ทิศทางอ้อยและน้ำตาลปี’48: ยังคงเผชิญปัจจัยเสี่ยง

ในปี 2548 อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อรายได้และต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางด้านผลผลิตอ้อยที่คาดว่าจะมีเพียงประมาณ 55 ล้านตันลดลงเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าซึ่งมีผลผลิตอ้อย 64.48 ล้านตันอันเป็นผลจากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศส่งผลให้ชาวไร่อ้อยทั้งระบบสูญเสียรายได้ไปประมาณ 3,300 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีการผลิตที่ผ่านมา ในขณะที่มีผลผลิตน้ำตาลเพื่อการส่งออกเพียง 3.8 ล้านตันลดลงเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งส่งออกน้ำตาลได้ประมาณ 4.66 ล้านตัน

นอกจากนี้ปัจจัยทางด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปี 2548 กระทบต่อรายได้จากการส่งออกน้ำตาลในรูปเงินบาทลดลงประมาณ 1,275 ล้านบาท ประการสำคัญผลจากการที่ภาครัฐมีแผนที่จะปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศให้สอดคล้องกับราคาตลาดโลกในช่วงปลายไตรมาสแรกของปี 2548 ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งอ้อยจากพื้นที่เพาะปลูกเข้าโรงงานรวมทั้งต้นทุนขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะเผชิญปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้น แต่เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้ภาครัฐกำหนดราคาอ้อยขั้นต้นปีการผลิต 2547/48 ไว้ที่ระดับ 620 บาทต่อตันซึ่งสูงกว่าปีการผลิตก่อนหน้าซึ่งราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 465 บาทต่อตันอ้อยช่วยให้ชาวไร่อ้อยลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงดังที่กล่าวข้างต้นได้ระดับหนึ่ง

สำหรับปัจจัยเสี่ยงของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายในปีการผลิต 2547/48 มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อรายได้

– ผลผลิตอ้อยลด ในฤดูการผลิตปี 2547/48 คาดว่าผลผลิตอ้อยของไทยจะอยู่ที่ประมาณ 55 ล้านตัน ซึ่งผลผลิตดังกล่าวลดต่ำลงเมื่อเทียบกับปีการผลิต 2546/47 ซึ่งมีผลผลิตอ้อยทั้งสิ้นประมาณ 64.48 ล้านตัน ทั้งนี้เป็นผลมาจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ และจากปริมาณอ้อยที่ลดลงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลดังนี้

รายได้ของชาวไร่อ้อยทั้งระบบปรับตัวลดลง ทั้งนี้จากการคำนวณในปีการผลิตที่ผ่านมารายได้ของเกษตรกรชาวไร่อ้อยทั้งระบบมีทั้งสิ้นประมาณ 37,400 ล้านบาท(คำนวณจากปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 64.48 ล้านตันราคาอ้อยที่ได้รับอยู่ที่ 580 บาทต่อตัน)ในขณะที่รายได้ของชาวไร่อ้อยทั้งระบบในปีการผลิตปัจจุบันมีทั้งสิ้นประมาณ 34,100 ล้านบาท((คำนวณจากปริมาณอ้อยเข้าหีบประมาณ 55 ล้านตันราคาอ้อยที่ได้รับอยู่ที่ 620 บาทต่อตัน) ดังนั้นชาวไร่อ้อยทั้งระบบสูญเสียรายได้ไปคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,300 ล้านบาทเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้า

โรงงานใช้กำลังการผลิตไม่เต็มประสิทธิภาพ ปัจจุบันโรงงานน้ำตาล 46 แห่งทั่วประเทศมีกำลังการหีบอ้อยที่ได้รับอนุญาตเฉลี่ยประมาณ 628,404 ตันต่อวัน โดยในฤดูการผลิตที่ผ่านมามีปริมาณอ้อยทั้งสิ้น 64.48 ล้านตันโรงงานน้ำตาลใช้เวลาในการหีบอ้อยเฉลี่ย 115 วัน สำหรับในปีการผลิตล่าสุดนี้จากผลผลิตอ้อยประมาณ 55 ล้านตันคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 90-100 วันก็สามารถหีบอ้อยได้หมด ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลใช้ประสิทธิภาพการผลิตได้ไม่เต็มที่ซึ่งส่งผลไปถึงต้นทุนการผลิตน้ำตาลต่อหน่วยที่สูงขึ้น
ปริมาณการส่งออกน้ำตาลลดลง จากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศส่งผลให้ผลผลิตน้ำตาลในปี 2548 คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 5.8 ล้านตัน ในขณะที่ปริมาณการบริโภคน้ำตาลในประเทศอยู่ที่ระดับ 2 ล้านตัน ดังนั้นจึงมีน้ำตาลเหลือเพื่อการส่งออกเพียงประมาณ 3.8 ล้านตันคิดเป็นมูลค่าประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯลดลงเมื่อเทียบกับปี 2547 ที่ผ่านมาซึ่งมีปริมาณส่งออกน้ำตาลทั้งสิ้น 4.66 ล้านตันมูลค่า 826.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

– เงินบาทแข็งค่า เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2547 เป็นต้นมาต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ทั้งนี้คาดว่าเงินบาทจะแข็งค่าจากระดับเฉลี่ย 40.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2547 มาอยู่ที่ระดับเฉลี่ยประมาณ 38.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในปี 2548 ซึ่งจากปัจจัยทางด้านเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นนี้จะทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลของไทยเมื่อทอนกลับมาเป็นเงินบาทลดลงจากในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า ทั้งนี้คาดว่าการส่งออกน้ำตาลไปต่างประเทศในปี 2548 จะมีทั้งสิ้นประมาณ 750 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯดังนั้นเงินบาทของไทยที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯจะทำให้รายได้จากการส่งออกน้ำตาลหายไปประมาณ 750 ล้านบาท ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบไปถึงราคาอ้อยขั้นสุดท้ายในช่วงปลายปีที่ต้องคำนวณรายได้จากการจำหน่ายน้ำตาลในประเทศรวมกับรายได้จากการส่งออกน้ำตาลมาเฉลี่ยกับปริมาณอ้อยทั้งหมด

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อค่าใช้จ่าย

– ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่ม ในปี 2548 ภาครัฐมีนโยบายที่จะปรับขึ้นราคาจำหน่ายน้ำมันดีเซลในประเทศให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกภายหลังจากที่ภาครัฐได้เข้ามาพยุงราคาน้ำมันตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ซึ่งปัจจัยดังกล่าวกระทบต่อต้นทุนของภาคอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลสองส่วนใหญ่ๆดังนี้

ต้นทุนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงาน การขนส่งอ้อยจากพื้นที่เพาะปลูกเข้าโรงงานจะมีการใช้ยานพาหนะหลายประเภทแล้วแต่สภาพพื้นที่เช่นรถบรรทุกหกล้อ รถบรรทุกสิบล้อ รถเทลเลอร์พ่วงท้ายรถแทกเตอร์ เป็นต้น แต่โดยปกติที่ชาวไร่อ้อยนิยมคือรถบรรทุกสิบล้อที่สามารถบรรทุกน้ำหนักได้ครั้งละมากๆ ทั้งนี้ต้นทุนค่าขนส่งอ้อยอยู่ที่ประมาณ 108.76 บาทต่อตันคิดเป็นร้อยละ 17.9 ของต้นทุนการผลิตอ้อยรวม ดังนั้นหากราคาน้ำมันดีเซลมีการปรับขึ้นก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งอ้อยจากไร่เข้าโรงงานซึ่งมีระยะทางเฉลี่ยประมาณ 52 กิโลเมตร อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับขึ้นจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการขนส่งอ้อยเข้าโรงงานมากน้อยเพียงใดก็ขึ้นอยู่กับว่าภาครัฐจะเลือกปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลในช่วงเวลาใด ทั้งนี้เนื่องจากโดยปกติ โรงงานน้ำตาลจะเริ่มต้นหีบอ้อยในช่วงประมาณตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนไปสิ้นสุดประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคมแล้วแต่ปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละปีว่ามีมากน้อยเพียงใด แต่เนื่องจากปีนี้ปริมาณผลผลิตอ้อยลดลงคาดว่าการหีบอ้อยจะสิ้นสุดลงเร็วกว่าปีก่อนๆคือเดือนมีนาคมเท่านั้น ดังนั้นหากภาครัฐเลือกปรับราคาน้ำมันดีเซลในช่วงใกล้ปิดหีบอ้อยก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าขนส่งอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลมากนัก

ต้นทุนการขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปท่าเรือส่งออก การขนส่งน้ำตาลจากโรงงานน้ำตาลไปยังท่าเรือส่งออกจะกระทำตลอดทั้งปี ทั้งนี้ค่าขนส่งน้ำตาลจากโรงงานไปยังท่าเรือส่งออกอยู่ที่ประมาณ 32-35 บาทต่อกระสอบ(100 กิโลกรัม) ดังนั้นการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลจึงส่งผลต่อต้นทุนการขนส่งอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในปี 2548 เกษตรกรชาวไร่อ้อยต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่ส่งผลกระทบทางด้านรายได้และต้นทุนการผลิต แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นที่ภาครัฐกำหนดในฤดูการผลิตปี 2547/48 ที่อยู่ในระดับ 620 บาทต่อตันอ้อย ซึ่งนับว่าอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปีการผลิตก่อนหน้าที่ราคาอ้อยขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 465 บาทต่อตันอ้อยรวมทั้งสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้ายซึ่งภาครัฐช่วยเหลือให้อยู่ที่ระดับ 580 บาทต่อตันอ้อยด้วยเช่นกันซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่ชาวไร่อ้อยได้รับในปีนี้ลงได้ส่วนหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าอุตสากรรมอ้อยและน้ำตาลก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วงนั่นคือภาระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอันเป็นผลจากการที่ต้องเข้ามาพยุงราคาอ้อยไม่ให้ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมานับตั้งแต่ปีการผลิต 2541/42-2542/43 และปี 2545/46-2546/47 ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนี้เงินกู้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรรวมเงินต้นและดอกเบี้ย 18,919.93 ล้านบาท โดยหนี้ดังกล่าวมีกำหนดชำระตั้งแต่ปี 2548-2555 ในขณะเดียวกัน จากการที่ภาครัฐได้มีการตั้งราคาอ้อยขั้นต้นในฤดูการผลิตปี 2547/48 ไว้ในระดับสูงถึง 620 บาทต่อตันเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายต้องกู้เงินเพิ่มหากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายคำนวณออกมาแล้วต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้น ซึ่งตามพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 กำหนดไว้ว่าในกรณีที่ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นเป็นภาระของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายที่จะจ่ายเงินชดเชยให้แก่โรงงานเท่ากับส่วนต่างดังกล่าวแทนชาวไร่อ้อย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายมีภาระหนักในการบริหารหนี้จำนวนดังกล่าวในอนาคต

กล่าวโดยสรุปแล้ว ในปีการผลิต 2547/48 แม้ว่าอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายจะได้รับผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการอาทิ ปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลทำให้ผลผลิตอ้อยลดต่ำลง ปัญหาต้นทุนค่าขนส่งอ้อยและน้ำตาลที่ปรับตัวสูงขึ้นจากการที่ภาครัฐมีแผนที่จะปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล แต่ชาวไร่อ้อยก็ได้รับผลดีจากการที่ราคาอ้อยในประเทศปรับเพิ่มขึ้นตามปัจจัยทางด้านราคาน้ำตาลในตลาดโลก ดังนั้นจึงคาดว่าปัญหาการชุมนุมประท้วงของชาวไร่อ้อยในปี 2548 คงจะบรรเทาเบาบางลง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะเป็นปัญหาของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลนั่นคือหนี้เงินกู้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายซึ่งปัจจุบันมีหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูง ซึ่งหนี้ดังกล่าวถือเป็นภาระที่ค่อนข้างหนักสำหรับภาครัฐรวมทั้งอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในการบริหารจัดการหนี้ที่มีอยู่ให้หมดไปในระยะเวลาอันสั้นได้