การปรับราคาน้ำมันดีเซล : ผลกระทบต่อภาคธุรกิจและอัตราเงินเฟ้อ

สืบเนื่องจากการที่รัฐบาลประกาศปรับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลขึ้น 60 สตางค์ต่อลิตร เป็น 15.19 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2548 ภายหลังจากที่ตรึงราคาไว้ที่ 14.59 บาทมาตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2547 ส่งผลให้น้ำมันดีเซลมีระดับราคาสูงสุดในรอบเกือบ 2 ปี นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2546

การที่รัฐบาลมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลในช่วงปีที่ผ่านมามีเป้าหมายช่วยบรรเทาผลกระทบของผู้บริโภคและภาคธุรกิจจากความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งทะยานสูงขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกที่สูงเกินความคาดหมาย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของความต้องการน้ำมันในจีน ทำให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่เป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐ ประกอบกับการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆของโลกในปี 2547 สูงที่ระดับร้อยละ 5 ซึ่งนับเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกมีการเจริญเติบโตสูงที่สุดในรอบ 30 ปี

ขณะที่ในด้านอุปทานน้ำมันของโลกต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายด้าน เช่น การก่อการร้ายและจู่โจมแหล่งผลิตและท่อส่งน้ำมันในอิรัก รวมทั้งปัญหาภัยธรรมชาติและการประท้วงหยุดงานในประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่หลายประเทศ ตลอดจนการล้มละลายของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของรัสเซีย รวมทั้งการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้าของกลุ่มเฮดจ์ฟันด์

ปัจจัยทั้งหลายนี้ได้ส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นประมาณร้อยละ 30 ในปี 2547 โดยในช่วงเดือนตุลาคม 2547 น้ำมันดิบในตลาดโลกพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบ 21 ปี ราคาน้ำมันดิบในตลาดนิวยอร์คสูงขึ้นมาถึง 55.67 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์สูงขึ้นมาเหนือ 52 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ผลของการตรึงราคาน้ำมันทำให้สถานะปัจจุบันของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้จากการชดเชยราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 68,000 ล้านบาท โดยอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไว้ 3.80 สตางค์ต่อลิตร ส่วนราคาน้ำมันเบนซินได้มีการทะยอยปรับเพดานราคาขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2547 จนเป็นการปล่อยลอยตัวตามราคาในต่างประเทศ (ตลาดสิงคโปร์)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ถึงทิศทางราคาน้ำมันภายในประเทศ ผลกระทบของการปรับขึ้นราคาน้ำมันในประเทศต่อภาคธุรกิจต่างๆ และผลต่ออัตราเงินเฟ้อ ดังนี้

? ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง (ล่าสุดราคาน้ำมันในตลาดนิวยอร์คเมื่อวันจันทร์ที่ 21 กุมภาพันธ์สูงขึ้นมาอยู่ที่ 48.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 44-45 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล) และมีแนวโน้มที่ราคาเฉลี่ยในช่วงปี 2548 อาจจะยังทรงตัวในระดับสูงใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 38 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นภายหลังจากโอเปคระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ถึงการปรับคาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในโลกเพิ่มขึ้นเป็น 83.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน (จากคาดการณ์เดิม 83.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน) เนื่องจากความต้องการของจีนที่จะเพิ่มขึ้นอีก 500,000 บาร์เรลต่อวันเป็น 7 ล้านบาร์เรลต่อวัน และถ้าโอเปคพิจารณาตัดลดกำลังผลิตลงในการประชุมวันที่ 16 มีนาคมที่จะถึงนี้ ก็อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันทรงตัวในระดับสูงต่อไป แม้ว่าจะพ้นช่วงฤดูหนาวที่ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันของโลกเพิ่มสูงสุดแล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม มุมมองอีกด้านหนึ่งก็ยังมีความเห็นว่าการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจชั้นนำในโลกอาจช่วยทำให้ราคาน้ำมันอ่อนตัวลง ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2547 ญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยหลังจากเศรษฐกิจหดตัวลงต่อเนื่อง 3 ไตรมาส ขณะที่ในยุโรป เศรษฐกิจเยอรมนีในไตรมาสสุดท้ายของปี 2547 ก็มีทิศทางที่หดตัวลง แต่ต้องยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาราคาน้ำมันที่ทะยานสูงขึ้น ส่วนสำคัญเป็นผลมาจากสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดซึ่งสร้างความกังวลว่าอาจจะส่งผลให้อุปทานในตลาดประสบกับภาวะชะงักงัน และสถานการณ์ตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศในขณะนี้ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้ราคาน้ำมันดีดตัวสูงขึ้น อาทิ ปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ หรือความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านและเวเนซูเอลา เหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้าเช่นนี้ทำให้ไม่สามารถล่วงรู้ได้ว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในช่วงที่เหลือของปีจะอ่อนตัวลงได้เพียงใด

? จากความเสี่ยงที่ราคาน้ำมันอาจไม่ปรับตัวลดต่ำลงอย่างที่เคยคาดการณ์ไว้ จึงสร้างแรงกดดันต่อภาระการตรึงราคาน้ำมันของรัฐบาล ซึ่งปัจจุบันมีสถานะขาดทุนจากการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศสูงถึง 68,000 ล้านบาท และถึงแม้ว่าจะมีการทะยอยปรับเพดานราคาขึ้นในระยะต่อไป แต่ภาระหนี้ที่กองทุนยังคงต้องอุดหนุนราคาน้ำมันจะยังคงเพิ่มขึ้นไปจนกว่าที่จะมีการปล่อยลอยตัวตามราคาจริง ซึ่งในเวลานั้นกองทุนน้ำมันอาจมีภาระหนี้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท และภาระหนี้ดังกล่าวรัฐบาลมีแนวทางใช้คืนโดยใช้เงินที่เก็บเข้ากองทุนลิตรละ 0.50-0.70 บาทจากปริมาณการขายปลีกน้ำมันในประเทศ ซึ่งแนวทางดังกล่าวอาจต้องใช้ระยะเวลายาวนานประมาณ 8 ปีในการใช้คืนหนี้กองทุนน้ำมันทั้งหมด

? ขณะเดียวกัน การที่รัฐบาลเข้ามาแบกรับภาระราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นเอาไว้มีส่วนทำให้ความรับรู้ของผู้บริโภคถึงความจำเป็นในการประหยัดพลังงานมีน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ปริมาณการนำเข้าน้ำมันของไทยไม่ลดลงมากเท่าที่ควร ในปี 2547 ที่ผ่านมา ไทยนำเข้าน้ำมันดิบมูลค่า 10,731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51 จากปีก่อนหน้า โดยปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นประมาร้อยละ 20 เร่งตัวกว่าการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ และยิ่งถ้าราคาน้ำมันยังยืนอยู่ในระดับสูงก็จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งในปี 2548 คาดว่าดุลการค้าจะเริ่มกลับมาขาดดุลเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งดุลบริการก็อาจเผชิญปัญหารายได้การท่องเที่ยวที่หดตัวลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังประเทศไทยลดลงภายหลังเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิถล่มจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญในภาคใต้ของไทย ด้วยเหตุนี้ การปรับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลจึงอาจเป็นหนทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

? ผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาน้ำมันต่อภาคธุรกิจต่างๆ ใน 2 กรณีคือ กรณีแรก : ผลกระทบในปัจจุบัน จากการที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับขึ้นลิตรละ 60 สตางค์ หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากราคาที่เคยตรึงไว้ที่ 14.59 บาทต่อลิตร กรณีที่สอง : ผลกระทบในอนาคต ในกรณีที่ถ้าในอนาคตรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวตามราคาที่เป็นจริงในตลาดโลก โดยราคาน้ำมันในตลาดโลกเคลื่อนไหวที่ระดับปัจจุบัน ระดับราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศที่สอดคล้องกับราคาจริงจะต้องขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 18.19 บาท เพิ่มขึ้นรวมทั้งสิ้น 3.60 บาท หรือประมาณร้อยละ 25 จากระดับราคาที่เคยตรึงไว้ที่ 14.59 บาท

ผลกระทบที่สำคัญต่อภาคธุรกิจจะกระทบผ่านต้นทุนค่าขนส่งเป็นหลัก ส่วนผลกระทบต่อต้นทุนในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมมีไม่มากนัก เพราะสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลต่อการใช้พลังงานในภาคอุตสาหกรรมมีไม่สูง ส่วนใหญ่เป็นพลังงานจากไฟฟ้า น้ำมันเตา ถ่านหิน เป็นต้น กิจกรรมที่จะได้รับผลกระทบมากจากผลของการปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลได้แก่ ภาคการขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งทางบก และภาคการเกษตรโดยเฉพาะสาขาประมง ซึ่งกิจกรรมเศรษฐกิจเหล่านี้ที่มีการพึ่งพาการใช้น้ำมันดีเซลในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงมาก

การวิเคราะห์จากตารางปัจจัยการผลิตปี 2543 โดยมีการปรับสัดส่วนต้นทุนปัจจัยการผลิตประเภทผลิตภัณฑ์น้ำมันตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นระหว่างปี 2543-2547 (ในช่วงเวลาดังกล่าวราคาสินค้าผู้ผลิตประเภทผลิตภัณฑ์น้ำมันปรับตัวสูงขึ้นไปร้อยละ 38 ขณะที่ราคาสินค้าผู้ผลิตโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 16) และได้คาดประมาณสัดส่วนการพึ่งพาการใช้น้ำมันดีเซลของภาคเศรษฐกิจโดยแบ่งกลุ่มกว้างๆเป็นภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม การขนส่ง การผลิตกระแสไฟฟ้า และการบริการ เพื่อประเมินผลกระทบจากราคาน้ำมันดีเซลทั้งทางตรงและทางอ้อม (ผ่านต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น)

? ผลการวิเคราะห์พบว่า ในกรณีแรก การที่ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.1 เป็น 15.19 บาทต่อลิตร จะส่งผลให้ธุรกิจต่างๆมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.3 ในกรณีที่สอง ถ้าหากว่าในอนาคตรัฐบาลปล่อยให้ราคาน้ำมันดีเซลลอยตัวตามราคาตลาดโลก ราคาน้ำมันดีเซลก็อาจจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 (จาก 14.59 บาทต่อลิตร) ภาคธุรกิจโดยภาพรวมจะมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 2 โดยธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือการบริการทางการเกษตร การขนส่งสินค้าทางบก การประมงทะเลและประมงชายฝั่ง การขนส่งผู้โดยสารทางบก และการขนส่งชายฝั่งและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศ นอกจากนี้ ภาคธุรกิจอื่นๆที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากกว่าระดับเฉลี่ย เช่น ธุรกิจเหมืองแร่และถ่านหิน เหมืองหิน ภาคการเกษตร การก่อสร้าง การผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์จากดินที่ใช้ในการก่อสร้าง เป็นต้น

ส่วนธุรกิจด้านอื่นๆจะได้รับผลกระทบไม่รุนแรงนัก เนื่องจากผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผลกระทบทางอ้อมจากต้นทุนค่าขนส่ง ขณะที่ผลโดยตรงต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตจะมีไม่มาก ทั้งนี้ คาดว่าภาคธุรกิจต่างๆโดยเฉลี่ยมีต้นทุนจากน้ำมันดีเซลทั้งทางตรงและทางอ้อมประมาณร้อยละ 8 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด และธุรกิจที่มีสัดส่วนต้นทุนน้ำมันสูงกว่าระดับโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนเพียงไม่ถึงร้อยละ 20 ของอุตสาหกรรมโดยรวม (ประเมินจากมูลค่าผลผลิตของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท) หรืออีกนัยหนึ่งคือธุรกิจมากกว่าร้อยละ 80 จะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันไม่เกินร้อยละ 0.3 หลังจากราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 60 สตางค์ ซึ่งผลกระทบน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด

? ผลต่ออัตราเงินเฟ้อ สำหรับผลของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจมหภาค กล่าวได้ว่าการปรับราคาน้ำมันดีเซลเป็นทิศทางที่รัฐบาลได้ส่งสัญญาณล่วงหน้ามาตั้งแต่ในปีก่อนหน้า ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินไว้อยู่ในคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 แล้ว โดยผลกระทบจากแนวโน้มราคาน้ำมันต่อทิศทางอัตราเงินเฟ้ออยู่ภายใต้สมมติฐานที่ราคาน้ำมันดีเซลจะมีการขยับเพดานราคาขายปลีกขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจนถึงระดับที่สอดคล้องกับทิศทางราคาในตลาดต่างประเทศ ในลักษณะที่คล้ายกับการปรับเพดานราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจมีการปรับขึ้น 1-2 ครั้งต่อเดือนภายในช่วงเวลาใช้เวลา 3-5 เดือน ผลของการปรับราคาน้ำมันดีเซลจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 และราคาจะค่อยๆขึ้นไปถึงระดับที่ใกล้เคียงกับราคาจริงมากขึ้นในช่วงกลางปีที่ประมาณ 18.19 บาท หรือปรับขึ้นร้อยละ 25 ส่วนราคาน้ำมันเบนซินอาจปรับตัวขึ้นมาอีกประมาณร้อยละ 7 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในประเทศโดยเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักปรับตัวขึ้นไปสูงสุดประมาณร้อยละ 19 เมื่อเทียบกับระดับราคาก่อนปรับขึ้น แต่จากการที่ผลของการปรับราคามีการกระจายผลออกไปเป็นช่วงๆทำให้คาดว่าผลโดยรวมตลอดทั้งปีจะไม่กระทบต่อกรอบประมาณการอัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ผลของการปรับขึ้นราคาน้ำมัน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลจะส่งผ่านไปสู่อัตราเงินเฟ้อผ่านดัชนีราคาพลังงาน ซึ่งคาดว่าโดยเฉลี่ยทั้งปีอาจจะปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 12.5 จากที่ปี 2547 ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 9 ในส่วนของราคาสินค้าอาหารยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นตามราคาอาหารสดที่ผลผลิตพืชผลประสบกับภาวะภัยแล้ง ส่วนราคาสินค้าอื่นๆก็มีแนวโน้มที่ราคาจะเพิ่มขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ ทำให้ในช่วงประมาณกลางปี 2548 อัตราเงินเฟ้ออาจสูงขึ้นไปเกินกว่าระดับร้อยละ 3 แต่ภาวะราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น จะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดต่ำลง ขณะเดียวกันอาจบั่นทอนความเชื่อมั่นต่อการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในทิศทางชะลอลง ภายใต้ภาวะที่อุปสงค์อ่อนตัวลงอาจส่งผลสะท้อนกลับไปเป็นแรงกดดันให้ภาคธุรกิจไม่สามารถปรับราคาสินค้าได้มากนัก นอกจากนี้ แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคต่างๆของโลกน่าจะทำให้ราคาน้ำมันที่สูงในขณะนี้ผ่อนคลายลงในระดับหนึ่ง ส่งผลให้แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อตลอดทั้งปี 2548 ยังอยู่ในกรอบประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระดับเฉลี่ยร้อยละ 3.0 โดยคาดว่าจะเป็นผลมาจากราคาสินค้าพลังงานประมาณร้อยละ 1.1 ขณะที่คาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจไว้ที่ร้อยละ 5.2

ผลกระทบของราคาน้ำมันต่ออัตราเงินเฟ้อและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

ราคาน้ำมันในประเทศและผลกระทบ 2547 สิ้นสุดก.พ. 2548e(เทียบกับ 1 ม.ค. 2548) 2548e
อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันเบนซิน 14.8% 8.3% 7.0%
อัตราการเปลี่ยนแปลงราคาน้ำมันดีเซล 4.0% 4.1% 15.0%
อัตราเงินเฟ้อทั่วไป 2.7% n.a 3.0%
GDP 6.2% n.a. 5.2%
ที่มา : ประมาณการโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

โดยสรุป การประกาศขยับเพดานราคาน้ำมันดีเซลของรัฐบาลเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1 ปีเป็นผลตามมาจากแรงกดดันด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง การคงมาตรการตรึงราคาไว้จะเพิ่มภาระให้กับกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งปัจจุบันมีสถานะขาดทุนจากการอุดหนุนราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศสูงถึง 68,000 ล้านบาท และกว่าที่จะมีการปล่อยลอยตัวตามราคาจริงกองทุนน้ำมันอาจมีภาระหนี้ไม่ต่ำกว่า 80,000 ล้านบาท นอกจากนี้ การตรึงราคาน้ำมันยังทำให้ประชาชนมีความตระหนักถึงการสร้างวินัยที่ดีในการประหยัดพลังงานน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้มาตรการลดการใช้พลังงานไม่ได้ผลเต็มที่ ขณะเดียวกันการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจะเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะการขาดดุลการค้าและสถานะดุลบัญชีเดินสะพัด

สำหรับผลกระทบที่มีต่อภาคธุรกิจ ตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้การวิเคราะห์ต้นทุนน้ำมันในภาคธุรกิจต่างๆ พบว่าผลโดยตรงจากระดับราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นที่จะมีต่อระดับราคาสินค้าน่าจะอยู่ในขอบเขตที่จำกัด ผลจากการปรับเพดานราคาน้ำมันดีเซลขึ้นอีก 60 สตางค์น่าจะส่งผลให้ธุรกิจมีต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 0.3 ผลกระทบดังกล่าวยังอยู่ภายใต้ขอบเขตการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2548 ที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการอัตราเงินเฟ้อไว้ที่ร้อยละ 3.0 และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ร้อยละ 5.2 อนึ่ง ระดับราคาสินค้าในประเทศยังคงขึ้นอยู่กับตัวแปรอื่นๆนอกเหนือจากราคาน้ำมันด้วย แรงกดดันด้านอื่นที่คาดว่าจะมีผลต่ออัตราเงินเฟ้อได้แก่ ระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งภาวะภัยแล้งอาจสร้างความเสียหายแก่พืชผลทางการเกษตรส่งผลให้ราคาดีดตัวสูงขึ้น แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์ยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น ไม่ว่าเหล็ก ทองแดง และโลหะอื่นๆ ตามอุปสงค์ที่ยังเพิ่มขึ้นในจีน ส่วนราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูงจะมีผลต่อราคาสินค้าปิโตรเคมีและพลาสติก ซึ่งราคาวัตถุดิบและสินค้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางที่เพิ่มขึ้นนี้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบทางตรง ต้นทุนบรรจุภัณฑ์ ซึ่งเป็นต้นทุนของผู้ผลิต รวมทั้งราคาวัสดุก่อสร้าง และท้ายที่สุดราคาสินค้าของผู้ผลิตที่เพิ่มขึ้นจะส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค

นอกจากนี้ แม้ว่าผลกระทบในด้านต้นทุนการผลิตสินค้าอาจไม่ถึงขั้นรุนแรงนัก แต่สิ่งที่ไม่อาจคาดการณ์ได้คือการปรับตัวของผู้บริโภคต่อการรับรู้สถานการณ์ราคาที่เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นมักจะมีผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาวะการลงทุน เห็นได้จากการตอบสนองของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ร่วงลงทันทีที่รับรู้ข่าวการปรับราคาน้ำมันดีเซล แม้ว่าภาคธุรกิจและประชาชนโดยทั่วไปจะรับรู้มาก่อนล่วงหน้าว่ารัฐบาลมีนโยบายที่จะทะยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงมากขึ้นในช่วงปีนี้ก็ตาม การปรับตัวตัดลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่อาจรุนแรงกว่าที่คาดจากผลของความเชื่อมั่นที่ถดถอยลงนี้ จึงนับเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งต่อชะลอตัวของการบริโภคและการลงทุนที่อาจจะตามมาในระยะต่อไป นอกจากนี้ ปัญหาการเมืองระหว่างประเทศยังคงเป็นประเด็นที่ต้องจับตามอง เพราะความกังวลของตลาดต่อความต่อเนื่องของภาวะอุปทานน้ำมันอาจจะมีผลต่อทิศทางความผันผวนของราคาน้ำมันในอนาคตข้างหน้า