นับตั้งแต่ช่วงไตรมาสแรกของปีนี้เป็นต้นมา เงินบาทได้อ่อนค่าลงตามลำดับเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อันเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ, ข่าวการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก, สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ที่รุนแรงขึ้น, มาตรการชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน, การปรับตัวลดลงของตลาดหลักทรัพย์ และการที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งได้กดดันค่าเงินเยนและค่าเงินอื่นๆในภูมิภาคให้อ่อนค่าลงไปเช่นเดียวกัน
โดยเงินบาทมีค่าเฉลี่ยในไตรมาสแรกของปี อยู่ที่ประมาณ 39.20 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ และอ่อนค่าลงไปอยู่ที่ประมาณ 40.30 บาท/ดอลลาร์ฯ ในไตรมาส 2 หรืออ่อนค่าลงจากไตรมาสแรกคิดเป็นร้อยละ 2.57 และมีค่าเฉลี่ยในไตรมาส 3 อยู่ที่ประมาณ 41.28 บาท/ดอลลาร์ฯ หรืออ่อนค่าลงจากไตรมาส 2 คิดเป็นร้อยละ 2.54 และได้ลงไปแตะระดับต่ำสุดในรอบปีที่ 41.769 บาท/ดอลลาร์ฯเมื่อวันที่ 26 ส.ค.ที่ผ่านมา
เงินบาทอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 2 และ 3 สำหรับแนวโน้มของเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯในไตรมาส 4 ของปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ค่าเงินบาทจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัจจัยบวกและปัจจัยลบหลายประการ ทั้งนี้ปัจจัยบวกที่คาดว่าจะช่วยหนุนค่าเงินบาท ได้แก่
1. การแข็งค่าขึ้นของเงินเยน/ดอลลาร์ฯจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ประเทศไทยมีสัดส่วนการค้ากับประเทศญี่ปุ่นมากเป็นอันดับหนึ่งในบรรดาประเทศคู่ค้าของไทยทั้งหมด นอกเหนือจากนั้นแล้ว ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment) ในประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่งเช่นกัน ซึ่งส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยขึ้นอยู่กับการเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นค่อนข้างมาก ในขณะที่ค่าความสัมพันธ์ (Correlation) ของเงินบาท กับเงินเยนในช่วง 10 ปีทีผ่านมานั้นเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยอยู่ที่ 0.63
หลังจากที่ได้มีการประกาศตัวเลขจีดีพีไตรมาส 2 ของญี่ปุ่นเมื่อช่วงกลางเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนเพียงร้อยละ 1.3 เมื่อคิดเป็นรายปี ลดลงอย่างมากจากการขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 เมื่อไตรมาสแรกนั้น ได้ทำให้เกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้ว่าจะสามารถขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่งหรือไม่ ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ฯ อย่างไรก็ตาม ความวิตกกังวลดังกล่าวได้เริ่มลดลงไปบ้าง หลังจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจที่เริ่มดีขึ้นตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เช่น ตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. และ การสะสมสต็อกสินค้าทุนในเดือน ส.ค. ซึ่งเพิ่มขึ้นไปเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน นอกจากนั้นแล้ว การเพิ่มขึ้นของตัวเลขดัชนี Diffusion Index ซึ่งใช้วัดความคิดเห็นของผู้ประกอบการเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ ในรายงานการสำรวจความเชื่อมั่นภาคเอกชน* (TANKAN) สำหรับไตรมาสเดือน มิ.ย. – ก.ย.ที่ผ่านมา
โดยเฉพาะตัวเลขดัชนีดังกล่าวจากกลุ่มของผู้ประกอบการขนาดใหญ่ซึ่งได้เพิ่มขึ้นไปถึง +4 จาก 22 เป็น 26 ก็ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นของภาคเอกชนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น รวมทั้งล่าสุด IMF และ OECD ยังได้ปรับเพิ่มตัวเลขการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้เป็นร้อยละ 4.4 จากตัวเลขประมาณการณ์เดิมของ IMF ที่ร้อยละ 3.3 และของ OECD ที่ร้อยละ 3 ซึ่งแนวโน้มในเชิงบวกเกี่ยวกับการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นนั้น จะเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เงินเยนที่จะแข็งค่าขึ้นได้เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯซึ่งจะส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน
2. แนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทย
นับตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.จนถึง 15 ต.ค.ที่ผ่านมานั้น อัตราผลตอบแทนของตลาดหลักทรัพย์ไทยได้ปรับตัวลดลงไปประมาณร้อยละ 14.5 อันเนื่องมาจากความวิตกกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก, สถานการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้, การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก, ความไม่มั่นใจในการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนปัญหา NPL ของระบบสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมา โดยนักลงทุนต่างชาติได้ขายสุทธิทั้งสิ้นกว่า 5.4 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนรายย่อยซื้อสุทธิกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท และ 3.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ซึ่งการไหลออกของเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่มาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้น ถือได้ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงไป ทั้งนี้จากการคำนวณหาค่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินบาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ กับ ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยนับตั้งแต่ที่ได้มีการลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อ 2 ก.ค. 2540 จนถึงเดือน ก.ย.ที่ผ่านมานั้นพบว่ามีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกันค่อนข้างมาก โดยมีค่าความสัมพันธ์สูงถึงประมาณ 0.88
สำหรับแนวโน้มของตลาดหลักทรัพย์ไทยในไตรมาสที่ 4 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า น่าจะสามารถปรับตัวขึ้นได้ โดยมีโอกาสที่จะตลาดจะปรับขึ้นไปปิด ณ.สิ้นปีได้ที่ประมาณ 700 จุด ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยพื้นฐาน อันได้แก่ ค่า P/E Ratio ของตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ยังคงต่ำกว่าตลาดหลักทรัพย์อื่นๆ อยู่มาก*, การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังคงเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพ, แรงซื้อเก็งกำไรในช่วงปลายปีก่อนการเลือกตั้ง ประกอบกับการที่ได้แรงหนุนส่วนหนึ่งจากการที่รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ตลาดหลักทรัพย์ไทยให้เป็นที่รู้จักในหมู่นักลงทุนต่างชาติเพิ่มมากขึ้น เช่น การจัดงานไทยแลนด์โฟกัสในเดือนที่ผ่านมา คาดว่าจะจูงใจให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์มากขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยหนุนค่าเงินบาท
3. การแก้ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ
ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดถือได้ว่าเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯมาโดยตลอด เป็นที่น่าสังเกตว่า การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ซึ่งได้ลดลงตามลำดับในปี 2546 ได้กลับเพิ่มมากขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯในไตรมาส 2 นั้นได้เพิ่มขึ้นเป็น 166.2 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 147.2 พันล้านดอลลาร์ฯในไตรมาสแรก ซึ่งสาเหตุที่สำคัญมาจากการขาดดุลการค้าในไตรมาส 2 ที่เพิ่มมากขึ้น โดยขาดดุลการค้าคิดเป็น 163.6 พันล้านดอลลาร์ฯ จาก 150.8 พันล้านดอลลาร์ฯสหรัฐฯในไตรมาสแรก ส่งผลให้ในครึ่งแรกของปี 2547 นี้ สหรัฐฯขาดดุลบัญชีเดินสะพัดรวม 313.3 พันล้านดอลลาร์ฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15 จาก 272 พันล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา
จากการพิจารณาตัวเลขการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปีนี้นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า อาจจะมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ (โดยเฉพาะหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี) จะใช้เครื่องมืออัตราแลกเปลี่ยนในการแก้ปัญหาการขาดดุลดังกล่าว ดังจะเห็นได้จาก ข่าวเกี่ยวกับการเพิ่มแรงกดดันให้ประเทศจีนปรับเพิ่มค่าเงินหยวนจากเดิมที่ตรึงไว้ที่ 8.28 หยวนต่อดอลลาร์ฯในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้หากว่าสหรัฐฯออกมากล่าวถึงปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตนว่า มีความเชื่อมโยงกับค่าเงินในภูมิภาคแล้ว ก็อาจจะส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ในตลาดเงินว่าสหรัฐฯกำลังต้องการให้ค่าเงินดอลลาร์ฯอ่อนตัวลง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อการตัดสินใจถือครองดอลลาร์ฯของนักลงทุน และทำให้เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าลง
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในไตรมาส 4 นั้น น่าที่จะเป็นไปอย่างจำกัด อันเป็นผลมาจากปัจจัยลบต่างๆ อันได้แก่
1. ราคาน้ำมันในตลาดโลก นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิตที่สำคัญนั้น ได้ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆในภูมิภาคที่ต้องพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลก รองจากสหรัฐฯ และ จีน และเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสุทธิจากต่างประเทศเป็นอันดับหนึ่งของโลก โดยทำให้เกิดความวิตกกังวลว่าต้นทุนทางด้านพลังงานที่เพิ่มขึ้นนั้นจะทำให้ผลกำไรของภาคเอกชน และการใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงไป ซึ่งจะกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เงินเยนอ่อนค่าลงไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ค่าเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค และค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปเช่นเดียวกัน ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยของเงินเยน/ดอลลาร์ฯในเดือน ก.ย.อยู่ที่ 110.06 เยน/ดอลลาร์ฯ ซึ่งได้อ่อนค่าลงไปจากค่าเฉลี่ยในเดือน ม.ค.ที่ 106.44 เยน/ดอลลาร์ฯ กว่าร้อยละ 3.03
เมื่อพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรงในอิรักที่ยังคงไม่คลี่คลาย, การผลิตน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกที่ยังไม่สามารถผลิตได้อย่างเต็มกำลัง ประกอบกับการที่ประธานกลุ่มโอเปกได้ออกมากล่าวในช่วงที่ผ่านมาว่าทางกลุ่มยังคงไม่มีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมัน ในขณะที่คาดว่าอุปสงค์ของน้ำมันจะเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูหนาวนั้น จะส่งผลให้มีความเป็นไปได้อย่างมากที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงปรับตัวอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี และจะเป็นปัจจัยที่กดดันค่าเงินในภูมิภาคต่อไป นอกจากนั้นแล้ว หากว่าราคาน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องก็อาจจะส่งผลให้รัฐบาลปรับขึ้นราคาน้ำมันเบนซินอีกครั้งภายในปีนี้ เพื่อชดเชยภาระของกองทุนน้ำมันซึ่งตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม ถึง 14 ตุลาคมนั้น ได้ชดเชยราคาน้ำมันไปแล้วทั้งสิ้น 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งแนวโน้มในการปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศนั้นย่อมเป็นปัจจัยลบต่อเเนวโน้มเศรษฐกิจ และค่าเงินบาท
2. แนวโน้มการขาดดุลการค้าในช่วงไตรมาส 4 การอ่อนตัวของค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมานั้น
สอดคล้องกับฐานะที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่องของดุลการค้าของไทย ทั้งนี้มูลค่าการนำเข้าของไทยนับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ส.ค. ปีนี้นั้น ได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดือน ม.ค.-ส.ค.ของปีก่อนกว่าร้อยละ 30.6 ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มขึ้นดังกล่าวนั้น มาจากการเพิ่มขึ้นในส่วนของมูลค่าการนำเข้าน้ำมัน, สินค้าทุน และวัตถุดิบ ซึ่งเพิ่มขึ้นไปตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ส่งผลให้ดุลการค้าของไทยในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้ ขาดดุลทั้งสิ้น 133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนประเทศไทยเกินดุลการค้า 2,319 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และส่งผลต่อเนื่องให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้เกินดุล 3,618 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเกินดุลลดลงไปร้อยละ 25.0 จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 4,818 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
สำหรับแนวโน้มในช่วงที่ยังเหลือของปีนี้นั้น ความเป็นไปได้ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะยังคงปรับตัวอยู่ในระดับสูงจนถึงสิ้นปี อาจจะส่งผลให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลอย่างต่อเนื่องจากในช่วง 8 เดือนแรก อันจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยเกินดุลลดลงไปเช่นเดียวกัน นอกจากนั้นแล้วคาดว่าการไหลออกของเงินทุนเพื่อชำระหนี้ต่างประเทศของรัฐวิสาหกิจที่จะเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปีนี้ จะส่งผลให้ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลเพิ่มขึ้น และจะกดดันดุลการชำระเงินของไทยให้เกินดุลลดลงไป และกดดันเงินบาทให้อ่อนค่าลงได้ในที่สุด
3. ปัจจัยลบจากภายในประเทศ นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา ค่าเงินบาทได้รับแรงกดดันจากปัจจัยลบในประเทศหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สถานการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ และการกลับมาแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก ซึ่งถึงแม้ว่าผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้โดยตรงต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศจะไม่รุนแรงมาก แต่ก็ถือได้ว่าเป็นปัจจัยที่บั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อการลงทุนในประเทศไทยทั้งการลงทุนทางตรงและทางอ้อม ส่งผลให้มีการขายเงินบาทออกมามากขึ้นและเป็นสาเหตหนึ่งที่ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ฯ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวนั้นน่าจะยังคงอยู่ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี และจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันค่าเงินบาทต่อไป
4. แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯเกินกว่าที่คาดไว้ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมานั้น ธนาคารกลางสหรัฐฯได้ทำการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปแล้วทั้งสิ้น 3 ครั้ง ครั้งละร้อยละ 0.25 จากระดับต่ำสุดในรอบ 46 ปีที่ร้อยละ 1 ไปเป็นร้อยละ 1.25, ร้อยละ 1.5 และร้อยละ 1.75 ตามลำดับ ในวันที่ 30 มิ.ย. , วันที่ 10 ส.ค.และ วันที่ 21 กันยายน ที่ผ่านมา แต่การประกาศตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เช่น ตัวเลขยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน ยอดค้าปลีก ตลอดจนตัวเลขการจ้างงานเดือนกันยายนที่ขยายตัวต่ำกว่าความคาดหมายนั้น ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯน่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียงครั้งเดียวในการประชุมในเดือน พ.ย. ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวนี้ได้สะท้อนไปในค่าเงินดอลลาร์ฯเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของปีนี้ หากว่าตัวเลขทางเศรษฐกิจอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรในเดือน ต.ค.และ พ.ย. เพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดไว้ หรือเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงท่าทีที่เชื่อมั่นต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯเเล้ว ก็อาจจะทำให้ตลาดเงินเกิดการคาดการณ์ครั้งใหม่ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อค่าเงินดอลลาร์ฯ ในขณะที่จะทำให้ค่าเงินในภูมิภาครวมทั้งค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปได้
โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่ของปีนี้นั้น ถึงแม้ว่าเงินบาทอาจจะยังคงเผชิญกับปัจจัยลบต่างๆตามที่ได้กล่าวในข้างต้นก็ตาม แต่แนวโน้มการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเฉพาะหากสหรัฐฯหันมาใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของตน จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยหนุนค่าเงินบาท โดยคาดว่าเงินเยน/ดอลลาร์ฯ น่าจะแข็งค่าขึ้นไปที่ 108.6 เยน/ดอลลาร์ฯ ณ. ปลายปีนี้ จากที่ประมาณ 109.3 – 109.7 เยน/ดอลลาร์ฯในปัจจุบัน นอกจากนั้นแล้ว คาดว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการปรับตัวเพิ่มขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงสิ้นปีก่อนการเลือกตั้ง ส่งผลให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทน่าจะปิดระดับ ณ.ปลายปีที่ 41.0 บาท/ดอลลาร์ฯ จากที่เคลื่อนไหวในช่วง 41.3 – 41.5 บาท/ดอลลาร์ฯในขณะนี้ รวมทั้งมีค่าเฉลี่ยในไตรมาส 4 ที่ 41.20 บาท/ดอลลาร์ฯ เทียบกับ 41.28 บาท/ดอลลาร์ฯในไตรมาส 3 และมีค่าเฉลี่ยของปี 2547 อยู่ที่ 40.5 บาท/ดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับ 41.49 บาท/ดอลลาร์ฯในปี 2546