รายงานภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)

บทบาทของภูมิภาคเอเชียภูมิภาคเอเชียมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการถ่วงดุลเศรษฐกิจโลก

เศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดนับตั้งแต่ช่วงวิกฤติทางการเงินใน ปี 2540-2541 เป็นต้นมา กล่าวคือ ภาคการเงินและภาคเอกชนในภูมิภาคมีการปรับตัวไปในทิศทางที่ดีขึ้น จุดยืนทางการค้าในต่างประเทศมีเสถียรภาพ และจีดีพีของประเทศต่างๆ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนช่วงวิกฤติ

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงคือ ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ยังคงดำเนินนโยบายการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเร่งการส่งออก ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในระดับสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลา 7 ปี และสกุลเงินที่อ่อนค่ากว่าที่ควรจะเป็นยิ่งเป็นส่วนเสริมให้เกินดุลมากขึ้นซึ่งจากนี้ไป สถานการณ์จะเริ่มเปลี่ยนแปลง

โดยจากแรงกดดันภายนอกและความมั่นใจที่เพิ่มสูงขึ้นในภูมิภาคเอเชียทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียเริ่มปล่อยให้ค่าเงินของประเทศตนแข็งค่าขึ้น ซึ่ง เลแมน บราเดอร์ส เห็นว่า การเคลื่อนไหวนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น โดยในปี 2548 ภูมิภาคเอเชียจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่สุดในหลากหลายด้านนับตั้งแต่การเกิดภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ เสมือนการเปลี่ยนจากภาวะวิกฤติกลับสู่ภาวะที่มีเสถียรภาพ เลแมน บราเดอร์ส คาดการณ์ว่า ค่าเงินสกุลหลักของเอเชียจะแข็งค่าเพิ่มขึ้นขณะที่อัตราดอกเบี้ยจะลดต่ำลง ตลอดจนความต้องการภายในประเทศจะดีดตัวพุ่งสูงขึ้นขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลง

ปัจจัยพื้นฐานมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

ภูมิภาคเอเชียมีความแปรปรวนจากปัจจัยภายนอกในระดับต่ำ เนื่องจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล และมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นเหนือระดับพอเพียง นอกจากนี้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาคเอกชนและภาคการเงินของภูมิภาคมีการปรับตัวที่ดีขึ้นมาก แม้ว่าจะไม่ได้พุ่งขึ้นสู่ระดับที่ดีที่สุดก็ตาม ทำให้ภูมิภาคเอเชียมีความสามารถในการทำกำไรและมีงบดุลที่ดีขึ้น รวมทั้งมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงและสอดคล้องตามมาตรฐานสากล นอกจากนี้ การที่ธนาคารในภูมิภาคเอเชียได้ให้ความสำคัญกับประเด็นความเสี่ยงในการให้สินเชื่อส่งผลให้ธนาคารมีเงินทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉลี่ยปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 8 ขณะที่สัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวลดลงประมาณร้อยละ 10 อย่างไรก็ดี ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียประสบความคืบหน้าในระดับที่แตกต่างกัน โดยภาคการเงินของจีน ไทย และฟิลิปปินส์ ยังคงมีความอ่อนแอแต่โดยรวมแล้ว การปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจมีความคืบหน้าอย่างมาก อาทิ การลงทุนเพื่อดำเนินธุรกิจต่างๆ ที่ช่วยหนุนเสริมให้จีดีพีของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ในปี 2547 ปรับตัวสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมาก่อนช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ และธนาคารต่างๆ เริ่มปล่อยสินเชื่ออีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อภาคครัวเรือน

ทิศทางของสินเชื่อภาคครัวเรือน

ด้วยนโยบายการเปิดเสรีทางการเงิน (โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของธุรกิจบัตรเครดิต) และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ นับเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้ภาคครัวเรือนในภูมิภาคเอเชียมีการกู้ยืมมากขึ้น ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วในประเทศเกาหลีที่มีการกู้ยืมมากเกินไปจนทำให้เกิดวิกฤติการณ์บัตรเครดิตขึ้นในปี 2545 อย่างไรก็ตาม การกู้ยืมสินเชื่อของภาคครัวเรือนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียยังคงอยู่ในระดับต่ำ โดยยังมีอัตราการออมเงินที่สูง

การขยายตัวของชนชั้นกลาง

เมื่อพิจารณาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ เลแมน บราเดอร์ส คาดว่า รายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) จะปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 5,770 เหรียญสหรัฐในปี 2541 เป็น 7,470 เหรียญสหรัฐในปี 2547 โดยรายได้ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้ความต้องการซื้อสินค้าภายในประเทศขยายตัวอย่างมาก โดยเฉพาะในประเทศจีน ซึ่งมีจำนวนโทรศัพท์มือถือในทุกๆ 100 ครัวเรือนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเพิ่มขึ้นจาก 3 เครื่องในปี 2541 เป็น 109 เครื่องในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปริมาณนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2546 ชาวจีนเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศสูงถึง 20 ล้านคน ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีจำนวนสูงกว่านักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น และมีแนวโน้มที่จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะพุ่งสูงถึง 24 ล้านคนในปี 2547

แนวโน้มพฤติกรรมของประชากรวัยทำงานรุ่นใหม่

สัดส่วนของประชากรวัยทำงานในภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างเด่นชัด ซึ่งแตกต่างจากภูมิภาคอื่นๆ ของโลก และเมื่อเทียบกับรุ่นบิดามารดาที่มีความประหยัดมัธยัสถ์ ประชากรรุ่นใหม่ในภูมิภาคเอเชียจะใช้ชีวิตแบบเสรีมากขึ้น โดยแยกออกจากครอบครัวบิดามารดาเพื่อมาใช้ชีวิตอย่างอิสระ และมีการใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยวและกิจกรรมยามว่างเพิ่มขึ้น

การขยายตัวของสังคมเมืองที่รวดเร็ว

ประชากรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกประมาณร้อยละ 40 อาศัยอยู่ในชุมชนเมือง ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับภูมิภาคละตินอเมริกาและสหรัฐอเมริกาที่มีอัตราการขยายตัวของชุมชนเมืองประมาณร้อยละ 75 และ 60 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) กำลังมีการขยายตัวของสังคมเมืองเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหากมีการบริหารจัดการที่ดีแล้วจะส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวและเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ (Economy of scale) ซึ่งจะเป็นการกระตุ้นในการสร้างผลกำไรและรายได้สูงขึ้น ทั้งนี้ ธนาคารโลก คาดการณ์ว่า ประชากรในสังคมเมืองของภูมิภาคเอเชียจะเพิ่มขึ้นถึง 500 ล้านคนในระหว่างปี 2543 – 2568

การคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพีในปี 2548

ประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีในระดับสูง เลแมน
บราเดอร์ส การประมาณการของตลาดโดยรวม ความแตกต่าง
(ร้อยละ)
ฮ่องกง 5.5 4.5 1.0
อินโดนีเซีย 5.8 4.9 0.9
ไต้หวัน 5.0 4.2 0.8
เกาหลีใต้ 4.9 4.1 0.8
มาเลเซีย 6.0 5.3 0.7
ไทย 6.0 5.6 0.4
จีน 8.3 8.0 0.3
ประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีในระดับปานกลาง
สิงคโปร์ 4.5 4.4 0.1
ประเทศที่มีการเติบโตของจีดีพีในระดับต่ำ
ฟิลิปปินส์ 3.7 4.2 – 0.5

การคาดการณ์จีดีพีที่แท้จริงและดัชนีราคาผู้บริโภค*
จีดีพีที่แท้จริง
(การเติบโตเทียบเป็นร้อยละปีต่อปี) ดัชนีราคาผู้บริโภค
(การเติบโตเทียบเป็นร้อยละปีต่อปี)
ไตรมาส 3 ปี 2547 2547 2548 2549 พฤศจิกายน 2547** 2547 2548 2549
จีน 9.1 9.2 8.3 8.5 2.8 4.1 3.5 2.5
ฮ่องกง 7.2 8.0 5.5 4.8 0.2 -0.4 2.5 4.5
อินโดนีเซีย 5.0 4.9 5.8 6.5 6.2 6.2 6.4 5.5
มาเลเซีย 6.8 7.0 6.0 6.0 2.1 1.5 3.0 3.5
ฟิลิปปินส์ 6.3 5.9 3.7 4.0 8.2 5.9 7.5 7.5
สิงคโปร์ 7.5 8.0 4.5 4.3 2.0 1.7 1.8 1.5
เกาหลีใต้ 4.6 4.3 4.9 5.5 3.3 3.8 3.4 3.0
ไต้หวัน 5.3 5.7 5.0 5.0 1.5 1.9 3.0 2.5
ไทย 6.0 6.0 6.0 6.0 3.0 2.8 3.0 2.5
ภูมิภาคเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น) 7.1 7.2 6.5 6.7 2.9 3.4 3.5 3.0

* เป็นการคาดการณ์แบบ modal forecast ซึ่งเป็นการคาดการณ์ผลที่มีแนวโน้มเป็นไปได้มากที่สุด
** ดัชนีราคาผู้บริโภคของฮ่องกง มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นข้อมูลประจำเดือนตุลาคม