ตลาดเหล็กปี 2005 : เติบโตต่อเนื่อง…ผันผวนน้อยลง

ภาวะตลาดและราคาเหล็กของโลกในปี 2004 ที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างยิ่ง ภาวะตึงตัวของตลาดเหล็กได้ทำให้ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กประเภทต่างๆในตลาดโลกพุ่งทะยานสูงขึ้นอย่างมาก อาทิ ราคาเหล็กรีดร้อน/เหล็กรีดเย็น ณ ปลายปี 2004 พุ่งสูงขึ้นประมาณร้อยละ 70-80 เทียบกับระดับราคาเมื่อปลายปี 2003 ในขณะที่ราคาเหล็กเส้น/เหล็กโครงสร้างรูปพรรณสูงขึ้นประมาณร้อยละ 55-60 ทั้งนี้การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกและโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของประเทศจีนในอัตรากว่าร้อยละ 9 ต่อปี นับเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ได้กระตุ้นให้ความต้องการใช้เหล็กของโลกเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคเหล็กมากที่สุดในโลกด้วยปริมาณกว่า 263 ล้านเมตริกตันในปี 2004 หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของความต้องการของโลก

ทั้งนี้ความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนและการขยายตัวอย่างรวดเร็วในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคการก่อสร้าง ได้ส่งผลให้ความต้องการเหล็กในจีนเพิ่มขึ้นอย่างมากทั้งเพื่อใช้ในการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ ตลอดจนโครงการก่อสร้างสนามกีฬาที่จะใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2008 รวมทั้งเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมนานาประเภท ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ทำให้จีนต้องเร่งการผลิตเหล็กตลอดจนเพิ่มการนำเข้าเหล็กเป็นจำนวนมากจากต่างประเทศ

ปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลก(ล้านเมตริกตัน)
ประเทศ / กลุ่มประเทศ ปี 2003 ปี 2004 ปี 2005
(คาดการณ์)
สหภาพยุโรป 25 ประเทศ 158.8 (1.3%) 164.1 (3.3%) 167.9 (2.3%)
ประเทศยุโรปอื่นๆ 23.6 (16.4%) 25.1 (6.4%) 26.8 (6.8%)
กลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต 44.2 (13.3%) 45.4 (2.7%) 47.8 (5.3%)
กลุ่ม NAFTA ในอเมริกาเหนือ 133.5 (-1.6%) 145.8 (9.2%) 150.2 (3.0%)
อเมริกากลาง/ อเมริกาใต้ 28.2 (2.6%) 32.4 (14.9%) 34.2 (5.6%)
แอฟริกา/ ตะวันออกกลาง 42.4 (1.04%) 44.9 (5.9%) 46.6 (3.8%)
จีน 232.4 (24.4%) 263.0 (13.2%) 290.0 (10.3%)
ญี่ปุ่น 73.4 (2.9%) 76.8 (4.6%) 76.9 (0.1%)
ประเทศอื่นๆในเอเชีย 146.1 (3.1%) 152.5 (4.4%) 157.4 (3.2%)

รวมทั้งโลก
882.6 (7.5%)
950.1 (7.6%)
997.8 (5.0%)
หมายเหตุ : ตัวเลขในวงเล็บคือร้อยละของการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อนหน้า รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ที่มา : International Iron and Steel Institute (IISI) MEPS (International) Ltd., UK

สำหรับในปี 2005 นี้ คาดว่าความต้องการเหล็กของโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าระหว่างประเทศ (International Iron and Steel Institute : IISI) ได้คาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคเหล็กของโลกในปี 2005 จะขยายตัวในอัตราประมาณร้อยละ 5 จากปี 2004 โดยที่จีนจะยังคงเป็นผู้บริโภคเหล็กรายใหญ่ที่สุดของโลก(ดูตารางประกอบ) คือประมาณ 290 ล้านเมตริกตัน อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวในปีนี้จะชะลอตัวลงจากปี 2003-2004 ที่ผ่านมาซึ่งปริมาณความต้องการใช้เหล็กของโลกได้เพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-7.6 ต่อปี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่าความต้องการเหล็กของโลกในปี 2005 นี้ แม้จะยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่จะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอลงจากปี 2004 ด้วยปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นโยบายชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งที่ส่งผลต่อภาวะตลาดเหล็กของโลก ทั้งนี้จากการที่ปัจจุบันประเทศจีนเป็นตลาดที่มีปริมาณการบริโภคเหล็กสูงที่สุดในโลก คือเกือบร้อยละ 28 ของความต้องการรวมทั้งโลกในปี 2004 ดังนั้นปัจจัยใดๆที่คาดว่าจะมีผลกระทบต่อระดับการบริโภคของจีนโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศมาตรการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนเมื่อปีที่แล้ว จึงได้ส่งผลกระทบต่อภาวะตลาดและราคาเหล็กระหว่างประเทศ ดังจะเห็นได้จากการอ่อนตัวลงของราคาผลิตภัณฑ์เหล็กในช่วงครึ่งหลังของปี 2004 หลังการประกาศมาตรการดังกล่าว เทียบกับก่อนหน้านั้นที่ราคาผลิตภัณฑ์เหล็กได้พุ่งทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ตัวอย่างเช่น ราคาเหล็กรีดร้อนและเหล็กลวดในตลาดเอเชียซึ่งได้พุ่งทะยานสูงขึ้นกว่าร้อยละ 30-40 ในเดือนมีนาคม-เมษายนปี 2004 จากระดับราคาเมื่อปลายปี 2003 กลับอ่อนตัวลงมาอย่างรวดเร็วในช่วงกลางปี 2004 หลังการประกาศมาตรการชะลอความร้อนแรงทางเศรษฐกิจของจีนซึ่งรวมไปถึงการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินและการควบคุมการลงทุนในประเทศมิให้ขยายตัวมากเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมบางประเภท ทั้งนี้เชื่อว่าผลต่อเนื่องจากมาตรการดังกล่าวต่อการชะลอความต้องการเหล็กของจีนน่าจะชัดเจนขึ้นในปี 2005 จึงคาดว่าปริมาณความต้องการใช้เหล็กของจีนในปี 2005 จะเพิ่มขึ้นในอัตราประมาณร้อยละ 10 เทียบกับร้อยละ 24.4 และร้อยละ 13.2 ในปี 2003 และ 2004 ตามลำดับ

2. ความต้องการเหล็กของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงปี 2004 นั้น นอกจากจะเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 9 ต่อปีแล้ว ส่วนหนึ่งยังเป็นผลจากการเก็งกำไรและความกังวลว่าจะเกิดภาวะขาดแคลนเหล็กในตลาดโลก ทำให้พ่อค้าเหล็กมีการกักตุนเหล็กจนเกิดภาวะอุปสงค์เหล็กที่เพิ่มสูงขึ้นมากผิดปกติหรือสูงกว่าปริมาณความต้องการที่ใช้จริง ราคาเหล็กในตลาดโลกจึงได้ทะยานพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น ความผันผวนอย่างมากของราคาเหล็กนี้ ยิ่งทำให้เกิดภาวะตื่นตระหนกในตลาดเหล็กระหว่างประเทศ รวมทั้งการเก็งกำไรและการกักตุนสต็อกเหล็ก อย่างไรก็ตามเมื่อความตื่นตระหนกบรรเทาลงในเวลาต่อมาและราคาเหล็กเริ่มทรงตัว ทำให้พ่อค้าบางส่วนที่มีการเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาเหล็ก เกรงว่าจะประสบการขาดทุนจึงทยอยระบายเหล็กออกสู่ตลาดตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2004 ทั้งนี้สำหรับในปี 2005 นี้ เนื่องจากการคาดการณ์โดยทั่วไปว่าความต้องการใช้เหล็กของโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงจากปีที่แล้ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเหล็กขาดแคลน ภาวะการกักตุน ตลอดจนการเก็งกำไรจากตลาดเหล็กระหว่างประเทศผ่อนคลายลงในปีนี้ ทำให้อุปสงค์ของเหล็กในตลาดจะสะท้อนถึงความต้องการใช้ที่แท้จริงมากขึ้น

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงมีความเห็นว่า จากการชะลอความร้อนแรงลงของความต้องการเหล็กในจีน ประกอบกับการเก็งกำไรจากความผันผวนของราคาเหล็กในตลาดระหว่างประเทศที่จะลดลง ย่อมจะบรรเทาแรงกดดันต่ออุปสงค์เหล็กและราคาเหล็กในตลาดโลกในปี 2005 นี้ให้ผ่อนคลายและลดความผันผวนลง แม้ว่าราคาของผลิตภัณฑ์เหล็กหลายประเภทจะยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์เหล็กคุณภาพสูงๆที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่มีการเติบโต อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ต้นทุนราคาน้ำมันและค่าระวางขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นก็จะยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดราคาเหล็กด้วย

นอกจากการคาดการณ์ภาวะตลาดเหล็กในปี 2005 แล้ว ยังได้มีการคาดการณ์1.ถึงแนวโน้มปริมาณความต้องการเหล็กของโลกในช่วง 3-4 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจะขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างทรงตัวไม่หวือหวาเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา คือจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละประมาณร้อยละ 2.2 ระหว่างปี 2005 ถึง 2008 เทียบกับที่เคยขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.23 ต่อปีในช่วงปี 2002-2004 ทั้งนี้ปริมาณความต้องการเหล็กของจีนจะยังคงเป็นปัจจัยหลักที่จะกำหนดภาวะอุปสงค์ในตลาดเหล็กของโลก คาดว่าความต้องการเหล็กของจีนระหว่างปี 2005-2008 จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปีเท่านั้น เทียบกับที่เคยเพิ่มขึ้นในอัตราเฉลี่ยสูงเกือบร้อยละ 19 ต่อปี ในช่วงระหว่างปี 2002-2004 ในขณะที่ความต้องการเหล็กของจีนและของโลกที่คาดว่าจะลดความร้อนแรงลง อุปทานเหล็กของโลกจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลพวงจากความต้องการและราคาเหล็กที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมาได้จูงใจให้ผู้ผลิตในหลายประเทศต่างมีการเร่งขยายกำลังการผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับปรุงโครงสร้างอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นใน

1. Global Iron & Steel Production to 2008 โดย MEPS (International) Ltd., UK และ Global Steel Outlook โดย International Iron and Steel Institute

ลักษณะครบวงจร โดยจะมีการพัฒนาโรงงานผลิตเหล็กคุณภาพสูงที่ใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งปัจจุบันจีนยังต้องมีการนำเข้าเหล็กประเภทนี้อยู่เป็นจำนวนมาก รวมไปถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำหรือการจัดตั้งโรงถลุงเหล็กที่ทันสมัย เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบเหล็ก และขณะนี้ก็ปรากฏว่าได้มีบรรดาผู้ผลิตเหล็กรายใหญ่ของโลกมีความสนใจเข้าร่วมลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กของจีน ไม่ว่าจะเป็น Nippon Steel ของญี่ปุ่น, Arcelor ของยุโรป, Mittal Steel ของอินเดีย, และ POSCO ของเกาหลีใต้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้กำลังการผลิตเหล็กของจีนขยายตัวมากในช่วง 3-4 ปีข้างหน้านี้ คาดว่าในปี 2008 ปริมาณการผลิตเหล็กของจีนจะเกินระดับ 300 ล้านตัน หรือเติบโตกว่าร้อยละ 20 จากปริมาณการผลิต 250 ล้านตันในปี 2004 ที่ผ่านมา ปริมาณการผลิตของจีนที่ทยอยเพิ่มขึ้นนี้จะค่อยๆ ไล่ทันปริมาณความต้องการ ยังผลให้ภาพรวมอุปทานเหล็กของโลกในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง และภาวะตลาดเหล็กของโลกจะค่อยๆ คลายตัวเป็นลำดับ ไม่ตึงตัวดังเช่นปัจจุบัน

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์ตลาดเหล็กโลกได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดเหล็กในประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าเหล็กจากตลาดโลกปีละหลายล้านเมตริกตันเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆรวมทั้งในภาคการก่อสร้าง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจไทยมีการฟื้นตัว จึงทำให้ปริมาณความต้องการใช้เหล็กมีเพิ่มมากขึ้น โดยเหล็กที่นำเข้ามีทั้งเหล็กวัตถุดิบอย่างเศษเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป/ สำเร็จรูปหลายประเภท อาทิ เหล็กแท่งยาว(Billet) เหล็กแท่งแบน(Slab) เหล็กแผ่นรีดร้อน-รีดเย็น และเหล็กแผ่นเคลือบชนิดต่างๆ ทั้งนี้สถานการณ์เหล็กในตลาดโลกในปีที่แล้วได้ส่งผลกระทบต่อตลาดเหล็กในประเทศไทยทำให้เกิดภาวะตึงตัวตามไปด้วย และราคาเหล็กในประเทศมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยในระหว่างปี 2004 ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้อนุมัติให้มีการปรับขึ้นราคาผลิตภัณฑ์เหล็กบางประเภทได้บ้างโดยเฉพาะเหล็กแผ่นรีดร้อน แต่ก็มิให้ราคาสูงเกินไปจนกระทบต่อภาคเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมโดยรวม ในขณะเดียวกันก็มีการประกาศราคากลางเหล็กเส้นและตรวจสอบปริมาณสต็อกเหล็กและการซื้อขายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อมิให้มีการกักตุนและป้องกันการขาดแคลนเหล็ก

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าภาวะตึงตัวของตลาดเหล็กในประเทศที่ได้สร้างความผันผวนด้านราคาและอุปทานเหล็กเป็นอย่างมากในปี 2004 ที่ผ่านมานั้น จะบรรเทาลงในปี 2005 นี้ ทั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์เหล็กในตลาดโลกที่จะผ่อนคลายลงดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับการขยายกำลังการผลิตหรือเพิ่มการผลิตของโรงงานเหล็กใหญ่ๆ ในประเทศหลายราย ที่จะมาช่วยเพิ่มอุปทานเหล็กในประเทศได้เช่นกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงเห็นว่าแม้ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิจะทำให้ความต้องการเหล็กในการก่อสร้างหรือซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เสียหายในเขตจังหวัดภาคใต้เพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ก็คาดว่าอุปทานเหล็กที่จะเพิ่มขึ้นในตลาดจะสามารถรองรับความต้องการที่สูงขึ้นได้ จึงคาดว่าสถานการณ์ของตลาดเหล็กในประเทศไทยปี 2005 นี้ จะลดความผันผวนลงและมีเสถียรภาพดีกว่าปีที่แล้วเช่นเดียวกับในตลาดโลก