จากการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Non-farm Payroll) ของสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นถึง 337,000 ตำแหน่งในเดือนตุลาคม 2547 รวมทั้งการปรับขึ้นของตัวเลขทบทวนใหม่ในเดือนสิงหาคมและกันยายน มาเป็นการเพิ่มขึ้น 198,000 และ 139,000 ตำแหน่ง ตามลำดับ จากเดิมเพิ่มขึ้น 128,000 และ 96,000 ตำแหน่ง ได้ทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการคาดการณ์การปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของธนาคารกลางสหรัฐฯ ดังจะเห็นได้จาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ประเภทอายุ 10 ปี ที่ขยับขึ้น 0.10% จากระดับปิดในวันก่อนหน้าที่ 4.08% มาอยู่ที่ 4.18% หลังการประกาศตัวเลขการจ้างงานดังกล่าวในวันศุกร์ที่ 5 ตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (Federal Open Market Committee: FOMC) รอบที่ 7 ของปีนี้ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2547 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะมีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds อีก 0.25% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นเป็นครั้งที่ 4 ในรอบปีนี้ มาอยู่ที่ 2.0% โดยมีปัจจัยสนับสนุนการคาดการณ์ข้างต้น ดังต่อไปนี้ :-
? การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง
นับตั้งแต่การประชุม FOMC รอบวันที่ 21 กันยายน การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญหลายตัวของสหรัฐฯ แม้ว่าอาจจะไม่แข็งแกร่งมากเท่าที่คาดหวัง แต่ก็ยังคงแสดงถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ดังจะสะท้อนได้จาก
? อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ
: ตัวเลขเบื้องต้น (advance) ของ GDP ไตรมาส 3/2547 ที่ขยายตัวประมาณ 3.7% (q-o-q annualized) แม้ว่าจะน้อยกว่าอัตราการขยายตัวที่ 4.5% ในไตรมาส 1/2547 แต่ก็เพิ่มขึ้นจาก 3.3% ในไตรมาส 2/2547 ในขณะที่ การคาดการณ์อัตราการขยายตัวที่ประมาณ 3.5-4.0% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ คาดว่าจะทำให้ GDP ขยายตัวประมาณ 4.0-4.5% (y-o-y) หรืออยู่ในช่วงอัตราการขยายตัวที่มีศักยภาพ (potential growth) ของสหรัฐฯได้ในปีนี้
? ภาวะอุตสาหกรรมและภาคการบริการ
: จากตัวเลขล่าสุดในเดือนตุลาคม ผลสำรวจของสถาบัน Institute for Supply Management (ISM) สำหรับความเห็นของผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคอุตสาหกรรม ที่อยู่ที่ 56.8 แม้จะลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่สาม แต่ดัชนีที่ยังคงยืนเหนือระดับ 50 มาตั้งแต่ต้นปี ก็บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ด้านดัชนีในภาคการบริการ ที่อยู่ที่ 59.8 เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลดลงในเดือนก่อน และยืนเหนือระดับ 50 มาตั้งแต่ต้นปีเช่นกัน ก็สะท้อนถึงการขยายตัวที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องของภาคการบริการของสหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงเกือบ 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศ
? ยอดค้าปลีก
: ตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน และเพิ่มขึ้น 7.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยแม้ว่าตัวเลขนี้จะมีการปรับตัวที่ค่อนข้างผันผวนเดือนต่อเดือน แต่โดยรวมแล้วก็ยังสะท้อนถึงการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงดำเนินไป แม้ว่าจะมีปัจจัยลบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของทางการ ราคาน้ำมันที่ผันผวนอยู่ในระดับสูง รวมทั้งผลบวกจากการตัดลด-คืนภาษี และการรีไฟแนนซ์หนี้เงินกู้ของภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มลดลงตามลำดับ
? การจ้างงานนอกภาคการเกษตร
: ตัวเลขการจ้างงานประจำเดือนตุลาคม เพิ่มขึ้นถึง 337,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ตัวเลขในเดือนสิงหาคมและกันยายนที่ทบทวนใหม่ก็เพิ่มขึ้นจากเดิม โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแล้วเฉลี่ย 198,200 ตำแหน่งต่อเดือน
? แรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อของสหรัฐฯที่ยังอยู่ภายใต้ระดับควบคุม
จากแนวโน้มการขยายกิจกรรมการผลิตของอุตสาหกรรมในสหรัฐฯที่ยังปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังจะเห็นได้จาก อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ยังไม่เร่งตัวขึ้นมากนัก (ตัวเลขล่าสุดอยู่ที่ 77.2% ในเดือนกันยายน ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อน) รวมทั้งภาวะการแข่งขันที่ค่อนข้างสูงในโลกยุคปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตยังไม่สามารถส่งผ่านภาระต้นทุนไปสู่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่นัก แม้ว่าราคาน้ำมันและราคาสินค้าโภคภัณฑ์จะปรับตัวสูงขึ้นแล้วก็ตาม ทั้งนี้สะท้อนได้จาก ทิศทางการปรับตัวของอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะที่วัดจากทางฝั่งผู้บริโภค ที่ยังคงอยู่ภายในระดับที่ควบคุมได้
? ดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index)
: อัตราเงินเฟ้อทั่วไป และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน อยู่ที่ 2.5% และ 2.0% ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เทียบกับ 2.7% และ 1.7% ในเดือนก่อนหน้า
? ดัชนีราคาการใช้จ่ายผู้บริโภค (Personal Consumption Expenditure Price Index)
: อัตราทั่วไป และอัตราพื้นฐาน อยู่ที่ 2.0% และ 1.5% ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เทียบกับ 2.1% และ 1.4% ในเดือนก่อน
? ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index)
: อัตราทั่วไป และอัตราพื้นฐาน สำหรับสินค้าขั้นสุดท้าย อยู่ที่ 3.3% และ 1.9% ในเดือนกันยายน ตามลำดับ เทียบกับ 3.4% และ 1.5% ในเดือนสิงหาคม
ทั้งนี้ การเดินหน้าดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐฯ ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย Fed Funds มาอยู่ที่ 2.0% ในการประชุม FOMC วันที่ 10 พฤศจิกายนนี้ คาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมค่อนข้างจำกัด เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่ขยับขึ้น แม้จะเริ่มใกล้เคียงกับระดับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แต่ก็ยังคงต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังคงมีค่าติดลบ นอกจากนี้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เศรษฐกิจยังไม่ชะลอตัวลงมากนัก น่าจะเป็นผลดีสำหรับการสกัดกั้นแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากผู้ผลิตสามารถส่งผ่านภาระต้นทุนมาที่ผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่มากขึ้นในอนาคต
? Fed Funds Futures สะท้อนการคาดการณ์การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯไปแล้ว
นอกเหนือจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯที่ปรับตัวสูงขึ้น หลังการเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตรที่แข็งแกร่งมากกว่าที่คาดในเดือนตุลาคมแล้ว อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ล่วงหน้า หรือ Fed Funds Futures ได้ขานรับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ของธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุม FOMC วันที่ 10 พฤศจิกายน ไปแล้วเกือบ 100% รวมทั้งยังได้บ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่มีมากขึ้นสำหรับการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกของธนาคารกลางสหรัฐฯในการประชุม FOMC รอบสุดท้ายของปีในวันที่ 14 ธันวาคมด้วย
โดยสรุปแล้วจากการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่ยังอยู่ภายใต้ระดับควบคุม รวมทั้งผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่คาดว่าจะมีค่อนข้างจำกัด ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯอาจจะมีมติให้ปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ขึ้นอีก 0.25% จาก 1.75% มาเป็น 2.0% ในการประชุม FOMC วันที่ 10 พฤศจิกายนที่จะถึง โดยที่ตลาดคงจะรอติดตามแถลงการณ์ของธนาคารกลางสหรัฐฯที่อาจจะบ่งชี้ถึงสัญญาณการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในอนาคตด้วย
ในขณะที่ ความเป็นไปได้ของการดำเนินนโยบายแบบเข้มงวดต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯ สำหรับการประชุมรอบสุดท้ายของปีในเดือนธันวาคม และในปี 2548 นั้น ปัจจัยสำคัญคงจะอยู่ที่การปรับตัวของตัวเลขเศรษฐกิจหลัก (โดยเฉพาะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร) และแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยหากตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องสอดคล้องกับการขยายตัวของประชากรแรงงาน หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 150,000 ตำแหน่งต่อเดือน
ในขณะที่ราคาน้ำมันมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะหลังผ่านพ้นช่วงฤดูหนาว แล้ว การเดินหน้านโยบายที่เข้มงวดต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐฯเข้าสู่ระดับอัตราดอกเบี้ย Fed Funds ที่มีความเป็นกลาง (neutral) (หรือระดับอัตราดอกเบี้ยที่มีความเหมาะสมสำหรับการขยายตัวของเศรษฐกิจและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ) ในช่วงประมาณ 3.0-5.0% คงจะทำได้ไม่ลำบากมากนัก
ในขณะที่ เมื่อเปรียบเทียบกับการดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ทางการไทยคงจะต้องเผชิญกับความท้าทายที่มีมากกว่า ท่ามกลางแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีการยกเลิกมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในช่วงต้นปีหน้า และการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยอาจเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวลงในปีหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นจากปีนี้