บรรยากาศการท่องเที่ยวของไทยในช่วงปลายปี 2547 ที่มีแนวโน้มคึกคักขึ้นตามลำดับได้ถูกพลิกผันไปทันทีเมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ หรือที่เรียกกันว่า สึนามิ ถล่มแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลแถบฝั่งอันดามันเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ซึ่งสร้างความเสียหายรุนแรงอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประเทศไทย โดยก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของผู้คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างประเทศ และผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ประกอบการในธุรกิจท่องเที่ยว รวมทั้งความเสียหายในด้านทรัพยากรทางธรรมชาติอันมีค่าของแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน
ภายใต้เหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดซึ่งเกิดขึ้นในพื้นที่ 6 จังหวัดชายฝั่งทะเลอันดามันของไทย ล่าสุดรัฐบาลได้ประกาศให้ทุกหน่วยงานงดการจัดงานเทศกาลรื่นเริงในช่วงปีใหม่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและธุรกิจเอกชนต่างขานรับด้วยการยกเลิกการจัดงานเคาท์ดาวน์ในคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2547 ในพื้นที่หลายแห่งในกรุงเทพฯ และเมืองท่องเที่ยวสำคัญในภาคต่างๆ อาทิ เชียงใหม่ พัทยา หาดใหญ่ และภูเก็ต โดยมีบางแห่งเปลี่ยนแผนการจัดงานงานเคาท์ดาวน์รับปีใหม่เป็นการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อรับบริจาคสิ่งของและเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยแทน
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้เวลาในช่วงวันหยุดปีใหม่ของคนกรุงเทพฯเช่นทุกปี โดยในปีนี้ได้ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 25-26 ธันวาคม 2547 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 559 คนที่มีอายุระหว่าง 16-65 ปี ครอบคลุมทั้งผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในทุกสาขาอาชีพ และทุกระดับรายได้
นอกจากนี้ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ยังได้ทำการสำรวจเพิ่มเติม หลังจากคลื่นยักษ์ หรือ สึนามิ ได้สร้างภัยพิบัติครั้งร้ายแรงในพื้นที่ท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นการสำรวจเชิงลึกในประเด็นของแผนการเดินทางไปเที่ยวชายทะเลในช่วงปีใหม่ของคนกรุงเทพฯระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 2547 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 268 คน
คนกรุงฯใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่ 1.4 หมื่นล้านบาท
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้ทำการสำรวจพฤติกรรมการใช้เวลาในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2548 ของคนกรุงเทพฯ ในลักษณะการสำรวจเชิงคุณภาพระหว่างวันที่ 25-26 ธันวาคม 2547 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 559 คนที่มีอายุระหว่าง 16-65 ปี ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ในทุกสาขาอาชีพและทุกระดับรายได้
ผลการสำรวจดังกล่าวมีประเด็นสำคัญๆที่สรุปได้ดังนี้ :
? การร่วมกิจกรรมสำคัญช่วงปีใหม่ : สร้างเม็ดเงินสะพัด 7,000 ล้านบาท
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ คือ ร้อยละ 78 ตั้งใจจะร่วมกิจกรรมสำคัญในเทศกาลปีใหม่ สำหรับกิจกรรมที่ผู้ตอบแบบสอบถามให้ความสำคัญที่จะเข้าร่วมในเทศกาลปีใหม่ มีดังนี้
– อันดับ 1 คือ การร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และที่ทำงาน
– อันดับ 2 คือ การทำบุญ ใส่บาตร และไหว้พระ
– อันดับ 3 คือ การนำของขวัญไปอวยพรญาติผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
การใช้จ่ายเพื่อร่วมกิจกรรมสำคัญช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในปีนี้โดยรวมแล้วเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้เป็นผลพวงจากราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 7,000 ล้านบาทซึ่งสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
– การร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ : ภัตตาคารและร้านอาหาร เรือท่องเที่ยว สถานบันเทิง ธุรกิจบริการรับจัดงานเลี้ยงนอกสถานที่ วงดนตรี และการแสดงเพื่อความบันเทิงต่างๆ เป็นต้น
– การทำบุญ ใส่บาตร และไหว้พระ : ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ ร้านจำหน่ายเครื่องดื่ม อาหารกระป๋อง และอาหารแห้งต่างๆ ร้านจำหน่ายอาหาร ขนม และผลไม้ เป็นต้น
– การอวยพรญาติผู้ใหญ่และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ : ห้างสรรพสินค้า ร้านจำหน่ายสินค้าของขวัญและของที่ระลึกต่างๆ ร้านจำหน่ายผลไม้ ร้านจัดดอกไม้ ร้านจำหน่ายการ์ดอวยพรปีใหม่ กระดาษห่อของขวัญ โบว์และริบบิ้น เป็นต้น
?คนกรุงฯส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ: สร้างเม็ดเงินสะพัด 1,800 ล้านบาท
สำหรับการใช้เวลาช่วงวันหยุดเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯในปีนี้นั้น จากการสำรวจพบว่า สัดส่วนของผู้ที่อยู่ในกรุงเทพฯสูงกว่าสัดส่วนของผู้ที่เดินทางออกนอกกรุงเทพฯ โดยร้อยละ 54.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามตั้งใจจะใช้เวลาช่วงวันหยุดปีใหม่อยู่ในกรุงเทพฯ ส่วนกิจกรรมสำคัญของผู้ตอบแบบสอบถามที่ใช้เวลาช่วงวันหยุดในกรุงเทพฯ ได้แก่
– การพักผ่อนอยู่กับบ้าน
– การรับประทานอาหารนอกบ้าน
– การชมภาพยนตร์
– การเดินเที่ยวตามห้างสรรพสินค้า
– การเดินทางไปเที่ยวในจังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯแบบเช้าไปเย็นกลับ
– การไหว้พระตามวัดที่มีชื่อเสียงเพื่อความเป็นสิริมงคล
จากการสำรวจพบว่า ผู้ที่อยู่กรุงเทพฯใช้จ่ายในกิจกรรมนอกบ้านช่วงวันหยุดปีใหม่โดยรวมเฉลี่ยประมาณ 1,800 ล้านบาทเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว เม็ดเงินเหล่านี้กระจายไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
– ภัตตาคารและร้านอาหารในกรุงเทพฯและชานเมือง
– โรงภาพยนตร์
– ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้าต่างๆ
– สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯซึ่งรวมทั้งสวนสนุกกลางแจ้ง และสวนสนุกเคลื่อนที่
?คนกรุงฯเดินทางออกจากกรุงเทพฯช่วงปีใหม่
จากการสำรวจพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่เดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงวันหยุดปีใหม่มีสัดส่วนร้อยละ 45.2 ซึ่งลดลงจากปีที่แล้ว ที่มีสัดส่วนใกล้เคียงกับผู้ที่อยู่กรุงเทพฯ ในสัดส่วนเฉลี่ยร้อยละ 50
นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 30.7 ระบุว่า สายการบินต้นทุนต่ำเข้ามามีบทบาทต่อการเดินทางออกนอกกรุงเทพฯช่วงปีใหม่ เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ช่วยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง และช่วยให้เดินทางได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
• คนกรุงฯกลับบ้านต่างจังหวัด :
เม็ดเงินสะพัด 2,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 66.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่จะเดินทางออกจากกรุงเทพฯในช่วงปีใหม่ ระบุว่าจะเดินทางกลับบ้านในต่างจังหวัด โดยส่วนใหญ่ใช้รถยนต์เป็นพาหนะในการเดินทางต่างจังหวัด รองลงมาคือ รถทัวร์ และรถบขส. การใช้จ่ายในการเดินทางกลับบ้านต่างจังหวัดช่วงปีใหม่นี้ โดยรวมมีมูลค่าเฉลี่ยประมาณ 2,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่ผ่านมา
• คนกรุงฯเที่ยวต่างจังหวัด :
เม็ดเงินสะพัด 2,400 ล้านบาท โดยร้อยละ 31.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามที่จะเดินทางออกจากรุงเทพฯช่วงปีใหม่ ระบุว่าจะเดินทางไปเที่ยวค้างคืนในต่างจังหวัด ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงปีใหม่โดยรวมเฉลี่ยประมาณ 2,400 ล้านบาทลดลงร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากจำนวนคนกรุงเทพฯที่เดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในปีนี้ลดลงจากปีที่แล้ว เนื่องจากกำลังซื้อของประชาชนที่ถดถอยลงจากราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับอากาศที่หนาวเย็นมากในช่วงตั้งแต่เดือนพฤศจิการยนเป็นต้นมา กระตุ้นให้คนจำนวนมากทยอยเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือและภาคอีสานกันอย่างต่อเนื่อง
แหล่งท่องเที่ยวที่คนกรุงเทพฯตั้งใจจะเดินทางไปเที่ยวในช่วงปีใหม่ มีดังนี้
อันดับ 1 คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือ อาทิ เชียงใหม่ และเชียงราย
อันดับ 2 คือ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก อาทิ พัทยา และตราด
อันดับ 3 คือ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในฝั่งอ่าวไทย อาทิ หัวหิน ชุมพร และสมุย
อันดับ 4 คือ แหล่งท่องเที่ยวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
อันดับ 5 คือ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในฝั่งทะเลอันดามัน อาทิ ภูเก็ต และกระบี่ (เป็นการสำรวจก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามัน)
พาหนะที่คนกรุงเทพฯนิยมเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดยังคงเป็นรถยนต์ส่วนตัว รองลงมา คือ รถบขส. และรถทัวร์ นอกจากนี้ ยังมีการเข้ามาให้บริการของสายการบินต้นทุนต่ำ เป็นทางเลือกที่เพิ่มขึ้นให้คนกรุงเทพฯสามารถเดินทางได้อย่างรวดเร็วในราคาประหยัด
การใช้จ่ายในการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงปีใหม่ของคนกรุงเทพฯ ก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ ธุรกิจนำเที่ยว ธุรกิจจำหน่ายตั๋วเครื่องบิน ธุรกิจสายการบิน สถานบริการน้ำมัน ธุรกิจโรงแรม มินิมาร์ทในสถานบริการน้ำมัน ร้านจำหน่ายสินค้าโอทอปและสินค้าพื้นเมืองต่างๆ
• คนกรุงฯเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ :
เม็ดเงินไหลออก 1,000 ล้านบาท โดยร้อยละ 1.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าจะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปีใหม่ และการใช้จ่ายเฉลี่ยโดยรวมของคนกรุงเทพฯที่จะเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปีใหม่มีมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ลดลงประมาณร้อยละ 15 จากปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่มีผู้ทยอยเดินทางไปต่างประเทศในช่วงก่อนหน้าจำนวนมากแล้ว การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศช่วงปีใหม่ของคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่เป็นการเดินทางระยะใกล้ในเอเชีย อาทิ สิงคโปร์ ฮ่องกง และประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ มาเลเซีย และประเทศในแถบอินโดจีน
สึนามิ : กระทบแผนการเที่ยวต่างจังหวัดของคนกรุงฯ
เนื่องจากบรรยากาศของการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในปีนี้ที่เดิมคาดว่าจะคึกคักกว่าทุกปีได้พลิกผันไปทันที เมื่อเกิดเหตุการณ์คลื่นยักษ์ถล่มเมืองท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามัน 6 แห่งเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด จึงได้ทำการสำรวจเชิงลึก ในประเด็นของแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดของคนกรุงเทพฯในช่วงปีใหม่ว่าได้รับผลกระทบอย่างไรจากเหตุภัยพิบัติครั้งร้ายแรงที่เกิดขึ้นในเมืองท่องเที่ยวชายทะเลยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 28-29 ธันวาคม 2547 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 268 คนที่มีอายุระหว่าง 16-65 ปี ซึ่งครอบคลุมทุกพื้นที่ ในทุกสาขาอาชีพและทุกระดับรายได้ ซึ่งสามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้
จากการสำรวจพบว่า ในกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่เดิมมีแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดในช่วงปีใหม่ก่อนเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามันนั้น
– ร้อยละ 57.3 ระบุว่า มีแผนการเดินทางไปเที่ยวชายทะเล ซึ่งมีทั้งแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในภาคตะวันออก (อาทิ พัทยา ระยอง และตราด) แหล่งท่องเที่ยวชายทะลในภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน (อาทิ ชะอำ หัวหิน เกาะสมุย และภูเก็ต เป็นต้น)
– ร้อยละ 40.9 ระบุว่า มีแผนการเดินทางไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่น อาทิ แหล่งท่องเที่ยวประเภทภูเขาเพื่อสัมผัสอากาศที่หนาวเย็นและความสวยงามของดอกไม้ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ เชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ และนครราชสีมา เป็นต้น และแหล่งท่องเที่ยวในภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ อาทิ พระนครศรีอยุธยาเพื่อไหว้พระในวัดต่างๆ สระบุรี และลพบุรีเพื่อเที่ยวทุ่งทานตะวัน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจพบว่า หลังเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามัน ผู้ที่เดิมวางแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงปีใหม่ไว้ก่อนหน้าแล้วส่วนใหญ่เปลี่ยนแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด ดังนี้
– ร้อยละ 56.4 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เปลี่ยนแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดช่วงปีใหม่หลังจากเกิดเหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามัน โดยส่วนใหญ่เลือกที่จะพักผ่อนอยู่กับบ้านแทน,เปลี่ยนไปเที่ยวภูเขาแทน, เปลี่ยนไปเที่ยวที่อื่นที่ไม่ใช่ทะเล ,เที่ยวอยู่ในกรุงเทพฯแทน
– ร้อยละ 43.6 ของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า เหตุการณ์สึนามิถล่มอันดามันไม่ส่งผลต่อแผนการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดที่วางไว้เดิม โดยส่วนใหญ่ให้เหตุผลว่า เหตุการณ์แบบนี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก
จากการสำรวจความคิดเห็นของผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิที่มีต่อพฤติกรรมการเดินทางไปเที่ยวชายทะเลของประชาชนคนไทยโดยรวม พบว่า
– ร้อยละ 41.0 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีผลอยู่บ้าง
– ร้อยละ 26.5 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไม่มีผลเลย
– ร้อยละ 19.8 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มีผลอย่างมาก
– ร้อยละ 12.7 ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ไม่มีผลเท่าใดนัก
ในส่วนของการเรียกความมั่นใจจากนักท่องเที่ยว ทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและนักท่องเที่ยวคนไทย ให้กลับมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลในเมืองไทยเหมือนเดิมนั้น
– อันดับ 1 คิดว่าจะต้องใช้ระยะเวลา 3-12 เดือน
– อันดับ 2 คิดว่าจะต้องใช้ระยะเวลานานเกิน 1 ปี
– อันดับ 3 คิดว่าจะต้องใช้ระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือน
สำหรับแนวทางที่หน่วยงานภาครัฐควรเร่งดำเนินการเพื่อเรียกความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลเหมือนเดิมในความคิดเห็นของผู้ตอบแบบสอบถาม มีดังนี้
– ร้อยละ 70.2 ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐควรเร่งปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลฝั่งอันดามันให้กลับมารับนักท่องเที่ยวได้อีกครั้ง
– ร้อยละ 27.1 ระบุว่า หน่วยงานภาครัฐควรพัฒนาข้อมูล และการสื่อสารที่ชัดเจน เพื่อป้องกันภัยที่อาจเกิดขึ้น
– ร้อยละ 2.7 ระบุว่า รัฐบาลควรสนับสนุนในด้านงบประมาณที่ต้องใช้ในการฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่เสียหายครั้งนี้
ส่วนแนวทางที่ผู้ตอบแบบสอบถามเห็นว่าธุรกิจเอกชนควรดำเนินการเพื่อดึงนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวชายทะเลเหมือนเดิม มีดังนี้
– ร้อยละ 40.8 ระบุว่า ธุรกิจเอกชนควรเร่งฟื้นฟูสถานบริการรองรับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะในด้านสถานที่พัก และสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ
– ร้อยละ 38.9 ระบุว่า ธุรกิจเอกชนควรจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายด้วยการจัดแพ็กเกจเดินทางท่องเที่ยวราคาถูกพิเศษดึงดูดนักท่องเที่ยว
– ร้อยละ 12.0 ระบุว่า ธุรกิจเอกชนควรพัฒนาระบบการเตือนภัยที่มีความถูกต้อง รวดเร็ว และแม่นยำ
– ร้อยละ 8.3 ระบุว่า ทั้งหน่วยงานของภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันอย่างจริงจังในการเร่งฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความเสียหาย
สรุป
การสำรวจพฤติกรรมการใช้เวลาในช่วงเทศกาลปีใหม่ของคนกรุงเทพฯสะท้อนให้เห็นว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่ปีนี้คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ต่างร่วมกิจกรรมสำคัญๆ คือ การร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ในหมู่ครอบครัว ญาติมิตร และที่ทำงาน การทำบุญใส่บาตรและไหว้พระ การอวยพรญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เช่นเดียวกับทุกปี
นอกจากนี้ คนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ยังใช้เวลาช่วงวันหยุดปีใหม่พักผ่อนอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ยังคงเดินทางกลับบ้านในช่วงปีใหม่ ขณะที่คนกรุงเทพฯเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัด และเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศลดลง เนื่องจากกำลังซื้อโดยรวมที่ถดถอยลงจากภาวะราคาน้ำมันแพง ประกอบกับในช่วงก่อนหน้ามีผู้ที่ทยอยเดินทางท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศกันจำนวนมากแล้ว ทั้งเพื่อเลี่ยงปัญหาความแออัดในช่วงเทศกาลปีใหม่ และจากแรงจูงใจในด้านต่างๆ โดยรวมแล้วคนกรุงเทพฯใช้จ่ายในช่วงเทศกาลปีใหม่คิดเป็นมูลค่าประมาณ 14,000 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 จากปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์สึนามิถล่มแหล่งท่องเที่ยวชายฝั่งอันดามัน ทำลายบรรยากาศรื่นเริงของการเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่ในปีนี้ ที่เดิมคาดว่าจะคึกคักกว่าทุกๆปี การจัดงานเคาท์ดาวน์อย่างยิ่งใหญ่ในหลายพื้นที่ถูกยกเลิก บางแห่งเปลี่ยนแผนการจัดงานเคาท์ดาวน์รับปีใหม่เป็นงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการรับบริจาคเงินและสิ่งของแทน นอกจากนี้ สึนามิยังส่งผลกระทบทำให้คนกรุงเทพฯที่เดิมได้วางแผนการเดินทางไปเที่ยวชายทะเลในช่วงปีใหม่ไว้ก่อนหน้าแล้วส่วนใหญ่ คือ เกือบร้อยละ 60 เปลี่ยนแผนการที่วางไว้เดิม โดยบางส่วนยกเลิกการเดินทาง บ้างก็เปลี่ยนไปเที่ยวแหล่งท่องเที่ยวประเภทอื่นแทน อาทิ เที่ยวภูเขาในภาคเหนือและภาคอีสาน เป็นต้น