ข้าวปี’48 : ตลาดส่งออก…ยังเติบโตโดดเด่น

ในปี 2547 ไทยมีบทบาทที่โดดเด่นมากในตลาดข้าวโลก เนื่องจากการส่งออกข้าวของไทยพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ในขณะที่การส่งออกข้าวของอินเดียและจีนลดลง ส่วนรัฐบาลเวียดนามก็มีนโยบายจำกัดการส่งออกข้าว(Government-Managed Export) การส่งออกข้าวของไทยขยายตัวอย่างมากทั้งในตลาดจีน ประเทศในแถบแอฟริกา และตะวันออกกลาง หลังจากที่เคยชะลอตัวในปี 2546 คาดการณ์ว่าภาวะการค้าข้าวของไทยในปี 2548 มีแนวโน้มดังนี้

1.การแข่งขันการค้าข้าวในตลาดโลก เนื่องจากประเทศผู้ผลิตข้าวสำคัญยังประสบปัญหาสภาพภูมิอากาศไม่เอื้ออำนวยและปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

– อินเดีย คาดการณ์ผลผลิตข้าวของอินเดียในปี 2547/48 ลดลงเหลือ 83 ล้านตันข้าวสาร หรือลดลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากเนื้อที่ปลูกข้าวในแถบทางเหนือและทางตะวันออกของอินเดียมีแนวโน้มลดลง คาดว่าการแข่งขันในตลาดโลกของข้าวคุณภาพปานกลางและต่ำจากอินเดียจะลดลง อย่างไรก็ตามประเด็นที่ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังต้องติดตามคือ ในปี 2548 นั้นคาดว่าอินเดียจะยังคงส่งออกข้าวบัสมาติได้ 600,000 ตัน ซึ่งข้าวประเภทนี้เป็นคู่แข่งของข้าวหอมจากไทยในบางตลาด นอกจากนี้ราคาข้าวนึ่งจากอินเดียยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าไทยเกือบ 10 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

– เวียดนาม คาดการณ์ว่าปริมาณผลผลิตข้าวของเวียดนามในปี 2547/48 เท่ากับ 35.2 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 และคาดการณ์ว่าในปี 2548 การส่งออกข้าวของเวียดนามมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 3.85 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 4.1 เนื่องจากรัฐบาลเวียดนามมีการกำหนดเป้าหมายการส่งออกที่สูงขึ้น และยกเลิกนโยบายการควบคุมการส่งออกข้าวที่ประกาศใช้ในปี 2547 ทำให้คาดหมายได้ว่าในปี 2548 เวียดนามจะกลับเข้ามาเป็นคู่แข่งขันในการส่งออกข้าวของไทย ประเด็นที่น่าจับตามองคือ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2547 เวียดนามส่งออกข้าวข้าวหอม และข้าวเหนียวสูงถึง 100,000 ตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3

– สหรัฐฯ คาดการณ์ว่าในปี 2547/48 ผลผลิตข้าวของสหรัฐฯเท่ากับ 7.04 ล้านตันข้าวสาร เมื่อเทียบกับในปีที่ผ่านมาแล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.5 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ ทั้งนี้เนื่องจากมีการขยายพื้นที่การปลูกข้าว อันเป็นผลมาจากการที่ราคาข้าวในตลาดโลกอยู่ในเกณฑ์สูง ซึ่งการที่ปริมาณผลผลิตข้าวของสหรัฐฯเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากนี้ ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกของสหรัฐฯมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นช่วงห่างระหว่างราคาข้าวส่งออกจากประเทศผู้ผลิตในเอเชียและสหรัฐฯจะแคบลง ซึ่งหมายถึงสถานะการแข่งขันของข้าวสหรัฐฯในบางตลาดปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตามสหรัฐฯเป็นตลาดนำเข้าข้าวหอมมะลิอันดับหนึ่งของไทยโดยแซงหน้าจีนและฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2546 แต่อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังตลาดสหรัฐฯในปี 2547 มีแนวโน้มชะลอตัวลง เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าในปัจจุบันตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐฯ โดยเฉพาะในรัฐแคลิฟอร์เนียอยู่ในสภาวะอิ่มตัว อันเป็นผลมาจากการเติบโตของการย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่อาศัยในสหรัฐฯของกลุ่มคนเชื้อสายเอเชียเริ่มชะลอลงอย่างมาก ซึ่งหมายถึงการขยายตัวของผู้บริโภคข้าวหอมมะลิกลุ่มใหม่เริ่มชะลอตัวลงด้วย อย่างไรก็ตามไทยยังมีโอกาสในการขยายตลาดข้าวขาวเมล็ดยาว ซึ่งเป็นตลาดข้าวที่มีสัดส่วนการบริโภคมากที่สุดในสหรัฐฯ แต่ในขณะนี้การส่งออกข้าวประเภทนี้ของไทยยังต้องแข่งขันกับข้าวขาวเมล็ดยาวที่ผลิตในรัฐเท็กซัส โดยไทยต้องเร่งพัฒนาข้าวขาวที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯให้นุ่มลงและมียางมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ตรงกับรสนิยมของผู้บริโภคในสหรัฐฯ

2.จับตาสถานการณ์ในตลาดส่งออกหลัก โดยคาดว่าในปี 2548 จีน ตลาดในแอฟริกา ตะวันออกกลาง จะยังคงเป็นตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทย ซึ่งก็มีภาวะที่น่าจับตามอง ดังนี้
– จีน คาดว่าในปี 2548 ความต้องการนำเข้าข้าวของจีนจะเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย กล่าวคือ คาดการณ์ว่าผลผลิตข้าวในปี 2547/48 เท่ากับ 125.9 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.0 ในขณะที่คาดว่าความต้องการข้าวของจีนในปี 2548 เท่ากับ 138.29 ล้านตัน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์ว่าปริมาณสต็อกข้าวในจีนยังมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องในปี 2548 จากในปี 2547 ที่อยู่ในระดับ 46.8 ล้านตัน หรือลดลงเมื่อเทียบกับในปี 2546 ร้อยละ 30.0 ทำให้จีนยังมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการนำเข้าข้าวต่อไป ประเด็นที่น่าจับตามองคือ แม้ว่าอัตราการบริโภคข้าวต่อหัวของคนจีนนั้นจะไม่เพิ่มขึ้นมากนัก โดยเฉพาะในกลุ่มคนจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เนื่องจากระดับรายได้ที่สูงขึ้นและการจบการศึกษาจากประเทศในตะวันตก ทำให้คนจีนกลุ่มนี้หันไปบริโภคอาหารสไตล์ตะวันตกหรืออาหารประเภทเนื้อเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นในกลุ่มคนจีนในชนบท เนื่องจากคนจีนกลุ่มนี้หันมาบริโภคข้าวเพิ่มขึ้นทดแทนการบริโภคพืชหัว(Tubers)และธัญพืชประเภทอื่นๆ(Coarse Grain) อย่างไรก็ตามประเภทของข้าวที่คนจีนกลุ่มนี้ต้องการส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาว ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวอย่างก้าวกระโดดของการส่งออกข้าวขาวของไทยไปยังตลาดจีน

– ตลาดในแอฟริกา คาดการณ์ว่าการส่งออกข้าวไปยังตลาดในแอฟริกาในปี 2548 จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะตลาดส่งออกสำคัญอย่างไนจีเรีย แม้ว่าผลผลิตข้าวของไนจีเรียจะเพิ่มขึ้น แต่ไนจีเรียยังมีความต้องการนำเข้าข้าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าวนึ่ง ทั้งนี้เพื่อตอบสนองความต้องการบริโภคข้าวของผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ ซึ่งมีรายได้อยู่ในเกณฑ์สูง เนื่องจากข้าวที่ผลิตได้ในประเทศส่วนใหญ่จะมีคุณภาพปานกลางและต่ำ ดังนั้นการที่รัฐบาลไนจีเรียประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าข้าวและลดค่าเงินท้องถิ่น ซึ่งส่งผลทำให้ราคาจำหน่ายปลีกของข้าวนำเข้ามีแนวโน้มสูงขึ้น แต่ข้าวนำเข้าก็ยังเป็นที่ต้องการบริโภคของผู้บริโภคตามเมืองใหญ่ๆของไนจีเรีย คาดการณ์ว่าในปี 2548 ไนจีเรียจะต้องนำเข้าข้าวประมาณ 1.7 ล้านตัน ซึ่งเมื่อเทียบกับในปี 2547 แล้วเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.3 อย่างไรก็ตามประเด็นที่ต้องจับตามองสำหรับการส่งออกข้าวไปยังตลาดไนจีเรีย คือ ผู้ส่งออกข้าวนึ่งของสหรัฐฯเข้ามาแข่งขันในตลาดข้าวนึ่งคุณภาพดี

– ตลาดตะวันออกกลาง การส่งออกข้าวไปยังตลาดตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอิรักมีการขยายตัวอย่างโดดเด่นในปี 2547 และต่อเนื่องถึงในปี 2548 จากที่มูลค่าการส่งออกข้าวไปยังอิรักแซงหลายประเทศขึ้นมาอยู่ในอันดับ 3 รองจากจีน และแอฟริกาใต้ นอกจากอิรักแล้วตลาดที่น่าสนใจอีกตลาดคือ อิหร่าน ไทยยังสามารถเจาะขยายตลาดข้าวในตะวันออกกลางได้ เนื่องจากหลายประเทศเห็นว่าข้าวจากไทยมีคุณภาพดีและตรงต่อความต้องการของตลาด แม้ว่าตลาดส่งออกข้าวที่สำคัญของไทยยังมีแนวโน้มแจ่มใส แต่ผู้ส่งออกข้าวของไทยยังคงต้องจับตาอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้น ทำให้ลดการนำเข้า และรัฐบาลของฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมการส่งออกข้าวคุณภาพดี ซึ่งคาดว่าจะเข้ามาแย่งตลาดข้าวของไทยได้บางส่วน