา ไทย ภูฎาน และเนปาล)