การเปลี่ยนผู้นำประเทศเพื่อนบ้านของไทย นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่ประเทศไทยต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพื่อกระชับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงระหว่างกันได้อย่างราบรื่น มาเลเซียเป็นประเทศหนึ่งที่ได้ผลัดเปลี่ยนผู้นำใหม่มาระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่แนวนโยบายการบริหารจัดการของประเทศมาเลเซียเริ่มปรากฏทิศทางที่โดดเด่นมากขึ้นเป็นลำดับ และดูเหมือนจะเป็นการพลิกบทบาทของมาเลเซียในเวทีโลก
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี อับดุลเลาะห์ อะหมัดบาดาวี ซึ่งสืบทอดตำแหน่งต่อจาก ดร. มหาธีร์ โมฮัมหมัด กำลังทำให้ภาพลักษณ์ของมาเลเซียอ่อนโยนลง ตามบุคลิกนุ่มนวลและท่าทีประนีประนอมของผู้นำใหม่ แต่ในขณะเดียวกันความมุ่งมั่นในแนวนโยบายเศรษฐกิจที่ต้องการผลักดันให้มาเลเซียเป็นประเทศระดับแนวหน้าของเอเชียยังคงชัดเจน โดยมาเลเซียคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 6% ในปี 2547 และ 2548 ซึ่งนับเป็นระดับที่ไม่ได้แตกต่างจากประเทศไทยมากนัก อีกทั้ง มาเลเซีย ยังมีความต้องการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายอาหารฮาลาลของโลก รวมถึงการเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ล้วนเป็นนโยบายที่ประเทศไทยกำลังให้ความสนใจเช่นกัน
นายกรัฐมนตรีอับดุลเลาะห์ อะหมัดบาดาวี ได้เรียกความสนใจในเวทีการเมืองระหว่างประเทศให้แก่มาเลเซีย ด้วยการเดินทางไปเยือนประเทศมหาอำนาจตะวันตก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส และอังกฤษ เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2547 ซึ่งเป็นการหารือกับผู้นำประเทศดังกล่าวเป็นครั้งแรกหลังจากนายบาดาวีเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ช่วยฟื้นฟูสัมพันธภาพระหว่างมาเลเซียกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้ ได้มีการหารือกันเรื่องอิสลามและความสัมพันธ์กับประเทศตะวันตก เพื่อส่งเสริมความเข้าใจระหว่างกันและประสานรอยร้าวระหว่างชาติมุสลิมกับประเทศตะวันตก รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนในชาติมุสลิม ในฐานะที่ผู้นำมาเลเซียเพิ่งได้รับตำแหน่งประธานองค์กรรัฐอิสลาม (Organisation of Islamic Conference : OIC) ซึ่งประกอบด้วยประเทศมุสลิม 57 ประเทศ และเป็นองค์กรมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในโลก
นอกจากนี้ ผู้นำมาเลเซียยังรั้งตำแหน่งประธานกลุ่มเป็นกลางไม่ฝักใผ่ฝ่ายใด (Non-Aligned Movement : NAM) ซึ่งประกอบด้วยประเทศกำลังพัฒนา 116 ประเทศ มาเลเซียได้ประกาศสนับสนุนให้ประเทศมุสลิมเข้าร่วมบูรณะฟื้นฟูประเทศอิรัก เสริมสร้างระบบสถาบันการเมืองและระบบเศรษฐกิจให้แก่อิรัก โดยมาเลเซียสนับสนุนการส่งแพทย์เข้าไปในอิรักแล้ว ล้วนเป็นท่าทีใหม่ของมาเลเซียที่สอดประสานกับประเทศตะวันตกมากขึ้น
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีบาดาวีได้รับการสนับสนุนให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคองค์การสหมาเลย์แห่งชาติ (อัมโม) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลมาเลเซีย เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แสดงว่านายบาดาวีจะดำรงตำแหน่งผู้นำประเทศต่อไปอีกอย่างน้อย 3 ปี
รื้อฟื้นมิตรภาพ … ร่วมมือเศรษฐกิจ
ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับประเทศตะวันตก ได้แก่ สหรัฐฯ ประเทศยุโรป และประเทศเอเชีย-แปซิฟิกอย่างออสเตรเลีย และสิงคโปร์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้าน ไม่ค่อยราบรื่นนักในช่วงที่ผ่านๆมา เนื่องจากรัฐบาลมาเลเซียในอดีตมีจุดยืนที่ไม่ต้องการพึ่งพาต่างประเทศเป็นหลัก แต่มาเลเซียยุคใหม่ภายใต้การกุมบังเหียนของนายกรัฐมนตรีบาดาวี ได้ปรับความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับประเทศต่างๆ ที่เป็นมิตรมากขึ้น อาทิ
มาเลเซีย-สหรัฐฯ : ในอดีตมาเลเซียมักเป็นไม้เบื่อไม้เมากับสหรัฐฯ เกี่ยวกับประเด็นการเมืองระหว่างประเทศต่างๆ อาทิ กรณีสงครามอิรัก-สหรัฐฯ ความขัดแย้งเรื่องยิว- ปาเลสไตน์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซีย-สหรัฐฯ เริ่มฟื้นฟูขึ้น โดยเดือนพฤษภาคม 2547 ทั้งสองประเทศได้ลงนามกรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุน (Trade and Investment Framework Agreement : TIFA) นับเป็นประเทศที่ 5 ในกลุ่มอาเซียนที่ได้จัดทำ TIFA กับสหรัฐฯ หลังจากไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ ได้จัดทำความตกลง TIFA กับสหรัฐฯ ไปแล้ว ซึ่งจะนำไปสู่การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) กับสหรัฐฯ ในที่สุด
มาเลเซียเล็งเห็นว่าการจัดทำความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับสหรัฐฯ จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของมาเลเซีย ทั้งนี้ สหรัฐฯ นำเข้าสินค้าจากมาเลเซียมาก ที่สุดในอาเซียน ส่งผลให้สหรัฐฯ เป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของมาเลเซีย ในขณะที่มาเลเซียเป็นคู่ค้าอันดับที่ 10 ของสหรัฐฯ
มาเลเซีย-ออสเตรเลีย : แม้ว่าเศรษฐกิจของออสเตรเลียจะมีขนาดใหญ่กว่ามาเลเซียถึง 5 เท่า แต่ที่ผ่านมาการลงทุนของออสเตรเลียในมาเลเซียน้อยกว่าการลงทุนของมาเลเซียในออสเตรเลียถึง 10 เท่า เนื่องจากนักลงทุนออสเตรเลียชะลอการเข้าไปลงทุนในมาเลเซียในช่วงเกือบ 10 ปีที่แล้ว ทำให้มูลค่าเงินลงทุนของออสเตรเลียในมาเลเซียในปี 2546 ลดลงถึง 69% จากปี 2539 ขณะนี้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซียกับออสเตรเลียเริ่มกระเตื้องขึ้น โดยในวันที่ 20 กรกฎาคม 2547 รัฐมนตรีต่างประเทศของออสเตรเลียเดินทางมาเยือนมาเลเซีย และนายกรัฐมนตรีบาดาวีตอบรับคำเชิญของออสเตรเลียในการเดินทางไปเยือนออสเตรเลียในปีนี้ นอกจากนี้ทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างหารือความเป็นไปได้ในการจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างกันด้วย
ขณะเดียวกันความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ASEAN-CER) มีแนวโน้มใกล้ชิดยิ่งขึ้น โดยอาเซียนเชิญทั้งสองประเทศเข้าหารือกับผู้นำ อาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ในเดือนพฤศจิกายน 2547 ณ ประเทศลาว รวมทั้งพิจารณาจัดทำ FTA ระหว่างอาเซียนกับ 2 ประเทศนี้ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์จะมีโอกาสพบปะหารือกับผู้นำอาเซียนหลังจากเป็นประเทศคู่เจรจาของอาเซียนตลอด 30 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่เคยได้รับเชิญให้ร่วมประชุมกับผู้นำอาเซียนดังเช่น จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย
มาเลเซีย-สิงคโปร์ : แม้ว่ามาเลเซียกับสิงคโปร์เป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกัน และมีความคล้ายคลึงกันทางวัฒนธรรม แต่ที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียกับสิงคโปร์ไม่ค่อยราบรื่นนัก เพราะปัญหาขัดแย้งเรื่องทรัพยากรน้ำ ปัญหาพรมแดน และอื่นๆ แต่หลังจากเปลี่ยนผู้นำมาเลเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเริ่มดีขึ้น
ในเดือนมีนาคม 2547 บริษัท Temasak Holding ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ได้เข้าถือหุ้น 5% ของบริษัท Telekom ของมาเลเซีย และขณะนี้บริษัทดังกล่าวของสิงคโปร์อยู่ในขั้นตอนการเจรจาซื้อหุ้นของ Malaysian Plantation ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Alliance Bank –ธนาคารขนาดใหญ่อันดับ 8 ของมาเลเซีย หากการซื้อหุ้นดังกล่าวผ่านการอนุมัติจากทางการมาเลเซีย จะถือเป็นการเปิดให้แก่เสรีนักลงทุนต่างชาติสู่ภาคการธนาคารครั้งแรกของมาเลเซีย นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1980 ที่ทางการมาเลเซียยกเลิกการออกใบอนุญาตแก่ธนาคารต่างชาติ ก่อนหน้านี้มาเลเซียห้ามบริษัทที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลสิงคโปร์เข้าไปลงทุนในกิจการที่เป็นยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจของประเทศมาเลเซีย
จับตามาตรการปฏิรูปของมาเลเซีย
นอกจากนโยบายต่างประเทศของมาเลเซียที่เป็นมิตรกับนานาประเทศมากขึ้น และหันมากระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศต่างๆแล้ว นายกรัฐมนตรีบาดาวีได้ประกาศนโยบายปฏิรูปภายในประเทศมาเลเซียอย่างแข็งขันอีกด้วย ได้แก่ การปราบปรามปัญหาคอร์รัปชั่น การปรับปรุงกฎระเบียบ การสร้างความโปร่งใสของภาครัฐและระบบการประมูลโครงการต่างๆ รวมถึงการแก้ไขยอดขาดดุลงบประมาณของประเทศ ด้วยการทบทวนโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ทั้งหมด
ในขณะเดียวกัน รัฐบาลมาเลเซียจัดตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษ เพื่อปฏิรูปสถาบันตำรวจ รวมถึงการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาของมุสลิม โดยกำหนดให้นักศึกษามหาวิทยาลัยต้องสอบผ่านหลักสูตรใหม่ที่สอนให้เข้าใจในเชื้อชาติอื่นก่อนสำเร็จการศึกษา เพื่อช่วยลดการแบ่งแยกด้านเชื้อชาติของนักศึกษา ซึ่งอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคมในอนาคต
ทางด้านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจภายในประเทศของมาเลเซียก็มีการปรับปรุงเช่นกัน ได้แก่
o การทบทวนการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการประเมินผลการแปรรูปกิจการของรัฐ ได้แก่ ไฟฟ้า-ประปา โทรคมนาคม บริการสุขภาพ การกำจัดของเสีย การขนส่ง และโครงสร้างพื้นฐาน เนื่องจากเห็นว่าการแปรรูปที่ผ่านมาไม่ได้เปิดให้มีการแข่งขันประมูลอย่างเต็มที่
o การประกาศขายหุ้น 20% ของรถยนต์โปรตอน (Proton — รถยนต์แห่งชาติของมาเลเซีย) ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ต่างประเทศ รถยนต์โปรตอนของมาเลเซียได้รับการสนับสนุนและปกป้องจากภาครัฐอย่างมาก โดยตั้งกำแพงภาษีนำเข้ารถยนต์จากต่างประเทศสูงถึง 300% ทำให้การผลิตรถโปรตอนอยู่รอดได้โดยปราศจากการแข่งขันจากต่างชาติ และมาเลเซียได้ขอเลื่อนกำหนดการลดภาษีสินค้ารถยนต์ตามพันธกรณีข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ที่ต้องลดภาษีขาเข้าให้เหลือ 5% ในปี 2546 เป็นปี 2551 เพื่อปกป้องอุตสาห-กรรมรถยนต์ภายในประเทศ ในเดือนมีนาคม 2547 บริษัทมิตซูบิชิซึ่งถือหุ้นในโปรตอนมาเป็นเวลานานถึง 20 ปี ได้ตัดสินใจขายหุ้นโปรตอน ทำให้รัฐบาลมาเลเซียประกาศขายหุ้นโปรตอน ให้บริษัทผลิตรถยนต์จากต่างประเทศรายอื่น
o การมุ่งพัฒนาภาคการผลิต ส่งเสริมธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็ก รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิต เนื่องจากมาเลเซียตระหนักถึงคู่แข่งสำคัญอย่างจีน และอินเดียที่จะดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันการที่มาเลเซียเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก โดยมีประชากรประมาณ 25 ล้านคน จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องออกไปลงทุนและแสวงหาตลาดในต่างประเทศด้วย
o การสานต่อโครงการ “Multimedia Super Corridor” เพื่อพัฒนาความ ก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมาเลเซียมีแผนที่จะสร้างเมืองไซเบอร์เพิ่มขึ้นอีกหลายแห่งทั่วประเทศ เพื่อรองรับความก้าวหน้าของอินเทอร์เน็ต และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการ ยกระดับมาเลเซียให้กลายเป็นประเทศพัฒนาภายในปี 2563 (ค.ศ.2020)
ไทย VS มาเลเซีย
มาเลเซียเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดกับไทยและได้มีส่วนร่วมมือกับไทยแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ไม่สงบในภาคใต้ของไทยซึ่งติดต่อกับพื้นที่ทางภาคเหนือของมาเลเซียในช่วงต้นปี 2547 จนขณะนี้เหตุการณ์ดังกล่าวได้คลายความตึงเครียดลงบ้างแล้ว ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับมาเลเซีย สรุปได้ดังนี้
การค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย – การค้าชายแดนระหว่างกันมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2547 (มกราคม-พฤษภาคม) การค้า ชายแดนไทย-มาเลเซียเฟื่องฟูมาก มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น 46.7% เป็น 86,924.6 ล้านบาท การส่งออกชายแดนไทยไปมาเลเซียขยายตัว 53.4% ในขณะที่การนำเข้าชายแดนจากมาเลเซียเพิ่มขึ้น 32.9% ทำให้ไทยเกินดุลการค้าชายแดนกับมาเลเซียเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 จาก 28,791.4 ล้านบาท เป็น 39,120.3 ล้านบาท ในช่วง 5 เดือนแรกปี 2547
การค้าทั่วไประหว่างไทย-มาเลเซีย – มาเลเซียเป็นตลาดส่งออกอันดับที่ 6 ของไทย และเป็นแหล่งนำเข้าอันดับที่ 4 ของไทย มูลค่าการค้าทั่วไประหว่างไทย-มาเลเซียเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในช่วงครึ่งปีแรก 2547 มูลค่าการค้ารวม (ส่งออก+นำเข้า) เพิ่มขึ้น 40.4% เป็น มูลค่า 5,206 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยการส่งออกขยายตัว 51% เป็นมูลค่า 2,546 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าเพิ่มขึ้น 31.6% เป็นมูลค่า 2,660 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม ไทยยังคงเป็นฝ่ายขาดดุลการค้ากับมาเลเซีย แต่ยอดขาดดุลการค้าของไทยกับมาเลเซียลดลงถึง 66% อยู่ในระดับ 114 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงครึ่งปีแรก 2547 เทียบกับยอดขาดดุล 334 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงเดียวกันของปี 2546
ท่องเที่ยวไทย-มาเลเซีย – มาเลเซียเป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติอันดับ 1 ของไทย นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียเดินทางมาไทยมีจำนวนเฉลี่ยมากกว่า 1,300,000 คนต่อปี คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 13% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่เดินทางมาไทย นักท่องเที่ยวชาวมาเลเซียทำรายได้ด้านการท่องเที่ยวให้แก่ไทยประมาณ 20,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วงไตรมาสแรก 2547 ชาวมาเลเซียเดินทางมาท่องเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น 26% เป็นจำนวน 371,990 คน ขณะนี้ไทยกับมาเลเซียได้ตกลงเปิดเสรีทางการบินระหว่างกันคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวระหว่างทั้งสองประเทศให้คล่องตัวยิ่งขึ้น
การลงทุนไทย-มาเลเซีย – โครงการลงทุนของมาเลเซียที่ขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2547 มีมูลค่า 8,413 ล้านบาท นับว่าเป็นประเทศอาเซียนที่มาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 2 รองจากสิงคโปร์ ขณะนี้บริษัท UMW Holding ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของมาเลเซียเข้ามาลงทุนในไทย โดยใช้ไทยเป็นฐานการผลิตส่วนประกอบรถยนต์เพื่อส่งออกไปยังตลาดต่างๆ ในเอเชีย จึงมีแนวโน้มว่ามาเลเซียจะสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
บทสรุป
ประชาชนชาวมาเลเซียกำลังเริ่มคุ้นเคยกับบุคลิกของผู้นำคนใหม่ที่พูดจานุ่มนวล และประนีประนอม ในช่วงระยะเวลา 9 เดือนที่บริหารประเทศ แสดงให้เห็นถึงบทบาทผู้นำของนายกรัฐมนตรีบาดาวี ในการนำพา มาเลเซียไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ทั้งนโยบายต่างประเทศและนโยบายเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมทั้งสานต่อวิสัยทัศน์ที่จะพัฒนามาเลเซียให้ก้าวไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วในปี 2563 โดยมีนโยบายเปิดประเทศมากขึ้น รวมทั้งการพิจารณาจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีกับออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เพราะเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็นต่อกระแสการแข่งขันในการดึงดูดการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ
มาเลเซียเป็นประเทศที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของมาเลเซียใน 3 เดือนแรกของปี 2547 ขยายตัว 7.6% และคาดว่า GDP ในปี 2547 จะขยายตัว 6% เทียบกับอัตราเติบโต 4% ในปี 2546 เนื่องจากการส่งออกสดใส สินค้าส่งออกที่สำคัญของมาเลเซีย ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันปาล์ม และไม้สัก มีราคาสูงขึ้น ประกอบกับความต้องการของสหรัฐฯ และประเทศในเอเชียในการนำเข้าน้ำมันดิบ น้ำมันปาล์ม สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ จากมาเลเซียมากขึ้น
นอกจากนี้ จากการจัดอันดับของ International Management Development (IMD) พบว่า ขีดความสามารถทางการแข่งขันของมาเลเซียเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียแปซิฟิก 15 ประเทศ อยู่ในอันดับต้นๆ คือ อันดับที่ 5 ซึ่งสูงกว่าไทยที่อยู่ในอันดับที่ 10 ดังนั้น นโยบายของมาเลเซียที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค เช่น การพัฒนาประเทศเป็นศูนย์กลางการผลิตและการจำหน่ายอาหารฮาลาลของโลก การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นับว่าเป็นสิ่งท้าทายต่อประเทศไทยที่ต้องการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเช่นกัน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า นอกจากการพัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย ไทยอาจเปลี่ยนสิ่งท้าทายเหล่านี้เป็นโอกาส โดยร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้ากับมาเลเซียในหลายๆ ด้าน เช่น
• การร่วมทุนผลิตอาหารฮาลาล เพราะไทยมีความสามารถในการส่งออกอาหาร และเป็นผู้ส่งออกน้ำผลไม้ อาหารทะเล และเนื้อไก่แช่แข็ง ในอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว
• การส่งเสริมการค้าชายแดน เพื่อให้เศรษฐกิจชายแดนขยายตัว โดยขณะนี้ทั้งไทยและมาเลเซียอยู่ระหว่างการพิจารณาเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวและจุดขนส่งสินค้าคาร์โกจากปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลา ไปยังเมืองใหม่ปาดังเบซาในรัฐเปอร์ลิสของมาเลเซีย ซึ่งมาเลเซียสนับสนุนให้เป็นศูนย์กลางการขนถ่ายสินค้าระหว่างไทย-มาเลเซีย
นอกจากนี้ มาเลเซียสนใจเข้ามาลงทุนในอำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อสร้างห้องเย็นในการขนส่งระหว่างประเทศ รวมทั้งสร้างโรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร เนื่องจากจังหวัดยะลามีความพร้อมด้านวัตถุดิบ และราคาที่ดินไม่สูงมากนัก ดังนั้นการที่ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาด้านเศรษฐกิจใน 3 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการสร้างงานบริเวณชายแดน ส่งเสริมการค้าขายระหว่างกัน และดึงดูดการลงทุนจากนักธุรกิจทั้งภายในและนอกประเทศ