ถล่มค่าดอลลาร์แตะ 1.30 ต่อยูโร & ทองคำสร้างสถิติสูงสุด 16 ปี

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ท้าทายทีมบริหารเศรษฐกิจรัฐบาลสหรัฐฯ หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี George W. Bush กลับสู่ทำเนียบขาวอีกสมัย โดยค่าเงินดอลลาร์รูดลงต่ำสุด ผ่านแนวต้าน 1.30 ดอลลาร์/ยูโร เป็นผลสำเร็จ เมื่อแรงเทขายเงินดอลลาร์อเมริกันโหมเข้าตลาดเงินอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯได้ตัดสินใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ย Fed funds อีก 0.25% เป็นอัตรา 2.0% เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน ส่วนเงินเยนญี่ปุ่น มีค่าเข้มแข็งอย่างมาก เนื่องจากเงินดอลลาร์มีค่าลดลงอย่างรวดเร็ว ปลุกกระแสวิตกเกี่ยวกับการแทรกแซงตลาดเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น สำหรับเงินปอนด์สเตอร์ลิงอังกฤษ มีค่ามั่นคงอยู่ในช่วง 1.84-1.85 ดอลลาร์/ปอนด์ เป็นผลจากตัวเลขเศรษฐกิจอังกฤษสดใส จูงใจนักลงทุนคาดคะเนเกี่ยวกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยอังกฤษอีกระลอก ทางด้านราคาทองคำในตลาดต่างประเทศทะยานสูงสุดในรอบ 16 ปี ณ ระดับ 437 ดอลลาร์/ออนซ์ ได้รับอานิสงส์จากความอ่อนแอของเงินดอลลาร์และสถานการณ์รุนแรงในอิรัก

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าระส่ำระสายมาโดยตลอด นับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯเสร็จสิ้นลง เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เนื่องจากตลาดเงินหันมาสนใจในประเด็นปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ อย่างจริงจัง และวิตกเกี่ยวกับปัญหาการขาดดุลงบประมาณและดุลบัญชีเดินสะพัดของสหรัฐฯ ปัจจุบัน สหรัฐฯมียอดขาดดุลงบประมาณราว 427 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3.7% ของ GDP สหรัฐฯ การที่ประธานาธิบดี Bush รั้งเก้าอี้ผู้นำเป็นสมัยที่ 2 ส่งผลให้ตลาดเงินเก็งว่าสหรัฐฯยังคงทุ่มการใช้จ่ายด้านการทหารต่อไป เพื่อปราบปรามกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ รวมถึงการส่งทหารรักษาการในอิรัก ซึ่งล้วนมีค่าใช้จ่ายสูง ก่อให้เกิดความกังวลด้านงบประมาณของสหรัฐฯมากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯก็มียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในไตรมาสที่สองเป็นมูลค่า 166.18 พันล้านดอลลาร์ ทำให้คาดว่าเมื่อสิ้นสุดปี 2547 มูลค่าการขาดดุลจะเพิ่มจากปีก่อนต่อไป ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมามียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่คอยกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์ลดลง

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์มีค่ากระเตื้องขึ้นเล็กน้อยในเวลาถัดมา เนื่องจากกรรมการผู้จัดการธนาคารกลางยุโรป นาย Jean-Claude Trichet ได้ออกมาแสดงความคิดว่า การที่เงินยูโรมีค่าสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ถือว่าเป็นสภาวะที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรปสะดุดลง เพราะการส่งออกชะลอตัวจากค่าเงินยูโรเข้มแข็งเกินไป ในเวลาเดียวกัน เจ้าหน้าที่การเงินระดับสูงและรัฐมนตรีเศรษฐกิจของประเทศสมาชิกกลุ่มยูโรบางประเทศ ก็ได้ออกมาเตือนเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโรเช่นกัน โดยเห็นว่าค่าเงินยูโรที่ถีบตัวสูงขึ้นขณะนี้ ไม่เป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของกลุ่มยูโร และแสดงท่าทีว่าอาจมีการแทรกแซงตลาดเงินหากจำเป็นต้องรักษาเสถียรภาพค่าเงินยูโร

ในช่วงกลางสัปดาห์ เงินดอลลาร์ยังคงยืนหยัดเหนือระดับเฉลี่ย 1.30 ดอลลาร์/ยูโรต่อไป โดยได้รับแรงสนับสนุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 2.0% จากเดิม 1.75% ส่งผลให้มีแรงซื้อเงินดอลลาร์บางส่วนในตลาด ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่าบรรดานักลงทุนจากตะวันออกกลางเทขายเงินดอลลาร์อย่างมาก ส่วนหนึ่งเพราะต้องการกระจายความเสี่ยง ด้วยการหันไปถือเงินยูโรมากขึ้นแทนเงินดอลลาร์ อีกส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายต่อต้านสหรัฐฯ จากกลุ่มอาหรับ ทำให้มีการนำเงินรายได้จากน้ำมันมาซื้อเงินยูโรและขายเงินดอลลาร์

ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ช่วยพยุงค่าเงินดอลลาร์ในตอนกลางสัปดาห์ ได้แก่ ตัวเลขยอดขาดดุลการค้าเดือนกันยายนเป็นจำนวนเงิน 51.56 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับเดือนสิงหาคมซึ่งมียอดขาดดุล 53.55 พันล้านดอลลาร์ ยอดขาดดุลการค้าที่ชะลอลงช่วยคลายความวิตกแก่ตลาดเงินลงบ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์กลับมีค่าดิ่งลงต่ำกว่า 1.30 ดอลลาร์/ยูโร ชั่วครู่ในช่วงปลายสัปดาห์ ก่อนที่จะดีดตัวกลับขึ้นมาใหม่ ทั้งนี้ เป็นผลจากนักค้าเงินมีการเทขายเงินดอลลาร์เพื่อเอากำไร จึงกดดันให้ค่าเงินอเมริกันอ่อนแรงลง เป็นที่น่าสังเกตว่า เหตุการณ์เสียชีวิตของผู้นำปาเลสไตน์ นาย Yasser Arafat ไม่ได้มีผลกระทบต่อตลาดเงินต่างประเทศเท่าใดนัก

เงินเยนญี่ปุ่น มีค่าสูงแตะระดับเฉลี่ย 105 เยนในช่วงต้นสัปดาห์ เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนไหวอย่างรุนแรง ทั้งๆที่ตลาดเงินเกรงว่าทางการญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซงตลาดด้วยการอุ้มซื้อเงินดอลลาร์เหมือนช่วงปี 2546 ถึงต้นปี 2547 เป็นมูลค่าสูงถึง 332.2 พันล้านดอลลาร์ แต่เงินดอลลาร์ก็ยังคงทรุดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์ฟื้นตัวมาอยู่ที่ระดับ 107 เยนตอนกลางสัปดาห์ หลังจากที่สหรัฐฯเพิ่มอัตราดอกเบี้ยและรายงานยอดขาดดุลการค้าสหรัฐฯลดลง ช่วยหนุนให้ค่าเงินดอลลาร์เข้มแข็งเทียบกับเงินเยน ประกอบกับรายงานยอดสั่งซื้อเครื่องจักรของญี่ปุ่นเดือนกันยายนลดลง 1.9% กลายเป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้งให้ค่าเงินเยนลดต่ำลงด้วย

เงินปอนด์อังกฤษ มีค่ามั่นคงเมื่อเทียบกับเงินอเมริกัน เพราะได้รับข่าวจากรายงานดัชนีราคาผู้ผลิตอังกฤษสูงสุดในรอบ 9 ปี ทำให้เกรงว่าอาจเป็นชนวนให้ธนาคารกลางอังกฤษกลับมาสนใจเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง นอกจากนี้ ยอดขาดดุลการค้าอังกฤษเดือนกันยายนลดลง เพราะการส่งออกเพิ่มขึ้นมากสุดในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นภาพได้เปรียบด้านการส่งออกของอังกฤษดีขึ้น แต่น่าเสียดายที่เงินปอนด์กลับอ่อนตัวลงเล็กน้อยในช่วงท้ายสัปดาห์ หลังจากรายงานของธนาคารกลางอังกฤษเกี่ยวกับเงินเฟ้อเผยแพร่ออกมา ปรากฏว่าสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อในรอบ 3 เดือนที่แล้วยังคงเหมือนเดิม ทำให้ตลาดเงินเก็งว่าอังกฤษคลายความกังวลเกี่ยวกับความร้อนแรงของตลาดอสังหาริมทรัพย์แล้ว และไม่จำเป็นต้องเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก

ราคาทองคำในตลาดต่างประเทศ พุ่งสูงสุดในรอบ 16 ปี โดยแตะที่ระดับเฉลี่ย 437 ดอลลาร์/ออนซ์ชั่วขณะ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน ทั้งนี้ ทองคำเคลื่อนไหวอยู่ในช่วงเฉลี่ยราว 432-435 ดอลลาร์/ออนซ์ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนราคาทองคำ ได้แก่ ค่าเงินดอลลาร์ตกต่ำรวดเร็ว ความรุนแรงในอิรัก ความหวั่นวิตกเกี่ยวกับปัญหาปาเลสไตน์หลังเสียชีวิตของนาย Yasser Arafat รวมถึงแนวโน้มราคาน้ำมันดิบที่ยังคงผันผวน

อัตราแลกเปลี่ยนเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับเงินตราสำคัญสกุลต่างๆ ณ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เทียบกับวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547 (ตัวเลขในวงเล็บ) มีดังนี้

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีค่าเท่ากับ 1.2923 ดอลลาร์/ยูโร (1.2904 ดอลลาร์/ยูโร) 105.50 เยน (106.67 เยน) และ 1.8573 ดอลลาร์/ปอนด์ (1.8417 ดอลลาร์/ปอนด์)

ราคาทองคำในตลาดลอนดอน เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2547 เท่ากับ 432.90 ดอลลาร์/ออนซ์ เทียบกับราคา 435.20 ดอลลาร์/ออนซ์ เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2547