ไม้ตัดใบ : ธุรกิจที่น่าสนใจ

ไม้ประดับประเภทไม้ตัดใบ(Cut Foliage)ของไทยยังมีช่องทางในการขยายการผลิต ปัจจุบันมีเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่มีอาชีพปลูกไม้ตัดใบ ในขณะที่ไม้ตัดใบกำลังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งตลาดในและต่างประเทศ โดยความต้องการไม้ตัดใบในประเทศขยายตัวตามความต้องการของร้านจำหน่ายดอกไม้ รวมทั้งความต้องการไม้ตัดใบไปใช้ในการตกแต่งสถานที่ในโอกาสต่างๆ สำหรับการส่งออกไม้ตัดใบทั้งปริมาณและมูลค่าขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

การปลูกไม้ตัดใบในประเทศไทยนั้นเริ่มมีการพัฒนาอย่างจริงจังในระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันพื้นที่ปลูกไม้ตัดใบในประเทศไทยมีประมาณ 1,000 ไร่ แหล่งปลูกอยู่ในเขตตลิ่งชัน หนองแขม และภาษีเจริญของกรุงเทพฯ รวมทั้งในจังหวัดใกล้เคียงกับกรุงเทพฯได้แก่ นนทบุรี นครปฐม สมุทรปราการ พระนครศรีอยุธยา และราชบุรี กล่าวคือ ใบหมากผู้หมากเมีย(Good Luck Plant)แหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ ใบหมากเหลือง(Yellow Palm)อยู่ในจังหวัดนนทบุรี เฟิร์นนาคราชหรือเฟิร์นหยิก(Philodendron)แหล่งผลิตอยู่ในนครปฐม เป็นต้น

ไม้ตัดใบเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นไม้สายพันธุ์มาจากต่างประเทศ แต่เจริญเติบโตในเมืองไทยได้ดี ไม่ต้องการการดูแลมากนัก โรคแมลงมีน้อย ทำให้ต้นทุนการดูแลและบำรุงรักษาต่ำเมื่อเทียบกับไม้ตัดดอก ไม้ตัดใบส่วนใหญ่มาจากกลุ่มไม้เมืองร้อน เนื่องจากสภาพเอื้ออำนวยต่อการเจริญเติบโต

การปลูกไม้ตัดใบนั้น เป็นอาชีพที่สามารถสร้างรายได้สูงและปลูกได้ตลอดปี แต่มีเงื่อนไขว่าเกษตรกรต้องมีแหล่งน้ำใช้ตลอดปีและมีพื้นที่เพาะปลูกไม่น้อยกว่า 3 ไร่ต่อรายจึงจะสามารถสลับกันตัดใบส่งจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งต้องมีการดูแลเอาใจใส่ที่ดี ทั้งนี้เพื่อให้ได้ไม้ตัดใบที่มีคุณภาพสม่ำเสมอ โดยเฉพาะต้องคุมแสงให้ดีเพื่อให้ได้สีของใบที่สม่ำเสมอ สามารถคัดเกรดได้ ชนิดไม้ตัดใบมีเปลี่ยนแปลงไปตามความนิยมของตลาด

สำหรับไม้ตัดใบที่ผลิตและปลูกเพื่อจำหน่ายในประเทศไทยนั้นมีอยู่มากมายหลายชนิดได้แก่ มอนสเตร่า(Monstera) กวนอิม(Lucky Bamboo) มะละกอเซลลุ่ม(Seeloum) หนวดปลาหมึก(Goldieii) ซานาดู(Xanadu) เชฟไวโอลีน(Fiddle) ลายเฆม(Cloud) มะละกอ(Lacerum) มรกตแดง(Red Duchess) หูช้าง(Undulatum) หลิวทองใบเลื่อยหรือเอื้องไผ่ลาย(Costus) เอื้องไผ่ลายดอก(Costus Folwer) วิลันดี้(Vilandii) ม้าเหล็ก(Williamsii) ก้ามกุ้ง(Florida) เล็บครุฑใบผักชี (Quinque folia) หมากเหลืองหรือทางหมาก(Yellow Palm) หมากผู้หมากเมีย(Good Luck Plant) เฟิร์นนาคราชหรือเฟิร์นหยิก(Philodendron) และเฟิร์นใบหนัง(Leatherleaf Ferns) อย่างไรก็ตามเกษตรกรผู้ปลูกไม้ตัดใบมีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆของไม้ตัดใบ ทำให้มีไม้ตัดใบสายพันธุ์ใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง

ไม้ตัดใบเป็นที่ต้องการของบรรดาร้านจำหน่ายดอกไม้ที่เป็นแผงตามตลาดสดและร้านข้างทาง ซึ่งจะใช้ไม้ตัดใบประกอบการจัดช่อดอกไม้ตามความต้องการของลูกค้า ร้านจัดดอกไม้ซึ่งมีความต้องการไม้ตัดใบเพื่อจัดแจกันหรือตะกร้าหรือจัดเป็นช่อ รวมทั้งการจัดพวงหรีด การใช้เพื่อตกแต่งสถานที่ในโอกาสต่างๆกัน เช่น งานมงคลสมรส งานศพ งานประชุมสัมมนา งานพิธีทั่วไป งานแถลงเปิดตัวสินค้า เป็นต้น

วิถีการตลาดของไม้ตัดใบของไทยมีลักษณะคล้ายคลึงกับวิถีการตลาดของไม้ตัดดอก แต่ตลาดไม้ตัดใบส่วนใหญ่จะอยู่ในกรุงเทพฯ การผลิตไม้ตัดใบในจังหวัดอื่นๆมีน้อยมาก และการสั่งซื้อไม้ตัดใบนั้นจะสั่งซื้อไปพร้อมๆกับการสั่งซื้อไม้ตัดดอก

ตลาดซื้อขายไม้ตัดใบแหล่งใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ ปากคลองตลาด รองลงมาคือ ตลาดสี่มุมเมืองและตลาดไท ตามลำดับ โดยที่ปากคลองตลาดมีพ่อค้าแม่ค้าเปิดร้านขายใบไม้อยู่ประมาณ 6-7 ร้าน ซึ่งแต่ละร้านเปิดดำเนินการมายาวนานหลายสิบปีแล้ว เมื่อก่อนร้านจัดดอกไม้ขายทั่วประเทศต้องไปซื้อไม้ตัดใบถึงตลาดแห่งนี้ แต่ปัจจุบันนี้แหล่งที่จะหาซื้อไม้ตัดใบกระจายไปที่ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไทด้วย ทั้งนี้เนื่องจากการคมนาคมสะดวก โดยเฉพาะสถานที่จอดรถ และสภาพการจราจร ส่วนในด้านราคาจำหน่ายก็ไม่แตกต่างกันมากนักด้วย

ราคาจำหน่ายไม้ใบ จะกำหนดเป็น 4 ขนาดคือ เล็ก กลาง ใหญ่ และใหญ่มาก ซึ่งราคาเฉลี่ยจะอยู่ในช่วงใบละ 8-25 บาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประเภทและคุณภาพของไม้ตัดใบนั้นด้วย

การส่งออกไม้ตัดใบของไทยนับว่ามีแนวโน้มแจ่มใส โดยเฉพาะในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยทั้งปริมาณและมูลค่ามีแนวโน้มเติบโตในลักษณะก้าวกระโดด เนื่องจากไทยมีการผลิตไม้ใบเพื่อส่งออกอย่างจริงจังเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือในปี 2541 ไทยมีการส่งออกไม้ตัดใบทั้งสด แห้ง ย้อมสีหรือฟอก 474,211 กิโลกรัม มูลค่า 32.59 ล้านบาท หลังจากนั้นการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 ไทยส่งออกไม้ตัดใบ 2,880,879 กิโลกรัม มูลค่า 73.91 ล้านบาท

โดยในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 101 และร้อยละ 25.4 ต่อปีตามลำดับ และในระยะ 5 เดือนแรกของปี 2547 ไทยส่งออกไม้ตัดใบ 2,125,110 กิโลกรัม มูลค่า 37.46 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมีการส่งออก 950,209 กิโลกรัม มูลค่า 28.02 ล้านบาทแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 123.6 และร้อยละ 33.7 ตามลำดับ ทำให้คาดหมายได้ว่าในปี 2547 นี้การส่งออกไม้ตัดใบของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยแยกเป็น

1.ไม้ตัดใบสด ในปี 2541 ไทยส่งออกไม้ตัดใบสด 17,080 กิโลกรัม มูลค่า 0.90 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2546 ไทยส่งออกไม้ตัดใบสด 300,190 กิโลกรัม มูลค่า 14.83 ล้านบาท ซึ่งในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมาทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยร้อยละ 332 และร้อยละ 310 ต่อปีตามลำดับ และในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 2547 ไทยส่งออกไม้ตัดใบสด 164,296 กิโลกรัม มูลค่า 16.08 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมีการส่งออก 82,738 กิโลกรัม มูลค่า 4.88 ล้านบาทแล้วทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 98.6 และร้อยละ 229.5 ตามลำดับ ทำให้คาดหมายได้ว่าในปี 2547 การส่งออกไม้ตัดใบสดของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันตลาดส่งออกสำคัญของไม้ตัดใบสดคือ เนเธอร์แลนด์ร้อยละ 34.8 ของมูลค่าการส่งออก สหรัฐฯร้อยละ 31.3 ญี่ปุ่นร้อยละ 10.3 และไต้หวันร้อยละ 8.8 นอกจากนี้ตลาดที่มีแนวโน้มการส่งออกสดใสคือ เกาหลีใต้ และประเทศต่างๆในแถบยุโรป
2.ไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีหรือฟอก(Dried ,Dyed or Bleached Foliage) ในปี 2541 การส่งออกไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีและฟอก 457,131 กิโลกรัม มูลค่า 31.69 ล้านบาท ซึ่งการส่งออกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนกระทั่งในปี 2546 ไทยส่งออกไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีหรือฟอก 2,580,689 กิโลกรัม มูลค่า 59.08 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 93 และร้อยละ 17 ตามลำดับ และในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 2547 ไทยส่งออกไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีหรือฟอก 1,960,814 กิโลกรัม มูลค่า 21.38 ล้านบาท เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมีการส่งออก 867,471 กิโลกรัม มูลค่า 23.14 ล้านบาทแล้วปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 126.0 แต่มูลค่าลดลงร้อยละ 7.6

ประเทศส่งออกสำคัญคือ สหรัฐฯมีสัดส่วนตลาดร้อยละ 23.1 ของมูลค่าการส่งออก รองลงมาคือเกาหลีใต้ร้อยละ 14.6 และญี่ปุ่นร้อยละ 11.4 ส่วนตลาดที่น่าสนใจในการผลักดันยอดการส่งออกไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีหรือฟอกคือ จีน ประเทศต่างๆในแถบยุโรป สิงคโปร์ และฮ่องกง

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ไม่ควรมองข้ามคือการนำเข้าไม้ตัดใบของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน กล่าวคือไม้ตัดใบในช่วงระยะ 5 เดือนแรกของปี 2547 มีปริมาณนำเข้า 67,103 กิโลกรัม มูลค่า 2.09 ล้านบาท เทียบกับในช่วงระยะเดียวกันของปีก่อนแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 538.3 และร้อยละ 209.8 ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าร้านจัดดอกไม้ที่ต้องการไม้ตัดใบที่แปลกใหม่ทั้งในด้านรูปทรงและสีสัน แหล่งนำเข้าไม้ตัดใบสดของไทยเดิมนั้นสัดส่วนนำเข้าจากจีนสูงถึงร้อยละ 65.3 ของมูลค่านำเข้า แต่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 ออสเตรเลียกลายเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งโดยมีสัดส่วนร้อยละ 56.5 สำหรับแหล่งนำเข้าไม้ตัดใบแห้ง ย้อมสีหรือฟอกที่สำคัญของไทยคือ จีนซึ่งมีสัดส่วนการนำเข้าสูงถึงร้อยละ 44.7 ของมูลค่าการนำเข้า รองลงมาคือ ออสเตรเลีย สหรัฐฯ เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์และ ฟิลิปปินส์

นอกจากนี้ประเด็นที่ต้องจับตาคือ คู่แข่งในการส่งออกไม้ตัดใบของไทยในตลาดโลก เนื่องจากปัจจุบันไม้ตัดใบที่ผลิตจากประเทศในเขตร้อนกำลังได้รับความสนใจในตลาดโลก เนื่องจากสีสันและรูปทรงของใบที่มีความหลากหลาย รวมทั้งความสม่ำเสมอของผลผลิตที่มีตลอดทั้งปี ซึ่งประเทศคู่แข่งที่น่าจับตามองคือ จีน ออสเตรเลีย อินเดีย ประเทศในแถบอเมริกากลาง และอเมริกาใต้

อาชีพการปลูกไม้ตัดใบนับเป็นอีกอาชีพหนึ่งที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย เนื่องจากตลาดไม้ตัดใบในประเทศมีการขยายตัว อันเป็นผลมาจากการเติบโตของธุรกิจร้านจัดดอกไม้ รวมทั้งธุรกิจการตกแต่งสถานที่ในโอกาสต่างๆ นอกจากนี้ตลาดส่งออกไม้ตัดใบก็นับว่าเป็นตลาดที่น่าสนใจ แม้ว่าในปัจจุบันมูลค่าการส่งออกยังไม่มากนัก แต่การส่งออกไม้ตัดใบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา และอัตราการขยายตัวของทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกก็อยู่ในเกณฑ์สูง

ดังนั้นธุรกิจไม้ตัดใบยังขยายตัวได้อีกมาก หากทั้งรัฐบาลและหน่วยงานเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องหันมาสนับสนุนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเทคโนโลยีการคิดค้นวิจัยพันธุ์ไม้ตัดใบใหม่ๆออกสู่ตลาด และเทคโนโลยีในการปลูก การเก็บรักษาไม้ตัดใบหลังการเก็บเกี่ยว การขนส่งและบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการพัฒนาในด้านต่างๆจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญในการผลักดันการส่งออกไม้ตัดใบให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง