ปาล์มน้ำมัน : พืชเศรษฐกิจ…ที่น่าจับตามอง

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่น่าจับตามอง นอกจากจะเป็นพืชน้ำมันที่มีบทบาทสำคัญในธุรกิจน้ำมันพืชเพื่อการบริโภคและเป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกหลายอุตสาหกรรม เช่น สบู่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นมข้นหวาน เนยเทียม ขนมขบเคี้ยว เป็นต้น นอกจากนี้ในอนาคตปาล์มน้ำมันยังจะมีบทบาทสำคัญในการใช้ผลิตไบโอดีเซล ซึ่งคาดว่าจะเป็นพลังงานทดแทนน้ำมันในอนาคตอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯได้ร่วมมือกับจังหวัดที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันที่สำคัญ ในการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่จะเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีมากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตมีคุณภาพและเพียงพอกับการผลิตไบโอดีเซล โดยการส่งเสริมปลูกปาล์มพันธุ์ดีแทนในที่สวนยางเก่า และต้นปาล์มอายุมาก รวมทั้งที่นารกร้าง นอกจากนี้ยังจะเน้นส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการผลิตและการเก็บเกี่ยวเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตปาล์มน้ำมันให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับการขยายตัวของความต้องการผลผลิตปาล์มน้ำมันสำหรับใช้เป็นพลังงานทดแทนในอนาคต

ในปี 2547 เนื้อที่ให้ผลปาล์มน้ำมัน 1.869 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.9 หรือเพิ่มขึ้น 69,358 ไร่ ผลผลิตประมาณ 5.28 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 371,987 ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในปัจจุบันที่มีความต้องการน้ำมันปาล์มประมาณ 10.81 ล้านตันต่อปี ปัจจุบันรัฐบาลมียุทธศาสตร์อุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันปี 2547–2572 เพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้ผลิต และส่งออกน้ำมันปาล์มเคียงคู่ผู้นำในระดับโลกอย่างมาเลเซียและอินโดนีเซีย รวมทั้งนโยบายกำหนดให้ปาล์มน้ำมันเป็นแหล่งพลังงานทดแทนของประเทศ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันให้ได้ 10 ล้านไร่ในปี 2572 โดยจะปลูกเพิ่มปีละ 400,000 ไร่ แบ่งระยะเวลาดำเนินการเป็น 5 ระยะๆละ 5 ปี ในช่วง 5 ปีแรกตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจาก 2.04 ล้านไร่ในปี 2547 เป็น 3.67 ล้านไร่ ในปี 2552 คาดการณ์ผลปาล์มสดเพิ่มขึ้นเป็น 6.54 ล้านตัน หรือคิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 1.18 ล้านตัน โดยจะดำเนินการส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีในเขตนาร้าง 0.888 ล้านไร่ ไร่ร้าง 0.156 ล้านตัน และปลูกปาล์มน้ำมันแทนยางพาราในเขตที่ไม่เหมาะสมในการปลูกยางพารา 0.462 ล้านไร่ และจะเร่งรัดพัฒนาสวนปาล์มน้ำมันเดิมให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมจากการแปรรูปอย่างง่ายเป็นการแปรรูปมูลค่าสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลเพื่อทดแทนพลังงานที่มีราคาแพงในขณะนี้ นอกจากนี้มีการจัดตั้งคณะกรรมการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งชาติเพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแบบครบวงจร รวมทั้งศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเมืองปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมทั้งระบบ

อุตสาหกรรมต่อเนื่องจากปาล์มน้ำมันจำแนกออกได้เป็น 8 ประเภทคือ อุตสาหกรรมเพื่อการบริโภคในรูปของน้ำมันพืช(มีสัดส่วนร้อยละ 58.6 ของปริมาณน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ทั้งหมด) โดยน้ำมันปาล์มมีส่วนแบ่งตลาดน้ำมันพืชในประเทศไทยร้อยละ 66 รองลงมาเป็นส่วนแบ่งการตลาดของน้ำมันถั่วเหลือง มะพร้าวและอื่นๆ เท่ากับร้อยละ 17 , 5 และ 12 ตามลำดับ อุตสาหกรรมสบู่(ร้อยละ 10.1) อุตสาหกรรมของว่างและขนมขบเคี้ยว(ร้อยละ 9.4) อุตสาหกรรมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป(ร้อยละ 6.4) อุตสาหกรรมนมข้นหวานและนมจืด(ร้อยละ 4.8) อุตสาหกรรมครีมเทียม(ร้อยละ 1.4) อุตสาหกรรมเนยขาวและเนยเทียม(ร้อยละ 1) และอุตสาหกรรมอุปโภคอื่นๆ เช่น พลาสติก เครื่องสำอาง น้ำมันหล่อลื่น ยางรถยนต์ เป็นต้น (ร้อยละ 8.3)

ปัจจุบันไทยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้ประมาณปีละ 700,000-800,000 ตัน โดยการบริโภคส่วนใหญ่เป็นน้ำมันพืช ที่เหลือใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่อง โดยการบริโภคภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10 ต่อปี ขณะที่การผลิตเพิ่มขึ้นนั้นไม่เป็นไปตามสัดส่วน ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบได้ในอนาคต แนวโน้มความต้องการใช้น้ำมันปาล์มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากราคาถูกกว่าน้ำมันพืชชนิดอื่นๆ และยังไม่สามารถนำไปใช้ได้อย่างกว้างขวางและหลากหลาย

นอกจากนี้ในปัจจุบันมีการกำหนดยุทธศาสตร์พลังงานทดแทนเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งรัฐบาลโดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายให้ใช้ไบโอดีเซลร้อยละ 3 ของการใช้น้ำมันดีเซลทั้งหมดในปี 2554 หรือวันละ 2.4 ล้านลิตร โดยกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลจะส่งเสริมให้ใช้ไบโอดีเซลในร้อยละ 2 ของปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลในกลุ่มเป้าหมายแรก คือกลุ่มรถบรรทุกโดยกำหนดให้ผสมไบโอดีเซลร้อยละ 2 ซึ่งคิดเป็นปริมาณน้ำมันปาล์มประมาณวันละ 1.6 ล้านลิตร โดยจะบังคับใช้ในพื้นที่เฉพาะในปี 2549-2553 จากนั้นในปี 2554 เป็นต้นไปจะบังคับใช้ทั่วประเทศ

อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการผลิตไบโอดีเซลเวลานี้คือวัตถุดิบ ถ้าจะใช้น้ำมันไบโอดีเซลทั้งระบบต้องใช้พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันถึง 7 ล้านไร่ จากที่มีอยู่ปัจจุบันประมาณ 2 ล้านไร่เท่านั้น ดังนั้นกลยุทธ์การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากในการผลักดันโครงการไบโอดีเซลจากปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมันนับว่าเป็นพืชน้ำมันที่ยังคงมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการบริโภคโดยตรงในรูปของน้ำมันพืช และอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ อุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพและโอกาสในการใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบ ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบนั้นเพื่อทดแทนไขมันจากสัตว์ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงปริมาณคลอเรสเตอรอล ทดแทนการใช้น้ำมันพืชที่มีราคาแพง และใช้ผลิตผลิตภัณฑ์ไขมันต่ำ น้ำมันปาล์มมีความได้เปรียบน้ำมันพืชประเภทอื่นๆ เนื่องจากเป็นน้ำมันพืชที่ประกอบด้วยกรดไขมันหลายชนิด ซึ่งอุตสาหกรรมที่มีโอกาสและศักยภาพคือ อุตสาหกรรมอาหารหลากหลายประเภท เช่น อุตสาหกรรมนมแปลงไขมัน อุตสาหกรรมผลิตเนยโกโก้เทียม อุตสาหกรรมน้ำมันสำหรับฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ประเภทขนมขบเคี้ยว คุกกี้และบิสกิต อุตสาหกรรมไขเทียมและน้ำมันสำหรับผลิตเนยเทียมและเนยขาว เป็นต้น

อย่างไรก็ตามประเด็นที่ทั้งภาครัฐบาลและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มต้องเร่งแก้ไข คือ

1.การพัฒนาเพื่อยกระดับเปอร์เซนต์การสกัดน้ำมันปาล์มดิบ เนื่องจากโดยปกติการสกัดน้ำมันปาล์มดิบของไทยจะอยู่ในระดับร้อยละ 14-16 ในขณะที่มาเลเซียนั้นมีการสกัดน้ำมันปาล์มดิบร้อยละ 17-19 ซึ่งในการยกระดับการสกัดน้ำมันปาล์มดิบนี้ต้องเริ่มตั้งแต่เกษตรกรที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่ต้องปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต โดยเฉพาะพันธุ์และเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ส่วนโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มดิบก็ต้องเพิ่มประสิทธิภาพการสกัดน้ำมันของโรงงาน

2.การจัดรวบรวมและจัดทำฐานข้อมูลปริมาณการผลิต การส่งออก การนำเข้า และราคาผลิตภัณฑ์หลักอย่างเป็นระบบ และมีการจำแนกผลิตภัณฑ์เช่นเดียวกับมาเลเซีย ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อการวางแผนกำหนดนโยบายปาล์มน้ำมันของไทย เนื่องจากในปัจจุบันไทยยังขาดข้อมูลที่เป็นข้อมูลพื้นฐานของปาล์มน้ำมัน เช่น ข้อมูลน้ำมันปาล์มดิบไม่สามารถจะทราบได้ว่าเป็นน้ำมันปาล์มดิบที่สกัดจากเนื้อปาล์มชั้นนอก(หีบแยก) หรือสกัดจากผลปาล์มรวมกัน(หีบรวม) ส่วนข้อมูลที่ระบุว่าเป็นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์นั้นควรมีการแยกประเภทน้ำมันเช่นเดียวกับมาเลเซีย โดยแยกเป็น RBD Plam Olein , RBD Plam Stearin ,PFAD (Plam Fatty Acid Destillate) และมีการเก็บข้อมูลราคาแยกด้วยเช่นกัน ซึ่งน้ำมันแต่ละประเภทนั้นนำไปใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่อเนื่องแยกประเภทกัน การแยกข้อมูลประเภทของน้ำมันปาล์มแต่ละประเภทอย่างชัดเจนสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มของไทยได้อีกมาก

นอกจากนี้ข้อมูลที่สำคัญเช่นกันคือข้อมูลต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ระดับการผลิตปาล์มน้ำมัน การสกัดน้ำมันปาล์ม และการกลั่นน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายพัฒนาปาล์มน้ำมันของไทย ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างถูกต้องและทันต่อเหตุการณ์นับว่าเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่งในการวางแผนพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มทั้งระบบของไทย

ปาล์มน้ำมันจัดว่าเป็นพืชน้ำมันที่มีอนาคตสดใสและมีแนวโน้มการขยายตัวของความต้องการของอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับบรรดาพืชน้ำมันอื่นๆ เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมที่ต้องการปาล์มน้ำมันเป็นวัตถุดิบ ทั้งน้ำมันพืชเพื่อการบริโภค และอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ การวางยุทธศาสตร์ขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล นับว่าเป็นขยายอุตสาหกรรมรองรับปาล์มน้ำมันในการใช้เป็นแหล่งพลังงานทดแทน อย่างไรก็ตามไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันที่จะรุนแรงมากขึ้นจากน้ำมันปาล์มนำเข้าเมื่อไทยต้องเปิดเสรีทางการค้า โดยนอกจากการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อรองรับการผลิตไบโอดีเซลแล้ว ไทยยังมีโอกาสในการปรับการผลิตปาล์มน้ำมันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งในแง่ของการเพิ่มผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ การเพิ่มเปอร์เซนต์การให้น้ำมัน การแยกประเภทของน้ำมันปาล์ม(น้ำมันจากเนื้อและเมล็ดใน) ซึ่งแนวทางเหล่านี้จะเป็นการขยายประเภทของอุตสาหกรรมที่ใช้น้ำมันปาล์มในประเทศได้อีกอย่างหลากหลาย