ภัยแล้งปีลิงสู่ปีไก่ : ภาคเกษตรเสียหาย…10,000 ล้านบาท

จากปรากฏการคลื่นกระแสความร้อนเอลนิโน(El Nino)ที่จะทำให้สภาพดินฟ้าอากาศแห้งแล้งผิดปกติได้เริ่มก่อตัวตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมาและผ่านเข้าทางแถบเอเชียโดยเฉพาะอินเดีย อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย และแอฟริกา ซึ่งทำให้ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากภาวะแห้งแล้ง ฝนทิ้งช่วงและฝนหมดเร็ว ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นเร็วกว่าทุกปีนับว่าเป็นตัวแปรใหม่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตร โดยเฉพาะสาขากสิกรรม เนื่องจากคาดการณ์ว่าผลผลิตของสินค้ากสิกรรมหลายประเภทจะลดลงกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้ในเบื้องต้น

กล่าวคือ เดิมนั้นมีการคาดการณ์ว่าผลผลิตของสินค้ากสิกรรมหลายประเภทจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้มีการขยายการผลิต อย่างไรก็ตามภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้นับว่าเป็นทั้งวิกฤตและโอกาสสำหรับประเทศไทย เนื่องจากการส่งออกสินค้าเกษตรบางประเภทลดลง จากผลผลิตที่ลดลงจากความเสียหายจากภัยแล้ง นอกจากนี้เกษตรกรในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งต้องเสียโอกาสที่จะได้รายได้จากการจำหน่ายผลผลิต แต่ถ้ามองอีกด้านหนึ่งก็นับว่าเป็นโอกาสของไทยที่ทำให้คาดการณ์ได้ว่าราคาผลผลิตทางการเกษตรในปี 2548 จะยังคงอยู่ในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความต้องการของตลาดโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้ประเทศผู้นำเข้าสินค้าเกษตรเริ่มหันมาสต็อกสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อป้องกันภาวะขาดแคลนสินค้าเกษตรที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2548 ในกรณีที่ภาวะความแห้งแล้งเกิดขึ้นยาวนานถึงช่วงกลางปี 2548

จากรายงานเบื้องต้นของกรมส่งเสริมการเกษตร (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2547)ระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม–31 ตุลาคม 2547 มีพื้นที่การเกษตรประสบภัยแล้งทั้งสิ้น 13.991 ล้านไร่คาดว่ามีพื้นที่การเกษตรจะเสียหาย 8.921 ล้านไร่ แยกเป็นนาข้าว 7.556 ล้านไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 948,475 ไร่ อ้อยโรงงาน 234,582 ไร่ และมันสำปะหลัง 182,214 ไร่ โดยครอบคลุมพื้นที่ 32 จังหวัดได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 15 จังหวัด ภาคกลาง 10 จังหวัด ซึ่งพื้นที่ประสบภัยแล้งส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณลุ่มน้ำมูลและลุ่มน้ำชีได้แก่ จังหวัดเลย ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ และนครราชสีมา จังหวัดที่เสียหายรุนแรงจากภัยแล้งคือ จังหวัดนครราชสีมาซึ่งคาดว่ามีพื้นที่การเกษตรเสียหายถึง 1.6 ล้านไร่

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินมูลค่าความเสียหายของผลผลิตสินค้าเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งครั้งนี้ไว้ประมาณ 9,777 ล้านบาท โดยเป็นความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดกับผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญ ดังนี้

– ข้าวนาปี

ในปีเพาะปลูก 2547/48 ประเมินผลผลิตข้าวนาปีที่เสียหายประมาณ 1.23 ล้านตันข้าวเปลือก คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 7,651 ล้านบาท โดยคาดว่าจะมีผลผลิตคงเหลือ 19.73 ล้านตันข้าวเปลือก ในปีนี้การที่เกิดปัญหาภัยแล้งเร็วและรุนแรงกว่าปกติ ทำให้เกิดความเสียหายกับผลผลิตข้าวนาปีเป็นอย่างมาก เนื่องจากผลผลิตข้าวนาปีประมาณร้อยละ 70 จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

ถ้าภาวะแห้งแล้งยังคงอยู่ถึงในช่วงกลางปี 2548 ก็จะส่งผลให้รัฐบาลเข้มงวดในการปลูกข้าวนาปรัง ดังนั้นโอกาสที่เกษตรกรที่นาข้าวได้รับความเสียหายในช่วงนี้จะขยับไปปลูกข้าวทดแทนในช่วงข้าวนาปรังนั้นนับว่ามีโอกาสน้อยลงกว่าทุกปีที่ผ่าน นอกจากเกษตรกรที่อยู่ในเขตชลประทาน และเกษตรกรที่มีบ่อน้ำสำรอง

-ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ประเมินผลผลิตเสียหาย 279,795 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1,217 ล้านบาท คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1(ข้าวโพดฤดูฝน)คงเหลือ 4.18 ล้านตัน ซึ่งขณะนี้เกษตรกรได้เก็บเกี่ยวผลผลิตไปเกือบหมดแล้ว โดยช่วงระยะเก็บเกี่ยวข้าวโพดเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน คาดว่าคงเหลือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์รุ่น 1 ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงเดือนพฤศจิกายนประมาณ 933,462 ตัน หรือร้อยละ 21.8

ความเสียหายที่เกิดขึ้นนี้นับว่าจะมีส่วนกระตุ้นราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในตลาดให้กระเตื้องขึ้น เนื่องจากมีการคาดการณ์ในเบื้องต้นว่าปริมาณการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในปีนี้จะมีมากเกินความต้องการ อันเป็นผลมาจากราคาที่อยู่ในเกณฑ์สูงในปีที่ผ่านมา
-อ้อยโรงงาน คาดการณ์ผลผลิตเสียหาย 1.02 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 632 ล้านบาท ผลผลิตคงเหลือที่คาดว่าจะเข้าโรงงาน 60.87 ล้านตัน ซึ่งการประเมินความเสียหายของอ้อยโรงงานนั้นยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เนื่องจากโรงงานผลิตน้ำตาลเริ่มเปิดหีบปลายเดือนพฤศจิกายน โดยช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเกือบร้อยละ 80 ของผลผลิตอ้อยทั้งหมดจะอยู่ในช่วงไตรมาสแรก ดังนั้นถ้าภาวะแห้งแล้งยังคงดำเนินต่อไปถึงในช่วงกลางปี 2548 คาดว่าอ้อยโรงงานจะได้รับความเสียหายมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

-มันสำปะหลัง

ประมาณการผลผลิตจะเสียหาย 266,274 ตัน คิดเป็นมูลค่าความเสียหาย 277 ล้านบาท โดยยังคงมีผลผลิตเหลือออกสู่ตลาด 21.93 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตทยอยเก็บเกี่ยวตั้งแต่เดือนตุลาคม แต่ช่วงที่ผลผลิตร้อยละ 70 ของผลผลิตทั้งหมดออกสู่ตลาดอยู่ในเดือนธันวาคมถึงมีนาคมปีถัดไป

ประเด็นที่ควรติดตามต่อไปก็คือ

1.ถ้าภัยแล้งที่เกิดขึ้นมีระยะเวลายาวนานถึงกลางปี 2548 คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเกษตรอย่างมาก ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่อาจคาดการณ์ได้ถึงความรุนแรงของปัญหา แต่ก็น่าที่จะได้มีการเตรียมการรับมือปัญหาดังกล่าวตั้งแต่ต้นๆ ซึ่งจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีในกรณีที่เกิดปัญหาซ้ำรอยกับในปี 2542 ที่เป็นปีที่เกิดภาวะความแห้งแล้งที่รุนแรง โดยปัญหาที่ควรระวังคือ ปัญหาในเรื่องสงครามการแย่งน้ำ และปัญหาวิกฤตน้ำดื่มน้ำใช้ อันเป็นผลมาจากการที่เกษตรกรเสี่ยงขยายพื้นที่การทำนาปรังโดยไม่สนใจว่าจะเกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำ ซึ่งปัญหาขาดแคลนน้ำนั้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมแล้วในปี 2542 ยังส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมด้วย โดยเฉพาะในเขตภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือคือ อุตสาหกรรมน้ำดื่มบรรจุขวด เนื่องจากแหล่งน้ำดิบที่นำมาใช้ในการผลิตลดน้อยลง ส่วนอุตสาหกรรมที่ต้องพึงระวังคือ อุตสาหกรรมการเกษตรที่อาจจะมีปัญหาในเรื่องวัตถุดิบไม่เพียงพอที่จะป้อนโรงงาน โดยเฉพาะโรงงานผลิตภัณฑ์จากผลไม้ ในกรณีที่เกิดปัญหาฝนทิ้งช่วงและปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงก็อาจจะกระทบต่อพื้นที่ปลูกไม้ผลได้ สำหรับปัญหาภาวะน้ำเค็มหนุนสูงก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ต้องเร่งเตรียมมาตรการรับมือ เนื่องจากน้ำจากเขื่อนที่ส่งมาเพื่อผลักดันน้ำเค็มมีน้อย ทำให้น้ำเค็มเข้าพื้นที่เกษตรกรรมทำให้ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ซึ่งความเค็มที่ไม่กระทบต่อผลผลิตพืชผักไม่เกิน 1 กรัมต่อลิตร และไม้ยืนต้นไม่เกิน 2 กรัมต่อลิตร จังหวัดที่อยู่ติดชายฝั่งทะเลได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูงเช่นกัน โดยเฉพาะจังหวัดสมุทรสงคราม ผลผลิตทางการเกษตรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ คือ ข้าว สวนผลไม้ เช่น ส้ม ลิ้นจี่ เป็นต้น และบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด นอกจากนี้ยังส่งผลถึงน้ำดิบที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา ซึ่งความเค็มมาตรฐานเพื่อผลิตน้ำประปาต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร

นอกจากปัญหาเรื่องการขาดแคลนน้ำแล้วยังมีอีกหลากหลายปัญหาที่เป็นผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาภัยแล้งคือ ปัญหาไฟป่าซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงแล้ง ปัญหาแรงงานอพยพกลับเข้าเมือง ภัยแล้งส่งผลกระทบให้แรงงานต้องกลับเข้ามาทำงานในตัวเมืองหรือเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ปัญหาโรคที่มากับภัยแล้ง ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่ควรมองข้ามในเรื่องผลกระทบจากภัยแล้งคือ โรคต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยแล้ง โดยทางกระทรวงสาธารณสุขควรเร่งเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโรคระบาดที่มาจากภัยแล้ง เช่น โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค เป็นต้น รวมทั้งการป้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนเตรียมป้องกันและดูแลสุขภาพ นอกจากโรคระบาดที่มาจากภัยแล้งแล้ว โรคที่ควรระวังที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในช่วยฤดูแล้งในปีนี้คือ โรคนิ่ว เนื่องจากน้ำประปาที่นำมาจากน้ำบ่อบาดาลที่มีความไม่สะอาดเพียงพอ

2.ติดตามผลกระทบจากภัยแล้งต่อผลผลิตเกษตรกรรมของทั้งประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย แม้ว่าภัยแล้งที่เกิดขึ้นจะสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตทางการเกษตรของไทย แต่ในขณะเดียวกันภัยแล้งก็สร้างความเสียหายให้กับประเทศคู่แข่งสินค้าเกษตรของไทยด้วย โดยคาดว่าประเทศที่จะได้รับผลกระทบในครั้งนี้ที่น่าติดตามคือ อินเดีย และอินโดนีเซีย รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นจากภาวะแห้งแล้งในประเทศต่างๆในแถบแอฟริกา ซึ่งน่าจะส่งผลให้การแข่งขันของการส่งออกสินค้าเกษตรในตลาดโลกลดความรุนแรงลง เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีความต้องการนำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้น

นอกจากการติดตามแก้ไขปัญหาในระยะสั้นที่เน้นให้ภาคเกษตรกรรมให้มีน้ำเพียงพอเพื่อบรรเทาความเสียหายแล้ว ทางรัฐบาลยังมีการกำหนดแนวนโยบายในการแก้ปัญหาในระยะยาวอีกด้วย เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาในการจัดการทรัพยากรน้ำ ทำให้เกิดปัญหาทั้งในเรื่องภาวะการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง และภาวะน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน โดยกรอบของนโยบายในการแก้ปัญหาของรัฐบาลคือ แผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำทั้งระบบทั่วประเทศ โดยรัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้ 5 ปี (2547-2551) เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำสำหรับการอุปโภคและบริโภค รวมถึงการเกษตรทั้งในและนอกเขตชลประทาน ตลอดจนการดำเนินการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ให้เสร็จเรียบร้อย โดยในส่วนที่ได้มีการจัดสรรน้ำในเขตชลประทานไปแล้วจำนวน 22 ล้านไร่ จะจัดสรรเพิ่มอีก 11 ล้านไร่ และในพื้นที่เศรษฐกิจพอเพียงอีก 25 ล้านไร่ ส่วนที่เหลืออีก 73 ล้านไร่ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานจะดำเนินการในลักษณะขุดสระเก็บน้ำหรือบ่อบาดาลหมู่บ้านในทุกหมู่บ้านกว่า 25,000 แห่ง

ภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นนี้ทำให้แผนระยะยาวในการแก้ปัญหาภัยแล้งได้รับการหยิบยกมาเป็นประเด็นปัญหาเร่งด่วนคือ โครงการชลประทานระบบท่อ ปัจจุบันรัฐบาลกำลังดำเนินการจัดทำแผนการวางระบบน้ำทั่วประเทศ โดยจะดำเนินการสำรวจออกแบบก่อสร้างในพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและมีความพร้อมนำร่องไปก่อน ซึ่งคาดว่าจะเป็นจังหวัดเพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ หรืออาจแยกตามภูมิภาคหรือจังหวัดละ 1 แห่งก่อน ทั้งนี้เพื่อให้เครือข่ายมีความสมบูรณ์ รูปแบบการดำเนินการโครงการชลประทานระบบท่อนั้น รัฐบาลจะก่อสร้างระบบและท่อส่งให้ ส่วนการบริหารจัดการซ่อมบำรุงต้องเป็นหน้าที่ของกลุ่มผู้ใช้น้ำในพื้นที่ที่จะต้องจัดประชุมคัดเลือกตัวแทนเป็นกรรมการรับผิดชอบต้องจัดตั้งกองทุนบริหารจัดการกันเอง ซึ่งอาจใช้วิธีติดมิเตอร์ควบคุมและวัดปริมาณการใช้เพื่อให้ชาวบ้านมีความรู้สึกเป็นเจ้าของและช่วยกันดูแลรักษา โดยจะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการปรับโครงสร้างการผลิต หน่วยงานส่งเสริมด้านวิชาการเทคโนโลยีลงไปช่วยดูแลพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงการในการขุดบ่อให้กับเกษตรกร ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้ง

กรอบนโยบายการวางแผนแก้ไขปัญหาในระยะยาวนี้นับว่าเป็นแนวทางที่ดี และการที่เกิดภาวะแห้งแล้งในลักษณะที่ผิดปกติในครั้งนี้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลเร่งวางแนวทางในการดำเนินการอย่างชัดเจน และเริ่มร่างแผนปฏิบัติการเพื่อที่จะให้บรรลุผลของนโยบายตามที่วางไว้ ซึ่งเมื่อมีการวางแนวทางการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีระบบแล้ว จะแก้ปัญหาได้ไม่แต่เฉพาะปัญหาในเรื่องน้ำเพื่อการเกษตรเท่านั้น แต่ยังสามารถแก้ปัญหาน้ำเพื่อการบริโภคของคนในเมือง และน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมได้อีกด้วย