คนไทยทำบุญ : เม็ดเงินสะพัด 3,300 ล้านบาท…หลากธุรกิจรับทรัพย์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการทำบุญของคนไทย” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,291 คน โดยเป็นการสำรวจเชิงคุณภาพในระหว่างวันที่ 1-13 กุมภาพันธ์ 2548 การสำรวจครั้งนี้กระจายกลุ่มตัวอย่างตามภาค โดยแยกตามสัดส่วนของจำนวนประชากรของแต่ละภาค และกระจายตามอายุและเพศ โดยการกระจายอายุและเพศของกลุ่มตัวอย่างเป็นไปตามสัดส่วนอายุของประชากรในแต่ละภาคตามสถิติประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่าอายุและเพศเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการทำบุญนั้นแตกต่างกัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่าพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญในแต่ละปีสูงถึง 3,300 ล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการไปทำบุญแต่ละครั้ง และความถี่ในการไปทำบุญของคนไทยในแต่ละภาค ซึ่งเม็ดเงินสะพัดนั้นกระจายไปตามธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับประเภทของการทำบุญ

ธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยนั้นมีหลากหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านจำหน่ายอาหารทั้งอาหารคาว-หวาน รวมไปถึงร้านจำหน่ายผลไม้และขนมนานาชนิด สำหรับผู้ที่ต้องการใส่บาตร หรือนำอาหารไปถวายพระ ร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ รวมไปถึงกิจการรถเช่าสำหรับไปทอดกฐิน/ผ้าป่า หรือทัวร์วัด กิจการจำหน่ายสัตว์นานาชนิดสำหรับผู้ต้องการปล่อยสัตว์เพื่อสะเดาะเคราะห์ ซึ่งเม็ดเงินที่สะพัดในธุรกิจเหล่านี้คำนวณได้จากสัดส่วนของประเภทการทำบุญของคนไทย

เม็ดเงินสะพัด 3,300 ล้านบาท…ภาคตะวันออกเฉียงเหนือครองแชมป์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจ “พฤติกรรมการทำบุญของคนไทย” สามารถคำนวณเม็ดเงินสะพัดจากพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยแยกรายภาคได้ดังนี้

เม็ดเงินทำบุญสะพัดแยกรายภาค
ภาค ค่าใช้จ่ายเฉลี่ย
(บาทต่อคนต่อปี) เม็ดเงินสะพัด
(ล้านบาท)
กรุงเทพฯและปริมณฑล 1,512 760
ภาคกลาง 1,032 750
ภาคเหนือ 672 550
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 492 1,100
ภาคใต้ 516 160
เฉลี่ยทั้งประเทศ 804 3,300

ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จะเห็นได้ว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการทำบุญของไทยเท่ากับ 804 บาทต่อคนต่อปี ซึ่งประเมินเป็นเม็ดเงินสะพัดได้ประมาณ 3,300 ล้านบาท โดยคำนวณจากค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีและความถี่ในการไปทำบุญในแต่ละปี ซึ่งเมื่อพิจารณาแยกรายภาคแล้วคนกรุงเทพฯและปริมณฑลเป็นแชมป์ในแง่ของค่าใช้จ่ายในการทำบุญเฉลี่ยต่อคนสูงที่สุด โดยมีค่าใช้จ่ายในการทำบุญเฉลี่ย 1,512 บาทต่อคนต่อปี รองลงมาคือภาคกลาง 1,032 บาทต่อคนต่อปี ภาคเหนือ 672 บาทต่อคนต่อปี ภาคใต้ 516 บาทต่อคนต่อปี และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 492 บาทต่อคนต่อปี อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาเม็ดเงินสะพัดในการทำบุญในแต่ละภาคซึ่งคำนวณจากกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่าจะไปทำบุญ และความถี่ในการไปทำบุญของกลุ่มตัวอย่างแล้ว ปรากฏว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเม็ดเงินสะพัดจากพฤติกรรมการทำบุญมากเป็นอันดับหนึ่ง คือ 1,100 ล้านบาท แม้ว่ากลุ่มตัวอย่างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือระบุว่ามีค่าใช้จ่ายในการทำบุญต่อคนอยู่ในระดับต่ำ แต่ในจำนวนกลุ่มตัวอย่างมีความถี่ในการทำบุญมากกว่าภาคอื่นๆ รองลงมาคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล 760 ล้านบาท ภาคกลาง 750 ล้านบาท ภาคเหนือ 550 ล้านบาท และภาคใต้ 160 ล้านบาท

หลากธุรกิจรับทรัพย์…ธุรกิจจำหน่ายอาหารและร้านสังฆภัณฑ์

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยพบว่ามีหลากธุรกิจได้รับอานิสงส์ โดยในแต่ละภาคนั้นแต่ละธุรกิจจะได้รับอานิสงส์มากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับประเภทของการทำบุญของคนไทยแต่ละภาค ดังนี้

เงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญแยกรายภาค
ล้านบาท
กรุงเทพฯและปริมณฑล กลาง เหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ ใต้ เฉลี่ยทั้งประเทศ
ใส่บาตร 160.36 159.00 143.55 262.90 37.60 742.50
ถวายสังฆทาน 153.52 163.5 102.85 227.70 25.60 656.70
กฐิน/ผ้าป่า 101.08 113.25 110.55 173.80 21.76 495.00
บริจาคเงิน 114.00 72.00 69.85 143.00 25.60 432.30
บริจาคสิ่งของ 46.36 33.75 20.35 47.30 9.92 168.30
ปล่อยสัตว์มีชีวิต 39.52 50.25 20.90 36.30 6.88 165.00
สะเดาะเคราะห์ 24.32 36.00 16.50 59.4 6.88 135.30
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

จะเห็นได้ว่าคนไทยทำบุญหลากหลายประเภท โดยประเภทของการทำบุญยอดนิยม 3 อันดับแรก คือ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน และทอดกฐิน/ผ้าป่า ซึ่งก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจดังนี้

– การใส่บาตร
พฤติกรรมในการใส่บาตรของคนไทยส่วนใหญ่ยังคงเน้นความสะดวกเป็นสำคัญ และจะใส่บาตรในวันพระและเทศกาลวันสำคัญเป็นส่วนใหญ่ โดยปริมาณการใส่บาตรเฉลี่ยเหลือเพียง 1-3 รูป จากการสำรวจพบว่าคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใส่บาตรในแต่ละปีประมาณ 740 ล้านบาท การใส่บาตรของคนไทยนั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจจำหน่ายอาหารไม่ว่าจะเป็นร้านจำหน่ายอาหารทั้งอาหารคาว-หวาน รวมไปถึงร้านจำหน่ายผลไม้และขนมนานาชนิด สำหรับผู้ที่ต้องการใส่บาตร

– ถวายสังฆทาน
คนกรุงเทพฯนิยมถวายสังฆทานเนื่องจากต้องการทำบุญในโอกาสวันเกิด วันสำคัญทางศาสนา และต้องการสะเดาะเคราะห์ โดยค่าใช้จ่ายในการถวายสังฆทานโดยเฉลี่ย 300-500 บาทต่อครั้ง และความถี่ในการถวายสังฆทานประมาณปีละ 1 ครั้งเท่านั้น จากการสำรวจพบว่าคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจเครื่องสังฆทานถึงปีละ 660 ล้านบาท ซึ่งที่ได้รับอานิสงส์คือ บรรดาร้านจำหน่ายเครื่องสังฆภัณฑ์ หรือร้านค้าปลีกต่างๆที่มีการจัดชุดสังฆทาน ตลอดจนเครื่องกระป๋อง และอาหารแห้ง จำหน่ายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ที่ต้องการถวายสังฆทาน นอกจากนี้ผู้ที่ถวายสังฆทานบางครั้งจะมีการซื้ออาหารไปถวายพระด้วย ซึ่งธุรกิจที่ได้รับอานิสงส์ด้วยคือ ธุรกิจจำหน่ายอาหารไม่ว่าจะเป็นร้านจำหน่ายอาหารทั้งอาหารคาว-หวาน รวมไปถึงร้านจำหน่ายผลไม้และขนมนานาชนิด และร้านจำหน่ายดอกไม้ เนื่องจากผู้ที่ถวายสังฆทานจะมีการถวายดอกไม้สดหรือพวงมาลัยพร้อมกันด้วย

– ทอดกฐิน/ผ้าป่า
โดยจำนวนเงินที่ใส่ซองกฐิน/ผ้าป่าเฉลี่ย 100-200 บาท ซึ่งจำนวนซองกฐิน/ผ้าป่าที่ได้รับมีความแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละคน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอาชีพ และตำแหน่ง รวมทั้งรายได้ของแต่ละคนเป็นสำคัญ จากการสำรวจพบว่าคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการทอดกฐินและผ้าป่าถึงปีละ 495 ล้านบาท ซึ่งการทอดกฐิน/ผ้าป่านั้นนอกจากจะเป็นการสนับสนุนกิจการโรงพิมพ์แล้ว ยังทำให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในธุรกิจรถเช่าเพื่อนำกฐิน/ผ้าป่าไปถวายวัด รวมทั้งยังก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในอีกหลากหลายธุรกิจเมื่อแต่ละวัดนำเงินเหล่านั้นไปสร้างโบสถ์ ศาลาการเปรียญ เมรุ กุฎิ ฯลฯ ซึ่งธุรกิจเหล่านี้ยังได้รับอานิสงส์จากการบริจาคเงินให้วัดของคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างอีกถึงปีละ 430 ล้านบาท

วันสำคัญทางศาสนา…ปัจจัยที่คนไทยทำบุญ

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าปัจจัย 3 อันดับแรกที่ทำให้คนไทยไปทำบุญ คือ วันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของตนเองและครอบครัว และเทศกาลสำคัญ ดังนั้นจึงคาดหมายได้ว่าในช่วงวันมาฆบูชา ซึ่งเป็นวันสำคัญทางศาสนาวันหนึ่งจะมีคนไทยให้ความสำคัญกับการไปทำบุญเช่นเดิม เนื่องจากคนไทยยังคงให้ความสำคัญกับวันสำคัญทางศาสนา อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างตามช่วงอายุแล้วจะพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปจะให้ความสำคัญกับการไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาเป็นอันดับหนึ่ง และกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า 13 ปีก็ยังคงให้ความสำคัญกับการไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาเป็นอันดับหนึ่งเช่น ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากการติดตามครอบครัวไปทำบุญ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 13-19 ปีหรือกลุ่มวัยรุ่นนั้นระบุว่าไปทำบุญในวันสำคัญของตนเองและครอบครัวเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ เทศกาลสำคัญ และวันสำคัญทางศาสนา

จากการสำรวจพบว่านอกจากการทำบุญแล้วกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆที่คนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปฏิบัติ 3 อันดับแรก คือ การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ และการฟังเทศน์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆนอกจากการทำบุญ

พฤติกรรมการไปวัด…แตกต่างกันไปตามวัย

จากการสำรวจพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มีการสำรวจพฤติกรรมการไปวัดของคนไทยด้วย ซึ่งปรากฏว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

– ความถี่ในการไปวัด
คนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ระบุว่าจะไปวัด(ไม่นับรวมการไปงานศพ)ประมาณ 2-3 เดือนครั้ง อย่างไรก็ตามความถี่ของการไปวัดนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบแต่ละกลุ่มอายุแล้วพบว่ากลุ่มเยาวชนนั้นมีความถี่ในการไปวัดน้อยกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่จะไปวัดบ่อยขึ้นโดยจะไปวัดเฉลี่ยเดือนละครั้ง ส่วนกลุ่มที่อายุระหว่าง 20-40 ปีส่วนใหญ่จะไปวัด 2-3 เดือนครั้ง กลุ่มอายุ 13-19 ปีส่วนใหญ่จะไปวัดเฉลี่ยปีละครั้ง

สำหรับพฤติกรรมการไปวัดของกลุ่มเยาวชนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างไปวัด(ไม่รวมการไปงานศพ)แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มอายุ โดยกลุ่มที่มีอายุต่ำกว่า 13 ปีส่วนใหญ่จะไปวัดประมาณปีละ 2-3 ครั้ง โดยโอกาสในการไปวัด 3 อันดับแรกคือ วันปีใหม่ วันสงกรานต์ และวันสำคัญทางศาสนา ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการติดตามครอบครัวเพื่อไปวัด ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่อายุ 13-19 ปีส่วนใหญ่จะไปวัดประมาณปีละครั้ง โดยโอกาสในการไปวัด 3 อันดับแรกคือ ครบรอบวันสำคัญ วันปีใหม่ และวันสำคัญทางศาสนา

กลุ่มเยาวชนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าการไปวัดนั้นทำให้สบายใจ คลายเครียด และมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ อย่างไรก็ตามกลุ่มเยาวชนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างระบุว่าอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ไม่ได้ไปวัดบ่อยเท่าที่ต้องการคือ ไม่ค่อยมีเวลา แต่ก็ยังมีความคิดว่าการปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีก็เพียงพอแล้ว จากการสำรวจพบประเด็นที่น่าสนใจว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 13-19 ปีร้อยละ 11.1 ระบุสาเหตุที่ไม่ได้ไปวัดบ่อยเท่าที่ต้องการคือ ไม่เลื่อมใส ทั้งนี้เนื่องจากข่าวเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ ซึ่งทำให้กลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 13-19 ปีเปลี่ยนพฤติกรรมการทำบุญ โดยการทำบุญกับพระสงฆ์น้อยลง และหันไปทำบุญประเภทอื่นๆแทน โดยเน้นการบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และบริจาคโลงศพ

– สิ่งที่ได้จากการไปวัด
ผลจากการไปวัดทำให้คนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างได้รับ 3 อันดับแรกคือ ความสบายใจ คลายเครียด และมีหลักยึดเหนี่ยวจิตใจ ประเด็นที่น่าสนใจคือ เมื่อพิจารณาแยกกลุ่มตัวอย่างตามอายุแล้วพบว่า กลุ่มตัวอย่างที่อายุมากกว่า 30 ปีขึ้นไปส่วนใหญ่ระบุว่าการไปวัดทำให้ได้รับความสบายใจ ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชนระบุว่าการไปวัดนั้นได้ทั้งความสบายใจและเป็นการคลายเครียด

– กิจกรรมที่วัด(ไม่นับรวมการไปงานศพ)
กิจกรรมของไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างที่วัด 3 อันดับแรก คือ การไปทำบุญ การไปสะเดาะเคราะห์ และการตรวจดวงชะตา อย่างไรก็ตามกิจกรรมที่วัดของคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนั้นจะแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ กล่าวคือ การไปเช่าพระ/วัตถุมงคลนั้นจะเป็นกิจกรรมที่นิยมเป็นอันดับ 3 ในกลุ่มตัวอย่างที่อายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า 40 ปีนั้นยังคงนิยมการตรวจดวงชะตาเมื่อเดินทางไปวัด

กิจกรรมเมื่อคนไทยไปวัด(ไม่รวมการไปงานศพ)
ร้อยละ
กรุงเทพฯและปริมณฑล กลาง เหนือ ตะวันออก
เฉียงเหนือ ใต้ เฉลี่ยทั้งประเทศ
ทำบุญ 51.0% 45.1% 77.8% 54.3% 53.5% 52.7%
สะเดาะเคราะห์ 25.9% 21.5% 4.4% 17.3% 19.7% 20.3%
ตรวจดวงชะตา 8.2% 17.4% 6.7% 4.9% 5.6% 9.8%
เช่าพระ/วัตถุมงคล 8.2% 11.1% 4.4% 9.9% 8.5% 9.0%
ฟังเทศน์ 6.8% 4.9% 6.7% 13.6% 11.5% 8.2%
ที่มา : โพลล์บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด

ขอให้สุขภาพดี…คำอธิษฐานยอดฮิต

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าคำอธิษฐานซึ่งเป็นเสมือนความมุ่งหวังของคนไทยในการทำบุญยอดนิยม คือ ขอให้สุขภาพดี ขอให้เจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และขอให้ร่ำรวยมั่งคั่ง ซึ่งคำอธิษฐานนี้ไม่แตกต่างกันไม่ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะเป็นอย่างไร เนื่องจากการมีสุขภาพดีนับว่าเป็นปัจจัยสำคัญเบื้องต้นในการประกอบธุรกิจการงานต่างๆ อีกทั้งทำให้ยังไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลซึ่งอยู่ในเกณฑ์สูงในปัจจุบัน

นอกจากนี้จากผลการสำรวจครั้งนี้ยังพบว่าประโยชน์ที่คนไทยคิดว่าได้รับจากการทำบุญและการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา คือ ประโยชน์ในทางจิตใจ โดยการทำบุญมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้จิตใจสงบ ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น และศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีที่สุด สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายปัญหาที่หนักให้ทุเลาเบาบางลงได้มากทีเดียวหากมีการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งพระสงฆ์ยังเป็นผู้ที่รับฟังที่ดีและเป็นผู้ที่แนะแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

เรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์…คนไทยเปลี่ยนพฤติกรรมการทำบุญ

จากการติดตามข่าวในสื่อมวลชนแขนงต่างๆ จะเห็นได้ว่าข่าวที่มีการนำเสนอค่อนข้างบ่อย คือ เรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ ซึ่งบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่าเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์นี้มีผลต่อพฤติกรรมการทำบุญของคนไทย ดังนี้

– เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำบุญ
โดยคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 52.5 ที่สำรวจเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำบุญ อันเนื่องมาจากการได้รับผลกระทบจากข่าวเกี่ยวกับเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ กล่าวคือ ร้อยละ 43.6 พิถีพิถันในการเลือกวัดและเลือกพระสงฆ์ที่จะไปทำบุญมากขึ้น ร้อยละ 30.2 ทำบุญกับพระสงฆ์น้อยลง และร้อยละ 26.2 เปลี่ยนประเภทของการทำบุญ โดยหันไปทำบุญโดยการบริจาคเงินเพื่อการกุศลต่างๆ การบริจาคสิ่งของ และการบริจาคโลหิต

– ไม่เปลี่ยนแปลงยังคงทำบุญเหมือนเดิม
โดยคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 47.5 ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการทำบุญ ทั้งนี้เนื่องจากบรรดาพระสงฆ์และวัดที่มีเรื่องอื้อฉาวนั้นมีเพียงส่วนน้อย และยังมีพระสงฆ์ที่น่านับถืออีกมาก

สิ่งที่คนไทยเสนอแนะให้แก้ไขปัญหาเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์ 3 อันดับแรก คือ การตรวจสอบพฤติกรรมของสงฆ์อย่างสม่ำเสมอทั้งจากพระสงฆ์ด้วยกันเองและจากฆราวาส เข้มงวดกวดขันผู้ที่จะเข้ามาบวชมากยิ่งขึ้น และเข้มงวดในเรื่องการจัดสรรรายได้ของแต่ละวัด ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามมีความเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุที่แท้จริงมาจากการที่พระสงฆ์เข้ามายุ่งเกี่ยวในทางฆราวาสมากเกินไปทั้งเรื่องสีกา และเงินทอง

มหันตภัยสีนามิ…คนไทยทำบุญมากขึ้น 39.6%

ภายหลังเหตุการณ์มหันตภัยสึนามิ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด สำรวจพบว่ามีคนไทยร้อยละ 39.6 ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจหันมาทำบุญกันมากขึ้น โดยประเภทของการทำบุญที่กลุ่มตัวอย่างระบุว่ามีการทำเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก คือ การบริจาคเงิน การบริจาคสิ่งของ และการบริจาคโลหิต อย่างไรก็ตามมีคนไทยถึงร้อยละ 57.1 ของกลุ่มตัวอย่างที่ระบุว่ายังคงทำบุญเหมือนเดิม ซึ่งคนไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ทำบุญอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว ทำให้เมื่อเกิดเหตุการณ์สึนามิก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำบุญ ดังนั้นจึงพอจะสรุปได้ว่าเหตุการณ์สึนามินั้นมีส่วนทำให้คนไทยหันมาทำบุญกันมากขึ้น

บทสรุป

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้มีการสำรวจ “พฤติกรรมการทำบุญของคนไทย” ปรากฏว่าพฤติกรรมการทำบุญของคนไทยนั้นก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดในหลากหลายธุรกิจสูงถึงปีละ 3,300 ล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินสะพัดนี้จะแตกต่างกันแล้วแต่พฤติกรรมการทำบุญของคนไทยในแต่ละภาคโดยประเภทของการทำบุญยอดนิยม 3 อันดับแรกของคนไทย คือ ใส่บาตร ถวายสังฆทาน และทอดกฐิน/ผ้าป่า นอกจากนี้เป็นที่น่ายินดีว่าคนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างนิยมทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา วันสำคัญของตนเองและครอบครัว และเทศกาลสำคัญ

จากการสำรวจพบว่าเยาวชนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งรวมทั้งวัยเด็กและวัยรุ่นก็ยังคงระบุว่าจะไปทำบุญในวันสำคัญทางศาสนาเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังสำรวจพบว่านอกจากการทำบุญแล้วกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆที่คนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่างปฎิบัติ 3 อันดับแรก คือ การสวดมนต์ การนั่งสมาธิ และการฟังเทศน์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่คนไทยยังคงให้ความสำคัญกับกิจกรรมทางศาสนาอื่นๆนอกจากการทำบุญ โดยจากผลการสำรวจพบว่าประโยชน์ที่คนไทยคิดว่าได้รับจากการทำบุญและการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา คือ ประโยชน์ในทางจิตใจ โดยการทำบุญมีส่วนอย่างมากต่อการทำให้จิตใจสงบ ซึ่งมีผลต่อเนื่องให้สามารถแก้ไขปัญหาต่างๆได้ดีขึ้น และศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางใจที่ดีที่สุด สามารถช่วยผ่อนคลายความเครียด ผ่อนคลายปัญหาที่หนักให้ทุเลาเบาบางลงได้มากทีเดียวหากมีการปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง รวมทั้งพระสงฆ์ยังเป็นผู้ที่รับฟังที่ดีและเป็นผู้ที่แนะแนวทางในการแก้ปัญหาต่างๆได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นนั้นมีความถี่ในการไปวัดน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับทุกกลุ่มอายุ กล่าวคือ กลุ่มตัวอย่างที่เป็นวัยรุ่นส่วนใหญ่ระบุว่าไปวัดเฉลี่ยปีละครั้ง ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่อายุน้อยกว่า 13 ปีจะไปวัดเฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง เพราะผู้ปกครองพาไป ซึ่งจากการสำรวจพบว่าครอบครัวนั้นเป็นแรงผลักดันสำคัญในการชักชวนให้เยาวชนไปวัด และชี้ให้เห็นถึงข้อดีและประโยชน์ที่ได้จากการทำบุญและไปวัด