สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย : แนวโน้มปี 2548

ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547 สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย (วัดจากผลรวมของเงินสด รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และการลงทุนสุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตร) ของธนาคารไทย 12 แห่ง ปรับลดลงประมาณ 7.0 หมื่นล้านบาท จากระดับ 5.1 แสนล้านบาท ณ ปลายปี 2546 มาอยู่ที่ประมาณ 4.4 แสนล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2547 โดยกลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ (BBL, KBANK, SCB, BAY, TMB) ครองส่วนแบ่งสภาพคล่องมากสุดอยู่ที่ประมาณ 3.7 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนถึง 84% ของสภาพคล่องรวม 12 ธนาคารไทยในเดือนพฤศจิกายน 2547 ทั้งนี้ หากสถานการณ์สภาพคล่องยังคงไม่แตกต่างมากนักจากความเคลื่อนไหวในช่วง 11 เดือนแรกของปี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ทิศทางสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่ง อาจลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 4.38 แสนล้านบาท ณ ปลายปี 2547 โดยคาดว่ากลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่จะยังคงครองส่วนแบ่งสภาพคล่องโดยรวมเหนือระดับ 80% อยู่เช่นเดิม

สภาพคล่อง* ของ 12 ธนาคารไทยในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2547
กลุ่มธนาคาร
(หน่วย: พันล้านบาท) 2546 2547 เพิ่มขึ้น/ลดลง
(2546-พ.ย. 2547)
มี.ค. มิ.ย. ก.ย. พ.ย.
เอกชนขนาดใหญ่ 1/ 467.0 492.4 345.4 343.5 373.4 -93.6
รัฐ และธ.ที่จำกัดขอบเขตการดำเนินธุรกิจ 2/ 41.8 26.2 57.8 61.9 64.7 +23.0
ลูกครึ่ง 3/ 5.9 -4.5 3.6 2.6 6.4 +0.5
รวม 12 ธนาคารไทย 514.7 514.1 406.8 407.9 444.6 -70.1

ที่มา: งบแสดงสินทรัพย์และหนี้สินฉบับย่อ (ธ.พ.1.1) ของธนาคารพาณิชย์ไทย 12 แห่ง โดย 1/ ได้แก่ BBL, KBANK, SCB, BAY, TMB 2/ ได้แก่ KTB, SCIB, BT รวม NBANK และ 3/ ได้แก่ BOA, SCNB, UOBR ในขณะที่ข้อมูลในช่วงก่อนเดือนกันยายน 2547 นับรวม DTDB เข้าไปในการคำนวณของกลุ่มธนาคารลูกครึ่งด้วย

* สภาพคล่องวัดจากผลรวมของเงินสด รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และการลงทุนสุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตร

แนวโน้มสภาพคล่องปี 2548

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินแนวโน้มสภาพคล่องปี 2548 โดยการพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่อาจมีผลทำให้ฐานะสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ลดลง ดังนี้

ปัจจัยที่คาดว่าจะกระทบต่อสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ ได้แก่

? การขยายตัวของสินเชื่อ

จากการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่อาจขยายตัวประมาณ 5.0-5.5% ในปี 2548 ชะลอตัวลงจากตัวเลขคาดการณ์ที่ 6.2% ในปี 2547 คาดว่าจะส่งผลต่อความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนในปีนี้ให้เพิ่มขึ้นในทิศทางที่ลดลงจากขนาดการปล่อยสินเชื่อในปี 2547 โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อที่ก่อให้เกิดรายได้ (performing loans) ของ 12 ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจมีขนาดเพิ่มขึ้นประมาณ 2.39 แสนล้านบาท เทียบกับขนาดการปล่อยสินเชื่อในปี 2547 ที่ประมาณ 2.50 แสนล้านบาท ทั้งนี้ สินเชื่อที่คาดว่าจะยังมีการขยายตัวไปได้ดี คงจะได้แก่ สินเชื่อสำหรับภาคธุรกิจที่มีการเติบโตเกาะติดไปกับวัฏจักรการลงทุน หรือสินเชื่อในภาคธุรกิจที่มีการใช้กำลังการผลิตใกล้เต็มหรือเต็มประสิทธิภาพแล้ว สินเชื่อเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะในภาคธุรกิจที่จะได้รับผลบวกจากการเจรจาการค้าแบบทวิภาคีและพหุภาคี สินเชื่อในภาคธุรกิจที่ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) และสินเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่นำโดยภาครัฐ (เมกะโปรเจกต์) ในขณะที่ สินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อสำหรับสินค้าคงทนต่างๆ และสินเชื่อบัตรเครดิต อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ตามแนวโน้มการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะเติบโตถดถอยลง จากผลกระทบด้านราคาน้ำมันและอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น (โดยเฉพาะหากรัฐบาลมีการลอยตัวราคาน้ำมันขายปลีกดีเซลในช่วงครึ่งแรกของปีนี้) รวมไปถึงผลกระทบด้านทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้นด้วย

? ขนาดอุปทานตราสารหนี้สุทธิ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แผนการออกพันธบัตรรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงในปี 2548 อันเป็นผลจากการที่รัฐบาลมีการดำเนินนโยบายงบประมาณสมดุล และอาจไม่มีการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ในปีนี้ อาจจะได้รับการชดเชยจากการเสนอขายหุ้นกู้ภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการขยายตัวของภาคการลงทุนที่เป็นตัวแปรหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้ รวมทั้งการขยายการลงทุนตามแผนการดำเนินงานของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจก็น่าที่จะช่วยเพิ่มปริมาณอุปทานตราสารหนี้ในปีนี้เช่นกัน นอกจากนี้ คาดว่ารัฐบาลและธปท.น่าจะยังคงมีการออกตั๋วเงินคลังและพันธบัตรธปท.ออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประโยชน์ในการบริหารสภาพคล่องระยะสั้นของทางการ และการสร้างอัตราผลตอบแทนอ้างอิงในตลาดตราสารหนี้ ในขณะที่แผนการพัฒนาตลาดตราสารหนี้และการจัดตั้งกองทุนเอเชียบอนด์ก็คาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้การออกตราสารหนี้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ทั้งนี้ จากการประเมินเบื้องต้นของฝ่ายวาณิชธนกิจ ธนาคารกสิกรไทย ขนาดอุปทานตราสารหนี้สุทธิ (ตราสารที่ออกใหม่หักด้วยตราสารที่ครบกำหนด) ซึ่งยังไม่รวมตราสารที่อาจจะออกจากการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ในโครงการเมกะโปรเจกต์ อาจมีจำนวนประมาณ 2.46 แสนล้านบาทในปี 2548 เพิ่มขึ้นจาก 2.0 แสนล้านบาทในปีก่อนหน้า

(หน่วย : พันล้านบาท) ขนาดอุปทานตราสารหนี้สุทธิ
ปี 2547 ปี 2548
พันธบัตรรัฐบาล 155 72.4
ตั๋วเงินคลัง 41 0
พันธบัตรองค์กรเฉพาะกิจ 70 70
พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ -7 28
หุ้นกู้ภาคเอกชน (รวม Slips/Caps) -59 75.3
รวม 200 246

ประมาณการโดย ธนาคารกสิกรไทย

? ขนาดการเสนอขายหลักทรัพย์

หลังปิดฉากความเคลื่อนไหวที่ค่อนข้างผันผวนที่ระดับ 668.10 จุดในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยเริ่มต้นปี 2548 ด้วยความสดใสมากขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีจนถึง 13 มกราคม 2548 ดัชนีหุ้นไทยปรับขึ้นแล้ว 25.33 จุด และนักลงทุนต่างชาติเป็นผู้ซื้อสุทธิรวม 2.9 หมื่นล้านบาท ทั้งนี้ ภาพรวมแนวโน้มตลาดหุ้นไทยที่น่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องในปีนี้โดยเฉพาะหากการจัดตั้งรัฐบาลใหม่มีความลงตัวและเป็นไปด้วยดี น่าจะเป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนการระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ของภาคธุรกิจเอกชน ในขณะที่ แม้ว่าความคืบหน้าของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจในปี 2548 ยังอาจต้องรอความชัดเจนของนโยบายรัฐบาลใหม่และความพร้อมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจนั้นๆ แต่เป้าหมายบริษัทจดทะเบียนทั้งในตลาดหลักทรัพย์และตลาด MAI ประมาณ 100 บริษัทของทางการในปีนี้ เพิ่มขึ้นจาก 50 บริษัทในปี 2547 ก็น่าที่จะช่วยเพิ่มขนาดการเสนอขายหุ้นในตลาดทุนไทย ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ขนาดการเสนอขายหลักทรัพย์ (IPOs และ POs) ในปี 2548 อาจเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 5.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากความเป็นไปได้ของการแปรรูปรัฐวิสาหกิจได้แก่ ทศท. กสท. และกฟผ. เทียบกับขนาดการเสนอขายหลักทรัพย์ในปี 2547 ประมาณ 4.7 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มีรัฐวิสาหกิจที่ประสบความสำเร็จในการแปรรูปได้แก่ ทอท. ไทยออยล์ และอสมท. อย่างไรก็ตาม ความเป็นไปได้ของตัวเลขคาดการณ์ข้างต้นยังต้องขึ้นอยู่กับบรรยากาศการลงทุนที่เอื้ออำนวยของตลาดทุนไทยด้วย

? การระดมเงินสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์

จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์ ในช่วงปีงบประมาณ 2548-2551 มีจำนวนรวม 1.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นมูลค่าเฉลี่ยต่อปีประมาณ 3.77 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในด้านคมนาคมและด้านพลังงาน ทั้งนี้ ตามขนาดการลงทุนในปี 2548 มูลค่า 3.5 แสนล้านบาท รัฐบาลมีแผนที่จะระดมทุนด้วยวิธีต่างๆ ได้แก่ วงเงินงบประมาณ การกู้ยืมในและต่างประเทศ รายได้จากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ และการเพิ่มทุน โดยวิธีการระดมทุนที่คาดว่าอาจทำให้สภาพคล่องมีการเคลื่อนย้ายออกจากระบบธนาคารพาณิชย์ คงจะเป็นการกู้ยืมในประเทศและการเพิ่มทุน ซึ่งมีมูลค่ารวมกันประมาณ 1.1 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 33.6% ของมูลค่าการลงทุนในปี 2548

ปัจจัยที่คาดว่าจะมีผลให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ได้แก่

? การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด

จากฐานะดุลการค้าของไทยที่คาดว่าอาจมียอดขาดดุลในปี 2548 อันเป็นผลจากมูลค่าการส่งออกที่มีแนวโน้มขยายตัวในทิศทางที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ และการขยายตัวของการนำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสูงกว่าการส่งออกตามการเติบโตของวัฏจักรการลงทุน ประกอบกับ รายได้จากการท่องเที่ยวที่อาจถูกกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิใน 6 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจมียอดการเกินดุลที่ลดลงจากประมาณ 7.1 พันล้านดอลลาร์ฯ (2.9 แสนล้านบาท) ในปี 2547 มาเป็น 3.9 พันล้านดอลลาร์ (1.5 แสนล้านบาท) ในปี 2548 ซึ่งการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่แม้ว่าจะมีแนวโน้มเป็นบวกน้อยลงในปีนี้ แต่ก็จะส่งผลให้มีปริมาณเงินที่ไหลเข้าประเทศสุทธิจากทางด้านการค้า/บริการและรายได้เข้ามาเพิ่มสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์

? การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ

แนวโน้มการทยอยชำระคืนหนี้ต่างประเทศทั้งจากภาคทางการและภาคเอกชนที่ยังคงมีการดำเนินการอยู่ต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าจะทำให้ยังคงมีเงินทุนไหลออกเพื่อชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด/ไถ่ถอนก่อนกำหนดผ่านการรีไฟแนนซ์ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ในทิศทางที่ชะลอลงในปีนี้ อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเงินบาทอาจมีค่าเฉลี่ยที่ประมาณ 39.0 บาทต่อดอลลาร์ฯในปีนี้ เทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 40.27 บาทต่อดอลลาร์ฯในปีก่อน) เนื่องจากคาดว่าเงินดอลลาร์ฯน่าจะยังคงถูกกดดันจากปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในระดับสูงของสหรัฐฯ แม้ว่าเงินดอลลาร์ฯอาจได้รับแรงหนุนบางส่วนจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นและการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ยังคาดว่าจะแข็งแกร่งมากกว่าเศรษฐกิจหลักอื่นๆ ก็ตาม ประกอบกับ การที่ส่วนหนึ่งของมูลค่าการลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์ รัฐบาลจะระดมทุนด้วยวิธีการกู้ยืมจากต่างประเทศประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 10.7% ของมูลค่าการลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทในปี 2548 รวมทั้ง แผนการส่งเสริมการลงทุนในตลาดพันธบัตรเอเชียที่คาดว่าจะมีความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้นในปีนี้ ทำให้คาดว่า มูลค่าการไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิในปีนี้อาจมีระดับประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท พลิกกลับจากยอดไหลออกสุทธิที่ประมาณ 2.4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา

ความต้องการใช้สภาพคล่องสุทธิจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ

(หน่วย : พันล้านบาท) 2547 2548
ปัจจัยที่คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องมีการเคลื่อนย้ายออกจากระบบธนาคารพาณิชย์
? การขยายตัวของสินเชื่อ 250 239
? ขนาดอุปทานตราสารหนี้สุทธิ 200 246
? ขนาดการเสนอขายหลักทรัพย์ 47 53
? การระดมเงินสำหรับโครงการเมกะโปรเจกต์ – 116
ปัจจัยที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์
? การเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 286 152
? การไหลเข้าของเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ -24 31
ความต้องการใช้สภาพคล่องสุทธิ 234 470

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง, กลต., ธนาคารกสิกรไทย และประมาณการโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

เมื่อพิจารณาปัจจัยต่างๆ ที่คาดว่าอาจมีผลต่อการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์แล้ว อาจกล่าวได้ว่า ในปี 2548 ภาพรวมกิจกรรมเศรษฐกิจอาจทำให้เกิดความต้องการใช้สภาพคล่องสุทธิรวมประมาณ 4.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณสองเท่าจากความต้องการใช้สภาพคล่องสุทธิรวมประมาณ 2.3 แสนล้านบาทในปี 2547 กระนั้นก็ดี จากข้อมูลสภาพคล่องของ 12 ธนาคารไทยที่คาดว่าอาจเหลืออยู่ที่ประมาณ 4.38 แสนล้านบาท ณ ปลายปี 2547 เทียบกับ 5.1 แสนล้านบาทในปี 2546 จะได้ว่า ยอดคงค้างสภาพคล่องลดลงจริงเพียง 7.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้นในปี 2547 อันเป็นผลจากการหมุนเวียนกลับเข้ามาของสภาพคล่องส่วนที่ไม่ได้ไหลออกไปอย่างถาวร ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่า ปริมาณสภาพคล่องคงจะมีแนวโน้มลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีความต้องการใช้สภาพคล่องสุทธิรวมเพิ่มขึ้นดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่การลดลงของยอดคงค้างสภาพคล่องคงจะไม่เกิดขึ้นในอัตรา 1:1 หรือทั้งจำนวน 4.7 แสนล้านบาท โดยยอดคงค้างสภาพคล่องที่ลดลงจริงอาจมีขนาดประมาณ 1.4-1.9 แสนล้านบาท นั่นหมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยอาจยังมีสภาพคล่องเหลืออยู่ ณ ปลายปี 2548 ประมาณ 2.5-3.0 แสนล้านบาท ซึ่งแนวโน้มสภาพคล่องที่ทยอยปรับลดลงนี้คาดว่าจะนำมาสู่การพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ไทยในที่สุด แต่ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การดูแลเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในประเทศของธปท. ผ่านช่องทางต่างๆ ได้แก่ การประกอบธุรกรรมซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน การลงทุนสุทธิในตลาดซื้อคืนพันธบัตร และการออกพันธบัตรธปท. คาดว่าจะช่วยให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์เกิดขึ้นในจังหวะเวลาที่เหมาะสมและส่งผลในทางลบต่อเศรษฐกิจไทยน้อยที่สุด

อนึ่ง จากปัจจัยด้านแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในประเทศที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งหลังของปี อัตราดอกเบี้ย Fed Funds ของสหรัฐฯที่คาดว่าจะมีแนวโน้มขยับเข้าสู่ระดับที่มีความเป็นกลาง (neutral) มากขึ้น รวมทั้ง สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ที่มีแนวโน้มลดลงตามการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ธนาคารพาณิชย์ไทยคงจะมีแนวโน้มปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินให้กู้ยืมของตนในปีนี้ โดยที่การปรับเปลี่ยนน่าจะเริ่มต้นจากการขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะยาว อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป และอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย เป็นต้น ดังเช่นที่ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ได้มีการเริ่มดำเนินการไปบ้างแล้วในช่วงปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องจนถึงต้นปีนี้ จากนั้น คาดว่าธนาคารพาณิชย์คงจะรอดูสถานการณ์ภาพรวมเศรษฐกิจและฐานะสภาพคล่องของตน ก่อนที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นตามมาในระยะข้างหน้า ซึ่งจากการกระจายตัวของปริมาณสภาพคล่องที่ยังมีความไม่เท่าเทียมกันอยู่ในระหว่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ทำให้คาดว่ากลุ่มธนาคารที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องเหลืออยู่ในจำนวนมากกว่าอาจสามารถยืดระยะเวลาการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักของตนออกไปได้นานกว่ากลุ่มธนาคารที่มีสินทรัพย์สภาพคล่องน้อยกว่า

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลัก (อัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และประจำ 3 เดือน ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยของฐานเงินฝากส่วนใหญ่) ของกลุ่มธนาคารเอกชนขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องเหลืออยู่มากนั้น อาจจะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ในขณะที่ ขนาดการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลักตลอดปี 2548 คาดว่าไม่น่าจะมากไปกว่า 0.75-1.0% ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท.อาจขยับขึ้นไปอยู่ที่ 2.75-3.0% ณ ปลายปี 2548 จากระดับปัจจุบันที่อยู่ที่ 2.0%