การออมของไทย … อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับการลงทุนในอนาคต

จากการที่มองว่าการลงทุนของภาคเอกชนไทย น่าที่จะยังมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอนาคตข้างหน้า อันเป็นผลจากการปรับเพิ่มของอัตราการใช้กำลังการผลิต (Capacity Utilization) ในภาคอุตสาหกรรม ในขณะที่ภาครัฐเองก็มีแผนการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือ Mega Projects โดยมูลค่าการลงทุนเฉลี่ยของโครงการต่างๆ ดังกล่าวระหว่างปี 2548-2551 อาจจะสูงถึงปีละ 3.77 แสนล้านบาทนั้น ทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาในเรื่องของแหล่งที่มาของเงินลงทุน ตลอดจนความเพียงพอของเงินออมในระบบเศรษฐกิจไทย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงได้ทำการวิเคราะห์ในเรื่องแนวโน้มการออมและการลงทุนของเศรษฐกิจไทย โดยสรุปได้ ดังต่อไปนี้ :-

– ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา การลงทุนนับได้ว่าเป็นแรงผลักดันสำคัญแรงหนึ่ง นอกเหนือจากการส่งออกและการฟื้นตัวของการบริโภค ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถกลับมาขยายตัวขึ้นได้ โดยในระหว่างช่วงปี 2542-2547 ที่ผ่านมา การลงทุน (รวมรายการเปลี่ยนแปลงของสินค้าคงคลัง) มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยที่ 10.0% เทียบกับอัตราการขยายตัวเฉลี่ยของ GDP ที่อยู่ที่ 5.0% ในขณะที่สำหรับปี 2548 นี้ คาดว่า การลงทุนจะยังคงเป็นแรงหนุนหลักให้เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าการส่งออกและการบริโภคจะชะลอตัวลงก็ตาม

– ทั้งนี้ หากการขยายตัวของการลงทุนของภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างที่คาดในข้างต้นแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สัดส่วนของการลงทุนต่อ GDP อาจจะเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับ 28.3% ในปี 2548 และอาจขึ้นแตะระดับ 30.4% ต่อ GDP ในปี 2549 ในขณะที่สัดส่วนการออมต่อ GDP ค่อนข้างจะทรงตัวใกล้เคียงระดับ 31% ซึ่งแนวโน้มดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ การออมคงจะลดลงมาต่ำกว่าการลงทุน หลังจากที่เราได้เห็นสัดส่วนการลงทุนต่อ GDP อยู่ต่ำกว่าสัดส่วนการออมมาโดยตลอดนับตั้งแต่ปี 2541 หลังวิกฤติเศรษฐกิจที่ผ่านมา

– และเมื่อพิจารณามูลค่าที่เป็นตัวเงินของช่องว่างการออม-การลงทุน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณว่าช่องว่างการออม-การลงทุนดังกล่าว อาจจะปรับลดลงเหลือประมาณ 2.38 และ 1.09 แสนล้านบาทในปี 2548 และ 2549 ตามลำดับ จากที่อยู่ที่ประมาณ 3.00 แสนล้านบาทในปี 2547 และ 5.24 แสนล้านบาทในปี 2541 หลังวิกฤติเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ระดับช่องว่างการออม-การลงทุนที่อาจลดลงไปที่ระดับ 1.09 แสนล้านบาทในปี 2549 นั้น ก็ยังคงสูงกว่าที่เคยติดลบถึง 5.8 แสนล้านบาทในปี 2539 ก่อนที่ฟองสบู่จะแตก

– สำหรับในด้านการออมนั้น แม้ว่าสัดส่วนการออมรวมของระบบเศรษฐกิจไทยจะค่อนข้างทรงตัว แต่ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า สัดส่วนการออมของภาคครัวเรือนได้ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องหลังผ่านวิกฤติเศรษฐกิจเป็นต้นมา อันเป็นผลจากการขยายตัวของการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน เมื่อเศรษฐกิจได้เริ่มฟื้นตัวขึ้น โดยสัดส่วนดังกล่าวยังน่าที่จะมีแนวโน้มอยู่ในขาลงต่อเนื่องไปอีก จากการขยายตัวของหนี้ภาคครัวเรือน ทั้งนี้ ภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นย่อมจะทำให้ความสามารถในการออมของครัวเรือนลดต่ำลง

– จากผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคครัวเรือนมีระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 7.1 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 ซึ่งสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระดับหนี้สินเฉลี่ยต่อเดือนที่ 6.0 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนในปี 2545 โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของระดับหนี้สินที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของรายได้ ทั้งนี้ การก่อหนี้ของภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะยังคงมีอยู่ในระดับสูง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคตนั้น คงจะยิ่งส่งผลกดดันการชำระคืนหนี้ของภาคครัวเรือน รวมทั้งมีผลต่อแนวโน้มการออมของภาคครัวเรือนในระยะต่อไปด้วย

– อนึ่ง ช่องว่างการออมและการลงทุน (saving-investment gap) ที่มีแนวโน้มหดแคบลงจนอาจมีค่าติดลบในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ตามการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าการออมของระบบเศรษฐกิจนั้น ทำให้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยอาจจะมียอดการเกินดุลในระดับที่ทยอยลดลงจนอาจกลับมาขาดดุลได้ในปี 2550 หรือ 2551 นี้ (ทั้งนี้ จากบัญชีรายได้ประชาชาติ สามารถแสดงให้เห็นได้ว่า ฐานะการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดนั้น มีค่าเทียบเท่ากับผลต่างระหว่างการออมและการลงทุนของระบบเศรษฐกิจ) ซึ่งหมายความว่า เศรษฐกิจไทยอาจจะต้องหันกลับไปพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อที่จะชดเชยการลงทุนที่สูงกว่าเงินออมในระบบ เหมือนกับที่ได้เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้าวิกฤติเศรษฐกิจ

– อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า แนวทางการแก้ปัญหาการลดลงของช่องว่างการออมและการลงทุน คงจะได้แก่ การสนับสนุนให้มีการออมเพิ่มมากขึ้นทั้งในส่วนของภาครัฐและภาคเอกชน โดยล่าสุด ทั้งธปท.และกระทรวงการคลัง ก็มีดำริที่จะดำเนินนโยบายระดมเงินออม ดังจะเห็นได้จากแถลงการณ์ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2548 ที่ผ่านมา ที่ได้มีการระบุว่า ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงที่อยู่ในระดับต่ำเป็นสิ่งที่ควรดูแล และควรปรับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงยังคงติดลบต่อเนื่อง จะส่งผลให้หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นและการออมในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าที่ควร ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงเห็นว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นของไทยในปีนี้ น่าที่จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการออมเพิ่มขึ้น

ขณะที่ นอกเหนือจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. แล้ว บรรยากาศการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัว คงจะส่งผลให้ทิศทางค่าเงินบาทมีแนวโน้มปรับแข็งค่าขึ้นเช่นเดียวกัน ตามกลไกการปรับสมดุลเพื่อลดผลตอบแทนการลงทุนและทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจไม่ร้อนแรงจนเกินไป สำหรับทางด้านการคลังนั้น การเพิ่มประสิทธิภาพของการจัดเก็บภาษี และการขยายฐานภาษี ตามแนวทางของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวผ่านการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินที่เป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในประเทศประเภทเงินฝากประจำตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปสำหรับผู้มีเงินได้ที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี ในจำนวนรวมกันไม่เกิน 30,000 บาทตลอดปีภาษี ตลอดจน แนวคิดที่จะจัดตั้งกองทุนเงินออมกลาง* ที่คาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดและเสนอออกมาเป็นกฎหมายได้หลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่คาดว่าจะช่วยเพิ่มการออมของระบบเศรษฐกิจให้สามารถรองรับการลงทุนที่มีแนวโน้มขยายตัวในระยะข้างหน้าได้เช่นกัน

โดยสรุปแล้ว ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุน ทั้งของภาครัฐและเอกชน จะส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนอยู่สูงกว่าการออมในอีก 2-3 ปีข้างหน้า (นั่นคือในปี 2550 หรือ 2551) และดุลบัญชีเดินสะพัดของไทย ก็อาจจะกลับมาขาดดุลอีกครั้ง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น เศรษฐกิจไทยก็อาจจะต้องหันกลับไปพึ่งพิงเงินทุนจากต่างประเทศ เพื่อที่จะชดเชยการลงทุนที่สูงกว่าเงินออมในระบบ เหมือนกับที่ได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าวทำให้เห็นได้ว่า การเพิ่มอัตราการออมของระบบเศรษฐกิจไทยนั้นเป็นปัญหาเร่งด่วนในช่วง 1-2 ปีข้างหน้านี้ เพราะหากปล่อยไว้เนิ่นนานแล้วก็อาจจะสะสมจนกลายเป็นปัญหาเสถียรภาพอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีต โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อัตราดอกเบี้ยในระบบ ที่นำโดยอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรของ ธปท. นั้น อาจยังควรที่จะต้องปรับตัวสูงขึ้นไปอีก เพื่อที่จะช่วยชะลอการขยายตัวของการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจและกระตุ้นการออม ในขณะเดียวกัน ค่าเงินบาทก็ยังน่าที่จะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น เพื่อช่วยลดความร้อนแรงของการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาครัฐเองก็อาจจะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการรักษาวินัยทางการคลัง ซึ่งอาจรวมไปถึงการพิจารณาทบทวนแผนการลงทุนขนาดใหญ่ต่างๆ ว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว นอกเหนือไปจากการพิจารณาออกมาตรการส่งเสริมการออมต่างๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นมาตรการที่มีความจำเป็นทั้งสิ้น