เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลงไปพร้อมกับวัฏจักรการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง ทั้งในแง่มุมของผลดีต่อธุรกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายใต้วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
• การลงทุนของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ส่งผลให้มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าในปี 2547 การลงทุนในด้านการก่อสร้างภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) จะขยายตัวประมาณร้อยละ 15 และชะลอลงเป็นร้อยละ 12 ในปี 2548
• การลงทุนภาครัฐมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเข้มแข็งขึ้นทำให้สามารถกลับมาเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคาดว่าในปี 2547 การลงทุนของภาครัฐจะมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่)ประมาณร้อยละ 8 และขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2548 ทั้งนี้ คาดว่าในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2548-2551) การลงทุนภาครัฐน่าจะมีความต่อเนื่องโดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 300,000-350,000 ล้านบาทต่อปี
•ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 585,000 ล้านบาทในปี 2547 เทียบกับมูลค่า 501,500 ล้านบาทในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 685,000 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตาม จากการที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าการลงทุนในการก่อสร้างในปี 2547 จะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 11 สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในปี 2546 และขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ในปี 2548
• วัฏจักรเศรษฐกิจที่นำโดยการลงทุนสามารถสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังมีผลในทางที่จะหนุนเสริมหรือดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (complement or crowd in private investment) จากความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของการลงทุนของภาคธุรกิจ ผลที่เป็นลูกโซ่จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณงานในธุรกิจก่อสร้างและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีความต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า
• แม้ว่าการลงทุนในภาคการก่อสร้างมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างสูง โดยมีการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้ามีราคาปรับตัวสูงตามภาวะราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้คาดว่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการกิจกรรมการก่อสร้างน่าจะมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทในปี 2547 และมีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาทในปี 2548 หรืออาจกล่าวได้ว่ามูลค่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆที่เพิ่มขึ้นทุกๆร้อยละ 1 จะทำให้การนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.03 หรือ ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท
• แม้ว่าความต้องการลงทุนด้านการก่อสร้างจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มระดับราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงตามภาวะต้นทุนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการบริหารงบประมาณลงทุนของภาคธุรกิจรวมทั้งภาครัฐ รวมทั้งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนด้านการก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ (หรือใน Real term) นอกจากนี้ ถ้าผลของกิจกรรมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการผลิตอุปทาน ในกรณีนี้อาจไปเร่งให้ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงรวดเร็วขึ้น และถ้าการแย่งชิงทรัพยากรการลงทุนไม่ว่าในด้านเงินทุนหรือวัตถุดิบมีความรุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนทางการผลิตและต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงจนผลตอบแทนการลงทุนไม่มีความคุ้มค่า อาจนำไปสู่ผลในทางลบคือทำให้ธุรกิจอื่นๆมีแรงจูงที่จะเข้ามาลงทุนลดลง (Crowd-out effect)
นอกเหนือจากปัจจัยด้านมหภาคแล้ว ประเด็นสำคัญอื่นๆที่น่าจะมีผลต่อทิศทางของธุรกิจก่อสร้างในระยะต่อไปคือการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการแข่งขันจากการไทยจะต้องเปิดตลาดมากขึ้นให้แก่ผู้ให้บริการด้านการก่อสร้างและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง แม้ว่าผู้ประกอบการได้จะมีโอกาสเข้าถึงตลาดของประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้นเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทก่อสร้างของไทยส่วนใหญ่นอกเหนือจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่แล้วยังขาดประสบการณ์และศักยภาพที่จะเข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ การเร่งปรับศักยภาพและนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การหาพันธมิตรทางธุรกิจอาจช่วยขยายช่องทางให้บริษัทไทยขยายโอกาสทางตลาดในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น
นับตั้งแต่ปี 2545 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ การเติบโตของการบริโภคภายในประเทศและภาคการส่งออกผลักดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมไทยปรับตัวสูงขึ้นมาเป็นลำดับ หลายอุตสาหกรรมมีอัตราการใช้กำลังการผลิตสูงกว่าร้อยละ 75-80 ซึ่งเป็นระดับที่น่าจะเกิดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตครั้งใหม่ ประกอบกับแนวโน้มการลงทุนจากต่างประเทศมีโครงการลงทุนเข้ามายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ในด้านการลงทุนของภาครัฐ รัฐบาลได้มีแผนการที่จะเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ปัจจัยทั้งหมดนี้นอกจากจะสะท้อนถึงความต้องการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าแล้ว การลงทุนในโครงการเหล่านี้ยังจะเป็นแรงส่งต่อให้เกิดความต้องการลงทุนในอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่มีความเชื่อมโยงกันทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ (Backward and forward linkages) ที่จะต้องมีการขยายกำลังผลิตตามความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลงไปพร้อมกับวัฏจักรการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง ทั้งในแง่มุมของผลดีต่อธุรกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายใต้วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่นี้
ทิศทางการลงทุนในโครงการก่อสร้างประเภทต่างๆ
– การลงทุนภาคเอกชน
ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 การลงทุนภาคเอกชนมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่) ร้อยละ 18.2 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นการเติบโตสูงอย่างต่อเนื่องจากปี 2546 ที่มีอัตราการขยายตัวร้อยละ 18.1 อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าอัตราการขยายตัวคงจะชะลอลงมาที่ประมาณร้อยละ 12 เนื่องจากต้องเปรียบเทียบกับฐานที่สูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2546 ที่มีการเร่งก่อสร้างที่อยู่อาศัย ประกอบกับปัจจุบันมีสัญญาณว่าสินค้าคงเหลือในตลาดที่อยู่อาศัยมีจำนวนเพิ่มขึ้น สำหรับการลงทุนนอกเหนือจากที่อยู่อาศัย ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นงานก่อสร้างในโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา เช่น ห้างสรรพสินค้าและอาคารคอมเพล็กซ์ที่ประกอบด้วยช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ โรงแรม อาคารสำนักงาน โดยส่วนหนึ่งเป็นการดำเนินการเพื่อรองรับโครงการกรุงเทพเมืองแฟชั่น แต่ในส่วนของโครงการที่เปิดตัวใหม่มีทิศทางชะลอลง สำหรับการก่อสร้างประเภทอุตสาหกรรมคาดว่ายังมีทิศทางที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายกำลังผลิตในภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนจากต่างประเทศ
ทั้งนี้ แนวโน้มการลงทุนในช่วงครึ่งปีหลังได้รับผลกระทบจากปัจจัยความผันผวนจากภายนอกโดยเฉพาะด้านราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ อันส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญแรงกดดันจากภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งภาวะตลาดที่อาจมีการชะลอตัวของการใช้จ่ายของผู้บริโภค นอกจากนี้ ทางการได้มีมาตรการดูแลอย่างเข้มงวดขึ้นต่อการปล่อยสินเชื่อโครงการให้แก่ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะมีส่วนทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาคเอกชนจะขยายตัวประมาณร้อยละ 15 ในปี 2547 สำหรับปี 2548 คาดว่าการลงทุนด้านการก่อสร้างภาคเอกชนอาจได้รับผลจากปัจจัยกระทบที่มีผลต่อเนื่องมาจากช่วงครึ่งหลังของปี 2547 ซึ่งการเปิดตัวโครงการใหม่ชะลอลงไปทั้งโครงการที่อยู่อาศัยและพาณิชยกรรม ส่งผลให้การลงทุนในปี 2548 อาจมีอัตราขยายตัวประมาณร้อยละ 12 ชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2547
– การลงทุนภาครัฐ
ตามงบประมาณของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2547 ในส่วนของงบลงทุนมีมูลค่า 220,888.8 ล้านบาท นอกจากนี้ รัฐบาลได้จัดตั้งงบกลางปีที่เป็นงบประมาณเพิ่มเติมในปี 2547 อีก 135,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าเกือบครึ่งเป็นงบประมาณเพื่อการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในช่วงปีปฏิทิน 2547 ภาครัฐน่าจะมีการใช้จ่ายงบลงทุนในด้านการก่อสร้างมูลค่าประมาณ 295,000 ล้านบาท สูงขึ้นจาก 261,000 ล้านบาทในปี 2546 โดยอัตราการขยายตัวของการลงทุนในการก่อสร้างภาครัฐ ณ ราคาคงที่คาดว่าอยู่ที่ประมาณร้อยละ 8 ทั้งนี้ แม้คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังการลงทุนในการก่อสร้างของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นจากที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.4 ในช่วงครึ่งปีแรก แต่การลงทุนในช่วงปี 2547 อาจไม่สูงตามเป้าหมายในงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยมีสาเหตุจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ยังมีความล่าช้า
ตามแผนนโยบายการบริหารเศรษฐกิจมหภาคในระยะปานกลาง (ปี 2548-2552) ภาครัฐมีนโยบายเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หลังจากที่ว่างเว้นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มาเป็นเวลานานในช่วงที่ประเทศประสบปัญหาวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ ทำให้การลงทุนของภาครัฐลดลงมาเหลือประมาณ 265,000 ล้านบาทต่อปี (โดยเฉลี่ยระหว่างปี 2543-2546) จากที่เคยมีมูลค่าสูงกว่า 350,000 ต่อปีในช่วงก่อนหน้าวิกฤตเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ประมาณการการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ การขนส่ง พลังงาน และสาธารณูปการ ระหว่างปี 2548-2551 ว่าจะมีการลงทุนมูลค่าประมาณ 140,000 ล้านบาทในปี 2548 และมูลค่า 250,000 ล้านบาทในปีต่อๆไป ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าการลงทุนของภาครัฐโดยรวมมีระดับที่เพิ่มขึ้น
สำหรับในปี 2548 งบลงทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ 2548 มีจำนวน 294,840 ล้านบาท สูงขึ้นเล็กน้อยหากเทียบกับงบลงทุนในปีงบประมาณปี 2547 ที่รวมงบเพิ่มเติมแล้ว ส่วนงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2548 มีวงเงินดำเนินการ 315,485 ล้านบาท และเบิกจ่าย 248,921 ล้านบาท หากพิจารณาโครงสร้างการลงทุนของภาครัฐโดยทั่วไปเป็นงานโยธาประมาณร้อยละ 60-70 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างของภาครัฐอาจจะมีมูลค่าประมาณ 340,000 ล้านบาทในปี 2548 เพิ่มขึ้นจากมูลค่าที่คาดการณ์ในปี 2547 ที่ประมาณ 295,000 ล้านบาท และมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 9 สำหรับในช่วงระหว่างปี 2548-2551 คาดว่าภาครัฐน่าจะมีการลงทุนในการก่อสร้างโดยเฉลี่ยประมาณ 350,000 ล้านบาทต่อปี
– แนวโน้มการลงทุนโดยรวม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 585,000 ล้านบาทในปี 2547 เทียบกับมูลค่า 501,500 ล้านบาทในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 685,000 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตาม จากการที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ผลของการลงทุนในเชิงปริมาณเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า โดยคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 11 ในปี 2547 สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในปี 2546 และคาดว่าขยายตัวใกล้เคียงกันที่ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2548
วัฏจักรการลงทุน : ผลต่อธุรกิจก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง
ในช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยการลงทุน แกนหลักของอุตสาหกรรมที่จะมีส่วนสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจจะเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมการผลิตและการบริการเพื่อตอบสนองตลาดผู้บริโภคมาเป็นธุรกิจที่รองรับกิจกรรมการลงทุน จากการศึกษาข้อมูลในอดีตพบว่า การลงทุนที่เข้ามาสู่ภาคการก่อสร้างโดยเฉลี่ยแล้วมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 49 ของกิจกรรมการลงทุนโดยรวมของประเทศ
วัฏจักรเศรษฐกิจที่นำโดยการลงทุนสามารถสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ การลงทุนของภาครัฐในช่วงที่สถานภาพการคลังมีความเข้มแข็งขึ้นถือได้ว่าเป็นนโยบายที่เหมาะสม เนื่องจากจะเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังมีผลในทางที่จะหนุนเสริมหรือดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (complement or crowd in private investment) จากความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของการลงทุนของภาคธุรกิจ
ผลที่เป็นลูกโซ่จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณงานในธุรกิจก่อสร้างและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีความต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า จากการวิเคราะห์โครงสร้างปัจจัยการผลิตพบว่ามากกว่าร้อยละ 40 ของมูลค่าผลผลิตรวมในภาคการก่อสร้างมาจากวัสดุก่อสร้างหลัก ได้แก่ การทำเหมืองหินและย่อยหิน (ร้อยละ 10.2) เหล็ก (ร้อยละ 9.1) การผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีต (ร้อยละ 8.3) การผลิตซีเมนต์ (ร้อยละ 6.8) การผลิตผลิตภัณฑ์จากดินที่ใช้กับงานก่อสร้าง (ร้อยละ 2.5) ผลิตภัณฑ์โลหะอื่นๆ (ร้อยละ 2.4) โรงเลื่อย (ร้อยละ 2.2) ซึ่งธุรกิจเหล่านี้น่าจะได้รับประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ภายใต้วัฏจักรการลงทุนในรอบนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ควรพิจารณา กล่าวคือ
– กิจกรรมการลงทุนพึ่งพาการนำเข้าปัจจัยการผลิตสูง
จากการวิเคราะห์โครงสร้างปัจจัยการผลิตของกิจกรรมการลงทุนพบว่า โครงการลงทุนโดยเฉลี่ยต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 50 ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด ในจำนวนนี้แยกเป็นการนำเข้าปัจจัยการผลิตที่เกี่ยวข้องกับเครื่องมือ เครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณร้อยละ 40 และการนำเข้าเพื่อใช้ในภาคก่อสร้างประมาณร้อยละ 7-8
ในส่วนของการลงทุนในภาคก่อสร้าง สังเกตได้ว่ามีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างสูง การลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆโดยเฉลี่ยแล้วมีการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้ามีราคาปรับตัวสูงตามภาวะราคาในตลาดโลก โดยเฉพาะเหล็ก ทองแดง อลูมิเนียม ผลิตภัณฑ์พลาสติก ซึ่งจากการวิเคราะห์โครงสร้างการนำเข้าปัจจัยการผลิตในกิจกรรมการก่อสร้าง พบว่ารายการที่มีการนำเข้าสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เหล็ก (คิดเป็นร้อยละ 45 ของปัจจัยการผลิตที่นำเข้าเพื่อกิจกรรมการก่อสร้างทั้งหมด) ผลิตภัณฑ์โลหะประเภทอื่นๆ (ร้อยละ 13) เครื่องมือเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ (ร้อยละ 10.2) ผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 7) และผลิตภัณฑ์โลหะที่ใช้เป็นส่วนประกอบในการก่อสร้าง (ร้อยละ 5) ซึ่งถ้าประเมินจากโครงสร้างการใช้สัดส่วนวัตถุดิบนำเข้าและรวมผลของราคาสินค้าที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย คาดว่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการกิจกรรมการก่อสร้างต่างๆโดยรวมน่าจะมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทในปี 2547 และมีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาทในปี 2548 หรืออาจกล่าวได้ว่ามูลค่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆที่เพิ่มขึ้นทุกๆร้อยละ 1 จะทำให้การนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.03 หรือ ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท
– แนวโน้มระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้นเพิ่มแรงกดดันต่อการดำเนินโครงการ
แม้ว่าความต้องการลงทุนด้านการก่อสร้างจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มระดับราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงตามภาวะต้นทุนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการบริหารงบประมาณลงทุนของภาคธุรกิจรวมทั้งภาครัฐเพื่อให้โครงการดำเนินไปได้ภายใต้งบประมาณที่ตั้งไว้ โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าในปี 2547 อัตราเงินเฟ้อโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.7 และจะขยับขึ้นเป็นร้อยละ 3.5 ในปี 2548 ผลของการเพิ่มขึ้นของระดับราคาจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนด้านการก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ (หรือใน Real term) นอกจากนี้ สังเกตได้ว่าที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการปรับขึ้นราคาสินค้าน้อยกว่าและช้ากว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนวัตถุดิบ ซึ่งในกรณีนี้อาจมีผลทำให้อัตรากำไรของภาคธุรกิจลดลง อย่างไรก็ตาม ถ้าผลของกิจกรรมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการผลิตอุปทาน ก็อาจทำให้ภาคธุรกิจมีความยืดหยุ่นในการปรับราคาได้มากขึ้น ซึ่งในกรณีนี้อาจไปเร่งให้ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงรวดเร็วขึ้น และถ้าการแย่งชิงทรัพยากรการลงทุนไม่ว่าในด้านเงินทุนหรือวัตถุดิบมีความรุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนทางการผลิตและต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงจนผลตอบแทนการลงทุนไม่มีความคุ้มค่า อาจก่อให้เกิดผลในทางตรงกันข้ามคือ แทนที่การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จะดึงให้มีการลงทุนอื่นๆตามมา (Crowd-in effect) อาจกลับกลายเป็นส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆมีแรงจูงใจที่จะเข้ามาลงทุนลดลง (Crowd-out effect)
สรุปและข้อคิดเห็น
เศรษฐกิจไทยในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะก้าวเข้าสู่วัฏจักรเศรษฐกิจที่มีการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ ธุรกิจก่อสร้างเป็นภาคเศรษฐกิจที่มีทิศทางขึ้นลงไปพร้อมกับวัฏจักรการลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มธุรกิจก่อสร้าง ทั้งในแง่มุมของผลดีต่อธุรกิจและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายใต้วัฏจักรการลงทุนรอบใหม่ โดยมีประเด็นสำคัญโดยสรุปดังนี้
– การลงทุนของภาคเอกชนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2547 ต่อเนื่องถึงปี 2548 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภาวะราคาน้ำมัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และทิศทางอัตราดอกเบี้ยในต่างประเทศ ส่งผลให้มีการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยคาดว่าในปี 2547 การลงทุนในด้านการก่อสร้างภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) จะขยายตัวประมาณร้อยละ 15 และชะลอลงเป็นร้อยละ 12 ในปี 2548
– การลงทุนภาครัฐมีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น หลังจากที่ฐานะทางการคลังของรัฐบาลมีความเข้มแข็งขึ้นทำให้สามารถกลับมาเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในอนาคต และเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยคาดว่าในปี 2547 การลงทุนของภาครัฐจะมีอัตราการขยายตัว (ณ ราคาคงที่)ประมาณร้อยละ 8 และขยายตัวร้อยละ 9 ในปี 2548 ทั้งนี้ คาดว่าในระยะ 5 ปี ข้างหน้า (ปี 2548-2551) การลงทุนภาครัฐน่าจะมีความต่อเนื่องโดยมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 300,000-350,000 ล้านบาทต่อปี
– ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าการลงทุนในด้านการก่อสร้างโดยรวมจะมีมูลค่าประมาณ 585,000 ล้านบาทในปี 2547 เทียบกับมูลค่า 501,500 ล้านบาทในปี 2546 และเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 685,000 ล้านบาทในปี 2548 อย่างไรก็ตาม จากการที่ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นในอัตราเร่งขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา จึงคาดว่าการลงทุนในการก่อสร้างในปี 2547 จะมีอัตราการขยายตัว ณ ราคาคงที่ประมาณร้อยละ 11 สูงขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในปี 2546 และขยายตัวประมาณร้อยละ 10 ในปี 2548
– วัฏจักรเศรษฐกิจที่นำโดยการลงทุนสามารถสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ เนื่องจากจะเป็นรากฐานสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ยังมีผลในทางที่จะหนุนเสริมหรือดึงดูดให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนตามมา (complement or crowd in private investment) จากความเชื่อมโยงระหว่างอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องทั้งในระดับต้นน้ำและปลายน้ำ และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตซึ่งนำไปสู่ผลตอบแทนที่สูงขึ้นของการลงทุนของภาคธุรกิจ ผลที่เป็นลูกโซ่จากการลงทุนของภาครัฐและภาคเอกชนนี้จะช่วยสนับสนุนให้ปริมาณงานในธุรกิจก่อสร้างและความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างมีความต่อเนื่องในระยะ 5 ปีข้างหน้า
– แม้ว่าการลงทุนในภาคการก่อสร้างมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจภายในประเทศค่อนข้างสูง โดยมีการพึ่งพิงการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศประมาณร้อยละ 15 ของมูลค่าเงินลงทุนในโครงการก่อสร้างทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างที่มีการนำเข้ามีราคาปรับตัวสูงตามภาวะราคาวัตถุดิบในตลาดโลก ทำให้คาดว่าการนำเข้าปัจจัยการผลิตจากต่างประเทศที่เกิดขึ้นจากการกิจกรรมการก่อสร้างน่าจะมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านบาทในปี 2547 และมีมูลค่าประมาณ 120,000 ล้านบาทในปี 2548 หรืออาจกล่าวได้ว่ามูลค่าการลงทุนในโครงการก่อสร้างต่างๆที่เพิ่มขึ้นทุกๆร้อยละ 1 จะทำให้การนำเข้าโดยรวมเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.03 หรือ ประมาณ 1,000-1,200 ล้านบาท
– แม้ว่าความต้องการลงทุนด้านการก่อสร้างจะมีทิศทางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่แนวโน้มระดับราคาสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงตามภาวะต้นทุนอาจเพิ่มแรงกดดันต่อการบริหารงบประมาณลงทุนของภาคธุรกิจรวมทั้งภาครัฐ รวมทั้งอาจเป็นข้อจำกัดต่อการขยายตัวของการลงทุนด้านการก่อสร้าง ณ ราคาคงที่ (หรือใน Real term) นอกจากนี้ ถ้าผลของกิจกรรมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์เพิ่มขึ้นเร็วกว่าความสามารถในการผลิตอุปทาน ในกรณีนี้อาจไปเร่งให้ระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงรวดเร็วขึ้น และถ้าการแย่งชิงทรัพยากรการลงทุนไม่ว่าในด้านเงินทุนหรือวัตถุดิบมีความรุนแรง ส่งผลให้ต้นทุนทางการผลิตและต้นทุนทางการเงินเพิ่มสูงจนผลตอบแทนการลงทุนไม่มีความคุ้มค่า อาจนำไปสู่ผลในทางลบคือทำให้ธุรกิจอื่นๆมีแรงจูงที่จะเข้ามาลงทุนลดลง (Crowd-out effect)
นอกเหนือจากปัจจัยด้านมหภาคแล้ว ประเด็นสำคัญอื่นๆที่น่าจะมีผลต่อทิศทางของธุรกิจก่อสร้างในระยะต่อไปคือการเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาวะการแข่งขันจากการไทยจะต้องเปิดตลาดมากขึ้นให้แก่ผู้ให้บริการด้านการก่อสร้างและผู้ประกอบวิชาชีพที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง แม้ว่าผู้ประกอบการได้จะมีโอกาสเข้าถึงตลาดของประเทศคู่เจรจาได้มากขึ้นเช่นกัน แต่ต้องยอมรับว่าบริษัทก่อสร้างของไทยส่วนใหญ่นอกเหนือจากบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่แล้วยังขาดประสบการณ์และศักยภาพที่จะเข้าไปดำเนินโครงการก่อสร้างในต่างประเทศ การเร่งปรับศักยภาพและนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ จึงเป็นแนวทางที่ผู้ประกอบการต้องเตรียมตัวล่วงหน้าเพื่อรับมือการแข่งขันที่จะสูงขึ้นในอนาคต นอกจากนี้ การหาพันธมิตรทางธุรกิจอาจช่วยขยายช่องทางให้บริษัทไทยขยายโอกาสทางตลาดในต่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น