โรงเรียนนานาชาติ: ธุรกิจ 6,000 ล้านบาท…ที่เติบโตต่อเนื่อง

กว่า 13 ปีแล้วที่โรงเรียนนานาชาติได้รับอนุญาตให้เปิดดำเนินการได้ในประเทศไทย ในช่วงแรกนั้นการเปิดรับนักเรียนจำกัดอยู่แต่เฉพาะบุตร–ธิดาของชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทยและบุตร-ธิดาของข้าราชการไทยที่ศึกษาในต่างประเทศเมื่อกลับมาไทยแล้วเข้าศึกษาต่อในระบบการศึกษาไทยไม่ได้เพราะระบบแตกต่างกันจึงต้องเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติ ต่อมารัฐบาลในสมัย ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2534 ได้กำหนดนโยบายเปิดเสรีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติ ประกอบกับแรงจูงใจที่ภาคธุรกิจการศึกษานั้นให้ผลคุ้มค่าในระยะยาวจึงทำให้นักลงทุนไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ในปี 2546 มีการอนุมัติให้จัดตั้งถึง 18 แห่ง และขณะนี้มีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยแล้วมากถึง 88 โรงเรียน

เส้นทางโรงเรียนนานาชาติ: ขยายตัวสู่ต่างจังหวัดมากขึ้น

ธุรกิจการศึกษานับว่าเป็นภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ให้กับประเทศ ซึ่งได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากภาครัฐ โดยมีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์มีหน้าที่รับผิดชอบประสานงานและขยายการรับรู้สู่กลุ่มเป้าหมายในตลาดต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยได้รับความสนใจมากขึ้น โดยในปี 2547 ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติสามารถสร้างรายได้คิดเป็นมูลค่ากว่า 6,000 ล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าธุรกิจการศึกษานานาชาติในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งนอกจากจะได้รับความสนใจจากกลุ่มเป้าหมายในต่างประเทศแล้ว กลุ่มผู้ปกครองไทยก็เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ กล่าวคือ ผู้ปกครองเล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษเพื่อประโยชน์ในการสื่อสารของบุตร-ธิดาท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ และยุคเทคโนโลยีข่าวสารผ่านคอมพิวเตอร์ อีกทั้งโรงเรียนหลักสูตรไทยทั่วไปไม่สามารถตอบสนองการเรียนการสอนภาษาอังกฤษได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตามจากระเบียบใหม่ที่ทางภาครัฐกำหนดขนาดที่ตั้งของโรงเรียนนานาชาติให้มีพื้นที่ใหญ่ขึ้นตามความเหมาะสมเพียงพอกับระดับการศึกษาต่างๆ ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้รับความสะดวกและประโยชน์สูงสุดจากการที่ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าโรงเรียนไทยทั่วไป เช่น ระดับอนุบาลจะต้องมีพื้นที่ของโรงเรียนไม่น้อยกว่า 1 ไร่ ระดับประถม 2 ไร่ ระดับมัธยม 2 ไร่ ถ้าเปิดสอนทุกระดับต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 5 ไร่ และต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่ตัวอาคารโรงเรียน ประกอบกับการจัดหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการจัดตั้งโรงเรียนให้ใกล้กับกลุ่มเป้าหมายเริ่มมีจำกัดและราคาที่ดินก็มีราคาแพงขึ้นมากโดยเฉพาะในย่านชุมชนและย่านธุรกิจของกรุงเทพฯ ด้วยปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้การขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติในกรุงเทพฯเริ่มเข้าสู่ภาวะอิ่มตัว ดังนั้นการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาตินั้นจึงมีแนวโน้มออกสู่ภูมิภาคมากขึ้นโดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ๆที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวและศูนย์กลางอุตสาหกรรมสำคัญในภูมิภาค เช่น ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา และเชียงใหม่ เป็นต้น

จุดขายโรงเรียนหลากหลาย…ผู้ปกครองมีโอกาสเลือก

โรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2534 ในสมัยรัฐบาล ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน อนุญาตให้มีการเปิดโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นเป็นรายๆไปภายใต้หลักเกณฑ์การจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด นอกจากนี้ภาครัฐได้ยกเลิกระเบียบนโยบายต่างๆ อาทิ ยกเลิกการควบคุมการกำหนดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมต่างๆ อนุญาตให้เด็กไทยสามารถเข้าศึกษาในโรงเรียนนานาชาติได้แต่ไม่เกิน 50% ของจำนวนนักเรียนที่รับทั้งหมด อนุญาตให้ครูชาวต่างประเทศสอนในโรงเรียนนานาชาติได้ ผลจากการที่รัฐบาลในขณะนั้นได้เปลี่ยนแปลงนโยบายโรงเรียนนานาชาติทำให้มีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันจึงมีโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทยแล้วทั้งสิ้น 88 โรงเรียน แบ่งเป็นส่วนกลาง 64 แห่ง และส่วนภูมิภาค 24 แห่ง

สำหรับการนำเสนอจุดขายนั้นโรงเรียนนานาชาติบางแห่งใช้หลักสูตรการเรียนการสอนแบบมาตรฐานของโรงเรียนต้นแบบที่มีประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเป็นจุดขายหลัก โดยไม่เน้นการทำตลาดเพราะเชื่อว่าคุณภาพของโรงเรียนจะเป็นจุดขายที่สำคัญที่สุดอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการสร้างความพึงพอใจให้ผู้ปกครองที่คำนึงถึงการวางรากฐานการศึกษาให้แก่บุตรหลานของตน
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนนานาชาติจำนวนไม่น้อยใช้แนวคิดในการดำเนินธุรกิจโรงเรียนในลักษณะ Multi-campus หรือการขยายสาขาของโรงเรียนเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายโดยตั้งโรงเรียนในพื้นที่ชุมชนในเขตเมืองเป็นกลยุทธ์ในการสร้างฐานธุรกิจให้เติบใหญ่มั่นคง ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับรูปแบบการขยายตัวของโรงเรียนนานาชาติบางแห่งที่เคลื่อนย้ายที่ตั้งไปอยู่ในพื้นที่ที่ใหญ่ขึ้นในบริเวณชานเมืองและต่างจังหวัด

นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งโรงเรียนนานาชาติในโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่มีชื่อเสียง โดยนักลงทุนเห็นช่องทางที่สามารถสร้างจุดขายครบวงจรในโครงการได้โดยใช้โรงเรียนนานาชาติเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงการ ซึ่งเหมาะกับกลุ่มเป้าหมายหรือผู้ปกครองที่ต้องการที่พักอาศัยใกล้กับสถานศึกษาของบุตร–ธิดาโดยคำนึงถึงความสะดวกในการเดินทางเป็นหลัก นอกจากนี้โรงเรียนนานาชาติบางแห่งยังเลือกพื้นที่โครงการที่มีสนามกอล์ฟเป็นที่ตั้งของโรงเรียนเพื่อเน้นการสอนกีฬากอล์ฟและกีฬาอื่นๆซึ่งก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้ปกครองที่ต้องการปูพื้นฐานกีฬาชนิดนี้ให้กับบุตร – ธิดาตั้งแต่เล็ก

การแข่งขัน: เน้นคุณภาพและมาตรฐานสากล

การเปิดเสรีโรงเรียนนานาชาตินับว่าเป็นสิ่งที่ดีเนื่องจากเป็นการลงทุนที่ให้ผลประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในระยะยาวที่จะทำให้มีการพัฒนาคนให้มีการศึกษาสูงขึ้น ซึ่งก็จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต และด้วยปริมาณโรงเรียนนานาชาติในปัจจุบันที่ขยายเพิ่มมากขึ้นทำให้การแข่งขันสูงตามไปด้วย

อย่างไรก็ดี โดยรวมแล้วปัจจัยสำคัญที่โรงเรียนนานาชาติเหล่านี้มุ่งเน้นเพื่อให้เกิดคุณภาพคือสัดส่วนระหว่างครูกับนักเรียนที่เหมาะสมโดยเน้นปริมาณครูที่เป็นเจ้าของภาษาและมีประสบการณ์ในการสอน อาคารเรียนตลอดจนอุปกรณ์การศึกษาและสื่อการเรียนก็ได้รับการออกแบบให้ทันสมัยเหมาะกับหลักสูตรการเรียนการสอนแบบนานาชาติโดยเฉพาะ มีห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สตูดิโอศิลปะ อาคารยิมเนเซียม สระว่ายน้ำ หอประชุม และห้องอาหาร เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีระบบการคัดเลือกนักเรียนที่มีคุณภาพเนื่องจากในปัจจุบันผู้ปกครองคนไทยให้ความสนใจโรงเรียนนานาชาติเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนนานาชาติจึงมีระบบการคัดเลือกนักเรียนที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้ได้นักเรียนที่มีคุณภาพ โรงเรียนบางแห่งมีศูนย์สอนภาษาเพื่อติวนักเรียนที่มีความสามารถในการเรียนแต่ยังไม่พร้อมทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อให้พร้อมในการเข้าเรียนในชั้นปกติ

การแข่งขันเป็นไปตามกลไกการพัฒนาศักยภาพของโรงเรียนและการยอมรับของผู้ปกครอง เนื่องจากมีการยกเลิกการควบคุมกำหนดค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ทั้งนี้ทางโรงเรียนจะเป็นผู้กำหนดค่าเล่าเรียนเองตามปัจจัยการเปลี่ยนแปลงทางภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นการแบ่งระดับค่าเล่าเรียนจะขึ้นอยู่กับชื่อเสียงของโรงเรียนและมาตรฐานการศึกษา การจัดการดูแลความปลอดภัยภายในโรงเรียนให้เป็นที่ยอมรับเพราะเป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับรองรับชาวต่างชาติและนักธุรกิจรายได้สูง ซึ่งต้องการให้เด็กได้รับบริการที่ดีแม้ค่าใช้จ่ายจะสูงก็ตาม

ด้านการกำหนดหลักสูตรของโรงเรียนนานาชาตินั้นผู้ขอรับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนต้องเสนอหลักสูตรให้กระทรวงศึกษาธิการพิจารณาอนุมัติโดยอาจใช้หลักสูตรต่างประเทศ หลักสูตรที่นำมาปรับปรุง หรือหลักสูตรที่โรงเรียนจัดขึ้นเอง ทั้งนี้มีระบบอังกฤษและระบบอเมริกันเป็นระบบยอดนิยม อย่างไรก็ดีกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้โรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยมีการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น กล่าวคือ นักเรียนต่างชาติกำหนดให้เรียนภาษาไทย ตลอดจนธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมไทยเป็นวิชาบังคับอย่างน้อย 1 คาบต่อสัปดาห์ สำหรับนักเรียนไทยทุกคนให้เรียนภาษาไทยและวัฒนธรรมไทยอย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 คาบ

ระบบการศึกษา/หลักสูตรโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย
(กุมภาพันธ์ 2547 / หน่วย: แห่ง)

ระบบอเมริกัน / 43
ระบบอังกฤษ / 30
ระบบญี่ปุ่น / 6
ระบบนานาชาติ (International Baccalaureate) / 3
ระบบเยอรมัน / 1
ระบบฝรั่งเศส / 1
ระบบสิงคโปร์ / 1
ระบบสิงคโปร์/อังกฤษ / 1
ระบบอินเดีย / 1
ระบบ/หลักสูตรที่โรงเรียนจัดขึ้นเอง / 1
รวม 88

ที่มา: กระทรวงศึกษาธิการ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

ด้านมาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษานั้นตามหลักเกณฑ์การจัดและดำเนินกิจการโรงเรียนนานาชาติของกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนนานาชาติทุกระดับต้องได้รับรองมาตรฐานการศึกษา (Local Quality Assurance) จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชนภายใน 3 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับใบอนุญาตให้เปิดดำเนินการ นอกจากนี้โรงเรียนระดับประถมศึกษาและระดับมัธยมศึกษา (ยกเว้นโรงเรียนระดับก่อนประถมศึกษา) ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสถาบันรับรองมาตรฐานสากล (Oversea Accreditation) ที่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการการศึกษาเอกชน เช่น ระบบอังกฤษอยู่ภายใต้ European Council of International Schools: ECIS และ ระบบอเมริกันอยู่ภายใต้ Western Association of Schools and Colleges: WASC ภายใน 6 ปี นับตั้งแต่ที่เปิดกิจการ โดยต้องรายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการการศึกษาเอกชนทราบทุกขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่โรงเรียนไม่สามารถดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวได้ โรงเรียนต้องยื่นคำร้องขอขยายเวลาได้อีกเพียง 1 ปี หากโรงเรียนไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ โรงเรียนต้องงดรับนักเรียนและขอเลิกล้มกิจการภายใน 2 ปี นอกจากนี้โรงเรียนต้องจัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาและผลการสอบของนักเรียนที่จบหลักสูตรสูงสุดของโรงเรียนต่อคณะกรรมการการศึกษาเอกชนทุกสิ้นปีการศึกษาอีกด้วย

บทสรุป

กล่าวโดยสรุปแล้วกระแสโรงเรียนนานาชาติที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผู้ปกครองหวังปลูกฝังวัฒนธรรมระดับสากลที่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อกลางในการติดต่อสื่อสารให้กับบุตรหลานโดยไม่ต้องลงทุนส่งลูกหลานไปเรียนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบหลักสูตรนานาชาติกับหลักสูตรไทยทั่วไปแล้วนั้นพบว่าทั้งสองหลักสูตรมีเป้าหมายที่คล้ายกันโดยมีกระบวนการเรียนการสอนที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มีโครงสร้างเนื้อหาสาระของหลักสูตรพื้นฐาน เช่น วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกิจกรรมเสริมในวิชาพลศึกษา ดนตรี และศิลปะ รวมทั้งมีระบบประกันคุณภาพการศึกษาในทุกระดับการศึกษาเพื่อทำให้ผู้เรียนเกิดทักษะประสบการณ์ในการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หลักสูตรในระบบการศึกษาไทยนั้นจะเน้นให้มีการนำแนวทางวัฒนธรรมไทยมาเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการเรียนการสอน ในขณะที่หลักสูตรนานาชาติที่นักเรียนจบการศึกษาระดับเกรด 12 หรือเทียบเท่ากับระดับมัธยมปีที่ 6 จะเน้นความเป็นสากล

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าในการเลือกโรงเรียนที่เหมาะสมให้กับบุตร-ธิดานั้นผู้ปกครองควรพิจารณาหลายปัจจัยด้วยกัน นอกเหนือจากปัจจัยความสะดวกในการรับ-ส่งบุตร-ธิดา ความปลอดภัยของสถานที่ศึกษา และค่าเล่าเรียนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือการเลือกหลักสูตรให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบุตร-ธิดาในอนาคต แต่ทั้งนี้ความสำเร็จในการพัฒนาการศึกษาของนักเรียนนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับหลักสูตรอย่างเดียว แต่อยู่กับศักยภาพในการเรียนของนักเรียนเอง และการดูแลเอาใจใส่ของผู้ปกครองและครูอาจารย์ควบคู่ไปด้วยเป็นสำคัญ